ก้าวแรกของ SpaceX สู่อุตสาหกรรมอวกาศกับมหากาพย์ความล้มเหลวของจรวด Falcon 1

หลายคนอาจจะเคยได้อ่านบทความ สิบเอ็ดปีเที่ยวบินที่ 4 ของจรวด Falcon 1 ภารกิจพลิกชะตากรรม SpaceX มาแล้ว แต่อาจจะยังไม่ทราบว่าความซวยของ Flight 1,2 และ 3 ของ Falcon 1 มันหนักหนาสาหัสแค่ไหน ใยบทความนี้เราจะมาพูดถึงการพัฒนาจรวด Falcon 1 และความล้มเหลวถึงสามครั้งติดตั้งแต่เที่ยวบินแรกของ Falcon 1

หากพูดถึงบริษัท SpaceX ของ Elon Musk หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงจรวด Falcon 9 หนึ่งในจรวดที่ประสบความสำเร็จที่สุดในอุตสาหกรรมอวกาศ Falcon 9 เป็นจรวดลำแรกของโลกที่สามารถทำ Propulsive landing หรือการลงจอดแบบใช้จรวดขับดันได้ในปี 2015 และเป็นจรวดลำแรกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในปี 2017 แต่ก่อนจะมาเป็น Falcon 9 SpaceX มีประวัติอันโชกโชนกับจรวดลำแรกของบริษัทเรียกว่า Falcon 1 ที่เกือบทำ SpaceX ล้มละลายแต่ก็เป็นจรวดที่พา SpaceX มาอยู่ ณ จุด ๆ นี้ในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

จรวด Falcon 1

จรวด Falcon 1 เป็นจรวดที่ถูกพัฒนาและผลิตโดย SpaceX เป็นลำแรกระหว่างปี 2006 ถึง 2009 Falcon 1 เป็นจรวด TSTO หรือ Two-stage-to-orbit ซึ่งหมายความว่า Falcon 1 จะแบ่งได้เป็นสามส่วน คือ First stage, Second stage และ Payload จรวด Falcon 1 ใช้เชื้อเพลิงเหลวอย่างออกซิเจนเหลว (LOX) และ Rocket Petroleum-1 (RP-1) ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ใช้กับจรวด Saturn V ของโครงการ Apollo

เชื้อเพลิง Liquid Oxygen หรือ LOX ในบีกเกอร์ – ที่มา U.S. Air Force
เชื้อเพลิง Rocket Petroleum-1 หรือ RP-1 – ที่มา Maxhaot

เครื่องยนต์ที่จรวด Falcon 1 ใช้ใน First stage ก็คือเครื่องยนต์ที่เราอาจจะคุ้นหูกันชื่อว่า Merlin ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ถูกพัฒนามาใช้ตั้งแต่ Falcon 1 ยัน Falcon 9 และ Falcon Heavy เลยทีเดียว Merlin engine มีทั้งหมด 4 รุ่นด้วยกัน คือ 1A, 1B, 1C, 1D โดยที่ 1A เป็นรุ่นที่เอามาใช้กับสองเที่ยวบินแรกของ Falcon 1 แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นรุ่น 1C (เพราะว่ามันพังไง ฮา)

ตัวเครื่องยนต์ Merlin มี Flight computers ทั้งหมด 3 ตัวซึ่งเป็นแบบ Dual-redundant design ออกแบบให้สามารถทำงานแทนกันได้ในกรณีที่อันใดอันนึงเสียเรียกว่า Fault-tolerant design ซึ่งมี Design คล้าย ๆ กับ Full Self Driving Chip (FSD Chip) ของระบบ Autopilot ในรถยนต์ Tesla ที่เป็นแบบ Dual-redundant design เช่นกัน คือมี chip 2 ตัวทำงานแทนกันได้

