ความป่วยของ Lab ในห้องเรียน ที่มีครูและตำราเป็นศูนย์กลาง แทนกระบวนการคิดของเด็ก

ณ ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ครูพูดทิ้งท้ายก่อนที่จะเดินออกจากห้องไปบอกว่าพรุ่งนี้ส่งผลการทดลอง ไม่กี่วินาทีผ่านไปเด็กนักเรียนคุยกันด้วยคำถามเดียว “มึง อาจารย์ให้ทำอะไรวะ” การทดลองดำเนินไปตามหนังสือเรียนในขณะที่เด็กถามกันต่อว่า “ต่อไปต้องทำอะไรต่อ” “ใส่แบบนี้ถูกไหม” พอการทดลองจบในสมุดบันทึกการทดลองที่ลอกคำถามจากหนังสือเรียนมาอีกทีก็ถูกเขียนด้วยคำตอบที่ถูกส่งต่อกันใน LINE กลุ่มอีกที “ผลการทดลองคืออะไรวะ” การทดลองนี้จบลงโดยที่เด็กทุกคนมีงานส่งครูแต่ไม่มีใครรู้เลยว่าสรุป Lab นั้นทำไปเพื่ออะไรกันแน่

นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของผู้เขียน หลายคนอาจจะคิดว่าผู้เขียนจะต้องเรียนห้องโครงการพิเศษ โรงเรียนวิทย์อะไร แต่ไม่ ผู้เขียนเรียนห้องธรรมดาในโรงเรียนรัฐบาล ดังนั้นนี่จึงเป็นภาพตัวอย่างของการเรียนวิทยาศาสตร์ต่อให้เป็นโรงเรียนรัฐสังกัด สพฐ. ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศไทยหลายพันโรงเรียน

เด็กรู้ว่าวิทยาศาสตร์คือวิธีคิด และคือการทดลอง และการทำการทดลองในวิชาวิทยาศาสตร์ก็ไม่แปลกอะไร

แล้วปัญหาจริง ๆ คืออะไรกันแน่

ย้ำกันเป็นรอบที่ร้อยว่าวิทยาศาสตร์คือวิธีคิด คือกระบวนการ ไม่ใช่ตัววิชา ดังนั้นถามว่าเวลาเราเรียนวิทยาศาสตร์ เราไม่ได้เรียนเอาว่า มีอะไรอยู่ในอะตอม หรือพืชใช้แรงดันเท่าไหร่ในการดันน้ำขึ้นไปเลี้ยงใบ แต่เราเรียนเพื่อตั้งคำถามกับมัน หาวิธีอธิบายจากการสังเกต การทดลอง และการอธิบายสิ่งที่มันเป็นอยู่เพื่อให้ได้ไอเดียในการตั้งคำถามต่อไป

สำหรับผู้เขียนเอง ส่วนตัวมองว่าคำถามที่ควรได้ยินในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์คือ “อ้าว แล้วถ้า …” ซึ่งมันบ่งบอกว่าเราสามารถสังเคราะห์อะไรบางอย่างได้จากเรื่องราวที่เราพบเจอมา แล้วเกิดคำถามต่อจากการสร้างภาพอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา แล้วพยายามเอาสิ่งที่เราเจอมาอธิบายสิ่งที่เรายังไม่ได้พบเจอมาก่อน

ดังนั้นถามว่า วิทยาศาสตร์จำเป็นต้องเรียนเรื่อง กฎของนิวตัน, กลศาสตร์ของไหล, การสังเคราะห์ด้วยแสง ไหม คำตอบก็คือไม่ต้องก็ได้ แต่เริ่มต้นจากการตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ทำไมท้องฟ้าเป็นสีฟ้า ทำไมปากกาถึงเขียนติดบ้างไม่ติดบ้าง ทำไมผงซักฟอกขจัดคราบได้ นี่คือการเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาอยู่ในกระบวนการศึกษา ซึ่งมันจะนำไปสู่บทสนทนาและการพูดถึงทฤษฎี วิธีการคิด สมการต่าง ๆ

ถามว่าทำไมเราถึงเรียนวิชาหลาย ๆ วิชาต่อท้ายด้วย Science เช่น Computer Science ก็เพราะว่าเราเรียนด้วยวิธีการด้านบน เอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาตั้งคำถาม ทำให้ Computer Science ไม่เหมือนกับ Computer Skill ที่อาจจะเกิดจากการเรียนทักษะด้านคอมพิวเตอร์ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ไม่ได้ลงลึกถึงกระบวนการคิด (แต่อาจจะได้มาเองผ่านประสบการณ์) ดังนั้น Science ที่ว่ามันคือ Skill หรือทักษะ ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์จึงควรถูกนำไปสอนในทุกวิชา เพราะเป็นวิธีการมองที่ทำให้เราสามารถลงลึกถึงที่มาที่ไปในวิทยาการนั้น ๆ ได้ทุกแขนง

