5 เดือนที่ผ่านมาในเดือนเมษายน 2019 ยาน Beresheet ของประเทศอิสราเอลเพิ่งล้มเหลวในความพยายามลงจอดบนดวงจันทร์หลังจากที่ตัวยานตกกระแทกพื้นและเสียหายไป อย่างไรก็ตามภารกิจนี้ก็กลายเป็นบทเรียนสำคัญให้กับทีมจากอิสราเอลได้อย่างดี จะสังเกตว่าในช่วงปีที่ผ่านมานี้ การกลับไปลงจอดบนดวงจันทร์กลายเป็นกระแสขึ้นมาอีกพักหนึ่ง หลังจากที่จบโครงการ Apollo และ Luna 24 ในปี 1976 การกลับไปลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้งก็เกิดขึ้นในปี 2013 โดยประเทศจีนด้วยยาน Chang’e 3 ตามาด้วย Chang’e 4 ที่เป็นยานลำแรกที่ไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์
ทำให้ ณ ตอนนี้ ไม่นับ Baresheet ที่ลงจอดไม่สำเร็จ มีเพียงแค่ 3 ประเทศเท่านั้นที่สามารถส่งยานไปลงจนผิวของดวงจันทร์ได้สำเร็จจริง ๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อดีตสหภาพโซเวียต และจีน
ประวัติศาสตร์ยังคงบันทึกหน้าเดิม เมื่อยานวิกรม (Vikram) ตัว Lander ที่เดินทางไปกับยานจันทรายาน 2 (Chandrayaan-2) เกิดสัญญาณขาดในนาทีสุดสำคัญของการลงจอดคือที่ระยะ 2.1 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวของดวงจันทร์ โดยสัญญาณล่าสุดบอกว่าตัวยานลงไปด้วยอัตราการตกสูงกว่าที่กำหนดไว้ตอนแรก
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันจากทาง ISRO ว่าเกิดอะไรขึ้นกับยานกันแน่ และวิศวกรก็กำลังเร่งวิเคราะห์หลาย ๆ ปัจจัยที่อาจจะทำให้การลงจอดในครั้งนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ซึ่งเราก็ต้องรอกันต่อไปถึงข้อสรุป
แต่ภาพที่ติดตาในห้องควบคุมที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด ความกดดัน ฮีโร่ของวันนั้นกลายเป็นท่านนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ของอินเดีย ที่เดินตบไหล่วิศวกรแต่ละคนและแสดงสปิริทแห่งผู้นำท่ามกลางสายตาของคนทั้งโลกที่กำลังชมการถ่ายทอดสด
Modi เดินทางมาชมการลงจอดด้วยตัวเองที่ศูนย์อวกาศของ ISRO ในวันสำคัญที่จะทำให้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ที่ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ
Modi บอกกับทุกคนในห้องรวมถึงเด็ก ๆ ที่มาร่วมชมว่า “จงกล้าหาญไว้ เหมือนที่เราทำมาตลอด สิ่งที่พวกเราทำนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย” เป็นคำพูดที่ง่าย ๆ แต่มีพลังมาก หลายคนอาจจะรู้สึกกดดันเวลามีผู้ใหญ่ระดับสูงเข้ามาควบคุมงานด้วยตัวเอง แต่กรณีของ Modi และทีม IRSO นั้นถือว่าน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างมาก
แม้ว่าทั่วโลกอาจจะยังไม่ได้เห็นความสำเร็จของการลงจอดเป็นชาติที่ 4 แต่ทั่วโลกได้เห็นสปิริทในการสำรวจอวกาศของอินเดีย และความเป็นผู้นำของ Narendra Modi ที่ทำให้การลงจอดที่อาจจะผิดพลาดเป็นเรื่องรองไปเลย
ภารกิจจันทรายาน 2 และยานลงจอดวิกรม