เครื่องยนต์ Merline 1A แบบที่ใช้กับ First stage ของ Falcon 1 – ที่มา SpaceX

ส่วน Second stage ของ Falcon 1 ใช้เครื่องยนต์ Kestrel ซึ่งเป็นเครื่องยนต์แบบใช้เชื้อเพลิงเหลวอย่าง LOX/RP-1 เช่นกัน ถูกพัฒนาในปี 2000 cและเอามาใช้กับ Falcon 1 ในปี 2006 เครื่องยนต์ Kestrel มีโครงสร้างคล้าย ๆ กับเครื่องยนต์ Merlin ของ First stage แต่ Merlin engine ใช้ Cycle หรือการหมุนเวียนแก๊สแบบ Gas-generator กล่าวคือเอาเชื้อเพลิงบางส่วนไปเผาไหม้ใน Pre-burner เพื่อสร้างแรงดันให้ปั๊มเชื้อเพลิงเพื่อปั๊มเชื้อเพลิงไปที่ห้องเผาไหม้ หรือ Combustion chamber เพราะฉะนั้นเครื่องยนต์จะเสียเชื้อเพลิงบางส่วนไปกับการสร้างแรงดันด้วย

แต่ข้อดีก็คือไม่ต้องห่วงเรื่องแรงดันย้อนกลับในห้องเผาไหม้เพราะว่ามีปั๊มเชื้อเพลิงคอยสร้างแรงดันให้กับเชื้อเพลิงอบ่างต่อเนื่อง

ผังการทำงานของเครื่องยนต์แบบ Gas exchange cycle – ที่มา Duk

ส่วนเครื่องยนต์ Kestrel ใช้ระบบ Cycle แบบ Pressure-fed คือไม่ต้องมีปั๊มเชื้อเพลิงอะไรทั้งนั้นแต่ใช้การอัดแก๊สอย่าง Helium เข้าไปที่ถังเชื้อเพลิงเพื่อผลักเชื้อเพลิงไปที่ห้องเผาไหม้ แบบเดียวกับที่ใช้บนยานลงจอด Lunar Descent Module ของโครงการ Apollo แต่ข้อเสียของเครื่องยนต์แบบนี้ก็คือแก๊สที่ถูกอัดอย่าง Helium จะเย็นมาก ถ้าเกิดจุดจรวดนานเกินไปความดันของแก๊สอาจจะทำให้อุณหภูมิของถังเชื้อเพลิงเย็นจนเชื้อเพลิงแข็งหมด (เชื้อเพลิงเป็นน้ำแข็งนี่ไม่ดีแน่ ๆ) แต่ก็มีระบบป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของแก๊สสูงเกินไปเช่นกันคือการเอาแก๊ส Helium ไปหล่อเย็นห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ก่อนค่อยเอาไปใช้

ผังการทำงานของเครื่องยนต์แบบ Pressure-fed cycle – ที่มา Duk

ตัว First stage ถูกผลิตจาก 2219 aluminum alloy กับระบบ Flight pressure stabilization หรือระบบรักษาแรงดันในตัวโดยที่มีร่มสำหรับร่อนลงจอดอย่าง Drogue chute ติดไปด้วย First stage ติดกับเครื่องยนต์อย่าง Merlin 1A ใร 2 ไฟลท์แรก และ Merlin 1B ใน 2 ไฟลท์หลัง ส่วน Second stage ใช้ aluminum alloy เช่นกันพร้อมระบบ Helium pressurization ติดกับเครื่องยนต์ Kestrel

ทั้งนี้ถึงแม้ First stage ของ Falcon 1 จะถูกออกแบบให้มีร่มชูชีพสำหรับร่อนลงจอดในน้ำแล้วลากกับมาใช้ใหม่ แต่มันก็ไม่เคยถูกนำมาใช้จริงสักที แต่ปล่อยโครมลงน้ำตลอด ส่วน Second stage ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ใหม่ได้แต่อย่างใด

จรวด Falcon 1 – ที่มา Rocket Rundown

การพัฒนา Falcon 1 ของ SpaceX ใช้เงินไปทั้งหมด 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.9 พันล้านบาท หลังการพัฒนาเสร็จสิ้น Falcon 1 ก็ถูกจ้างโดยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐกับสัญญาราคา 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้ส่งดาวเทียม TacSat-1 ขึ้นไปในอวกาศในเดือน พฤษภาคม ปี 2005 แต่ไป ๆ มา ๆ กองทัพอากาศก็ดันไม่อยากให้ส่งดาวเทียมของตัวเองขึ้นไปกับจรวดที่ยังไม่ได้ทดสอบปล่อยจริง SpaceX ก็เลยอดสัญญาแรกไป แต่ความซวยของ SpaceX มันจะเริ่มจากสัญญาต่อไป