แล้วเราจะทำให้วงจรการศึกษาวิทยาศาสตร์แบบเพี้ยน ๆ หายไปได้อย่างไร

อาจจะไม่ต้องเริ่มต้นจาก Lab แต่เริ่มต้นจากการสังเกตสิ่งรอบตัว เพราะอย่างที่บอก วิทยาศาสตร์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้อง Lab ห้อง Lab ไม่ใช่ที่ที่เกิดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็น “เครื่องมือ” ที่ทำให้การทดลองวิทยาศาสตร์ง่ายขึ้นด้วยอุปกรณ์ที่เพียบพร้อม และสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ง่ายเท่านั้น

คำถามก็คือ เด็กไทย มองนอกห้อง Lab เป็นวิทยาศาสตร์แล้วหรือยัง อย่าว่าแต่นอกห้อง Lab เลย นอกห้องเรียน นอกหนังสือเรียน เด็กไทยใช้วิทยาศาสตร์ในการมองโลกนี้มากแค่ไหน สิ่งที่เราต้องทำคือการกระตุ้นกระบวนการตั้งคำถาม การศึกษาธรรมชาติ การหาคำตอบ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่โจทย์ Lab ในหนังสือเรียน

แม้กระทั่งตัวเด็กเอง แม้จะมีวิธีการมองโลกที่เป็นวิทยาศาสตร์แต่ถามว่าจำเป็นต้องชอบทุก Lab ไหม ไม่ แต่นั่นก็เป็นคำตอบที่ดี เพราะคำว่าไม่นั้นไม่ได้แปลว่าเขาไม่ชอบวิทยาศาสตร์ แต่เพราะว่าเขาไม่ได้สนใจเป็นพิเศษในเรื่องนั้น ซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าคำตอบว่า ไม่ เพราะมองกระบวนการวิทยาศาสตร์ทั้งหมดไม่เป็น

ถ้าเด็กจะไม่ชอบ Lab ก็อยากให้ไม่ชอบที่ตัวหัวข้อของมันเช่น ไม่ชอบ Lab เคมีเพราะเหม็นสารเคมี ไม่ชอบ Lab ฟิสิกส์เพราะคิดเลขชอบผิด ไม่ใช่เกลียดทุกอย่างที่เป็นกระบวนการค้นหาความจริงในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ หรือไม่ได้เข้าใจแนวคิดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เลย

อะไรที่ทำให้มั่นใจว่าวิทยาศาสตร์สำคัญขนาดนั้น

กระบวนการคิดถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของการดำเนินชีวิต บทสนทนา และการรับข่าวสาร ทุกวันนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Post-Truth Era ซึ่งเป็นยุคที่มีความจริงหลากหลายรูปแบบเต็มไปหมด เราเจอข่าวสารมากมาในแต่ละวัน เราตัดสินใจเป็นสิบ ๆ เรื่องในแต่ละวัน ดังนั้นถามว่าถ้าจะมีกระบวนการคิดแบบไหนที่จะช่วยเราได้ กระบวนการคิดนั้นน่าจะเป็นการคิดแบบวิทยาศาสตร์

จะสังเกตว่าพฤติกรรมถูกถ่ายทอดออกมาในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งข่าวที่ควรจะเป็น “ข่าววิทยาศาสตร์” แต่กลับถูกเขียนด้วยประโยคบอกเล่า หรือใช้ Logic แปลก ๆ ดังนั้นไม่แปลกใจที่ในสังคมเราถึงได้มีข่าว, สินค้า อะไรที่เหมือนจะเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น น้ำโมเลกุลเล็ก, คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้โลกร้อน, ลุงปั่นไฟ ถ้าเรามีกระบวนการคิดที่แข็งแรง เราแทบจะไม่ต้องถามต่อเลยว่าข่าวนี้จริงหรือไม่จริง เพราะเราจะพบว่ากระบวนการคิดของมันไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ และแทบจะขัดแย้งกันเอง แต่ที่ยังมีข่าวพวกนี้อยู่เพราะเรายังยึดติดกับตัวบุคคล พอมีข่าวอะไรขึ้นมาต้องนำไปถามกับนักวิทยาศาสตร์ก่อน แล้วเชื่อเพราะว่านักวิทยาศาสตร์เป็นคนบอก ไม่ได้เชื่อเพราะคิดด้วยตัวเอง

กระบวนการนี้ผู้เขียนมองว่าติดมาจากกระบวนการวิทยาศาสตร์ผิด ๆ ในห้องเรียน (โดยจากประสบการณ์ส่วนตัวและจากคนรอบตัวที่มากที่สุดเลยคือมัธยม) ที่เรายังต้องการคนมาชี้ผิดชี้ถูกและไม่ได้เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อด้วยกระบวนการคิดของตัวเอง

สุดท้ายแล้ว ถ้าเราต้องการสังคมที่พัฒนา ตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดนั้นอาจจะไม่ใช่จำนวนของงานวิจัยในแต่ละปี จำนวนสิทธิบัตร จำนวน Startup เกิดใหม่ หรือจำนวนเด็กจบนอก แต่เป็นกระบวนการคิดและใช้ชีวิตของคนที่สามารถนำวิทยาศาสตร์เข้าไปปรับใช้ในชีวิตเองได้ เพราะวิทยาศาสตร์คือวิธีคิด ไม่ใช่ชื่อวิชาแต่อย่างใด

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.