3 มีนาคม 2023 ยานอวกาศ Dragon ของ SpaceX ในภารกิจ Commercial Crew ลำดับที่ 6 กำลังค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้าไปเทียบกับสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งโดยปกติแล้วจะถูกเฝ้ามองผ่านห้องควบคุมของ SpaceX ที่ Hawthorne ในแคลิฟอร์เนีย, ศูนย์ควบคุม ISS ที่ Johnson Space Center ในเท็กซัส และศูนย์ควบคุม ISS ที่ Moscow สหพันธรัฐรัสเซีย แต่ในครั้งนี้ มีศูนย์ควบคุมอีกแห่ง กำลังเฝ้ามองภารกิจเช่นกัน นั่นก็คือห้อง Mission Control ที่ Mohammed Bin Rashid Space Centre นครรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในภารกิจ Crew-6 นั้น ได้มีนักบินอวกาศชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางไปด้วย ก็คือ Sultan Al Neyadi ซึ่งเป็นนักบินอวกาศคนที่สองแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ที่สำคัญก็คือ Al Neyadi จะเป็นนักบินอวกาศคนแรกของประเทศที่เดินทางขึ้นไปประจำบนสถานีอวกาศนานาชาติในลักษณะของ Expedition เต็ม กินระยะเวลา 6 เดือนบนสถานี ตั้งแต่ Expedition ที่ 68, 69, และ 70
ภาพในศูนย์ควบคุมที่ Mohammed Bin Rashid Space Center นั้น ปรากฎเจ้าชาย Hamdan bin Mohammed Al Maktoum มงกุฎราชกุมาร แห่งนครรัฐบูไบ เฝ้ามองอยู่พร้อมกับการสวดภาวนาให้ภารกิจเป็นไปอย่างสำเร็จลุล่วง ทั้งในระหว่างปล่อยยาน และในช่วงการเทียบเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ
มงกุฎราชกุมการ Al Maktoum นั้น เป็นพระราชโอรสของ ชีค Mohammed bin Rashid Al Maktoum เจ้าครองนครรัฐดูไบ และรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งก็แน่นอนว่า ชื่อของ MBRSC นั้นตั้งตามชื่อของชีคเจ้าครองนครรัฐแห่งนี้นั่นเอง
เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี 2021 ที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศ HOPE เดินทางเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารสำเร็จ ท่ามการกลางเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งแผนดังกล่าวนั้นอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศให้กลายเป็นดินแดนแห่งเทคโนโลยี นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์ ฉีกภาพเดิมที่เป็นเศรษฐีน้ำมันที่ใช้การท่องเที่ยว ตึกสูง และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่นำเข้ามาจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว
ซึ่งเราเคยได้กล่าวถึงแรงขับนี้ ในบทความเรื่อง การท่องอวกาศของ UAE เปลี่ยนโลกอาหรับอย่างไร (2021) ว่าเป้าหมายของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็คือการได้ไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารอย่างเต็มรูปแบบในปี 2117 หรือประมาณในอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้าเท่านั้น
อย่างที่บอกไปว่า Al Neyadi ไม่ใช่นักบินอวกาศคนแรกของชาติ แต่เป็น Hazaa Al Mansoori ที่เดินทางไปกับยาน Soyuz ในภารกิจ MS-15 ในปี 2019 อย่างไรก็ตามในตอนนั้น Al Mansoori เดินทางขึ้นไปปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 7 วันเท่านั้น และไม่นับเป็น Expedition ใดของสถานีอวกาศนานาชาติ แต่เป็นความร่วมมือระหว่าง Roscosmos และ MBRSC ในการฝึกนักบินอวกาศเพื่อเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ
แต่ภารกิจของ Al Neyadi นั้น MBRSC ระบุว่า “เป็นการปฏิบัติภารกิจในอวกาศที่ยาวนานที่สุดโดยชาวอาหรับ” ซึ่งนี่ก็เป็นหมุดหมายที่สำคัญในการที่จะทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กลายเป็นผู้นำของภูมิภาค
ซึ่ง Al Neyadii นั้น เป็น 1 ในสองนักบินอวกาศที่ได้รับการคัดเลือกจาก 4,022 (แน่นอนว่าอีกคนคือ Al Mansoori) ในการคัดเลือกนักบินอวกาศกลุ่มแรก ในปี 2018 ก่อนที่ MBRSC จะดีลกับ Roscosmos ในการส่ง Al Mansoori ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติในปี 2019 สำเร็จ (ไม่ปรากฎตัวเลขว่า MBRSC จ่ายเงินให้กับ Roscosmos ไปเท่าไหร่)
ในขณะที่ในปี 2022 MBRSC ได้ เซ็นสัญญากับ Axiom Space ในการนำนักบินอวกาศเอมิเรตส์ขึ้นสู่อวกาศพร้อมกับยาน Dragon ในภารกิจ Crew-6 (ไม่ปรากฎจำนวนเงินเช่นกัน) ซึ่ง Axiom ก็จะต้องไปดีล NASA และ SpaceX อีกที (รายละเอียดจากข่าว Axiom Space and the Mohammed bin Rashid Space Center Sign Agreement for UAE Astronaut to Fly on the ISS in 2023)
และในที่สุด Al Neyadi ก็ได้ขึ้นบินกับ SpaceX ในภารกิจ Crew-6 โดยที่นับเป็นลูกเรือของสถานีจริง ๆ ซึ่งนอกจาก Al Neyadi แล้ว MBRSC ยังได้ประกาศชื่อนักบินอวกาศหญิงคนแรกของประเทศคือ Nora Al Matrooshi ด้วย โดย Al Matrooshi จะร่วมการฝึกกับ NASA Astronaut Group 23 และ Mohammad Al Mulla ซึ่งเป็นนักบินอวกาศเอมิเรตส์อีกคนที่ได้รับการคัดเลือกในปี 2021 โดย NASA Group 23 นี้นั้น ในอนาคตจะเป็นลูกเรือโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ รวมถึง Lunar Gateway เรียกได้ว่าเป็นนักบินอวกาศรุ่นใหม่จริง ๆ
Mohammed bin Rashid Space Centre นั้น ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ Hamdan bin Mohammed Al Maktoum ซึ่ง ต้องบกว่า เป็นผู้นำที่น่าจับตามองมาก ซึ่งมงกุฎราชกุมารแห่งดูไบนี้มีวิศัยทัศน์ในการพัฒนาดูไบให้กลายเป็นนครแห่ง สังคมและวิทยาศาสตร์ ถ้าพูดตรง ๆ ก็คือ ทำ Branding ได้ดีมาก ๆ
ดังนั้นจากเรื่องนี้เราจะเห็นว่า นอกจากการทำยานอวกาศไปดาวอังคารแล้ว MBRSC ยังได้ไปดีลเอานักบินอวกาศขึ้นบินกับชาติพันธมิตรต่าง ๆ ซึ่งในมุมการทำสื่อแล้ว นับว่าได้ประโยชน์เต็ม ๆ เพราะเป็นการสร้างภาพจำว่าประเทศพัฒนาด้านอวกาศไปมาก หลายคนอาจจะบอกว่า เห้ย นี่มันใช้เงินแก้ปัญหาหรือเปล่า เราก็อยากบอกว่า ถ้ามีเงินแล้วมันแก้ปัญหาได้ก็ใช้เงินเถอะ แต่การจะใช้เงินแก้ปัญหานั้นต้องฉลาดด้วย ซึ่งถ้าเอาพลังของความรวยและฉลาดมารวมกัน ก็จะช่วยให้ประเทศและวิทยาศาสตร์พัฒนาได้
ถ้าเราไปดูในประวัติศาสตร์ของ MBRSC เราจะเห็นว่า MBRSC เริ่มจากการทีชีค Al Maktoum ก่อตั้ง Institution for Advanced Science and Technology มหาวิทยาลัยที่สอนวิศวกรรมในช่วงปี 2006 เพื่อพัฒนาคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อนที่จะทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ มีการไปร่วมมือการสร้างและผลิตดาวเทียม จนสามารถร่วมผลิต DubaiSat-1 ดาวเทียมของตัวเองได้ในปี 2009 โดยร่วมมือกับบริษัทเกาหลีใต้ ตามมาด้วย DubaiSat-2 (2013) ก่อนที่จะเปลี่ยน IAST เป็น MBRSC และนำเอา Heritage มาสร้าง KhalifaSat (2018) ซึ่งสามารถประกอบเองในประเทศได้แล้ว ซึ่งก็แน่นอนว่า มันนำมาสู่การที่สร้างยาน Hope ได้เองในที่สุด และไปจ้างญี่ปุ่นปล่อย ดังนั้น ถ้าเทียบจริง ๆ MBRSC ใช้เวลาเพียงแค่ 10 ปี จากดาวเทียมดวงแรก ไปจนถึงการไปดาวอังคารได้สำเร็จ ก็น่าจะเป็นตัวชี้่วัดว่า ใช่ มีเงินอะไรมันก็ง่าย แต่ถ้ามีเงินแต่ไม่มีสมองก็คงมาไม่ถึงจุดนี้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co