พาขึ้นเรือ USS John C. Stennis เจาะลึกเรือบรรทุกเครื่องบินทรงพลังที่สุดในโลก

เมื่อพูดถึงอเมริกา เราก็อาจจะนึกถึงความเป็นมหาอำนาจโดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น ทั้งในเรื่องอำนาจการทหารและอำนาจในการสำรวจอวกาศ เป็น 2 สิ่งที่เราจะนึกถึงเป็นอันดับแรก แต่มีชายคนหนึ่งที่เป็นเบื้องหลังของทั้ง 2 พลังนี้ ชื่อของท่านก็คือคุณ John C. Stennis ผู้ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ ที่มีตำแหน่งอาวุโสสูงที่สุด ท่านเป็นผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยรวมถึงช่วยสร้างอเมริกาให้แข็งแกร่ง รายละเอียดไปหาอ่านกันเองได้ยาว ๆ แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบด้านการทหาร หรือด้านอวกาศ คงจะไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อของท่านแน่นอน เพราะศูนย์อวกาศของ NASA แห่งหนึ่งก็ได้ตั้งชื่อว่า John C. Stennis Space Center เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านด้วย

ในขณะเดียวกันชื่อของท่านก็ได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของเรือบรรทุกเครื่องบินที่ทรงพลังที่สุดลำหนึ่ง ไม่ใช่แค่ในกองทัพเรือสหรัฐฯ แต่ในโลกเลยก็ว่าได้ ทีมงาน Spaceth.co โชคดีอย่างมากที่ได้รับเกียรติจากสถานทูตสหรัฐ​ฯ ให้ได้มาเยี่ยมชม เรือ USS John C. Stennis ที่เดินทางมาเทียบท่าที่ประเทศไทยเพื่อให้กำลังพลได้พักผ่อนพอดี

Stennis เป็นผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันโครงการกระสวยอวกาศสหรัฐฯ จากแนวคิด Concept จนได้รับทุนให้สร้างจริง และทำภารกิจต่าง ๆ ตั้งแต่ภารกิจ STS-1 ในปี 1981 จนถึงภารกิจสุดท้ายในปี 2011 รวมกว่า 30 ปี (สุดพิเศษตรงที่ในเรือมีชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่บินในภารกิจ STS-1 ไว้ในส่วนจัดแสดงด้วย)

พาชมเรือบรรทุกเครื่องบินทรงพลังที่สุดในโลก

วันที่ 13 มกราคม 2019 เราเดินทางไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง คงไม่ต้องให้บอกว่าทำไมต้องไปเทียบที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพราะเรือลำนี้กินน้ำลึกมากกว่า 36 เมตร ทำให้ต้องใช้ท่าเรือน้ำลึกและยังต้องรองรับเรือความยาว มากกว่า 332 เมตร (ถ้าจับตั้งจะสูงกว่าตึกมหานครหรือตึกใบหยกซะอีก)

สัมผัสแรกที่ได้เห็นเลยก็คือ มันใหญ่มาก เนื่องจากผู้เขียนเคยเดินทางไปเยี่ยมชมเรือจักรีนฤเบศรซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน (ภายหลังเหลือแต่เฮลิคอปเตอร์) ของไทยหลายต่อหลายครั้งก็รู้สึกว่าอลังมากแล้ว แต่เรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกาคือที่สุดจริง ๆ ถ้านึกภาพไม่ออก เรามีภาพเปรียบเทียบขนาดของเรือในชั้นใกล้เคียงกัน กับเรือจักรีนฤเบศรให้ชม

เรือ USS Kitty Hawk ถ่ายคู่กับเรือหลวงจักรีนฤเบศรของไทย เทียบขนาดกันจะเห็นว่าของเราดูจิ๋วไปเลย ที่มา – US Navy

การมาเยี่ยมเมืองไทยของเรือในครั้งนี้น่าเสียดายที่ผู้ที่จะเข้าชมได้มีเพียงแค่ Invited Media หรือสื่อที่ถูกรับเชิญเท่านั้น คนทั่วไปไม่สามารถมาเข้าชมได้ แอบน่าเสียดายที่นาน ๆ จะได้เห็นอะไรแบบนี้กันซักครั้งหนึ่ง สำหรับในการเยี่ยมชมครั้งนี้ เราได้รับการดูแลจากคุณ Jessica หรือยศทางทหารคือ Lieutenant commander Jessica Anderson เป็น Public Affairs ของเรือ (ในเวอร์ชั่นวิดีโอ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเธอด้วย) ทำหน้าที่ดูแลแขกหรือพูดง่าย ๆ ก็คือ PR นั่นเอง

