ในขณะที่ทุกคนกำลังอ่านบทความนี้ยานแคสสินี ก็ได้จากเราไปแล้ว หลังจากภารกิจสำรวจดาวเสาร์นาน 13 ปี ตั้งแต่ปี 2004
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงมีข้อมูลจำนวนมากที่ต้องนำมาผ่านการวิเคราะห์เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้เป็นพื้นฐานในการสำรวจอวกาศในยุคต่อไป ไม่ว่าจะอีกสิบปี หรือร้อยปี ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดาวเสาร์ไม่น้อยเลยเป็นข้อมูลที่ได้จากยานแคสสินี
ในบทความนี้เราจะมาดูสิ่งสุดท้ายที่ยานแคสสินีทิ้งไว้ให้กับเราผ่านภาพถ่ายจำนวนหนึ่งที่เธอได้ถ่ายไว้ก่อนที่เธอจะจมตัวเองลงไปในชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของดาวเสาร์และเป็นส่วนหนึ่งของดาวเสาร์ไปตลอดกาลจูบอำลาดวงจันทร์ไททัน – วันที่ 13 กันยายน ภารกิจสุดท้ายที่แคสสินีได้รับมอบหมายก่อนที่จะไม่สามารถหันหลังกลับได้ คือการบอกลาดวงจันทร์ไททัน ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ที่แคสสินีเคยไปเยือนถึง 127 ครั้ง ในรอบนี้แคสสินีไม่ได้เข้าไปใกล้ดวงจันทร์ไททันอย่างที่เคย แต่ด้วยระยะห่างที่ไม่ได้ห่างไกลกันมาก เธอถ่ายรูปดวงจันทร์ไททันเป็นครั้งสุดท้าย และ NASA เรียกภาพถ่ายนี้ว่า Goodbye Kiss หรือจูบอำลา
สำหรับความสัมพันธ์ของเธอกับดวงจันทร์ไททันนั้นไม่เพียงแค่กับตัวดวงจันทร์ แต่ภายใต้ชั้นบรรยากาศอันหนาแน่นของดวงจันทร์ดวงนี้ เธอยังได้ทำการบอกลาเพื่อนเก่าของเธอคือยาน ไฮเกนส์ ที่เดินทางมาพร้อมกันและต้องจากลากันในปลายปี 2004 แคสสินีได้ส่งยานไฮเกนส์ลงไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ไททัน แม้ยานไฮเกนส์จะถูกออกแบบมาให้ปฏิบัติภารกิจในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่ชั่วโมง ปัจจุบันยานไฮเกนส์ยังคงอยู่บนนั้นไม่ไปไหน
ลาก่อนเอ็นเซลาดัส – ระยะห่างประมาณ 1.3 ล้านกิโลเมตร ระหว่างยานแคสสินีกับดวงจันทร์ไททันในวันที่ 13 กันยายน ทำให้มันสามารถใช้กล้องมุมแคบถ่ายภาพดวงจันทร์เอ็นเซลาดัส ดวงจันทร์ที่สวยที่สุดของดาวเสาร์ ที่แคสสินีได้ไปเยี่ยมเยือนหลายครั้งไม่แพ้ไททัน การค้นพบน้ำพุที่ขั้วใต้ของดาว ทำให้นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้เธอกลับไปที่เอ็นเซลาดัสอีกหลายต่อหลายครั้ง เอ็นเซลาดัสกลายเป็นเป้าหมายการสำรวจที่สำคัญไม่แพ้ไททัน
Finale Ringscape – สำหรับภาพถ่ายนี้ยานแคสสินีได้ถ่ายภาพวงแหวนของดาวเสาร์ในขณะที่มันกำลังเคลื่อนที่ใกล้เข้าสู่ดาวเสาร์ขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อภารกิจสุดท้ายของเธอ ในขณะที่เธออยู่ห่างจากดาวเสาร์ 1.1 ล้านกิโลเมตร เธอได้หันกล้องถ่ายภาพมุมกว้างมาถ่ายวงแหวนของดาวเสาร์