ไฟลท์แรกของ Falcon 1

ลูกค้ารายแรกของ SpaceX กับ Falcon 1 ก็คือ DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ซึ่งจ้าง SpaceX ให้ปล่อย FalconSAT-2 (COSPAR 2006-F01) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ขึ้นไปที่วงโคจร Low Earth Orbit เป็นดาวเทียมสำหรับสังเกตุการณ์ผลกระทบของ Plasma ต่อการสื่อสารกับยานอวกาศ SpaceX ก็จัดให้เลยกับไฟลท์แรกของ Falcon 1

ยังไม่ทันจะปล่อยก็พีคแล้วกับไฟลท์แรกของ Falcon 1 เพราะว่าถูกเลื่อนรัว ๆ เลย ครั้งแรกก็คือกับกำหนดการปล่อยของ Titan IV ที่ฐานทัพอากาศ Vandenberg ที่ดันช้าทำให้ Falcon 1 ช้าไปด้วย เลยต้องเปลี่ยนฐานปล่อยไปที่ Reagan test site ในเกาะ Kwajalein Atoll กำหนดปล่อยวันที่ 31 ตุลาคม 2005 แต่ก็ถูกเลื่อนไปวันที่ 25 พฤศจิกายน 2005 อีก ซึ่งก็ไม่ได้ปล่อยอีกเช่นกัน กำหนดปล่อยใหม่อีกทีวันที่ 19 ธันวาคม 2005 แต่ก็ถูก Scrub (ยกเลิกการปล่อย) เพราะว่าวาล์วในถังเชื้อเพลิงของ First stage เกิดเสียแล้วมันก็หลุดเข้าไปในถังเชื้อเพลิงซะงั้น SpaceX แล้วต้องเปลี่ยน First stage ใหม่ แล้วก็เลื่อนกำหนดการปล่อยเป็นวันที่ 25 มีนาคม 2006 เวลา 9:30 น.เวลาท้องถื่น

Falcon 1 1st Flight บนฐานปล่อยจากกล้องบนจรวด – ที่มา TheSystemsAlliance/SpaceX

ในที่สุด Falcon 1 ก็ถูกปล่อยในวันที่ 24 มีนาคม 2006 เวลา 22:30 UTC จากฐานปล่อยที่เกาะ Omelek ในหมู่เกาะ Marshall แต่หลังจากไปได้ไม่นานที่ T+25 หลังการปล่อย ท่อเชื้อเพลิงของ First stage ดันรั่วทำให้เกิดไฟลุกขึ้นในถังเชื้อเพลิงจนเสียกำลังส่งเครื่องยนต์ (Loss of thrust) ที่ T+26 จรวด Falcon 1 เริ่มหมุนอย่างควบคุมไม่ได้และค่อย ๆ ร่วงกลับทะเล

ที่ T+25 ถังเชื้อเพลิง First stage ของ Falcon 1 ติดไฟ เครื่องยนต์สูญเสียแรงขับ – ที่มา TheSystemsAlliance/SpaceX

ที่ T+41 วินาทีจรวด Falcon 1 กระแทกผิวน้ำห่างจากฐานปล่อยประมาณ 250 ฟุต Payload FalconSAT-2 กระเด็นออกจาก Booster ตอนกระแทกผิวน้ำมาลงที่เกาะซึ่งสภาพก็ไม่มีชิ้นดีเลย

ที่ประมาณ T+41 ก่อนจรวด Falcon 1 จะกระแทกผิวน้ำ (นอกหน้าต่างคือทะเล) – ที่มา TheSystemsAlliance/SpaceX

