แสงจากดวงดาวของซีซิเลีย หญิงผู้เปลี่ยนความเข้าใจดาวฤกษ์ในยุคที่นักวิทย์มีแต่ผู้ชาย

คุณรู้จัก Cecilia Payne มั้ย ไม่คุณคงไม่รู้จักเขาหรอก เหมือนนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์หลายคน ที่เขามีตัวตนบนโลกใบนี้นะ เพียงแต่คุณแค่ไม่รู้จักเขาเพียงเท่านั้นเอง แต่คนเหล่านี้เคยสรรสร้างผลงาน งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายทิ้งเอาไว้บนโลกใบนี้ให้มนุษยชาติมียักษ์ ยักษ์ที่ชื่อว่าความรู้ ความรู้ที่ผลักดันเราให้สูงขึ้นทำให้เราสามารถมองได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น เหมือนที่ Issac Newton เคยกล่าวไว้ “If I have seen further it is by standing on the shoulders of Giants.”

ดวงดาว คำทำนาย และตำนาน

ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ก่อนที่มนุษย์นั้นจะรู้จักการจดบันทึกและการเขียนตัวอักขระ บรรพบุรุษของเราแหงนหน้ามองดูท้องฟ้าในยามค่ำคืน สิ่งที่เขาพบเห็นคือดวงดาว และสิ่งที่เขาค้นพบจากดวงดาวคือความสัมพันธ์บางอย่างที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของพวกเขาผ่านชั่วเวลา

ท้องฟ้ายามค่ำคืน ที่มา – Pexel ผ่าน Free Nature Stock

มันคือฤดูกาล เนื่องด้วยโลกของเราหมุนรอบดวงอาทิตย์มันทำให้ดวงดาวที่เรามองเห็นในแต่ละค่ำคืนแตกต่างกันเล็กน้อย และเมื่อนานวันเข้ามันก็จะเปลี่ยนแปลงไปหลายดวงอยู่ บางดวงหายไป บางดวงขึ้นมาแทนที่ มันเป็นแบบแผนที่ชัดเจน และแม่นยำในระดับที่สูงมากจนเรียกได้ว่านี่คือ ปฏิทิน แรกของอารยธรรมมนุษย์

ปฏิทินที่คอยบอกกล่าวว่าถึงเวลาที่จะสร้างที่พักแรม ถึงฤดูที่ออกล่าสัตว์ ถึงฤดูที่เพาะปลูก และถึงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งมันเป็นรูปแบบที่ตายตัว นี่ทำให้บรรพบุรุษของเราคิดว่านี่คงเป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานให้ นี่คือสิ่งที่พระเจ้าทรงมอบให้เพื่อเป็นแนวทางชีวิตแก่พวกเรา ในเวลาว่างระหว่างค่ำคืน มนุษย์เราที่แหงนหน้าดูท้องฟ้ามักเห็นดวงดาวที่เป็นจุด จุดเล็กๆ แต่เมื่อมองผ่านท้องฟ้าที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงดวงดาวอีกนับพันล้านดวงบนท้องฟ้า คงไม่แปลกถ้าเราจะมองหาความสัมพันธ์แปลกๆอีกแล้ว

รูปร่างของดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้าที่มนุษย์จินตนาการ ที่มา – Laurie Lynn Fischer/Explore

ความสัมพันธ์ที่ว่านั้นคือ รูปร่าง ดวงดาวที่อยู่ใกล้กันและมีลักษณะเด่นชัด เรามองเห็นและลากเล้นต่อจุด เกิดเป็นกระจุกหรือหมู่ดาว กระจุกดาวลูกไก่ เอย หมู่ดาวหมีใหญ่ ทั้งหลายทั้งแหลนั้นเกิดจากวัฒนธรรมและการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆผ่านตำนานในจินตนาการ