ภาพบนคือความสูงของเรือเมื่อถ่ายจากมุมเงยตรงรูลิฟท์ ซึ่งตรงนี้เรือจะใช้สำหรับการขนย้ายเครื่องบินขึ้นไปที่ดาดฟ้า หรือนำลงมาเก็บที่ดาดฟ้า ซึ่งบนเรือบรรทุกเครื่องบินจะมีลิฟท์แบบนี้ 4 จุดด้วยกัน ให้ลองสังเกตคนที่ยืนอยู่ตรงลิฟท์เทียบดูว่าใหญ่แค่ไหน

เราเดินขึ้นเรือผ่านสะพานเล็ก ๆ ที่เข้าไปที่ทางเข้าสำหรับเข้าเรือโดยเฉพาะ ตรงนี้เราจะเจอ Guard ถือปืนบรรจุกระสุนยืนรักษาความปลอดภัยทางคนที่เข้าและออก แต่พี่แกก็ไม่ได้ดุอะไรแถมแอบยิ้มให้กล้องด้วย เข้าใจว่าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยของทางเรือที่มาเทียบท่า

อีกอย่างก็คือบริเวณรอบ ๆ ท่าจะมีเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อสีแดงเขียนว่า Beach Guard คอยเดินตรวจตราอีกทีนึง เข้าใจว่าเป็นตำแหน่งที่เวลาไปเทียบท่าที่ไหนก็จะต้องเดินดูความเรียบร้อย เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยของเรืออีกขั้นนึง

เมื่อเข้ามาในเรือก็จะมีพี่ ๆ ทหารคอยต้อนรับอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้จะเป็น Meeting Point หรือจุดนัดพบ ในการทัวร์เราจะแบ่งกันเป็นกลุ่ม ๆ ทีมเรามีเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงที่จะเดินชมตามเส้นทางที่คุณ Jessica ได้ประสานไว้ (ไม่ให้เดินเองมั่ว ๆ) ความน่าสนุกของการชมในครั้งนี้คือ จะมีการประกาศอย่างชัดเจนว่า

  • ถ่ายรูปและวิดีโอได้แต่ห้ามใช้ Tripod หรือขาตั้ง
  • ถ้าพี่ ๆ ทหารบอกว่าห้ามถ่ายอะไรต้องฟังอย่างเคร่งครัด ห้ามฝ่าฝืน
  • ถ้าโดนปุ่มอะไรหรือโดน Switch อะไรของเขาให้รีบบอก ตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก เผื่อบางคนไปเผลอโดนแต่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวมีความผิด (ฮา) แต่การที่รู้ว่าไปกดโดนอะไรเข้าจะทำให้พี่ ๆ ทหารสามารถแก้ไขได้ทัน ไม่เกิดปัญหาบานปลาย ดังนั้นถ้าใครมีโอกาสไปเยี่ยมชมอะไรที่ Sensitive มาก ๆ แล้วไปโดนอะไรของเขาเข้าก็รีบบอกเจ้าหน้าที่ พี่ ๆ เขาไม่ดุหรอก

กฏข้อปฏิบัติก็มีแค่นี้ ที่เหลือก็จะเป็นการชี้แจงความปลอดภัยทั่ว ๆ ไปเช่น ในเรือจะร้อนมาก ถ้าใครหิวน้ำให้บอก หรือให้ระวังปีกเครื่องบิน เพดานต่าง ๆ และบันไดที่ชันมาก ๆ อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้

พี่ทหารที่พาเราชมคือคุณ Sears ซึ่งจำชื่อ Firstname ไม่ได้ เพราะยาวสัส ๆ และจำยศไม่ได้เช่นกัน (ถามเล่น ๆ พี่แกก็บอกว่า ก็อยากมีชื่อที่สั้นกว่านี้เหมือนกัน ฮา)

หลังจากที่ชี้แจงเสร็จเราก็เริ่มได้เดินชมห้องต่าง ๆ โดยห้องแรกที่เราได้เข้าไปคือพิพิธภัณฑ์เรือ ซึ่งจะใช้รำลึกถึงคุณ Stennis มีห้องทำงานจำลองของท่าน มีหนังสือที่ท่านอ่าน และปูพรมติดแอร์อย่างดี

สิ่งที่สะดุดตาทีมงานเลยก็คือ ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่ใช้ในกระสวยอวกาศของภารกิจ STS-1 ได้มีการเอามาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เรือด้วย

