ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ Chang’e 4 ภารกิจแรกสู่ด้านไกลของดวงจันทร์

ราวตีหนึ่งของเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2018 จีนกำลังจะส่งยาน Chang’e 4 (ฉางเอ๋อ 4) ไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะเนื่องจากทุกการลงจอดก่อนหน้านี้ รวมทั้งของยานอพอลโลทั้ง 6 ลำก็ต่างไปสำรวจในด้านใกล้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น มาทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ควรทราบสำหรับภารกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้กันได้ในบทความนี้

จีนจะสำรวจดวงจันทร์อย่างไร?

ก่อนที่จะไปรู้จักกับยาน Chang’e 4 เรามาทำความเข้าใจกับโครงการสำรวจอวกาศของจีนกันก่อน โดยโครงการของจีนนั้นถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงด้วยกัน ได้แก่ช่วงที่ 1 คือการส่งยานสำรวจเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งประสบความสำเร็จไปกับยาน Chang’e 1 และ 2 ในปี 2007 และ 2010 ตามลำดับ ช่วงที่ 2 นั้นคือการไปลงจอดและนำรถโรเวอร์ลงวิ่งบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่ง Chang’e 3 นั้นทำสำเร็จไปเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมาแล้ว และ Chang’e 4 ก็กำลังจะตามรอยไป ต่างเพียงแค่การลงจอดในครั้งนี้จะเกิดขึ้นที่ด้านไกลของดวงจันทร์นั่นเอง

รถโรเวอร์ชื่อ Yutu ของยาน Chang’e 3 ขณะกำลังวิ่งบนดวงจันทร์ – ที่มา Chinese Academy of Sciences

และหากภารกิจของ Chang’e 4 สำเร็จ ก้าวต่อไปในช่วงที่ 3 ของจีนนั้นคือการเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับโลก ในภารกิจของ Chang’e 5 และ 6 ที่จะถูกปล่อยในปี 2019 และ 2020 ตามลำดับ ก่อนที่จีนจะส่งมนุษย์เดินทางไปดวงจันทร์ในปี 2030 พร้อมกับก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเราก็ต้องตามลุ้นดูว่าจีนจะสามารถเดินตามแผนการสำรวจนี้ได้หรือไม่กันอีกที

แล้ว Chang’e 4 คืออะไร?

Chang’e 4 คือยานอวกาศที่ถูกสร้างมาเป็นยานสำรองของ Chang’e 3 แต่มันก็ไม่ถูกใช้ เนื่องจากภารกิจของ Chang’e 3 ประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้นักวิทยาศาสตร์ของจีนตัดสินใจที่จะท้าทายขีดจำกัดของพวกเขา ด้วยการปรับแต่ง Chang’e 4 เพิ่มเติมเล็กน้อย และเปลี่ยนภารกิจให้เป็นการสำรวจและลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์

มันจะถูกปล่อยขึ้นโดยจรวด Long March 3B จากฐานปล่อยในเมืองซีชาง มณฑลเสฉวน แต่ก็น่าเสียดายที่ทางจีนอาจไม่มีการถ่ายทอดสดการปล่อยยานในครั้งนี้ ซึ่งทำให้ข่าวคราวเกี่ยวกับการปล่อยนั้นมีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตามการปล่อยในครั้งนี้จะส่งยานเข้าสู่การเดินทาง 27 วัน ก่อนจะไปลงจอดบนหลุมอุกกาบาต Von Kármán ที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ในต้นปีหน้า

สถานที่ลงจอดของยาน Chang’e 4 ในกรอบสีขาว – ที่มา Huang et al, 2018.

สำหรับ Chang’e 4 นั้นประกอบไปด้วยยานลงจอด และรถโรเวอร์ขนาดเล็กที่จะไปวิ่งบนผิวดวงจันทร์ ซึ่งในภารกิจนี้มันมีเป้าหมายที่จะศึกษาวัตถุบนท้องฟ้าในคลื่นความถี่วิทยุย่านต่ำ เนื่องจากดวงจันทร์จะช่วยบดบังสัญญาณรบกวนที่ส่งจากโลกได้เป็นจำนวนมาก จึงอาจช่วยให้เราสำรวจอะไรใหม่ ๆ ได้มากมาย รวมทั้งการสำรวจผลกระทบของลมสุริยะต่อดวงจันทร์ และส่วนประกอบในพื้นผิวดวงจันทร์ ที่อาจช่วยให้เราค้นพบร่องรอยของน้ำบนดวงจันทร์ได้อีกด้วย

บอกว่าด้านไกลไม่เคยหันหาโลก แล้วจะส่งสัญญาณกลับมายังไง?

จริงอยู่ที่ด้านไกลของดวงจันทร์ไม่เคยหันมาหาโลก และทำให้ยานที่อยู่ด้านนั้นขาดการติดต่อกลับโลกได้ แต่ทางจีนก็ได้ส่งยานชื่อ Queqiao (เช้วเฉียว) ไปโคจรในจุด Lagrange point 2 ของโลกและดวงจันทร์ ที่ห่างจากด้านไกลของดวงจันทร์ไปราว 65,000-80,000 กิโลเมตร ซึ่งจะคอยรับส่งสัญญาณระหว่างยานกับโลก ด้วยจานรับสัญญาณขนาด 4.2 เมตร

ภาพจำลองการส่งต่อสัญญาณระหว่างโลกกับยาน Chang’e 4 ผ่านยาน Queqiao – ที่มา Chinese Academy of Sciences

สำหรับภารกิจ Chang’e 4 นั้นจะเป็นการเริ่มต้นปี 2019 แห่งการสำรวจดวงจันทร์ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากภารกิจนี้แล้ว จีนเองก็มียาน Chang’e 5 ที่จะพยายามไปเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี รวมทั้งอินเดียกับอิสราเอลก็กำลังจะส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 2019 นี้ด้วยเช่นกัน ยังไม่รวมทางสหรัฐที่กำลังจะสร้างสถานีอวกาศรอบดวงจันทร์ และ SpaceX ที่จะส่งนักท่องเที่ยวอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ ทำให้การสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตอันใกล้นี้เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

 

เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง:

GBTIMES | Here’s what you need to know about the Chang’e-4 mission to the far side of the Moon

SPACE.COM | China Preps for Launch of Historic Mission to Moon’s Far Side on Friday

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138