เอาจริงหมู่ดาวบางดวงจริงๆแล้วต้นกำเนิดของมันจริงไม่ได้เกิดขึ้นหรืออยู่ใกล้กันหรอก อาจเป็นคนละฟากของกาแล๊กซีเลยก็ได้แต่เพราะระยะทางที่ห่างไกลมากนับหลายปีแสงมันจึงทำให้ระยะทางที่แตกต่างดูไม่ออกด้วยการสังเกตด้วยตาเปล่า

คุณเห็นกระจุกดาวลูกไก่มั้ย ไม่หรอก มันหายากไปหน่อยสำหรับผู้คนในกรุงเทพน่ะ กระจุกดาวลูกไก่ในโบราณนั้นใช้สำหรับการวัดสายตา ถ้าคุณเห็นดาวในกระจุกดาวนั้นแค่ 6 ดวง มันไม่แย่หรอกครับ คุณคือคนปกติ แต่ถ้า คุณเห็นมัน 7 ดวงหรือมากกว่านั้นละก็ คุณจะเป็นคนที่สายตาดีมาก เหมาะกับการเป็นทหารหรือหน่วยสังเกตการณ์

กระจุกดาวลูกไก่ Pleiades ที่มา – NASA/ESA

กระจุกดาวลูกไก่นั้นเกิดขึ้นเมื่อ 100 ล้านปีก่อน ดาวแต่ละดวงนั้นสว่างกว่าดวงอาทิตย์ถึง 40 เท่า และอัลซีโอนี ก็เป็นดวงที่สว่างที่สุด เจิดจรัสกว่าดวงอาทิตย์ของเราเป็นพันเท่า

ในวัฒนธรรมทั่วโลกพยายามที่จะอธิบาย เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของกระจุกดาวลูกไก่ว่ามันอยู่บนฟากฟ้าได้อย่างไร ทั้งกรีก ชาวอินนูอิต ชาวอินเดีย และพวกไคโอวา หรือที่เรารู้จักในที่เรียกกันว่า อินเดียนแดง อยากฟังตำนานดาวลูกไก่มั้ย มันเยอะแยะมากเลยนะ เกรงว่าบทความนี้จะกลายเป็นนิทานดาวลูกไก่ไปก่อนที่เราจะได้รู้จักว่า ซีซิเลีย เป็นใคร ดังนั้นตัดข้ามนิทานดวงดาวไปเลยแล้วกัน

การบอกเล่านิทานดวงดาวของบรรพบุรุษของเราไม่ได้ช่วยให้มนุษย์เราเข้าใกล้ดวงดาวขึ้นเลยนอกจากในความฝัน มันยังคงต้องใช้เวลาอีกนับพันปีเพื่อรอให้เราสังสมองค์ความรู้เพื่อไขปริศนาแห่งดวงดาว

ฮาเร็มของพิเคอร์ริง

ในปี 1901 ในยุคที่นักวิทยาศาสตร์และผู้นำของโลกเป็นชาย ในฮาร์วาดก็เช่นเดียวกัน ผู้หญิงในสังคมส่วนมากไม่ได้รับการศึกษาในระดับสูง แต่ไม่ใช่กับ Edward Charles Pickering เขามีหญิงสาวเต็มไปหมด

พิเคอริงให้สาวๆเข้ามาช่วยเหลือเขาในการเก็บข้อมูลของดวงดาวที่รู้จักและค้นพบ จัดแยกหมวดหมู่และทำแผนที่ดวงดาว พวกเธอเปรียบได้กับคอมพิวเตอร์ของพิเคอริง แต่เพื่อนๆของเขาในฮาร์วาดเรียกพวกเธอว่า ฮาเร็มของพิเคอริง

