CRS-20 ภารกิจสุดท้ายของยาน Dragon รุ่นแรก เปิดยุคการสำรวจอวกาศเอกชน

ในวันที่ยาน Dragon ได้เคลื่อนที่เข้าสู่สถานีอวกาศครั้งแรกในวันที่ 8 ธันวาคมปี 2010 เวลาผ่านไปเกือบสิบปี ยาน Dragon บินขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติอย่างประสบทความสำเร็จถึง 20 ครั้ง โดยมีอุบัติเหตุที่ทำให้ SpaceX ต้องสูญเสียยานไป 1 ครั้งได้แก่ภารกิจ CRS-7 อย่างไรก็ตาม Dragon ยังคงถูกพัฒนาต่อมานับตั้งแต่วันแรกที่มันถูกใช้งาน มันสามารถขึ้นและลงสถานีอวกาศนานาชาติได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งครั้ง (ถูกนำกลับมาใช้งานใหม่ได้)

ยาน Dragon และจรวด Falcon 9 ณ ฐานปล่อย สำหรับภารกิจ CRS-20 ขณะเตรียมความพร้อม ที่มา – SpaceX

ยาน Dragon ยังคงเป็นยานหนึ่งเดียวของเอกชนที่สามารถนำ Payload ต่าง ๆ ขึ้นและลงสถานีอวกาศนานาชาติได้ ซึ่งเล่าประวัติย้อนกลับไป มันคือหนึ่งในโครงการที่ NASA ตั้งขึ้นมาคั่นระหว่างยุคของกระสวยอวกาศ กับยุคของการสำรวจอวกาศยุคใหม่ โครงการดังกล่าวชื่อว่า Commercial Resupply Service หรือ CRS ในตอนนั้นผู้ที่ได้รับสัญญาการปล่อยมี 2 เจ้าได้แก่ SpaceX และ Orbital Science (ชื่อในตอนนั้น)

อย่างไรก็ตาม SpaceX ได้รับสัญญาการปล่อยมากถึง 20 ครั้งในขณะที่ Orbital ได้เพียงแค่ 10 เที่ยวบินเท่านั้น

CRS-20 การส่งครั้งสุดท้าย แต่งานวิจัยจัดเต็มเหมือนเดิม

เวลาเกือบเที่ยงวันของวันที่ 7 มีนาคม 2020 ยาน Dragon ที่ผ่านการบินขึ้นสู่อวกาศมาแล้ว 2 ครั้ง ก็เดินทางกลับสู่อวกาศเป็นครั้งที่ 3 ในรอบนี้นอกจากการส่งเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ ยานก็ยังได้มี Payload ในด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะจาก ISS National Lab ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะจัดสรรงานวิจัยขึ้นบินสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ตัวอย่างงานที่น่าที่สนใจในรอบนี้ก็ได้เช่น

  • งานศิลปะอวกาศครั้งแรกของคนไทย Pearl of Lunar ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ใน โครงการ Sojourner2020 ของ MIT Media Lab ที่ส่งงานศิลปะขึ้นไปบนอวกาศ
  • การทดลองเรื่องผลึกโปรตีน ครั้งที่สองของทีม NSTDA และ GISTDA
  • งานวิจัย Product อื่น ๆ เช่นรองเท้าของ Adidas
อุปกรณ์ Sojourner2020 โครงการที่เปิดโอกาสให้ศิลปินได้ส่งผลงานและการทดลองขึ้นสู่อวกาศ หนึ่งในงานที่ถูกส่งขึ้นไปคือ Perl of Lunar ของ Henry Tan ศิลปินชาวไทย ที่มา – MIT Media lab

แม้ว่าภารกิจ CRS-20 จะสิ้นสุดลง และนี่เป็นการจนสิ้นสัญญาของการปล่อย แต่ทุกหน่วยงานทั้ง NASA และ SpaceX เอง ก็ยังมีการเซ็นสัญญาการส่งในภารกิจ Commercial Crew ซึ่งจะเป็นการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยงาน Dragon 2 หรือ Crew Dragon และยาน Dragon สำหรับ Resupply อย่างเดียว ก็จะได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด ปิดตำนานยานอวกาศเอกชนลำแรกที่เดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ และบินขึ้นลงถึง 20 ครั้ง

ส่วนจรวด Falcon 9 นั้นก็สามารถเดินทางกลับมาลงจอดยังฐานปล่อยได้อย่างประสบความสำเร็จ นับเป็นการลงจอดครั้งที่ 50 ของ Falcon 9

หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

มีเรื่องที่เรานาติดตามอีกอย่างนึงเลยก็คือสัญญา CRS รอบที่ 2 หรือ CRS Phase 2 ซึ่งลักษณะก็จะออกมาคล้าย ๆ กับ CRS รอบแรก ซึ่งทาง SpaceX ก็ได้รับสัญญาเช่นกัน ภารกิจแรกของ CRS รอบนี้จะใช้ชื่อว่า CRS-21 คือเรียกต่อไปจากชุดเดิมเลย ซึ่งมีการกำหนดวันที่ไว้เป็นวันที่ 5 สิงหาคม 2020

นักบินอวกาศสวมชุดอวกาศของ SpaceX สำหรับการทดสอบกับยาน Dragon 2 บนพื้นดิน ที่มา – NASA

ปัจจุบัน SpaceX ยังไม่เปิดเผยว่า หน้าตาของยานที่จะใช้จะเป็นอย่างไร จะเป็นการเอายาน Dragon 1 มาปรับปรุง หรือจะนำเอา Dragon รุ่น 2 มานำเก้าอี้ออก (ฮา) แต่ที่แน่ ๆ SpaceX นั้นตอนนี้เรียกว่าชาวบ้านเขาเจอเศรษฐกิจไม่ดี โรคระบาดกัน แต่ SpaceX ยังยิ้มออก เพราะมีสัญญาถึง 3 ฉบับ ณ ตอนนี้อยู่ในมือ และปิดการขายกันเรียบร้อยได้แก่ การส่งเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติในภารกิจ CRS, การส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติหรือ Commercial Crew และโครงการส่งของไปยังดวงจันทร์เพื่อสนับสนุนภารกิจ Artemis ของ NASA

แม้จะเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของยาน Dragon รุ่นแรก แต่ก็ต้องบอกว่า นี่เป็นการเปิดเข้าสู่ยุคการแข่งขันเดินทางสู่อวกาศอย่างแท้จริง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.