6 ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เกิดขึ้นยากที่จะเกิดในช่วงชีวิตของเรา

บางครั้งชีวิตเราก็ต้องทนรอคอยเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่มีค่ากับเรา ไม่ว่าจะเป็นการรอรถโดยสาร รอคิวร้านอาหาร หรือรอคอยใครสักคนที่จะเข้ามาในชีวิต ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์นั้นก็ไม่ต่างกัน เพราะไม่ใช่ว่าเราจะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงกันทุกวัน หรือดาวหางฮัลเล่ย์เฉียดมาใกล้ดวงอาทิตย์ได้ทุกปี

บางครั้งการรอคอยก็ทำให้เรารู้สึกคุ้มค่าและตื่นตาเมื่อปรากฏการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมันก็จะเป็นเพียงหนเดียวในช่วงชีวิตที่เราจะได้สัมผัสมันด้วยตนเองเลยทีเดียว มาดูบางส่วนของปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา

Digital model of a spacecraft with a bus attached to a larger sun-shield. Two small solar panels are attached to the side of the bus, along with four rear-facing antennas.

24 ธันวาคม 2024 ยาน Parker Solar Probe เฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์

Parker Solar Probe เป็นยานอวกาศลำที่จะถูกส่งไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยในตอนนี้มันกำลังค่อย ๆ ลดระยะห่างจากดวงอาทิตย์ลงไปทีละนิด โดยใช้แรงโน้มถ่วงของดาวศุกร์เหวี่ยงให้ยานเข้าไปใกล้มากยิ่งขึ้น

ก่อนที่ในปลายปี 2024 ยานจะทำความเร็วได้มากถึง 192 กิโลเมตร/วินาที และมีระยะห่างจากใจกลางดวงอาทิตย์เพียง 6.9 ล้านกิโลเมตรเท่านั้น ทำสถิติเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และเร็วที่สุดไปพร้อม ๆ กัน


Image result for moon occultation planet

13 กุมภาพันธ์ 2056 ดวงจันทร์บดบังดาวพุธและดาวอังคารพร้อม ๆ กัน

เหตุการณ์นี้อาจฟังดูไม่มีอะไร แต่แท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นยากยิ่งกว่าวง Bodyslam จัดคอนเสิร์ตพร้อม ๆ กับเกิดสุริยุปราคาเสียอีก (แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้จัดนะครับ 555)

นั่นก็เพราะถึงแม้ดวงจันทร์จะเคลื่อนผ่านบดบังดวงดาวอยู่บ่อยครั้ง แต่กับดาวเคราะห์สองดวงพร้อม ๆ กันในทีเดียวนี่เกิดขึ้นยากมาก ๆ ในระดับที่ทุก ๆ 1000 ปีจะเกิดขึ้นเพียงแค่ 1-2 ครั้งเพียงเท่านั้น

A color image of comet Halley, shown flying to the left aligned flat against the sky

28 กรกฏาคม 2061 ดาวหางฮัลเล่ย์เฉียดใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้ง

ดาวหางฮัลเล่ย์ เป็นดาวหางที่มีคาบโคจรสั้น เพียง 75-76 ปีต่อหนึ่งรอบการโคจรเท่านั้น (มีหลายดวงที่คาบโคจรนานหลักพันปี) ฮัลเล่ย์เป็นดาวหางคาบโคจรหนึ่งเดียวที่มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ และมีโอกาสที่ช่วงชีวิตของคนหนึ่งคนจะทันสังเกตมันสองหน

ส่วนตัวผู้เขียนนั้นเกิดมาไม่ทันที่จะสังเกตเห็นครั้งแรก และก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะอยู่ทันเห็นมันกลับมาอีกครั้งไหม (ถ้าทันก็เข้าสู่ยุคสูงวัยแล้วแหละ 555)


2017 Total Solar Eclipse

11 เมษายน 2070 สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งถัดไป ที่สังเกตได้จากประเทศไทย

**Edited on 14 October 2019, 17:05 – แก้ไขปีค.ศ.จาก 1993 เป็นปี 1995**

สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุดในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 25 ตุลาคม 1995 และหลังจากนั้นในไทยก็สามารถสังเกตเห็นได้เพียงแค่สุริยุปราคาวงแหวนกับบางส่วนเท่านั้น ก่อนที่ในปี 2070 นี้ เราจะตกอยู่ในเงามืดของดวงจันทร์แบบเต็ม ๆ อีกหน ที่จะเปลี่ยนเวลากลางวันให้มืดเหมือนดั่งกลางคืนขึ้นมาได้


Photograph of the black emptiness of space, with planet Earth partly in shadow in the background. In the foreground is an open-top red convertible sports car, viewed from the front over the hood, with a mannequin in the driving seat that is wearing a white-and-black spacesuit