ห้องนี้เป็นห้องแรกที่อยู่ใกล้กับทางเข้าที่สุด ดังนั้นทายว่าเวลามีแขกสำคัญมาเยี่ยมเยือนเรือ ห้องนี้ก็จะถูกเปิดออกมาให้ได้เยี่ยมชมกันเป็นปกติประจำ เพราะทุกอย่างในห้องนั้นแกะออกไม่ได้ built-in มาพร้อมกับเรือ ไม่ได้เป็นแบบพอจะเทียบท่าทีก็มาจัดที

หลังจากดูพิพิธภัณฑ์ (ที่ไม่ค่อยมีอะไร) พี่ทหารก็พาเราเดินผ่านทางเดินแคบ ๆ ที่ชวนหลงทางเป็นอย่างมาก และมีสายไฟมัดเต็มไปหมดบนเพดาน (ถ้าไฟช็อตขึ้นมาจะรู้ไหมว่าสายไหน) และขึ้นบันไดแบบสุดโหดไปจนถึงส่วนที่เรียกว่า Island ของเรือ หรือถ้าดูจากข้างนอกมันคือหอที่ใช้ในการเดินเรือ สั่งการการรบ และนำทาง (Navigation) นั่นเอง

ส่วนที่เราได้เข้าไปดูนั้นเป็นชั้นของการ Navigation หรือการนำทาง (จะมีชั้นที่คอยควบคุมการจราจร การรบแยกอีก) หลังจากขึ้นบันไดกันจนหอบแล้วเราก็ได้เข้ามาในห้องที่เหมือนมาจากหนังเรื่อง Transformers 2 (ซึ่งมันก็คือห้องนี้จริง ๆ นี่แหละ) ใช้สำหรับการสั่งการเดินเรือ

อุปกรณ์บนเรือดูเก่าแต่ก็ถึกทนมาก มีระบบต่าง ๆ ตั้งแต่กล้องส่องทางไกลไปจนถึงเครื่อง GPS เราได้ลองเดินดูก็น่าทึ่งพอสมควรว่าการสั่งการเรือ 1 ลำนั้นมันยากมาก ๆ และต่อให้มีโจรสลัดเข้ามายึดเรือก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องทำยังไง (แค่เห็นก็มึนแล้ว)

อันนี้แอบแทรกความรู้ให้ว่าระบบ GPS ที่ใช้ในการทหารนั้นจะมีความละเอียดมากกว่าที่กองทัพอากาศสหรัฐเปิดให้คนทั่วไปใช้ (แม่นยำกว่า Google Maps ของเรา) เพราะอย่าลืมว่าดาวเทียม GPS นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร แต่เพิ่งเปิดให้นำมาใช้สำหรับพลเรือนและการเดินอากาศ นับเป็น Public Domain หรือสมบัติสาธรณะที่มูลค่าสูงมาก ๆ ตัวนึงของโลกก็ได้

และนี่ก็คือเก้าอี้ของผู้บังคับบัญชาการเรือ (นี่แหละที่มาจากหนังเรื่อง Transformers 2) ดูเท่เป็นสง่ามาก ๆ แถมตอนที่เราเข้าไปยังมีของใช้ส่วนตัวเช่นสมุดจด เครื่องเขียนและกล้องส่องทางไกลวางอยู่เลย เพราะในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่เราเข้าไปเยี่ยมชมเรือก็จะต้องออกไปทำภารกิจต่อแล้ว

ในห้องจะมีทางเดินไปยังห้องอีกห้องหนึ่งที่ชื่อว่า Combat Direction Center ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เปิดให้เข้าไปชม เข้าใจว่าเป็นห้องที่ใช้บัญชาการรบหรือวางแผนกันสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาก ๆ และห้องนี้ จากป้าย ห้ามนำอุปกรณ์สื่อสารส่วนตัวเข้าได้วย รวมถึงห้ามบันทึก หรือส่งสัญญาณอะไรทั้งสิ้น

ตรงนี้เราจะมองเห็นดาดฟ้าเรือได้อย่างชัดเจน เห็นเครื่องบินที่จอดอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเครื่อง (และด้วยความสูงมากกว่าตึก 30 ชั้น ทำให้เราสามารถเห็นไปได้ไกลมาก ๆ นึกภาพถ้าอยู่กลางทะเลก็จะเห็นได้ครบทั้งกองเรือโดยรอบ) โดยดาดฟ้าของเรือนั้นเรากำลังจะได้ลงไปเยี่ยมชม

