เมื่อมิถุนายน 2024 ทีมงานสเปซทีเอชได้มีโอกาสไปร่วมฟังบรรยายงานเสวนาวิชาการ “บรรพชนชื่นชีวิน ๕๕๕” งานวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยาและธรณี และขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์ด้วยตัวเองที่ภูเวียงและภูน้อย กาฬสินธุ์ เชื่อไหมว่าแค่การลงพื้นที่จริงขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์ในครั้งนั้นเพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทางธรณีวิทยาของผมอย่างมหาศาลแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดการเรียน 20 ปีของผมเอง และสิ่งนี้มันมาประจวบเหมาะเจาะพอดีกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในกรุงเทพ ฯ ซึ่งเชื่อไหมว่าองค์ความรู้สองอย่างนี้มันประจวบเหมาะเจาะกันเสริมความรู้ในการอธิบายกันและกันอย่างดีเยี่ยม
อ่านบทความก่อนหน้า แผ่นดินไหวในไทย ภัยพิบัติที่ชาติหนึ่งจะเกิดสักครั้ง จริงเหรอ สรุปทุกสิ่งที่ต้องรู้
จากยูเรเนียมสู่ฟอสซิลไดโนเสาร์
ในช่วงพ.ศ. 2500-2510 ชาวบ้านในภาคอีสานได้ส่งตัวอย่างดินในพื้นที่เพาะปลูกมายังกรมวิทยาศาสตร์บริการเพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพดิน เนื่องมาจากปัญหาความแห้งแล้งและดินเค็มในพื้นที่ การตรวจสอบในครั้งนั้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ปกติคือการพบปริมาณแร่ยูเรเนียมที่ปะปนอยู่ในดินมากเกินกว่าค่าปกติ นั้นทำให้เกิดความคิดที่ว่าพื้นดินบริเวณภาคอีสานของไทยเรานั้นอาจจะเป็นแหล่งแร่ยูเรเนียมที่สำคัญอาจจะเหมาะสมกับการตั้งเหมืองแร่ยูเรเนียมในพื้นที่ภาคอีสาน ทางกรมทรัพยากรธรณีจึงได้ส่งทีมสำรวจไปยังพื้นที่ภาคอีสาน หนึ่งในจุดที่สนใจในการสำรวจคือพื้นที่เทือกเขาภูเวียง
การสำรวจแร่ยูเรเนียมในครั้งนั้นทำให้เกิดการค้นพบฟอสซิลกระดูกต้นขาของแบรคิโอซอรัสโดยบังเอิญระหว่างการทำกิจธุระของเจ้าหน้าที่กรมทรัพยกรธรณี ซึ่งนั้นทำให้เรารู้ว่าพื้นที่ของภูเวียงนั้นเป็นพื้นที่เก่าแก่อายุหลายร้อยล้านปี และน่าจะมีการขุดพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์เพิ่มเติมได้ แต่อาจเพราะด้วยงานหลักในเวลานั้นคือการตามหาแร่ยูเรเนียมทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับซากฟอสซิลไดโนเสาร์ถูกลดทอนความสำคัญลงไป
ผลสรุปการสำรวจแร่ยูเรเนียมในภาคอีสานนั้นพบว่า แม้ในดินจะมีการพบแร่กัมมันตรังสีที่สูงกว่าค่าปกติ แต่ปริมาณแร่นั้นไม่คุ้มค่าแก่การทำเหมืองยูเรเนียม ความสนใจทรัพยากรในดินอีสานจึงจบลง พร้อมกับฟอสซิลกระดูกต้นขาหนึ่งชิ้นที่ได้กลับมา

