ญี่ปุ่นเตรียมหั่นราคาปล่อยจรวด H3 เหลือครึ่งเดียวเริ่มต้น 1,200 ล้านบาท

ญี่ปุ่นเตรียมดันศักยภาพจรวด H3 หั่นราคาเหลือครึ่งเดียว ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของอุตสาหกรรมอวกาศญี่ปุ่น หากให้พูดถึงจรวดญี่ปุ่น ชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงคงหนี่ไม่พ้นจรวดตระกูล H ไม่ว่าจะเป็นจรวด H-IIA หรือแม้แต่จรวดรุ่นใหม่อย่าง H3 โดยในตอนนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างจรวดทั้งสองรุ่น เนื่องจากว่าจรวด H-IIA เตรียมปลดประจำการในช่วงปลายปี 2024 ทำให้จรวด H3 จะกลายมาเป็นจรวดหลักของญี่ปุ่นนับจากนี้

อ่าน – รู้จักกับจรวด H3 จรวดรุ่นถัดไปของประเทศญี่ปุ่น

จรวด H3 ในตอนนี้ถืออยู่ในขั้นต้นของการใช้งาน เหมือนกับจรวดที่หลายคนรู้จักอย่าง Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ที่ในช่วงแรก ๆ ของการใช้งานเมื่อเทียบกับในตอนนี้มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ JAXA และ Mitsubishi Heavy Industries เลือกจะเดินตามรอยเดียวกันคือการปรับปรุงศักยภาพของจรวดให้ดียิ่งขั้น

จรวด H3 ในเที่ยวบิน Return to Flight ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่มา – JAXA

สำหรับในตอนนี้ ตลอดสามภารกิจของการปล่อยจรวด H3 ที่ผ่านมาจะมีสิ่งที่เป็นจุดร่วมระหว่างทุกภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นตัวบูสเตอร์ท่อนแรกที่ใช้เครื่องยนต์หลักสองเครื่อง และการใช้ท่อนจรวดเชื้อเพลิงแข็งเสริมแรงขับ แต่ในอนาคตอันใกล้ ทาง JAXA ได้ออกมารายงานว่าจะมีจรวด H3 รุ่นใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพและมีราคาถูกกว่าเดิม

รางานดังกล่าวเกิดขึ้นผ่าน Nikkei ในบทความ Cost halved through improvements to the H3 rocket: JAXA simplifies propulsion system

จรวด H3 รุ่นใหม่ที่ว่าได้มีการยืนยันออกมาว่าจะมีการปรับปรุงในส่วนของเครื่องยนต์จรวดท่อนแรกอย่างเครื่องยนต์ LE-9 ตามมาด้วยการปรับปรุงให้ตัวจรวดสามารถติดตั้งเครื่องยนต์เชื้อเพลิงเหลวได้ถึงสามเครื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นไม่เคยทำมาก่อนและนับได้ว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและท้ายทายในเชิงวิศวกรรม

เครื่องยนต์ LE-9 หัวใจสำคัญของจรวด H3 ของญี่ปุ่นในระหว่างการพัฒนาในช่วงปี 2017 ที่มา – JAXA

การทำให้จรวดมีจำนวนเครื่องยนต์สามเครื่องจะทำให้ตัวจรวดไม่ต้องพึ่งพาท่อนจรวดเชื้อเพลิงแข็งที่ยากและอันตรายต่อการควบคุม ซึ่งแผนการปรับปรุงนี้จะทำให้ตัวจรวดสามารถหั่นราคาเหลือเพียง 5 พันล้านเยนหรือราว 1,200 ล้านบาท (เมื่อเทียบกับจรวด H-IIA ที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 10,000 ล้านเยน)

การเพิ่มประสิทธิภาพและการตัดราคาได้ขนาดนี้ จะเพิ่มความเป็นไปได้ในการรับส่งดาวเทียมและยานอวกาศจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งทาง JAXA ได้โอนย้ายสิทธ์ในการผลิตและให้บริการจรวดให้กับ Mitsubishi Heavy Industries เนื่องจากเหตุผลนี้

ส่วนในอนาคตอันอีกไกล ทาง JAXA ได้วางแผนไว้ว่าจะปรับปรุงจรวดรุ่นนี้ให้ดีขึ้นไปอีกด้วยการรองรับการปล่อยดาวเทียมแบบ Rideshare หรือการปล่อยดาวเทียมหลายดวงพร้อมกัน จะมีการปรับปรุงให้ตัวจรวดมีความซับซ้อนน้อยลง รวมทั้งการทำให้จรวดสามารถใช้งานซ้ำด้วยการนำท่อนจรวดกลับมาลงจอด ซึ่งทาง JAXA และบริษัทที่เกี่ยวข้องเตรียมทำการสาธิตเทคโนโลยีภายในปี 2025

จรวด Vulcan Centaur รุ่นใหม่ของ ULA ที่ทำตลาดอยู่ที่ 3,400 ล้านบาทต่อหนึ่งเที่ยว ที่มา – ULA

หากราคา 1,200 ล้านบาทสำหรับจรวด H3 สามารถเป็นไปได้จริง จรวดลำนี้จะถือว่ามีราคาในการปล่อยที่ถูกมากเมื่อเทียบกับจรวดระดับ Medium-lift launch vehicle ที่ทำตลาดเดียวกัน อย่างจรวด Ariane 6 รุ่นเชื้อเพลิงแข็งสองท่อนมีค่าใช้จ่ายที่ถูกประเมินไว้ราว 2,600 ล้านบาท ส่วนจรวด Vulcan Centaur อยู่ที่ราว 3,400 ล้านบาท (แต่อย่าลืมว่าจรวดทั้งสามรุ่นที่เอามาเทียบกันมีความสามารถในการส่งของสู่อวกาศได้มากน้อยไม่เท่ากัน แม้จะอยู่ในตลาดส่วนเดียวกัน)

อ่าน – รู้จักกับจรวด Vulcan Centaur ผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของจรวดตระกูล Atlas

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

19 y/o Just mechanical engineering student, hobbyist illustrator || เด็กวิศวะหัดเขียนเรื่องราวในโลกของวิศวกรรมการบินอวกาศ