ฮาเร็มของพิเคอริง

หารู้ไม่ว่าพวกเธอเหล่านี้คือหนึ่งในกุญแจที่นำพาเราไปสู่คำตอบแห่งดวงดาว คนแรกที่เราจะพาไปรู้จักคือ Henrietta Swan Leavitt เธอคือนักดาราศาสตร์คนที่ยืนอยู่กลางภาพ ด้านบน หญิงผู้นี้ทำให้เราเข้าใจถึงวิธีในการคำนวนระยะทางระหว่างดวงดาว เป็นกฏที่ใช้งานกันต่อมาในยุคถัดมา และค้นพบดาวเซฟีดอีกนับพันดวง

อีกคนหนึ่งคือ Annie Jump Cannon เธอคือหัวหน้าทีมของเหล่าสาวๆ เธอนั่งอยู่กลางภาพ มือหนึ่งกำลังหยิบแว่นขยายส่องดูภาพฟิล์มที่ตั้งอยู่ เธอคือผู้จัดจำแนกประเภทของดวงดาวผ่านวิธีการแยกผ่านวิธีสเปกตรัม และได้จำแนกดวงดาวกว่าสองหมื่นห้าพันดวง คุณไม่เคยได้ยินชื่อของพวกเธอเหล่านี้ใช่มั้ย เคยสงสัยไหมว่าทำไม

แคนนอนนั้นสูญเสียการได้ยินตั้งแต่ยังสาวเนื่องด้วยการติดเชื้อจากไข้อีดำอีแดง ส่วน สวอนต์ ก็สูญเสียการได้ยินเช่นเดียวกัน ด้วยปัญหานี้ทำให้พวกเธอมีปัญหาด้านการสื่อสารอย่างเห็นได้ชัด และอีกประการหนึ่ง นี้คือยุคที่ชายเป็นใหญ่ และพวกเธอเป็นแค่ลูกน้องเท่านั้น

ระบบจัดแจงดวงดาว

ในตลอดการทำงานจัดหมู่ดวงดาวของเธอ เธอได้แบ่งดาวออกเป็น 7 กลุ่มหลัก คือ O,B,A,F,G,K,M แบ่งตามแถบสเปกตรัมของดาว และในกลุ่มของมันดวงดาวย่อมมีความแตกต่างกันอย่างยิบย่อย แคนน่อนจึงแบ่งมันออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ อีก เธอได้ใส่เลขหมายเลขสิบหมายเลขเป็นตัวแทนเพื่อแบ่งแยกความแตกต่างของพวกมัน

แคนน่อนได้จัดระบบดวงดาว เป็นระบบที่สวยงามและเพอร์เฟค มันถูกใช้งานจนถึงทุกวันนี้เป็นระบบที่ทำให้เราแยกแยะดวงดาวแต่ละดวงบนท้องฟ้าออกจากกันได้ แต่เธอไม่เข้าใจความหมายของพวกมันหรอกนะ ต้องให้นักดาราศาสตร์อีกคนหนึ่งมาอธิบายความหมายที่ซ่อนอยู่ภายในระบบการจัดจำแนกของเธอ

ปี 1923 หญิงสาวคนหนึ่งได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากอังกฤษมายังอเมริกาเพื่อจุดประสงค์ในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เนื่องด้วยในอังกฤษผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ความเป็นเสรีทำให้เธอเลือกที่มาจะลงหลักปักฐานบนพื้นแผ่นดินอเมริกา และฮาร์วาดตอบรับเธอ สิ่งที่เธอค้นพบนั้นเรียกได้ว่าเปลี่ยนแปลงความรู้เกี่ยวกับดวงดาวของเราไปตลอดกาล นำพาเราสู่ยุคแห่งฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่แท้จริง

“Miss Cecilia H. Payne” ที่มา – Harvard College Observatory

แดนมอดไหม้

ซีซิเลีย เพย์น เดินทางเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่ฮาร์วาร์ดเธอได้พบกับแคนน่อน และแคนน่อนได้สอนทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอรู้ให้กับเพย์น เรื่องราวเกี่ยวกับสเปกตรัมและระบบการจัดหมู่ดวงดาวของเธอ เพย์นเริ่มได้วิเคราะห์ข้อมูลของสเปกตรัมที่แคนน่อนได้จัดระบบมา เผื่อว่าเธอจะได้ระบุถึงองค์ประกอบทางเคมีและภาวะทางกายภาพของดวงดาว