จากการสอบสวนของ SpaceX ได้ข้อสรุปว่าสกรูที่ยึดกับท่อเชื้อเพลิงขันไม่แน่นทำให้ท่อเชื้อเพลิงรั่ว แต่ DARPA ก็ยังใจดีช่วยสอบสวนแล้วก็ได้ข้อสรุปว่าจริง ๆ แล้วสกรูขันแน่นดีเพราะว่าสายไฟไม่ได้หลุดออกมาด้วย แต่สกรูดันพังตอนปล่อยจากการกัดกร่อนของน้ำทะเล ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากเพราะว่าจรวด Falcon 1 ถูกเลื่อนปล่อยมาแล้วหลายรอบ จึงต้องย้ายมาฐานปล่อยบนเกาะ Omelek ซึ่งใกล้กับเส้นศูนย์สูตรและมีความชื้นสูงจึงทำให้เกิดการกัดกร่อนได้ง่าย

วีดีโอการปล่อยจรวด Falcon 1 Flight 1 จากกล้องบนจรวดของ SpaceX – ที่มา TheSystemsAlliance/SpaceX

ไฟลท์ที่สองของ Falcon 1

รอบนี้ SpaceX แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ First stage ก่อนหน้านี้โดยการเปลี่ยนวัสดุจาก Aluminum เป็น Stainless steel เพื่อป้องกันการกัดกร่อนและลูกค้ารอบนี้ก็ยังเป็นเจ้าเดิมนั้นก็คือ DARPA แต่ NASA ก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย โดย SpaceX ถูกจ้างให้ปล่อย DemoSat ขึ้นไปที่ Low Earth Orbit กำหนดการปล่อยในเดือนมกราคม ปี 2007 แต่ก็ถูกเลื่อนเพราะปัญหาทางเทคนิคกับ Second stage ก่อนหน้านี้ SpaceX ก็เลื่อนการปล่อยตั้งแต่ กันยายน 2006 ไป พฤศจิกายน 2006 ไป ธันวาคม 2006 จนถูกกำหนดวันปล่อยใหม่อีกครั้งในวันที่ 9 มีนาคม 2007 แต่ก็ถูกเลื่อนอีกเพราะว่าการทดสอบจรวด Minuteman III ก่อนหน้านี้ดันพลาดต้อง Re-entry ในเขต Kwajelein ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานปล่อย SpaceX ก็เลยต้องเลื่อนไปอีกเป็นวันที่ 19 มีนาคม 2007 แต่ก็ล่าช้าอีกเพราะว่า Flight computer บนจรวด False positive การ delay ของสัญญาณว่าเป็น Transmission failure จึงสั่ง Scrub launch อัตโนมัติ 1 นาที 2 วินาทีก่อนปล่อย จึงถูกเลื่อนมาวันที่ 20 มีนาคม 2007 เวลา 23:00 น. แต่ก็ล่าช้าไป 65 นาที เพราะว่า NASA มีปัญหาการสื่อสารกัย Payload ของตัวเองและระบบ TDRS (Tracking and Data Relay Satellite)

ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ปล่อยจริง ๆ สักทีในวันที่ 21 มีนาคม 2007 เวลา 00:05 GMT จรวด Falcon 1 cleared tower เวลา 01:10 GMT 3 วินาทีหลังการปล่อยกับ Payload DemoSat ของ NASA และ DARPA ซึ่งการ Burn first stage ก็ผ่านไปด้วยดีจนถึงการดับเครื่องยนต์หลัก หรือ MECO (Main Engine Cut-Off) และการแยกตัวระหว่าง First stage และ Second stage

Falcon 1 cleared tower – ที่มา SpaceX

ระหว่างการแยกตัวจาก First stage ส่วนของเครื่องยนต์ที่เรียกว่า Nozzle ของ Kestrel บน Second stage เกิดกระแทกกับ Separator เข้า ที่ T+02:52 ระหว่างการแยกตัว ทำให้ Second stage เสียสมดุลนิดหน่อยตอนจุดเครื่องยนต์แต่ก็สามารถแก้ได้ด้วยระบบ Thrust Vector Control System หรือการปรับหัว Nozzle ของเครื่องยนต์ แต่การเสียสมดุลนี้ทำให้เกิดปัญหาในภายหลัง ตอนที่ Second stage เสียสมดุลแล้วระบบ Thrust Vector Control System หักหัว Nozzle เพื่อปรับให้จรวดอยู่ในแนวเดิม นี่ทำให้เชื้อเพลิงเหลวในถังเชื้อเพลิง Slosh (กระฉอก) หรือ ไหลไปไหลมาซึ่งยิ่งนานก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเพราะ Thrust Vector Control System ก็จะพยายามหักล้างแรงที่เกิดขึ้นจากการ Slosh แต่นั้นก็ยิ่งทำให้เชื้อเพลิง Slosh มากกว่าเดิม เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Oscillation หรือการแกวง