ต่อมาข่าวการพบฟอสซิลกระดูกต้นขาของแบรคิโอซอรัสถูกแพร่กระจายออกไปนำมาสู่การที่คณะสำรวจจากฝรั่งเศสเข้ามาขอร่วมสำรวจฟอสซิลกับทางการไทย นำโดย Valérie Martin, Eric Buffetaut และอาจารย์วราวุธ สุธีธร ในปีพ.ศ. 2523 ได้ออกทำการสำรวจพื้นที่บนภูเวียงและได้ค้นพบกับฟอสซิลในพื้นที่แหล่งขุดค้นที่ 3 แต่เนื่องจากว่าหินในบริเวณนั้นขุดยากมาก มันแข็งมากจนไม่สามารถขุดได้โดยง่าย ทางคณะสำรวจจึงไล่ไปตามชั้นหินที่อยู่ในช่วงยุคเดียวกันเรื่อย ๆ จนไปถึงยอดเขาภูเวียงและพบกับกลุ่มฟอสซิลขนาดใหญ่ เกิดเป็นแหล่งขุดค้นที่ 1 และเกิดเป็นการค้นพบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส (Phuwiangosaurus) ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ซึ่งระหว่างนั้นได้ทำการขุดตัวอย่างบางส่วนและเตรียมการสำหรับการขุด ซึ่งช่วงเวลานั้นมีการค้นพบแหล่งฟอสซิลมากมายทั่วภูเวียงทำให้อาจารย์วราวุธ สุธีธรเดินทางไปทำการเรียนรู้การจัดการขุดค้นและเก็บรักษาฟอสซิลที่ประเทศฝรั่งเศสและเมื่อกลับมาก็มาเป็นผู้บุกเบิกการขุดค้นไดโนเสาร์ในประเทศไทย ณ ช่วงเวลานั้น

เราเคยสอบถามอาจารย์วราวุธ สุธีธรถึงความเป็นมาของชื่อไดโนเสาร์ สยามโมซอรัส สุธีธรนี (Siamosaurus suteethorni) ตัวอาจารย์ตอบกลับมาว่าตัวเขาในตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชื่อของเขาถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของสายพันธุ์ไดโนเสาร์ชนิดนี้ไปแล้ว แล้วรู้ผ่านเปเปอร์ที่ตีพิมพ์มาแล้วด้วย โดยคณะวิจัยจากฝรั่งเศสเป็นผู้มาบอกเขาว่า พวกเขาตั้งชื่อสายพันธุ์ไดโนเสาร์ชนิดนี้ตามสกุลของอาจารย์วราวุธเพื่อเป็นเกียรติให้แก่การร่วมงานทำกันมาและขุดค้นไดโนเสาร์มากมายในเมืองไทย
วิธีการไล่หาฟอสซิลในตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย คือเมื่อเราทราบลักษณะชั้นหินที่เราพบซากฟอสซิลหรือช่วงเวลาที่น่าสนใจ เช่น ใต้เส้นครีเทเชียส เราจะทำการไล่ไปตามภูเขาหินต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศไทยว่ามีหินชั้นนี้ในบริเวณไหนบ้าง ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่าชั้นหินที่เราอยากศึกษาอยู่ที่ตำแหน่งไหนบ้างในประเทศไทย แต่ก็ใช่ว่าเราจะเจอทุกครั้ง หลาย ๆ ครั้งที่ทำการออกสำรวจก็มักพบกับความว่างเปล่า
เพราะการเกิดขึ้นของฟอสซิล เป็นเหตุการณ์ที่แทบจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยอย่างที่เราทราบกันดีว่ากระบวนการเกิดฟอสซิลนั้นมันยากมาก ซากของสิ่งมีชีวิตหรือไดโนเสาร์ต้องตายในจังหวะที่เหมาะสมมาก ทันทีที่ตายต้องมีโคลนมาฝังกลบมันโดยทันที แล้วโคลนบริเวณนั้นต้องมีแร่ธาตุที่เหมาะสมและเกิดกระบวนการ Permineralization หรือการแทนที่ของเซลล์ต่าง ๆ ด้วยแร่ธาตุจนกลายสภาพเป็นก้อนหินที่คงรูปร่างของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งโอกาสที่จะเกิดสิ่งนี้ได้มีนั้นต่ำมาก ๆ และสุดท้ายกระบวนการทางธรณีนั้นต้องดันให้ชั้นหินที่เคยจมอยู่ใต้ดินมานับล้านปีออกมาอยู่บนพื้นผิวเผยออกมาให้เห็นฟอสซิลที่อยู่ใต้ดินอีกครั้ง ซึ่งรวมกันทั้งหมดแล้วการที่กระดูกชิ้นหนึ่งจะกลายมาเป็นฟอสซิลในพิพิธภัณฑ์ได้โอกาสอาจจะมีแค่หนึ่งในล้านล้านด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ทำให้เราสามารถเจอฟอสซิลมากมายจนเต็มพิพิธภัณฑ์ได้เหมือนกับในทุกวันนี้เหตุก็เพราะว่าเมื่อก่อนมันมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนโลกเต็มไปหมด
คิดสิมันจะต้องมีจำนวนที่เยอะมากแค่ไหนถึงจะโผล่มาจนเกิดเป็นฟอสซิลได้
จากฟอสซิลสู่ความเข้าใจในพื้นที่ถิ่นของเราเอง
ถึงแม้ว่าเราจะพบเส้นของครีเทเชียสหรือจูแรสซิกได้ตามชั้นหินเก่าทั่วโลกได้ แต่การพบจุดที่พบฟอสซิลนั้นคือเรื่องที่ใช้ดวงเป็นอย่างมาก เช่น ฟอสซิลชิ้นแรกของไทยเกิดจากนักธรณีวิทยาที่สำรวจยูเรเนียมออกไปปลดทุกข์แล้วระหว่างปลดทุกข์เห็นฟอสซิลเลยขุดขึ้นมา หรือวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) ประวัติการเจอฟอสซิลไดโนเสาร์ในพื้นที่นี้ค่อนข้างแปลกจากชาวบ้านเขาที่ หลวงปู่หา สุภโร ได้พาภิกษุ-สามเณรในวัดออกเดินสำรวจรอบเขาแล้วไปเจอขอนไม้ใหญ่ล้มอยู่ เลยเก็บเอากลับวัด ก่อนที่ภายหลังท่านจะไปวิปัสสนาหลังภูกุ้มข้าวแล้วนิมิตเห็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่เดินไปเดินมาแล้วกินน้ำในสระหน้าวัด และหลังจากนิมิตได้พบกับขอนไม้ลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีก 20-30 ชิ้น จึงได้แจ้งไปทางจังหวัด และอาจารย์วราวุธจึงมาสำรวจและพบว่าเป็นแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ขนาดใหญ่
จะเห็นได้ว่าการเจอฟอสซิลนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่มันอยากจะเกิดมันก็เกิด เพราะอยู่ดี ๆ มีคนสะดุดหินก้อนหนึ่งกลางป่าอีสานแล้วเขาจะอ้างว่าเป็นฟอสซิลไดโนเสาร์อายุ 100 ล้านปี มันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ดังนั้นการพบฟอสซิลในแต่ละครั้งแทบจะเรียกได้ว่าใช้โชคอย่างเดียวเลยก็ว่าได้