แสงสเปกตรัมจากดวงดาวนั้นแสดงถึงองค์ประกอบทางเคมี แถบสีที่นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในยุคนั้นเข้าได้เห็นแถบของแคลเซียม เหล็ก และธาตุอื่นๆอีก 40 กว่าชนิดที่มีอยู่บนโลก นักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นจึงได้เข้าใจว่า ดวงอาทิตย์นั้นมีสภาพคล้ายคลึงกับโลกเพราะมีธาตุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลก

ดวงอาทิตย์เมื่อถูกถ่ายผ่านฟิลเตอร์ Hydrogen Alpha ที่มา NASA

ในปี 1924 Henry Norris Russell เป็นคณะบดีแห่งวงการดาราศาสตร์อเมริกาในยุคนั้นได้อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่อยู่บนดวงอาทิตย์ว่า หากเราเร่งความร้อนให้กับพื้นผิวโลก ทำให้พื้นผิวโลกนั้นร้อนเทียบเท่ากับดวงอาทิตย์ โลกย่อมสามารถเปล่งแสงสว่าง ได้เหมือนดวงอาทิตย์เปล่งแสง

ในอดีตนั้นความเข้าใจเกี่ยวกับดวงดาวของเราไม่เหมือนในทุกวันนี้ที่เรายอมรับว่าดวงอาทิตย์เป็นก้อนพลาสม่าใหญ่ยักษ์ลอยอยู่กลางอวกาศ เรามีความรุ็เฉพาะในสิ่งที่เรารู้ และไม่รู้ในสิ่งที่เรารู้ว่าไม่รู้ หากเราขุดลงไปใต้โลกแน่นอน มันมีดินอยู่ ขุดไปยังไงก็เจอดิน เจอหินอยู่ดี นี่คอสิ่งเราเข้าใจ ดังนั้นเราจึงเข้าใจว่าดวงจันทร์ ดาวอังคารและดาวดวงอื่น ๆ ย่อมมีดินมีหินเหมือนกับโลก มีสถานะเป็นของแข็งเหมือนกับโลก แน่นอนว่าการอนุมานของรัชเชลถูกต้องถ้าเขาได้ดูงานของแคนน่อนและเขาคำนวนแถบสเปกตรัมพวกนี้ในระดับพลาสม่าแล้ว แปลว่าการอนุมานของเขาผิดยังไงละ

วิทยานิพนธ์ของซีซิเลีย

มีบางอย่างผิดปกติไป เพย์นรับรู้ได้ถึงความผิดปกติของการอนุมานของรัชเชล เธอได้เห็นถึงงานของแคนน่อนแน่นอนว่ามันทำให้เธอเข้าใจถึงสภาวะที่แท้จริงของดาวฤกษ์ รวมถึงสสารที่อยู่ภายในดวงดาว

เธอค้นพบว่าดาวฤกษ์นั้นมีองค์ประกอบหลักเป็นไฮโดรเจนและฮีเลียม ถึงแม้มันจะมีเหล็กและธาตุโลหะอยู่ภายใน แต่เมื่อเทียบกับไฮโดรเจนและฮีเลียมและมันมีห่างกันด้วยตัวเลขหลักพันล้าน

อีกทั้งการแบ่งแยกประเภทและกลุ่มของดวงดาวตามแถบสเปกตรัมของแคนน่อนนั้นคือการแบ่งดวงดาวตามลำดับอุณหภูมิ

