ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 ณ ตอนนั้น NASA ต้องการหายานอวกาศมาทดแทนกระสวยอวกาศ หลังจากที่ปลดระวางมันจนทำให้สหรัฐอเมริกา ต้องซื้อเที่ยวบินสำหรับนักบินอวกาศชาวอเมริกันไปกับยานโซยุสของรัสเซีย ความหวัง ณ ตอนนั้นได้แก่ 2 บริษัท ได้แก่ Boeing และ SpaceX
ในขณะที่โครงการพัฒนายานอวกาศรุ่นใหม่ที่จะส่งนักบินอวกาศชาวอเมริกันกลับขึ้นสู่สถานีอวกาศนานชาติอีกครั้งเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง SpaceX ทดสอบเที่ยวบินแรกของยาน Dragon 2 เมื่อเดือนมีนาคม 2019 ทำให้ยาน Dragon 2 กลายเป็นยานอวกาศคนนั่งลำแรกที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนตามแผนการ Commercial Crew Program ของ NASA ที่จะให้ทุนแก่บริษัทที่สามารถเสนอแผนในการส่งนักบินอวกาศกลับขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติได้
อย่างไรก็ตาม Boeing ก็ตามมาติด ๆ กับ Boeing CST-100 “Starliner” ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ก็ทิ้งระยะห่างจากเที่ยวบินแรกของยาน Dragon เป็นเวลา 9 เดือนเลยทีเดียว ในวันที่ 21 ธันวาคม ยาน Starliner มีโปรแกรมบินขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่มันไม่เคยถูกทดสอบจริง ๆ ในอวกาศมาก่อน
สำหรับเรื่องราวของ CST-100 Starliner นั้นอาจจะต้องถูกเปรียบเทียบกับยาน Dragon 2 ของ SpaceX เยอะซักหน่อย เพราะยานทั้ง 2 กลายเป็นคู่แข่งกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ สาเหตุที่ยานทั้ง 2 ใช้เวลาในการทดสอบอย่างยาวนานเกือบสิบปี ก็เพราะว่า NASA นั้นให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง ทั้ง Dragon 2 และ Starliner นั้นต้องถูกทดสอบแล้วทดสอบอีก ก่อนที่เราอาจจะได้เห็นเที่ยวบินที่มีคนนั่งไปด้วยจริง ๆ ในปี 2020-2021 นี้ โดยเฉพาะระบบ Launch Escape System ที่จะมีโอกาสช่วยชีวิตนักบินอวกาศหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น (แน่นอนว่า NASA ไม่อยากเสียนักบินอวกาศไปเหมือนโครงการ Challenger และ Columbia อีกแล้ว)
รูปร่างหน้าตาทั่วไปของ Starliner เป็นแคปซูลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.56 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าแคปซูลของโครงการ Apollo เล็กน้อย ใช้การออกแบบใกล้เคียงกับยาน Orion ของ NASA ตัว Starliner ถูกพัฒนาโดยบริษัท Boeing ซึ่งต้องบอกก่อนว่า Boeing ไม่เคยทำยานอวกาศมาก่อน แต่ในด้านเทคโนโลยีอวกาศ Boeing ก็ไม่ใช่ผู้เล่นหน้าใหม่ เพราะเป็นครึ่งหนึ่งของแก๊งมาเฟียปล่อยจรวดที่สัมปทานงานให้กับกองทัพสหรัฐฯ และ NASA มาอย่างยาวนานในชื่อ United Launch Alliance (ULA) ร่วมกับ Lockheed Martin
นั่นทำให้ Starliner ถูกพัฒนามาให้รองรับการปล่อยบนจรวดของ ULA ทั้ง Atlas (Lockheed Martin) และ Delta (Boeing) หรือแม้กระทั่งจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ก็สามารถใช้ในการปล่อยยาน Starliner ได้
Starliner ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ส่วน Docking Mechanism ซึ่งรองรับการเชื่อมต่อแบบ IDA หรือ International Docking Adapter ซึ่งถูกส่งไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติตั้งแต่ปี 2016 และถูกเชื่อมต่อครั้งแรกโดยยาน Dragon 2 ในปี 2019 ที่ผ่านมา (เสียใจด้วยนะ Starliner) ส่วนที่สองได้แก่ตัว Capsule ของยานที่หน้าตาคล้ายกับ Apollo แต่ทรงออกป้านกว่า และรองรับนักบินอวกาศได้ 7 ที่นั่ง เช่นเดียวกับ Dragon 2 และส่วนสุดท้ายก็คือ Service Module ซึ่งทำหน้าที่จ่ายพลังงานและเชื้อเพลิงสำคัญให้กับตัวยาน ตรงนี้จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วยแผง Solar Arrays ที่ถูกติดตั้งเข้ากับส่วน Service Module
หน้าตาของ Starliner ออกแนวบ้าน ๆ ย้อนยุคนิดหน่อย แต่ไม่ได้น่าเกลียด แม้ว่าจะเทียบกับ Dragon 2 ก็ตาม