อย่างที่ได้บอกไปว่าการเกิดฟอสซิลนั้นยากมากเพราะเมื่อไดโนเสาร์ตายลงมันต้องโดนโคลนกลบปิดทันที ต้องไม่ให้เกิดการเน่าหรือย่อยสลายได้เลย ซึ่งสิ่งที่เป็นเหตุการณ์ที่โคลนจำนวนมากมากลบซากไดโนเสาร์ที่ตัวตั้งใหญ่ตั้งโตได้ก็มีอยู่ไม่กี่กรณี นั้นก็คือน้ำท่วมใหญ่ เรามักสันนิษฐานว่าพื้นที่ที่พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ตายลงพร้อมกันเป็นจำนวนมากและซากอยู่ในชั้นหิน seasons เดียวกัน พื้นที่ตรงนั้นในอดีตน่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่พัดไดโนเสาร์เหล่านั้นให้ไปตามกระแสน้ำ และเมื่อการไหลหยุดลงโคลนก็จะมาฝังกลบซากของไดโนเสาร์เหล่านั้นและเริ่มกระบวนการ Permineralization เช่น พื้นที่แหล่งขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ ภูน้อย บริเวณนั้นคือบริเวณที่พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมากที่สุดในประเทศไทยและเป็นแหล่งขุดค้นที่เก่าแก่มากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก (ยุค Jurassic) โดยคาดการณ์กันว่าในอดีตพื้นที่ของภูน้อยในอดีตน่าจะเป็นพื้นที่ริมน้ำที่ไดโนเสาร์อยู่อาศัยกัน แต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พื้นที่บริเวณแหล่งขุดค้นภูน้อยน่าจะเป็นเหมือนที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ไดโนเสาร์ที่ถูกน้ำพัดมาก็จมลงและถูกดินโคลนปิดปกคลุมอย่างทันที ซึ่งไม่ได้ตายหลักสิบ แต่น่าจะตายเกินหลักร้อยตัวเลยทีเดียว ถึงขั้นที่อาจารย์สุรเวช สุธีธรบอกว่าถ้าขุดอีกก็เจออีก

หรือบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งขุดค้นที่ 1 บริเวณนั้นมีการพบซากฟอสซิลชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นจำนวนมาก มากในระดับที่เดินไปตรงไหนก็พบก็เจอกับฟอสซิลเต็มไปหมด ซึ่งจากการขุดบริเวณนั้นแทบไม่พบกับฟอสซิลที่มีขนาดใหญ่หรือพบซากฟอสซิลที่ครบทั้งโครงร่างเต็มตัวเลย จึงตีความว่าบริเวณนี้ในอดีตน่าจะเปิดสามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำเก่าแก่อายุหลายร้อยล้านปี ที่เมื่อฝนตกลงมาชะล้างผืนดิน เศษกระดูกเล็ก ๆ ที่เกิดจากซากไดโนเสาร์ตายลง ก็จะไหลลงมารวมกันที่แม่น้ำไหลมาและตกตะกอนลงที่ก้นสามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำ ก่อนที่กลายสภาพมาเป็นฟอสซิลให้เราเดินเก็บกันในทุกวันนี้

จะเห็นได้ว่าแค่การสำรวจขุดหาฟอสซิลก็ทำให้เราตีความพื้นที่บริเวณแหล่งขุดค้นในอดีตได้ว่าน่าจะมีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นอย่างไรบ้าง แล้วจากองค์ความรู้ที่เล่ามาเราพอจำลองหน้าตาของประเทศไทยในอดีตได้ไหม
คำตอบคือได้ ประเทศไทยเมื่อร้อยล้านปีที่แล้ว ในสมัยยุคครีเทเชียสน่าจะมีรูปร่างแปลกประหลาดกว่าทุกวันนี้ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้นั้นเกิดขึ้น แต่พื้นที่ด้ามขวานทางภาคใต้นั้นน่าจะหันชี้ไปทางทิศตะวันออกไม่ได้ตรงดิ่งลงไปทางใต้เหมือนในทุกวันนี้ และพื้นที่ราบลุ่มในทางภาคกลางนั้นไม่เคยมีอยู่จริงทั้งหมดเป็นผืนน้ำทะเลที่แบ่งคั่นกลางระหว่างภาคเหนือกับภาคอีสานเท่านั้น
Phanerozoic-scope supplementary material to “The Cretaceous World: Plate Tectonics, Paleogeography, and Paleoclimate (doi:10.1144/sp544-2024-28)

พื้นที่ภาคอีสานในช่วงเวลานั้นน่าจะเป็นพื้นที่ราบลุ่มใกล้ชายฝั่งและมีป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งทั้งหมดได้มาจากหลักฐานความหลากหลายทางชีวภาพของฟอสซิลที่มาจากช่วงเวลานั้น พื้นที่ภูเวียงในเวลานั้นก็น่าจะเป็นพื้นที่ใกล้กับชายฝั่งเพราะว่าเราพบทั้งตะกอนสามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำ และจุดที่สำคัญมากอีกจุดหนึ่งคือทะเลสาบน้ำเค็ม เพราะจากหลักฐานที่หลุมขุดค้น 3 เราพบว่าดินที่บริเวณหลุมขุดนั้นแข็งมากเหมือนกับปูนซีเมน การเจาะและสกัดดินในแต่ละครั้งใช้เวลาที่ยาวนานมากก็เพราะมีเกลือปนสะสมอยู่ในชั้นดินเยอะ จึงเกิดการสันนิษฐานว่าพื้นที่หลุมขุด 3 น่าจะเป็นทะเลสาบน้ำเค็มแบบทะเลสาบ Dead sea มาก่อนและน่าจะมีความเค็มที่สูงมาก ซึ่งสิ่งนี้สอดคล้องกับแร่ที่เราพบได้มากในพื้นที่ภาคอีสานนั้นก็คือ แหล่งเกลือสินเธาว์ ที่อยู่ตามใต้ดิน
ขอย้อนมาเล่าเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของตัวผมในวัยป.4 ตัวผมในตอนนั้นได้เปิดหนังสือวิชาสังคมศึกษาและพบกับบทเรียนที่พูดถึงแหล่งแร่สำคัญในภาคอีสานคือแหล่งเกลือสินเธาว์ ก่อนที่ครูในห้องเรียนจะเล่าต่อว่าที่ภาคอีสานนั้นเจอเกลือสินเธาว์ที่ขุดมาจากใต้ดินเยอะมาก แต่ว่าเกลือมันไม่มีไอโอดีนทำให้คนในภาคอีสานเป็นโรคคอหอยพอกกันเยอะ ผมจำบทเรียนนี้ได้เป็นอย่างดีและหลงใหลมันมาก แต่ผมกลับไม่สามารถต่อยอดองค์ความรู้อะไรเกี่ยวสิ่งนี้ได้เลย การที่อาจารย์สุรเวช สุธีธรอธิบายสิ่งนี้กับผมทำให้ผมกระจ่างชัดทันทีว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันและผมสามารถมองสิ่งนี้เป็นภาพใหญ่ภาพเดียวได้ ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ยาวนานมากกว่า 15 ปีถึงจะเข้าใจสิ่งนี้ได้