ระหว่าง Stage Separation ที่ T+2:52 เครื่องยนต์ของ Second stage ชนกับ First stage – ที่มา SpaceX

ซึ่ง Oscillation ในครั้งนี้เป็นแบบ Circular coning oscillation หรือแบบวงกลม การเกิด Oscillation เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างในเครื่องยนต์ J-2 ที่ 5 ของ Stage S-II บนจรวด Saturn V ภารกิจ Apollo 13 เรียกว่า Pogo oscillation ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่เสถียรทำให้แรงขับแกว่ง ระบบในจรวดจึงดับเครื่องยนต์กลางเร็วกว่าที่กำหนดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น เป็นที่มาของปัญหาแรกในภารกิจ Apollo 13

เครื่องยนต์ J-2 ที่ 5 ของ S-II บนจรวด Saturn V ดับก่อนกำหนด – ที่มา Apollo 13 (1995)

ที่ T+4:20 หลังการปล่อย จรวด Falcon 1 เริ่มเกิด Circular coning oscillation ซึ่งความถี่ของการแกว่งก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการพยายามต้านแรงสั่นของ Thrust Vector Control System

วีดีโอการปล่อย Falcon 1 2nd Flight- ที่มา SpaceX

จากวีดีโอที่ 3:50 วินาที เป็นการแยก Stage ส่วนที่ 5:20 วินาทีของวีดีโอจะเริ่มเห็นการแกว่งของ Nozzle เพื่อหักล้างกับแรง Slosh ของเชื้อเพลิง แต่วีดีโอของการปล่อยหยุดก่อนที่ควรทำให้เราไม่ได้เห็นตอนที่จรวดสูญเสียการควบคุม ที่ T+7:30 จรวด Falcon 1 เริ่มเสียการควบคุมการหมุนทำให้จรวดไปไม่ถึงวงโคจร จรวด Falcon 1 ถึงความสูงที่ 289 กิโลเมตรกับความเร็วที่ 5.1 km/s ซึ่งจริง ๆ จรวดต้องการความเร็วที่ 7.5 km/s จึงจะโคจรโลกได้ ทำให้ไปไม่ถึงวงโคจร ส่วน First stage ที่ร่วงมายังโลกนั้นก็ชะตาขาดเพราะว่าระบบ GPS พัง SpaceX เลยหาไม่เจอ แต่การปล่อยในครั้งนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า Falcon 1 ใกล้เป็นจริงแล้ว แต่ Elon Musk ถึงกับต้องกุมขมับในไฟลท์ต่อไปเลยทีเดียว

ไฟลท์ที่สามของ Falcon 1

ในเที่ยวบินนี้ SpaceX ได้อัพเกรดเครื่องยนต์ของ First stage ใหม่จาก Merlin 1A เป็น Merlin 1C ซึ่งมีระบบใหม่ก็คือ Regeneratively cooling system คล้าย ๆ กับระบบใน Pressure-fed cycle ซึ่งก็คือการใช้เชื้อเพลิงที่มีแรงดันสูงซึ่งมีอุณหภูมิต่ำและเย็นมาก ๆ มาผ่าน Heat exchanger ตรงเครื่องยนต์ก่อนเพื่อทำให้เชื้อเพลิงร้อนแล้วก็หล่อเย็นเครื่องยนต์ไปด้วยในตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ใน Merlin 1A ใช้เป็นระบบ Ablatively cooling system ก็คือปล่อย ๆ ไปตามเวรตามกรรมมันร้อนก็ชั่งมัน เพราะมันถูกออกแบบมาให้ทนร้อน (ก็เพราะแบบนี้แหละเที่ยวบินแรกมันเลยระเบิดด้วยเพราะเชื้อเพลิงรั่วแล้ว Nozzle มันร้อนมาก ๆ มันก็เลยติดไฟ ฮา)