ภารกิจจันทรายาน 2 ของอินเดียเดินทางสู่ดวงจันทร์ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2019 จากฐานปล่อยในในเมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดียด้วยจรวดแบบ GSLV ซึ่งอินเดียพัฒนาขึ้นด้วยตัวเอง โดยเดินทางสู่วงโคจรสูงประมาณ 200 กิโลเมตรจากนั้นค่อย ๆ จุดจรวดเพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เป็นวงรี โดยมีจุดที่รัสมีสูงสุดอยู่ที่ 142,975 กิโลเมตร รวมการจุดจรวดเพิ่มความเร็วทั้งสิ้น 5 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนกรกฏาคมจนถึงสิงหาคม ก่อนที่จะเข้าสู่วงโคจร Trans-lunar Injection และ ค่อย ๆ ปรับเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในขั้นสุดท้ายสำเร็จในวันที่ 2 กันยายน 2019 โดยคงระยะการโคจรอยู่ที่ประมาณ 127 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวของดวงจันทร์
ในวันเดียวกันยานลงจอดวิกรมซึ่งตั้งชื่อตามคุณวิกรม สารภัย (Vikram Sarabhai) นักฟิสิกส์และบิดาแห่งอวกาศอินเดีย ก็ได้แยกตัวออกจากยานแม่เพื่อลดความเร็วลงและเตรียมการลงจอด บนตัวยานนั้นประกอบไปด้วยอุปกรณ์สำคัญหลัก ๆ ได้แก่ Lunar Seismic Activity (ILSA) เพื่อตรวจวัดแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ Chandra’s Surface Thermo-physical Experiment (ChaSTE) อุปกรณ์สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิบนพื้นผิว รวมถึงอุปกรณ์ Langmuir probe (ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิ ความดัน และคุณสมบัติของแก๊ส) รวมถึงกระจกสะท้อนเพื่อวัดระยะห่างแบบเดียวกับที่ติดไปกับภารกิจ Apollo
ความน่าสนใจของตัวยานวิกรมก็คือ มันได้นำยานรถสำรวจหรือ Rover ติดขึ้นไปด้วย ปรัชญาณ (Pragyan) ซึ่งมันจะเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ จุดลงจอดและสำรวจ ซึ่งนับว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงมาก แบบเดียวกับที่ยาน Chang’e 4 ได้นำรถสำรวจ Yutu ไปวิ่งสำรวจบนผิวของดวงจันทร์
ภารกิจจันทรายาน 2 นั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาหาธาตุองค์ประกอบสำคัญบนดวงจันทร์รวมถึงการมีอยู่ของน้ำบนดวงจันทร์ โดยอุปกรณ์สำคัญหลาย ๆ ตัวถูกติดอยู่กับตัวยานที่เป็น Orbiter หรือยานโคจร ซึ่งเป็นภารกิจรูปแบบระยะยาว เพราะทั้งยานวิกรมและปรัชญาณนั้นถูกออกแบบมาให้ทำงานเพียงแค่ 14 วันเท่านั้น
แม้จะดูเหมือนว่าการลงจอดของวิกรมจะไม่สำเร็จอย่างไรก็ตาม งานด้านวิทยาศาสตร์ที่จันทรายาน 2 จะทำ 95% อยู่บนตัว Orbiter ซึ่งเข้าสู่วงโคจรและเริ่มทำงานได้อย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นอินเดียยังนับว่าทำภารกิจจันทรายาน 2 สำเร็จไปแล้วกว่า 95% ในส่วนของยานลงจอดวิกรมนั้น แม้ว่าโอกาสที่มันจะกลายเป็นเศษซากอยู่บนพื้นของดวงจันทร์ แต่อย่าลืมว่ามันได้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างคน สร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจำนวนมากที่มีส่วนร่วมกับภารกิจนี้ และแน่นอนว่าแม้วันนี้ชาติที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้จะยังมีแค่ 3 ชาติเท่าเดิม แต่อินเดียจะยังไม่หยุดเท่านี้แน่นอน
ในภารกิจนี้ นอกจากท่านนายกแล้ว มีเด็ก ๆ ที่ชนะการตอบคำถามด้านอวกาศมาร่วมชมด้วย Christ B จาก NASA Spaceflight ทวีตบอกว่า วันนี้เด็ก ๆ ได้เรียนบทเรียนครั้งสำคัญ ที่บอกว่า “อวกาศนั้นไม่ง่าย” ในขณะที่หนังสือเรียนบันทึกความสำเร็จของโครงการอวกาศต่าง ๆ โดยไม่ได้พูดถึงความผิดพลาดต่าง ๆ นั้นอาจจะทำให้เราคิดว่าอวกาศนั้นง่าย แต่จริง ๆ เส้นทางสู่ดวงดาวนั้นยากเสมอ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co