NASA เปิด Entrepreneurs Challenge แจกทุนเอกชนพัฒนาเทคโนโลยี Deep Space

2021 Entrepreneurs Challenge เป็นโครงการโดย Science Mission Directorate (SMD) ของ NASA ซึ่งเปิดให้บริศัทภาคเอกชนเสนอ Proposal ด้านเทคโนโลยีให้กับ NASA แต่ไม่ใช่การเสนอเพียงอย่างเดียว เพราะหาก NASA เห็นว่า Proposal ที่เสนอมาน่าสนใจ บริษัทนั้น ๆ ก็จะได้รับทุนสนับสนุนจาก NASA ให้ไปพัฒนาเทคโนโลยีที่ตัวเองเสนอมาด้วย

นี่เป็นหนึ่งใน Model การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ NASA ใช้มาตลอด หลาย ๆ อุปกรณ์บนยานของ NASA เองไม่ได้ถูกพัฒนามาจาก NASA แต่มาจากที่อื่น เช่น JPL บางส่วนมาจากมหาวิทยาลัยที่เสนอ Proposal สำหรับอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีเข้ามาและได้รับการคัดเลือก บางส่วนก็มาจากภาคเอกชน แค่เมื่อก่อนเทคโนโลยีที่เอามาจากภาคเอกชนส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนโลยีจรวด (เช่น Lockheed Martin และ Northrop Grumman) มากกว่าเทคโนโลยีสำหรับอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์

แต่ครั้งนี้นั้น ภาคเอกชนกำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างเต็มตัว

2021 Entrepreneurs Challenge

โครงการ Entrepreneurs Challenge ในปีนี้นั้นเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์แบบกว้าง ๆ 3 อย่าง

  • เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์บน SmallSat
    • เนื่องจาก NASA กำลังเริ่มพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กสำหรับการสำรวจ Gamma Ray Burst (GRB) การวัดค่าของพลาสม่าในลมสุริยะ การตรวจจับการรบกวนสนามแม่เหล็ก และอื่น ๆ NASA จึงกำลังหาผู้พัฒนาและผลิตเซนเซอร์ตรวจจับอะไรก็ได้ ความหมายของเซนเซอร์อะไรก็ได้คือเอกชนจะพัฒนาเซนเซอร์สำหรับตรวจจับอะไรก็ตามใจตัวเองเลย แต่ขอแค่เซนเซอร์ดังกล่าวมีคุณสมบัติดังนี้
      • มีความแม่นยำสูง Sensitivity สูง สามารถตรวจจับได้กว้าง (Dynamic Range) และมี SNR (Signal to Noise Ratio) สูง
      • สามารถอ่านและแปลงค่าได้เร็ว
      • ระบบสำหรับการตรวจจับปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์และสำรวจโดยอัตโนมัติที่สามารถ Alert ระบบอื่น ๆ ของดาวเทียมให้เริ่มการสำรวจตามได้ เช่น ระบบสามารถรู้ได้ว่ากำลังเกิด GRB ที่ไหนซักทีเมื่อเซนเซอร์พบค่ารังสี Gamma สูงผิดปกติ จึงส่งข้อมูลไปให้ระบบประมวลผลกลางเพื่อสั่งให้อุปกรณ์อื่น ๆ บนดาวเทียมเริ่มเก็บข้อมูล
  • Metamaterials-based sensors
    • การพัฒนาเซนเซอร์ด้วย “Metamaterials” โดย Metamaterials คือวัตถุที่วัตถุในธรรมชาติไม่สามารถเลียนแบบคุณสมบัติได้ โดย Metamaterials จะเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากการออกแบบด้านโครงสร้างของวัสดุมากกว่าคุณสมบัติของตัววัสดุเอง โดยวัสดุ Metamaterial อาจช่วยลดขนาด น้ำหนัก และต้นทุน ในการผลิตเซนเซอร์ได้เนื่องจากตัวมันเองสามารถถูกออกแบบให้เหมาะสมกับงานได้เลย นอกจากนี้ความกะทัดรัดของมันจะช่วยให้ NASA สามารถเอามันไปใส่ในหลาย ๆ ภารกิจได้ เช่น SmallSat, บอลลูนตรวจอากาศ, UAV , Satellite constellation และอื่น ๆ อีกมากมาย
  • Biomarker detection
    • อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับการตรวจหาร่องรอยทางชีววิทยา (Biomarker) ในอวกาศ เนื่องจากอุปกรณ์สำหรับตรวจหา Biomarker ได้ละเอียดมากพอ เนื่องจาก Marker หลาย ๆ อันในอวกาศอย่างเช่นบนดาวอังคารอาจมีความเข้มข้นน้อยมาก เกินความสามารถในการตรวจจับของอุปกรณ์ อุปกรณ์ตรวจหา Biomarker สำหรับการสำรวจอวกาศจึงจะต้องถูกออกแบบมาให้มีความแม่นยำและ Sensitivty สูงมากนั้นเอง เช่น การควบคุมผลลบผลบวก การอ่านค่าความเข้มข้น การสำรวจตัวอย่างขนาดเล็ก (ระดับ Micrometer)
โครงสร้างปีกแบบ Metamaterial ซึ่งถูกประกอบด้วยมือ – Kenny Cheung/NASA Ames Research Center