หลังจากนี้ยานแคสสินีจะเดินทางเข้าสู่ดาวเสาร์ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เธอไม่สามารถหันหลังกลับได้อีกต่อไปแล้ว เชื้อเพลิงบนยานเหลือน้อยเต็มที่ สิ่งเดียวที่เธอจะทำได้ก็คือปล่อยให้แรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาวเสาร์ค่อย ๆ ดึงเธอเข้าไป ให้เธอได้จบชีวิตบนนั้น
ก่อนจะดำดิ่ง – ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 13 กันยายนเช่นกัน ยานแคสสินีอยู่ห่างไปจากดาวเสาร์ 1.1 ล้านกิโลเมตร อันที่จริงภาพนี้เป็นภาคต่อของภาพก่อนหน้า เธอเพียงแค่หันหน้ากล้องจากวงแหวนของดาวเสาร์เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้เธอสามารถถ่ายภาพดาวเสาร์แบบเต็มดวงเป็นครั้งสุดท้ายได้อย่างชัดเจน
สุสานของเธอ – 15 กันยายน วันสุดท้ายของเธอ ภาพถ่ายสุดได้ได้ถูกส่งมจากกล้องบนยานก่อนที่มันจะถูกปิดตลอดกาล ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของดาวเสาร์ และ ณ เบื้องล่างนี้อีกไม่กี่ชั่วโมงเธอจะต้องลงไปที่นั่น ลงไปด้วยความกล้าหาญที่จะสละชีพของเธอเพื่อปกป้องระบบของดาวเสาร์จากการปนเปื้อน ภาพนี้เธอถ่าย ณ ความสูงเพียงแค่ 634,000 กิโลเมตรเท่านั้น
หลังจากถ่ายที่เธอต้องถ่ายภาพสุสานของตัวเธอเธอเอง กล้องก็ถูกปิดลง ไม่มีภาพถ่ายความละเอียดสูงส่งมาอีกต่อไปแล้วหลังจากนั้น แต่อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ จะยังคงเปิดเพื่อบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ในขณะที่เธอดำดิ่งลงสู่ชั้นบรรยากาศเบื้องล่างนั่น
ที่นั่น ฉันตาย – แม้กล้องจะถูกปิดลง แต่อุปกรณ์ spectrometer บนยานยังส่งข้อมูลเกี่ยวกับสุสานของเธอเข้ามาอีก ภาพนี้เป็นภาพ thermal infrared ณ ความยาวคลื่น 5 ไมครอน อุปกรณ์สามารถรับรู้ได้ถึงความร้อนที่แผ่ออกมาจากตัวดาว วงกลมสีขาวในภาพแสดงให้เห็นถึงจุดสุดท้ายที่เธอจะเข้าไปอยู่หรือสุสานของเธอนั่นเอง
ละติจูดที่ 9.4 องศาเหนือ ลองติจูดที่ 53 องศาตะวันตก ของดาวเคราะห์อันดับที่ 6 แห่งระบบสุริยะจักรวาล สถานที่สุดท้ายของยานแคสสินี เธอจะอยู่บนนั้นไปตลอดกาล
เป็นการปิดฉากการส่งข้อมูลชุดใหญ่ของยานแคสสินีมายังโลก แต่ยังมีข้อมูล package ขนาดเล็กอีกจำนวนมากที่เธอได้ระหว่างทีกำลังเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ข้อมูลพวกนี้ยังต้องผ่านการวิเคราะห์และประมวลผลจากนักวิทยาศาสตร์ก่อนที่จะถูกนำมาเผยแพร่เป็นองค์ความรู้ หากต้องการทราบข้อมูลเราสามารถรอติดตามได้ที่ หน้าเว็บของโครงการ Cassini ได้
หลังจากที่ยานแคสสินีได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของดาวเสาร์ในวันที่ 15 กันยายน ณ เวลาพระอาทิตย์ตกตามเวลาประเทศไทย โครงการ Cassini ได้ทำการทวีตข้อความผ่านทาง Twitter เป็นการบอกลาว่า
“ทุกครั้งที่เรามองเห็นดาวเสาร์ในยามค่ำคืน เราจะจดจำ เราจะยิ้ม และซักวันหนึ่ง … เราจะกลับไปที่นั่นอีกครั้ง”
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co