เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2019 ที่ผ่านมา ทั่วทั้งโลกได้จับตามองดูการลงจอดของยาน Vikram ที่แยกตัวออกจากยาน Chandrayaan-2 เพื่อไปพยายามลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไปในช่วงไม่กี่วินาทีก่อนลงจอดเพียงเท่านั้น
ในตอนนี้หลายเรื่องราวของยาน Vikram ยังคงเป็นปริศนา ว่าเกิดเหตุใดที่ทำให้ยานขาดการติดต่อไป และแม้เราอาจไม่มีทางรู้ถึงสาเหตุของเรื่องเหล่านั้น แต่ทาง ISRO หรือหน่วยงานอวกาศของอินเดียก็ไม่ได้จมอยู่กับมัน เนื่องจากล่าสุดพวกเขาได้เริ่มต้นกับภารกิจ Chandrayaan-3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อ้างอิงจากการรายงานของ The Times of India มีการรายงานว่า ISRO ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสำหรับการตรวจสอบภารกิจใหม่ของหน่วยงาน ซึ่งนั่นก็คือ Chandrayaan-3 และล่าสุดก็ได้มีการสรุปรูปแบบคร่าว ๆ ของภารกิจขึ้นมาแล้ว เช่น สถานที่ลงจอด วิธีการนำทาง และส่วนประกอบของยาน เป็นต้น
Chandrayaan-3 จะไม่มียานแบบ Orbiter ไปโคจรรอบดวงจันทร์ เนื่องจากยาน Orbiter ของ Chandrayaan-2 ยังคงทำงานได้ดีตามแผนอยู่ และยังสามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ กลับโลกได้ตามปกติ ทำให้ภารกิจของ Chandrayaan-3 จะมีเพียงแค่ยานลงจอด (แบบเดียวกับยาน Vikram) และรถโรเวอร์สำหรับลงสำรวจบนพื้นผิว
มีการอ้างอิงคำพูดจากนักวิทยาศาสตร์ใน ISRO ว่ายานลงจอดรุ่นใหม่นี้จะมีการปรับปรุงช่วงล่างของยานให้ทนกับแรงกระแทกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมาจากการแนะนำโดยคณะกรรมการที่สอบสวนข้อผิดพลาดของภารกิจ Chandrayaan-2 ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกำลังตรวจสอบดูข้อผิดพลาดในการลงจอดเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้านี้อยู่
ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า Chandrayaan-3 จะออกเดินทางไปสู่ดวงจันทร์ในตอนไหน แต่ทาง The Times of India ระบุว่าเส้นตายของภารกิจนี้นั้นถูกกำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2020 นั่นแสดงว่า ISRO จะมีเวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น ในการสร้างและส่งยานลำนี้ไปสู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ให้ได้
อ้างอิง:
The Times of India | Chandrayaan-3: Second bid to land on Moon by November 2020