โดย NASA และ SMD จะคัดเลือก Proposal ที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้สูงมาเพื่อสนับสนุนเงินทุนให้ผู้เสนอไปพัฒนาเทคโนโลยีที่ตัวเองเสนอมา โดยหากเทคโนโลยีที่พัฒนามาสามารถใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพ อุปกรณ์เหล่านั้นจะถูกนำไปใช้กับโครงการอวกาศจริง ๆ ของ NASA นอกจากนี้ผู้พัฒนาจะได้รับโอกาสให้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกับ NASA ต่อไป

เทคโนโลยีการเก็บตัวอย่างและการตรวจจับ Biomarker จากมหาสมุทรบนดวงจันทร์อย่าง Europa ของดาวพฤหัสเป็นส่วนหนึ่งของ 2021 Entrepreneurs Challenge – ที่มา NASA/JPL-Caltech

การคัดเลือกแบ่งเป็นสองรอบ รอบแรก คือ การส่ง “White Paper” หรือ Proposal มากสุด 5 หน้า อธิบายความสามารถของเทคโนโลยีตาม Format หัวข้อเทคโนโลยีที่ NASA ให้มา และการเปรียบเทียบคอนเซปเทคโนโลยีของตัวเองกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าดีกว่าของที่มีอยู่อย่างไร รวมถึงโมเดลทางธุรกิจของเทคโนโลยีตัวนี้ว่าเมื่อพัฒนาเสร็จแล้วจะทำอย่างไรต่อ โดย NASA จะคัดเลือก Proposal ทั้งหมด 20 Proposal เพื่อมอบทุนวิจัยและพัฒนาให้เป็นเงินจำนวน Proposal ละ 10,000 USD (ประมาณ 300,000 บาท) และเข้ารอบสอง

ในรอบสองนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องส่ง White Paper ฉบับที่สองด้วยการอธิบายคอนเซปทางเทคโนโลยีของตัวเองอย่างละเอียด คล้าย ๆ รอบแรก แต่จะเป็นการอธิบายแบบเจาะลึกว่าเทคโนโลยีของตัวเองเมื่อพัฒนาออกมาแล้วควรจะเป็นยังไง โดยการคัดเลือกจะคัดเหลือเพียงแค่ 10 Proposal เท่านั้น โดย Proposal ที่ถูกคัดเลือกจะได้เงินทุนวิจัยและพัฒนาเป็นจำนวน Proposal ละ 80,000 USD (ประมาณ 2,400,000 บาท) ให้ไปพัฒนาเทคโนโลยีที่ตัวเองเสนอมาและรายงานต่อ NASA โดยเทคโนโลยีที่ NASA เห็นว่าเป็นประโยชน์และคุ้มค่าจะถูกนำไปใช้ในยานอวกาศจริง ๆ ในอนาคต

รายละเอียดโครงการ Entrepreneurs Challenge – NASA Science Mission Directorate Entrepreneurs Challenge

ถือเป็นหนึ่งในโอกาสที่ภาคเอกชนขนาดเล็กจะได้มีส่วนร่วมในสำรวจอวกาศในอนาคตและถือเป็นการเริ่มต้นการสำรวจอวกาศเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA Launches Entrepreneurs Challenge to Identify Innovative Ideas

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.