มันจึงอนุมานว่าโลกมีสเปกตรัมเหมือนดวงอาทิตย์ไม่ได้ เธอเข้าใจถึงงานของแคนน่อนอย่างถ่องแท้ และแน่นอนผลงานของแคนน่อนกลายเป็นส่วนสำคัญในวิทยานิพนธ์ของเธอ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างยุคใหม่ของฟิสิกส์ดาราศาสตร์ แต่ว่า ผู้ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเธอคือ Prof Henry Norris Russell

การโต้กลับของรัชเชล

Stellar Atmospheres นี่คือชื่อวิทยานิพนธ์ของเพย์น ที่ถูกส่งไปวางอยู่บนโต๊ะของศาสดาจารย์แห่งยุคอย่างรัชเชล เมื่อเขาได้อ่านการวิเคราะห์ของเธอเขาแทบจะโยนมันทิ้งในทันที มันผิดหลักสามัญสำนึกของผู้คนทั่วไป แบบที่พูดไปขุดลงไปใต้โลก ยังไงก็เจอดินไม่ได้เจอแก๊สพวยพุงออกมาจากใต้โลกซะหน่อย เพย์นเหมือนหญิงสาวผู้น่าสงสาร เธอมืดแปดด้าน สิ่งที่เธอคำนวนมาและเข้าใจทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่ถูกต้อง แต่ผู้คนกลับเห็นแย้งว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่ว่าเธอคำนวนใหม่กี่ครั้งตามที่รัชเชลบอกมันย่อมได้ค่าเท่าเดิม สุดท้ายรัชเชลยอมรับในวิทยานิพนธ์ของเธอและให้เธอผ่าน

ใช้เวลาถึงสี่ปีที่เขาจะยอมรับทฤษฎีของเธอและเมื่อเขาได้คำนวนมันตามที่เพย์นได้คำนวนไว้  มันถูกต้อง ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์นั้นมีแต่ไฮโดรเจน เขารีบนำความรู้ที่เขาได้มาป่าวประกาศให้โกลได้รับรู้และแน่นอนรัชเชลนั้นยังใจดีและให้เกียรติกับเพย์น เขายอมรับว่านั้นไม่ใช่การค้นพบของเขาแต่เป็นการค้นพบของเธอ

เพย์นเป็นหญิงสาวผู้เดียวดายในวงการดาราศาสตร์ และมีน้อยคนนักที่รู้จักและเคยหยิบจับวิทยานิพนธ์ของเธอขึ้นมาอ่าน แต่ความรู้ที่เธอค้นพบและสร้างสรรค์มานั้นได้พัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ของโลกใบนี้ เธอทำให้เรารับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเอกภพนี้มากขึ้น เธอทำให้เรามองเห็นและเข้าใจสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากเราให้เข้าใกล้ตัวเรามากขึ้น ทำให้เราเข้าใจองค์ประกอบของดวงดาวโดยไม่ต้องเดินไปสัมผัส เธอคือหญิงสาวที่ควรค่าแก่การได้รับการยกย่องในหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

Cecilia Payne กับกล้องโทรทรรศน์ ไม่ปรากฏที่มา

ความรู้ถูกส่งต่อ

การที่เพย์นได้พิสูจน์มันช่วยเปลี่ยนแปลงทฤษฎีเกี่ยวกับดาวฤกษ์ใหม่ทั้งหมด ทำให้มนุษย์เข้าใกล้ความจริงเกี่ยวกับดวงดาวมากขึ้น

อย่างแรก ดวงอาทิตย์ที่ใหญ่โตและร้อนระอุมันเป็นสิ่งเดียวกันกับดวงดาวที่อยู่ห่างไกลที่คอยส่งแสงระยิบระยับอยู่บนท้องฟ้า นี่แทบจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบความคิดเกี่ยวกับเอกภพนี้เลยเมื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เราเคารพนับถือและทำให้เราถือตัวว่าพระเจ้าสร้างเอกภพนี้เพื่อตัวของเรา มันกลับมีดวงดาวลักษณะคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ของเราอีกไม่รู้กี่ล้านล้านล้านดวง