รอบนี้เหมือนหลาย ๆ หน่วยงานจะเริ่มมั่นใจใน SpaceX มากขึ้นก็เลยมีลูกค้าเพิ่มขึ้น (พวกแกคิดผิดแล้ว ไม่ใช่กับไฟลท์นี้) รอบนี้ NASA ก็เลยมาเต็ม จ้าง SpaceX ให้ส่งดาวเทียม 2 ดวงคือ NanoSail-D ของ NASA Ames Research Center และดาวเทียม PRESat แล้วก็มีอีกเจ้าก็คือ ORS ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ฯ ให้ส่งดาวเทียม Trailblazer ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ และเจ้าสุดท้ายก็คือ Celetis, Inc. ให้ส่งดาวเทียม Explorers ขึ้นไปที่ Low earth orbit รวมทั้งหมด 3 รายด้วยกัน และจะส่งขึ้นไปพร้อมกันทั้ง 4 ดวง กับ Falcon 1 Flight 3

กำหนดการปล่อยคือวันที่ 3 สิงหาคม 2008 จากฐานปล่อยบนเกาะ Omelek แต่การปล่อยล่าช้าไปนิดหน่อยจากการเติม Helium ของ Falcon 1 ที่ช้า ทำให้เชื้อเพลิงและ Oxidizer ที่อยู่ในถังเริ่มโดน Helium นานเกินไปจึงต้องรีบปล่อยหลังจากเติม Helium เลย แต่ก่อนการปล่อยเพียงแค่ครึ่งวินาที Flight computer ยกเลิกการปล่อยเพราะว่า Sensor ล้มเหลว แต่ก็แก้ได้ด้วยการรีเซ็ตทำให้การปล่อยถูกกำหนดใหม่อีกครั้งในอีก 25 นาที

เวลา 03:35 UTC จรวด Falcon 1 ออกจากฐานปล่อยตามปกติ แต่เกิด Oscillation เล็กน้อยซึ่งไม่เป็นปัญหาต่อการปล่อยแต่อย่างใดจนกระทั่งถึงการดับเครื่องยนต์หลัก หรือ MECO และการแยก Stage (Stage separation) โปรแกรมใน Flight computer ของ Second stage ถูกกำหนดให้ Delay การแยกตัว 1.5 วินาที หลัง MECO แต่เพราะว่าระบบ Regeneratively cooling system ทำให้ระหว่าง MECO ตัวเครื่องยนต์จะยังมีสิ่งที่เรียกว่า Residual thrust หรือว่าแรงขับตกค้างทำให้ตอนแยกตัว First stage พุ่งกลับมาชนกับเครื่องยนต์ของ Second stage เท่านี้ยังไม่พอ เพราะว่า Flight computer มันไม่รู้กับเราว่าเครื่องยนต์ของ Second stage ยังอยู่ใน First stage มันก็เลยจุดเครื่องยนต์ Second stage ทั้ง ๆ ที่มันอยู่ใน First stage อยู่นั้นแหละ

Second stage engine ถูกจุดระหว่างที่ยังอยู่ใน First stage เพราะว่า First stage โดน Residual thrust ดันกลับมาไม่ยอมแยก – ที่มา SpaceX

จากการจุดเครื่องยนต์แบบพัง ๆ ครั้งนี้ทำให้ร่มชะลอความเร็วเพื่อลงจอดของ First stage ไหม้เกรียมจน Falcon 1 ตกลงมากระแทกมหาสมุทร ส่วนเครื่องยนต์ Second stage ก็ไหม้เกรียมเช่นกันจึงไปไม่ถึงวงโคจร ดาวเทียม 4 ดวงพร้อมจรวด Falcon 1 ก็ลงไปนอนในทะเลอย่างช่วยไม่ได้ Elon Musk ถึงกับต้องกุมขมับกันเลยทีเดียว เพราะปัญหานี้มันจะไม่เกิดขึ้นถ้าแก้ Flight computer program ให้ delay การแยกตัวหลัง MECO นานขึ้น ถึงกระนั้นทีมควบคุมก็รู้ชะตากรรมของจรวดแล้วหลัง First stage กระแทกกับ Second stage เพราะว่าจรวดหมุนไปมั่วแล้วก็เลยจัดการแยก Fairing separation เล่น ๆ เพราะยังไงก็ไม่รอด (ฮา) สามารถดูวีดีโอการปล่อยได้ข้างล่างนี้