2091 รถยนต์ Tesla Roadster กลับมาเฉียดใกล้โลกอีกครั้ง

หากพลาดครั้งนี้ไป ต้องรอถึงปี 2114 ก่อนที่สุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในไทยอีกครั้ง

เดือนกุมภาพันธ์ 2018 SpaceX ได้ปล่อยจรวด Falcon Heavy ออกเดินทางขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก พร้อมกับนำหุ่น Starman นั่งไปกับรถยนต์ Tesla Roadster ลำเก่าของ Elon Musk ออกเดินทางสู่อวกาศด้วย โดยในตอนนี้ยานก็กำลังเดินทางอยู่ในอวกาศลึกอยู่

แต่ครั้งถัดไปที่ยานจะเข้ามาเฉียดใกล้โลกจริง ๆ นั้นจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2091 ซึ่งอาจใกล้มากพอที่นักดาราศาสตร์จะส่องกล้องไปสำรวจดูสภาพของรถ หลังจากผ่านสภาพอันโหดร้ายของอวกาศลึกมานานกว่า 70 ปีได้อีกด้วย


10-11 ธันวาคม 2117 ดาวศุกร์เคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์

ดาวศุกร์เคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์เมื่อสังเกตนั้นเกิดขึ้นเป็นคู่ ๆ ห่างกันครั้งละ 8 ปี และระหว่างแต่ละคู่จะต้องรอนานกว่า 105-121 ปีก่อนจะเกิดขึ้นอีกหน โดยครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นนั้นคือเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมานี้เอง

ย้อนในปี 1639 ระหว่างที่ดาวศุกร์เคลื่อนผ่านดวงอาทิตย์นั้น นักดาราศาสตร์สมัยนั้นสามารถคำนวณระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ด้วยเทคนิค Parallax ได้อย่างแม่นยำมากกว่าทุกค่าที่มีในตอนนั้น ส่วนในปี 2012 นักดาราศาสตร์ก็ใช้ช่วงเวลานี้นำหลักการสำรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมาทดสอบอีกด้วย

น่าเสียดายที่เหตุการณ์ถัดจากนี้ไป จะเกิดขึ้นช้ากว่าที่ผู้อ่านทุกคน (ที่อ่านบทความนี้ในปี 2019) จะอยู่ทันสังเกตเห็น ดังนั้นทั้งหมดต่อจากนี้คือสิ่งที่เราจะพลาดไป แต่รุ่นลูก ๆ และหลาน ๆ ของเราจะได้เป็นผู้อยู่สังเกตเห็นปรากฏการณ์ดังนี้


Pluto in True Color - High-Res.jpg

18 กุมภาพันธ์ 2177 ดาวพลูโตโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ นับตั้งแต่ที่ถูกค้นพบ

ดาวพลูโตนั้นถูกค้นพบในปี 1930 ซึ่งด้วยความที่มันอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ ทำให้พลูโตใช้เวลานานกว่า 248 ปีเพื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบ และในช่วงเวลานี้มันเคยได้ถูกให้นิยามเป็นดาวเคราะห์มาแล้ว ก่อนจะโดนลดขั้นลงไปเป็นเพียงดาวเคราะห์แคระเท่านั้น และก็ไม่รู้ว่าอีกร้อยกว่าปีต่อจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกไหม

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ดาวพลูโตจะยังคงเป็นดาวเคราะห์แคระที่เรารักกันมากที่สุด (หรือจะได้กลับมาเป็นดาวเคราะห์ด้วยก็เป็นได้)


Image result for total solar eclipse nasa

16 กรกฏาคม 2186 สุริยุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดในรอบ 10,000 ปี

สุริยุปราคาหนนี้จะมีเวลารวมทั้งสิ้น 7 นาที 29 วินาที ยาวนานที่สุดในรอบ 10,000 ปี เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มาลงตัวกันพอดี ตั้งแต่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เกือบมากที่สุด ดวงจันทร์โคจรมาใกล้โลกมากที่สุด ทำให้เงาของดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ได้มิดและยาวนานขนาดนี้


เหตุการณ์ดาราศาสตร์บางครั้งมันก็เกิดขึ้นมาเพียงแค่หนเดียวในช่วงชีวิตของเรา ดังนั้นผู้เขียนเลยอยากแนะนำให้ปักหมุดวันเวลาดังกล่าวไว้ และออกไปสัมผัสช่วงเวลาที่อาจเป็นเพียงหนึ่งครั้งเอาไว้ พร้อมกับอีกหลาย ๆ เหตุการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้าอีกด้วย

“ทุกครั้งที่รู้ว่าดาวตกทั้งโลกจะมองขึ้นฟ้า

รอคอยอยากเห็นชั่วพริบตาที่ดาวลงมาบนนั้น

กี่สิบร้อยพันปีจะมีสักหนึ่งครั้ง

มีแค่เสี้ยวนาทีที่เราจะเห็นมัน”

พริบตา – Stamp x เบิร์ด ธงไชย

เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138