จากการถือตัวของเราว่าเรานั้นคือผู้ยิ่งใหญ่ เราก็กลายเป็นแค่ธุลีหนึ่งในเอกภพเท่านั้นเอง

ประการที่สองมันเป็นแรงสนับสนุนหลักของทฤษฎีเทอร์โมนิวเคลียร์ฟิวชั่น

เรารู้ว่าดวงอาทิตย์ส่องแสงได้ แต่เราไม่รู้ว่ามันมีหลักการทำงานอย่างไร ในอดีตเราคิดว่าดวงอาทิตย์นั้นคือก้อนถ่านใหญ่ยักษ์ลอยอยู่กลางอวกาศ ทฤษฎีนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายแต่ว่า เมื่อเราลองคำนวนขนาดของดวงอาทิตย์และคำนวนระยะเวลาที่เหล่าเปลวไฟจะสุกสว่างได้แล้ว เปลวไฟเหล่านั้นอยู่ได้เพียงไม่กี่ปีก็ดับไปเสียแล้ว ทั้งที่ทฤษฎีเกี่ยวกับอายุของโลกในสมัยนั้นคืออย่างน้อยหนึ่งล้านปี มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่โลกจะถือกำเนิดก่อนดวงอาทิตย์

การมาของเพย์นช่วยให้เราพิสูจน์ได้ว่า ดวงอาทิตย์นั้นเปล่งแสงและแผ่รังสีความร้อนจากนิวเคลียร์ฟิวชั่นภายในแกนของดาว มันทำให้ธาตุเบาอย่างไอโดรเจนกลายเป็นธาตุหนักอย่างฮีเลียมพร้อมปล่อยพลังงานออกมาอย่างมหาศาล มันคือหลักฐานที่ทำให้ทฤษฎีนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ประการสุดท้ายมันทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถไขคำตอบต้นกำเนิดของดวงอาทิตย์และการดับสูญของมัน อีกทั้งยังทำให้เรารู้จักดาวฤกษ์บนท้องฟ้ามากขึ้นไปกว่าเดิม

เราเห็นจุดสว่างวาบที่สว่างกว่าดวงจันทร์ของเราทั้งดวงแต่ไม่กี่วันมันก็หายไปจากท้องฟ้า เหตุการณ์นั้นเราเรียกว่า ซูเปอร์โนวา

Main Sequence

เรารู้จักซูเปอร์โนวาแต่เราไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วดาวดวงใดจะเกิดบ้าง การที่เราศึกษาปรากฏการณ์ซูเปอร์โนวาและจากหลักฐานของแคนน่อนทำให้เราเข้าใจว่าแท้จริงแล้วดาวที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึงจะเกิดซูเปอร์โนวาได้ ส่วนดวงอาทิตย์น่ะหรอ เมื่อมันหมดอายุขัยมันจะสลัดผิวนอกของมันออกเหลือเพียงแกนกลางที่ส่องแสงสว่างริบหรี่เท่านั้น และดาวที่มวลน้อยกว่าดวงอาทิตย์นั้นจะมีอายุขัยยืนยาวเป็นดาวแคระดาว ดาวที่มีอายุขัยยืนยาวยิ่งกว่าเอกภพในตอนนี้เสียอีกและน่าจะเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่มีจำนวนมากที่สุด