  • 2:50 – Main Engine Cut-Off (MECO)
  • 2:51 – Stage Separation
  • 2:52 – First stage recontacted second stage
  • 2:54 – Second stage engine ignition
การปล่อย Falcon 1 3rd Flight – ที่มา SpaceX

ไฟลท์ที่สี่ของ Falcon 1 และเกือบจะเป็นไฟลท์สุดท้าย

ในไฟลท์ที่สี่เป็นจรวด Falcon 1 ลำสุดท้ายที่ SpaceX เหลือเพราะว่าอันอื่นลงไปนอนในทะเลหมดแล้ว ทำให้ถ้าครั้งนี้ล้มเหลว SpaceX จะไม่เหลือจรวดให้ปล่อยอีกแล้วแทบจะไม่มีเงินมาสร้างใหม่ด้วยเพราะว่าแค่ค่าดาวเทียมที่ลงไปนอนในทะเลกับ Falcon 1 ก็ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว Falcon 1 4th Flight จึงเป็นไพ่ใบสุดท้ายของ SpaceX และ Elon Musk รอบนี้ Elon Musk ตั้งใจที่จะแค่ส่งจรวดขึ้นไปให้ถึงวงโคจรพอเพื่อทดสอบว่า Falcon 1 ไม่ได้เป็นแค่ความฝัน แต่ก็ใส่ Payload ปลอม ไว้สำหรับจำลองน้ำหนักประมาณ 165 กิโลกรัมขึ้นไปด้วยเพื่อจำลองมวลของ RazakSAT ที่เป็นดาวเทียมที่ต้องปล่อยจริง ๆ

แต่ Elon Musk จะไม่เสี่ยงส่ง Payload ไปด้วยอีก เลยส่งไปแค่จรวดกับ Dummy mass เรียกว่า RatSat แทน RazakSAT ของจริง กำหนดการปล่อยคือวันที่ 28 กันยายน 2008 ที่เกาะ Omelek วันตัดสินชะตาของ SpaceX

ถ้าล้มเหลว SpaceX คงล้มละลายและ Elon Musk คงได้พับความฝันการพามนุษย์ไปดาวอังคารไว้ในลิ้นชักเงียบ ๆ

Elon Musk นั่งดูการปล่อยจรวด Falcon 1 เที่ยวบินที่ 4 จากสำนักงานใหญ่ของ SpaceX – ที่มา SpaceX

ในการปล่อยครั้งนี้ ทุกอย่างยังคงเป็นเหมือนเดิมเหมือนกับไฟลท์ที่สาม แต่แก้โปรแกรมใน Flight computer ให้ Delay การแยก Stage หลัง MECO นานขึ้น การปล่อยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2008 เวลา 23:15 UTC การ Burn ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ RatSAT ถึง Low Earth Orbit โดยสมบูรณ์ ถือเป็นจรวดลำแรกที่ถูกพัฒนาและสร้างโดยบริษัทเอกชนและไปถึง LEO นำไปสู่ Falcon 5th Flight ที่ส่ง RazakSAT ดาวเทียมของมาเลเซียไปที่ LEO ได้สำเร็จ

เป็นอันสิ้นสุดของมหากาพย์ความล้มเหลวของจรวด Falcon 1 และในปัจจุบัน SpaceX เป็นหนึ่งในบริษัทด้านอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จที่สุด ซึ่งทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่มี Falcon 1 แม้มันจะล้มเหลวไปถึง 3 ครั้ง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

Spaceref | SpaceX Determines Cause of Falcon 1 Launch Failure

BBC News | SpaceX rocket fails first flight

SpaceX | SpaceX successfully launches Falcon 1 to orbit

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.