หลังจากชมห้อง Navigation กันแล้ว คุณ Sears ก็บอกว่าเราสามารถเดินชมได้ค่อนข้างอิสระ ซึ่งเป็นโอกาสดีมาก เพราะบนดาดฟ้าเรือหรือ Flight Deck นั้น เมื่อ Active มันคือพื้นที่ทำงานที่อันตรายที่สุดในโลก ตายกันมาเยอะแล้วในสมัยก่อนบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ดังนั้นเมื่อมันคือพื้นที่ทำงานที่อันตรายที่สุด ก็ต้องมาพร้อมการควบคุมความปลอดภัยที่สูงมาก ๆ เช่น ทุกคนจะต้องใส่เสื้อสีประจำตำแหน่งของตัวเองชัดเจน หรือสื่อสารกันด้วยสัญญาณมือ หรือแม้กระทั่งก่อนจะเปิด Active Flight Deck ต้องมีการเดินตรวจทุกอย่างให้พื้นที่ขึ้นหรือลงของเครื่องบิน ไม่มี Debries หรือวัตถุแปลกปลอมแม้แต่นิดเดียว

แน่นอนว่าเราสามารถเดินถ่ายรูปกับ F-18 ได้ตามใจชอบ ถ่ายแม่งทุกลำเลยก็ได้ เพราะบนนี้ถ้าประเมินจากสายตาน่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 ลำเลยทีเดียว ร่วมกับเครื่องบินอื่น ๆ เช่น C-2 Greyhound (เครื่องบินขนส่ง) และ E-2 Hawkeye (เครื่องบินเรดาร์ที่จะมีโดม ๆ กลม ๆ หมุน ๆ อยู่ด้านบน)

ณ ตรงนี้ ความรู้สึกเวลาเราเดินดูก็จะแปลก ๆ หน่อย มันก้ำ ๆ กึ่ง ๆ ระหว่างจะกว้างหรือจะแคบ คือมันกว้างเพราะความใหญ่โตของมัน แต่มันดูแคบเพราะพื้นที่ใช้สอยมัน Compact มาก ๆ เมื่อเทียบกับความกว้างที่มี นึกดูว่ามีทางปล่อยเครื่องบินทั้งหมด 4 ทาง ทางลงสำหรับเครื่องบิน 1 ทาง ซึ่งก็ยังใช้พื้นที่ที่เหลือในการจอดเครื่องบินได้อีกเวลาปฏิบัติการจริง แถมตัว Catapult ที่ใช้ยิงเครื่องบิน (ใช้แรงดันไอน้ำในการดันล้อเครื่องบินให้วิ่งเร็วกว่าปกติ) ก็ดันสั้นกว่าที่คิดในทางความรู้สึกอีก ตรงนี้ก็เลยจะรู้สึกแปลก ๆ หน่อย แต่ก็ทำให้นึกภาพได้เลยว่า ตอนทำงานจริงมันจะน่ากลัวมาก ๆ เพราะทั้งควัน เสียง และทุกอย่างที่ Active อยู่ตลอดเวลา ทำให้การทำงานบนดาดฟ้าเรือนั้น ห้ามเหม่อแม้แต่วินาทีเดียว อาจตายก่อนจะรู้ตัวอีก

สำหรับ F-18 ที่จอดอยู่ ก็จะล็อกเอาไว้กับดาดฟ้าเรือ และมีอุปกรณ์ป้องกัน Inlet และ Outlet ของเครื่องยนต์ไว้ไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมหรือความเค็มของน้ำทะเลเข้าไปทำความเสียหาย แต่ทางกองทัพเรือก็ไม่หวงอะไร สามารถเดินไปถ่ายรูปอะไรได้ตามปกติ ได้สังเกตเห็นรายละเอียดชัด ๆ แบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

อย่างเช่นตรงนี้ เราจะถ่ายให้เห็น Tail Hook หรือหางที่ใช้สำหรับเกี่ยวเชือกตอนลงจอด (ตอนลงจอดเครื่องบินจะต้องเกี่ยวเชือกให้ได้ 1 เส้นจากทั้งหมด 4 เส้นเพื่อให้ลดความเร็วลงและลงจอดได้) ถ้าเกี่ยวไม่ได้ต้องเร่งเครื่องและบินวนกลับมาลงจอดใหม่ ซึ่งพอดูจริง ๆ มันก็เป็นแค่ตะขอเล็ก ๆ เอง

หลังจากที่เยี่ยมชม Flight Deck เรียบร้อยแล้ว เราก็เดินลงมาที่โรงเก็บเครื่องบินเหมือนเดิม แต่รอบนี้จะผ่านทาง Catwalk เล็ก ๆ ด้านข้าง Flight Deck ที่จะมีประตูลงมา และเดินลงมาอีกพอสมควรได้ผ่านบริเวณนู่นนี่ (ที่ก็คล้าย ๆ กันไม่รู้แยกออกกันได้ไง) กลับมาที่โรงเก็บที่เราเจอกัน