สำหรับภารกิจทดสอบแรกของ Starliner จะใช้การปล่อยด้วยจรวด Atlas V ซึ่งต้องบอกว่า Atlas V ยังไม่เคยใช้ในการปล่อยยานอวกาศที่มีคนนั่งมาก่อน ในปี 2014 ยาน Orion ของ NASA ถูกทดสอบด้วยจรวด Delta IV Heavy ของ Boeing ในขณะที่ Dragon 2 ของ SpaceX นั้น ถูกปล่อยด้วย Falcon 9 ชัวร์ ๆ อยู่แล้ว
เที่ยวบินทดสอบแรกของ Starliner
สำหรับเที่ยวบินทดสอบในวันที่ 21 ธันวาคม 2019 ยาน Starliner จะทำทุกอย่างเหมือนกับที่ยาน Dragon 2 ทำในปี 2018 คือมันจะต้องบินขึ้นสู่วงโคจร และเดินทางไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ด้วยระบบการเชื่อมต่ออัตโนมัติ ก่อนที่นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติจะเข้าไปสำรวจความเรียบร้อยในยาน และยาน Starliner จะ Undock ออกจากสถานี กลับสู่โลกและลงจอดบนมหาสมุทรด้วยร่มชูชีพ
ความท้าทายของการทดสอบครั้งนี้เลยก็คือ Boeing นั้นยังไม่มีประสบการณ์ในการทำยานที่เชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติมาก่อน เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้ว ยานอวกาศที่เคยเชื่อมกับสถานีอวกาศใด ๆ ก็ได้แก่ Apollo ในโครงการ Skylab และ กระสวยอวกาศในโครงการ Mir, ISS เท่านั้น มาอีกทีก็คือยุคของยาน Dragon เลย
การปล่อยเกิดขึ้นที่ฐานปล่อยหมายเลข 41 ของ ULA ในฐานทัพอากาศเคอเนอเวอรัล ซึ่งเป็นฐานประจำของจรวด Atlas V ที่ใช้ในการส่งยานอวกาศเช่น New Horizons และ Curiousity มาแล้ว โดยยาน Starliner จะถูกติดตั้งเข้ากับส่วนบนของจรวดคือ Centaur Upperstage สิ่งที่แปลกตาก็คือ ตัวฐานของ Service Module นั้่นจะกว้างกว่า Centaur ทำให้รูปร่างจะออกมาแปลก ๆ แบบนี้
ปกติ Atlas V ด้วยวิธีการปล่อยแบบนี้จะมี Payload Fairing ปิดด้านบนเพื่อป้องกันไม่ให้ตัว Payload เช่นดาวเทียมหรือยานอวกาศเสียหายจาก Aerodynamic หรือต้านลม แต่ด้วยรูปทรงของ Starliner ทำให้ไม่ต้องมี Payload Fairing ให้หนักเปลืองเชื้อเพลิง แต่ก็แลกมากับหน้าตาแปลก ๆ แทน
หลังจากที่ปล่อยขึ้น ยานก็เกิดปัญหาอยู่ในวงโคจรที่ผิดไป ทำให้ไม่สามารถเข้าไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้ อย่างไรก็ตามทาง Boeing และ NASA สามารถควบคุมและปรับวงโคจรของยาน Starliner สำหรับลงจอดได้เป็นผลสำเร็จ ยานได้ทำการลงจอด ณ White Sands Missile Range ใน New Mexico เมื่อเวลา 7:58 am ET ที่ผ่านมา สำหรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น ทาง Boeing ยังไม่ได้ทำการสรุปอย่างแน่ชัด แต่คาดการณ์ว่าเกิดจากระบบโปรแกรมของยานนั้นดึงข้อมูลของเวลาจากจรวด Atlas 5 ผิดพลาดโดยหลังจากนี้ Boeing และ NASA จะร่วมมือกันเพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดขึ้น
อนาคตและความหวังของการสำรวจอวกาศฝั่งโลกทุนนิยม
ผลที่ออกมาจากการทดสอบในครั้งนี้ก็คือยาน Starliner ไม่สามารถเดินทางไปเทียบกับสถานีอวกาศนานชาติได้ ทำให้ยังไม่ถูกประทับตารับรองว่าผ่านการทดสอบนี้ และยังไม่เข้ารอบไปอยู่กับยาน Dragon 2 ของ SpaceX และเตรียมพร้อมที่จะทดสอบเที่ยวบินแรกกับนักบินอวกาศจริง ๆ ในช่วงปี 2020 และเริ่มต้นการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติแบบใช้จริง คิดเงินจริง ในปี 2020 เป็นต้นไป ตามโครงการ Commercial Crew ของ NASA ที่กินเวลาในการพัฒนาและทดสอบมากถึง 1 ทศวรรษ
ทั้งยาน Dragon 2 และ Starliner นั้นเป็นความหวังของ NASA และอเมริกันชนทั้งหลาย ในการที่จะนำนักบินอวกาศอเมริกันกลับสู่สถานีอวกาศนานาชาติอีกครั้ง ในขณะที่ NASA ก็กำลังเร่งทำยาน Orion เพื่อให้ทันภารกิจ Artermis ที่จะไปดวงจันทร์ในปี 2024 อยู่ ทำให้ชัวร์ ๆ ว่า ในปี 2020 สหรัฐฯ จะมียานอวกาศที่ใช้ขนส่งมนุษย์ได้ 3 ลำ ได้แก่ Orion, Dragon 2 และ Starliner รวมเวลาที่ใช้ในการพัฒาและทดสอบ 10 ปี และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การสำรวจอวกาศ ถูก Lead โดยหน่วยงานเอกชน
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co