เกลือสินเธาว์ที่อยู่ใต้ดินของภาคอีสานนั้นเกิดจากการที่พื้นดินบริเวณชายฝั่งยกตัวขึ้น ส่งผลให้น้ำทะเลเดิมที่อยู่บริเวณนั้นถูกขังและค่อย ๆ ระเหยพร้อมกับน้ำข้างในที่เค็มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วเกลือเหล่านั้นก็ถูกฝั่งกลบและถูกบีบอัดนานนับหลายร้อยล้านปี กลายเป็นชั้นเกลือหนาชั้นหนึ่งในชั้นหิน ก่อนที่จะถูกยกตัวขึ้นมาจากการชนครั้งใหญ่เกิดเป็นที่ราบสูงโคราชและพื้นที่อื่น ๆ
และการชนกันครั้งใหญ่ของมหาทวีป
เมื่อสัก 25 ล้านปีก่อน เปลือกโลกอินเดียได้เดินทางมาชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ซึ่งการชนครั้งนี้รุนแรงมากจนทำให้คาบสมุทรมลายูเดิมจะชี้หันเอียงไปทางทิศตะวันออก ค่อย ๆ เบี่ยงมาทางทิศตะวันตกเรื่อย ๆ กลายสภาพเป็นมาลักษณะเหมือนกับภูมิศาสตร์คาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน การที่พื้นที่คาบสมุทรเอียงตัวมามากเสียขนาดนี้ย่อมทำให้เกิดการฉีกแยกพื้นที่ของภาคอีสานออกจากภาคเหนือมากกว่าเดิม เปิดพื้นที่ใหม่ที่เราเรียกว่าอ่างสะสมตะกอนตอนกลางของคาบสมุทร ซึ่งพื้นที่ที่ฉีกออกมานี้ก็ใช้เวลาสะสมตะกอนเป็นเวลาร่วม 10 ล้านปีจนเกิดเป็นแผ่นดินขนาดใหญ่เชื่อมติดกันระหว่างภาคเหนือกับภาคอีสาน นั้นก็คือที่ราบลุ่มภาคกลางที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้นเอง

และเพราะการชนในครั้งนั้นมันรุนแรงมากทำให้เกิดรอยย่นที่เห็นได้ชัดบนแผ่นดิน หนึ่งในรอยย่นนั้นก็คือเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาน้อยใหญ่ตลอดเส้นเทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาในเมียนมาร์และไทยในทุกวันนี้ก็เป็นเทือกเขาที่เกิดจากการชนของแผ่นทวีปอินเดียเช่นเดียวกัน ซึ่งการชนนั้นรุนแรงมากจนทำให้ชั้นหินที่อยู่ใต้ดินถูกงัดขึ้นมาเป็นรอยย่นที่เอียงเกือบจะตั้งฉาก 90 องศา ซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พบในแถบภาคเหนือจึงเป็นเหมือนแ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้การขุดค้นฟอสซิลในแถบภูเขาภาคเหนือเต็มไปด้วยความยากลำบาก
การยกตัวของที่ราบสูงโคราชก็เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การชนของแผ่นเปลือกอินเดียเช่นเดียวกัน การยกตัวในครั้งนี้ทำให้แผ่นเปลือกโลกบริเวณภาคอีสานเอียงขึ้นพอสมควร เปิดให้ซากฟอสซิลที่อยู่ในชั้นหินได้เผยตัวออกมาสัมผัสกับดินน้ำอากาศของโลกภายนอก และทำให้เราได้พบเจอกับมัน
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามานี้มันสอดคล้องกับหลักฐานทางธรณีทั้งสิ้น อย่างภาคอีสานที่พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ก็เป็นพื้นที่หินเก่าที่มีกิจกรรมทางธรณีที่น้อย ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้แม้จะเป็นพื้นที่รับแรงปะทะจากการชนของแผ่นอินเดียกับแผ่นยูเรเซีย แต่เราก็ทราบดีว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่เก่าแก่จากการขุดค้นพบแหล่งถ่านหินขนาดใหญ่ และซากฟอสซิลต่าง ๆ มากมายตามแหล่งถ่านหิน รวมไปถึงสุสานหอย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่เหล่านี้มีมาก่อนการชนของแผ่นอินเดีย