ระหว่างที่ลงมาก็จะเจอห้องต่าง ๆ บางห้องก็เขียนป้ายแปะซะหน้ากลัวว่าห้องเก็บวัสดุอันตราย ห้ามเอาอะไรเข้ามากิน หรือต้องใช้ยามจำเป็นเท่านั้น

ระหว่างที่เดินกลับมา ณ Meeting Point ก็ได้เห็นเขาเอาถังน้ำมันเสริมเก็บกันไว้บนเพดานเลย (บ่งบอกว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำถูกออกแบบมาให้ใช้พื้นที่ได้คุ้มค่าทุกตารางนิ้ว) เสียว ๆ ว่าถ้าตกลงมาใส่อะไรข้างล่างจะชิบหายไหมเนี่ย

และก็แถมเครื่องยนต์ของเครื่องบิน Hawkeye ที่เปิดโชว์ เครื่องยนต์นี้จะปั่นใบพัดขนาดใหญ่ ดังนั้นมันจะต้องทรงพลังมาก ๆ ก็สามารถถ่ายรูปให้เห็นได้อย่างชัดเจนเลย

และหลังจากที่แจกเอกสาร PressKit อะไรกันเรียบร้อยทุก ๆ คนก็มาส่งเราลงเรือกลับบ้าน ซึ่งก็เป็นการอำลาเรือลำนี้เพราะก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้เจอกันอีกหรือเปล่า ก่อนกลับเราก็ได้คุยกับคุณ Jessica เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งติดตามได้ในเวอร์ชั่นวิดีโอ

สุดท้ายก่อนกลับ ก็ขอถ่ายภาพอีกหนึ่ง Shot สวย ๆ ของเรือไว้เป็นที่ระลึกแบบเห็นหมายเลข 74 ชัด ๆ ซึ่ง 74 ก็คือหมายเลขประจำเรือ CVN-74 ซึ่งตัว C คือ Carrier เป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน Vessel คือเรือ และ N ตัวสุดท้ายคือ Nuclear แปลว่าเรือลำนี้ใช้พลังงานจากเตา Reactor บนเรือนั่นเอง

ถามว่าผู้เขียน เป็นสายไม่ชอบสงคราม เป็นสายพลเมืองโลกรู้สึกอย่างไรกับที่ได้ต้องมารีวิวสิ่งที่เขาว่ากันว่าเป็นสุดยอดเครื่องจักรสังหาร ตรงนี้ผู้เขียนไม่รู้สึกว่ามันคือคำนิยามของเรือบรรทุกเครื่องบินหรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการรบต่าง ๆ แต่มองว่า มันเป็นหนึ่งในเส้นทางที่จะทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างสงบสุขขึ้น ไม่ใช่ว่ามีเรือพวกนี้ มีการประจำน่านน้ำต่าง ๆ จะทำให้โลกสงบ แต่เชื่อว่า ในการเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่โลกสันตินั้น ความขัดแย้งจะเป็นตัวขัดเกลา อันนี้คือในแง่ของการเรียนรู้ ส่วนในแง่ของเทคโนโลยี มนุษย์นั้นมีขีดจำกัดที่จะต้องก้าวข้ามเสมอ เรือพวกนี้ก็เหมือนกับยานอวกาศ กระสวยอวกาศที่คุณ Stennis ผลักดันขึ้นมา บางครั้ง มันก็ฆ่าชีวิตคน กระสวยอวกาศระเบิดไปถึง 2 ครั้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ระหว่างทางที่เรามีมัน เราได้เรียนรู้บทเรียนมากมาย

ประเด็นไม่ใช่การอยู่ดี ๆ มาบอกว่า ต้องเอาเรือรบพวกนี้ไปทิ้งให้หมด เอากองทัพไปทิ้งให้หมด สั่งสงครามและความขัดแย้งให้จบในวันเดียว แต่เราต้องค่อย ๆ เรียนรู้ และมีสติ และสุดท้ายเทคโนโลยีที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมาเพื่อเอาชีวิตกัน วันหนึ่งมันอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถอยู่ร่วมกันบนโลกที่สงบสุขก็ได้ เหมือนถ้าไม่มี Space Race อวกาศก็จะไม่พัฒนา ถ้าไม่มียุคมืดหรือ Dark Age ก็จะไม่มียุค Renaissance เพื่อฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ

เราทุกคนอยู่บนเส้นทางของการเรียนรู้ ความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย แต่ความผิดพลาดที่ไม่ให้บทเรียนต่างหากคือสิ่งที่เลวร้าย

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.