หลังจากการเอาความรู้จากแคนน่อนมาศึกษา แล้วนำมันมาสร้างกราฟเทียบมวลกับสีสเปกตรัมที่เธอแยกไว้ มันเกิดเป็นกราฟที่เด็กนักเรียน นักศึกษาสายฟิสิกส์ทุกคนเคยเจอในหนังสือเรียน ใช่ครับ มันคือเส้น Main Sequence ของเหล่าดวงดาว การจำแนกและจัดกลุ่มดวงดาวด้วยสีและมวลมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรแปรผันตรงกันแต่มันเป็นสิ่งที่แปรผันตรงกัน เมื่อเรามาวิเคราะห์สีเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจว่า ดาวฤกษ์ที่มีมวลมาก ดวงใหญ่จะมีสีออกไปทางน้ำเงิน ส่วนความร้อนน้อย ๆ ขนาดเล็ก ๆ จะไปทางโซนสีแดง ดวงที่มีความร้อนปานกลางขนาดปานกลางจะมีสีขาวเหมือนกับดวงอาทิตย์ สิ่งได้มานี้คือสิ่งที่มหัศจรรย์และมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงวงการดาราศาสตร์ไปตลอดกาลอย่างแท้จริง

อนาคตที่แน่นอน

วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทำให้เรารู้ว่าดวงดาวเหล่านี้ก่อกำเนิดมาได้อย่างไร ระหว่างทางเป็นเช่นไร และเมื่อดับสูญจะไปในแนวทางไหน

ดวงดาวตั้งแต่ก่อกำเนิดมานั้นมันมีชะตาที่แน่นอนถึงการตายที่จะเกิดขึ้น มันมีอายุขัยที่แน่นอน มีแนวทางการตายที่แน่นอน มีรูปแบบทุกอย่างเป็นสิ่งที่แน่นอน แต่ความแน่นอนเหล่านั้นก็ทำให้เกิดพวกเราขึ้นมา การตายของดวงดาวที่มีขนาดใหญ่ทิ้งเศษซากมหาศาลเป็นสารที่จะหลอมรวมให้เกิดโลกใบนี้ ให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิต ให้กลายเป็นเหล็ก กลายเป็นระเบิดนิวเคลียร์ มันจึงเป็นการตายที่สวยงาม และสรรสร้างให้เกิดชีวิตใหม่ต่อมา

เนบิวล่าปู M1 คือเศษซากจากการระเบิดซูเปอร์โนวา เป็นเนบิวล่าแห่งแรกของโลกที่ถูกค้นพบ ที่มา NASA

ไม่รู้ว่าน่าเสียดายดีมั้ยแต่ อีก 100 ล้านปีข้างหน้า กลุ่มดาวนายพรานหรือโอไรออนที่ตามจับนางทั้งเจ็ดใน Pleiades ของตำนานกรีก ดวงดาวในกลุ่มดาวนายพรานจะต่างพากันระเบิดและแตกดับไปเพราะชั้นแก๊สไม่สามารถแบกรับน้ำหนักอันมหาศาลของตัวมันเองได้จึงค่อยๆยุบตัวลงไปและระเบิดเป็นซุเปอร์โนวา นางทั้ง 7 ที่ยังอ่อนเยาว์จึงเป็นอิสระและแยกย้ายกระจัดกระจายกันออกไปสร้างครอบครัวดวงดาวของตัวเองกันต่อไป สิ้นสุดตำนานแห่งการไล่ล่าอันแสนยาวนานของโอไรออนและนางทั้ง 7 เสียที เป็นอิสระแล้วนะ ดวงดาวทั้งหลายในเอกภพมีอนาคตและแบบแผนที่แน่นอนตั้งแต่มันถือกำเนิดขึ้น ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอนแม้แต่ดวงดาว

บทความนี้ แด่ Cecilia Payne ผู้ล่วงลับ

อ้างอิง

Stellar Atmospheres – Merrill, P. W. วารสาร Publications of the Astronomical Society of the Pacific 

Cosmos: A Spacetime Odyssey ตอนที่ 8 : Sister of the Sun

นิตยสาร National Geographic ฉบับ เดือนมีนาคม 2550

และรายการ WiTCast

WiTcast – episode 24 นั่งชิลบ้านป๋องแป๋ง / ข่าวสั้นมากมาย

Jirasin Aswakool | Researcher Assistant | นักวิจัยอยากผันตัวกลับมาทำงานสื่อสารวิทยาศาสตร์