ส่วนพื้นที่ราบกว้างใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง จากหลักฐานทางธรณีเราก็พบว่ามันเป็นลานตะกอนขนาดใหญ่ที่เพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่สิบล้านปีที่ผ่านมา เผลอ ๆ อาจจะเกิดจากการลดลงของระดับน้ำทะเลในยุคน้ำแข็งเมื่อไม่ถึงแสนปีก่อนด้วยซ้ำ ซึ่งจะเห็นได้จากทั้งการไม่พบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์บนบก ชั้นดินตะกอนของกรุงเทพ ฯ เป็นชั้นดินตะกอนที่เกิดจากการสะสมตัวใต้ท้องทะเล และคลื่นแผ่นดินไหวที่สั่นสะเทือนเมื่อเข้ามาในพื้นที่ลานตะกอนภาคกลางแล้วมันมีการเพิ่มกำลังของคลื่นแผ่นดินไหวที่เป็นลักษณะของอ่างตะกอน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนสอดคล้องและตีความได้ว่าพื้นที่ภาคกลางของเราคือพื้นที่ที่เกิดขึ้นใหม่มาก ๆ ทั้งสิ้น

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ คือการต่อจิ๊กซอว์องค์ความรู้ทางธรณีวิทยาเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นภาพใหญ่ที่อธิบายได้ว่าประเทศไทยของเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยที่เป็นผลจากแรงชนของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย การยกตัวของแผ่นดินภาคอีสาน การแยกตัวของที่ราบลุ่มภาคกลาง ไปจนถึงการเผยตัวของชั้นหินโบราณที่กลายเป็นแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ ทุกสิ่งล้วนสะท้อนว่า ผืนแผ่นดินที่เราอยู่อาศัยนี้ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและซับซ้อน
องค์ความรู้เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว แต่ต้องอาศัยการศึกษาวิจัยพื้นฐานมายาวนาน ตั้งแต่การพบเกลือสินเธาว์ซึ่งนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานตามแนวแหล่งแร่เกลือเหล่านี้ของอาณาจักรในอดีตของภาคอีสาน การค้นพบธาตุกัมมันตรังสีในดิน การสำรวจชั้นหินและซากฟอสซิลในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ จนถึงการวิเคราะห์โครงสร้างชั้นดินและคลื่นแผ่นดินไหวในภาคกลาง ทุกชิ้นส่วนของความรู้ล้วนมีบทบาทในการช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของประเทศนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

และเมื่อไม่นานมานี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ได้ย้ำเตือนเราอย่างชัดเจนว่า ความเข้าใจเรื่องธรณีวิทยาไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป องค์ความรู้ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเฉพาะทางในอดีต กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เรารับมือกับภัยธรรมชาติได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องเริ่มต้นศึกษาใหม่ทั้งหมด
การวิจัยด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของวิชาการเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนที่มีคุณูปการอย่างมหาศาลต่อความปลอดภัยและการพัฒนาประเทศ หากเราให้ความสำคัญกับการสนับสนุนองค์ความรู้เหล่านี้มากขึ้น ประเทศไทยก็จะพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้นนั่นเอง
อ่านบทความก่อนหน้า แผ่นดินไหวในไทย ภัยพิบัติที่ชาติหนึ่งจะเกิดสักครั้ง จริงเหรอ สรุปทุกสิ่งที่ต้องรู้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co