Falcon Heavy ได้สัญญาปล่อยดาวเทียมลับให้กองทัพอากาศสหรัฐแล้ว

หลังจากทำการประเดิมเที่ยวบินแรกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ล่าสุดจรวด Falcon Heavy ของ SpaceX ได้รับสัญญามูลค่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อปล่อยดาวเทียมลับให้กับกองทัพอากาศ (ไม่ใช่กองทัพอวกาศ) ในภารกิจชื่อ AFSPC-52 ที่มีกำหนดปล่อยในปี 2020

นี่ถือเป็นสัญญาปล่อยดาวเทียมลับแรกของ Falcon Heavy แซงหน้าจรวดคู่แข่งและเจ้าประจำอย่าง Delta IV ของ ULA ที่ตั้งป้ายราคาไว้สูงถึง 350 ล้านเหรียญ และในส่วนของ Falcon 9 นั้นก็เป็นที่ไว้วางใจในกองทัพและได้โอกาสปล่อยดาวเทียมไปถึง 5 ครั้งนับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาต

Falcon Heavy Demo Mission

จรวด Falcon Heavy ก่อนปล่อยเที่ยวบินแรก – ที่มา SpaceX

การตัดสินใจของกองทัพอากาศในครั้งนี้เป็นการแสดงความมั่นใจในตัวจรวด Falcon Heavy ที่รวมร่างมาจาก Falcon 9 สามตัวรวมกัน ซึ่งตัว Falcon Heavy นั้นใช้เวลานานถึง 7 ปีในการพัฒนาจนกระทั่งได้ขึ้นบินไปเมื่อไม่ถึงครึ่งปีที่ผ่านไปนี้เอง

อ่านการปล่อยจรวด Falcon Heavy เที่ยวบินแรกได้ที่นี่

ในตอนแรกนั้นมีคำถามมากมายที่ว่า “ใครจะเป็นลูกค้าที่มาซื้อจรวด Falcon Heavy” เพราะในตอนนี้ Falcon 9 ก็ถูกพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพจนหลายเจ้าที่ตอนแรกจะใช้ Falcon Heavy ก็ได้เปลี่ยนไปใช้ Falcon 9 กันโดยส่วนใหญ่แล้ว แถมในตอนนี้ SpaceX ยังพัฒนาจรวดด BFR พี่ใหญ่แห่งวงการอยู่อีกเช่นกัน แถมกำหนดเปิดตัวก็ใกล้เข้ามาแล้ว

Image result for bfr spacex

BFR จรวดรุ่นใหม่ของ SpaceX ที่อยู่ในระหว่างพัฒนา – ที่มา SpaceX

แต่อย่างน้อยในตอนนี้เราก็รู้ว่ากองทัพยังจำเป็นจะต้องใช้จรวดขนาดใหญ่เพื่อส่งดาวเทียมที่มีความซับซ้อนและปลอดภัยสูงอยู่เช่นเคย โดยข้อมูลในภารกิจ AFSPC-52 นี่ยังไม่ชัดเจนนัก แต่คาดว่าจะมีน้ำหนักมากกว่า 9 ตัน ซึ่งนั่นคือความสามารถของ Falcon 9 ที่จะส่งขึ้นไปสู่วงโคจร Geostationary Orbit ได้

นอกจากภารกิจนี้แล้ว SpaceX ยังมีอีก 4 ภารกิจที่จะถูกปล่อยบนจรวด Falcon Heavy ไล่ตั้งแต่ภารกิจปล่อยดาวเทียมให้กับกองทัพอากาศอีกภารกิจปลายปีนี้ และให้กับบริษัท Arabsat ViaSat และ Inmarsat ต่อไป รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่นาซ่าอาจเบนเข็มจาก SLS ที่ล่าช้ามาใช้งาน Falcon Heavy อีกด้วย ซึ่งกรณีหลังนี้อาจเกิดขึ้นได้ยากหน่อย

อย่างไรก็ดีการได้สัญญาในครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีของ Elon Musk และบริษัทของพวกเขา ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็น Falcon Heavy บินขึ้นบ่อยพอ ๆ กับ Falcon 9 ในปัจจุบันก็เป็นได้

อ้างอิง :

Department of Defense

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138