เราคนนึงจะอายุได้เท่าไหร่ 70 ปี 80 ปี หรือ 100 ปี ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่เราไม่มีทางอยู่ยืนยาวไปตลอดกาลเพื่อศึกษาอายุที่แท้จริงของจักรวาล หนึ่งหมื่นสามพันแปดร้อยล้านปี ที่กำลังขยายตัวด้วยความเร่ง และเราถูกจำกัดให้เฝ้าสังเกตเอกภพด้วยขีดจำกัดของแค่ Observable Universe เอกภพที่สังเกตได้เท่านั้น
การศึกษาจักรวาล คือความน่าทึ่งอย่างหนึ่งเหนือศาสตร์ทั้งปวง เรากำลังตั้งคำถามล่วงหน้าไปหลายพันหลายแสนล้านปี และต้องคำถามย้อนหลังไปหลายพันหลายแสนล้านปีเช่นกัน .. ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ที่อายุเพียงแค่ 80-100 ปี เวลาอันเป็นเพียงเศษเสี้ยวของจักรวาล หรือแม้กระทั่งวันแรกที่มนุษย์มองขึ้นบนท้องฟ้าจนถึงวันนี้เราศึกษาจักรวาลไปเยอะมาก เราส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ เราส่งยานไปสำรวจดาวอังคาร และออกนอกระบบสุริยะ แต่ก็ยังเทียบไม่ได้ถึงความกว้างใหญ่ของจักรวาล Carl Sagan คงพูดไม่ผิดนักที่บอกว่า “Somewhere, something incredible is waiting to be known”
แต่มนุษย์ไม่ศึกษาจักรวาลคนเดียว มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่ง เราสามารถส่งต่อความรู้ต่อกันได้ และยิ่งความรู้นั้นกลายเป็นมุมมอง กลายเป็นปรัชญา กลายเป็นคำอธิบายที่ซื่อสัตย์ต่อธรรมชาติ สิ่งนั้นจะคงอยู่และควรค่าแก่การพิทักษ์ไว้ไม่ให้หายไป
ย้อนกลับไปในอดีตสองพันกว่าปีที่แล้ว จินตนาการภาพนักปราชญ์คนหนึ่งใช้ไม้ขีดเขียนบนพื้นทราย เขาวาดรูปสามเหลี่ยมที่มีมุมหนึ่งทำมุมฉากพอดี แล้วอธิบายว่าอีกสองด้านจะเป็นค่ากำลังสองของด้านตรงข้ามมุมฉาก … นักปราชญ์คนนั้นจะรู้ไหมว่าอีกสองพันกว่าปีหลังจากนั้นจะมีเด็กอีกหลายล้านคนวาดรูปสิ่งเดียวกันแล้วทำความเข้าใจมันในวิชาที่เรียกว่า “ทฤษฎีบทพีทาโกรัส” ชื่อของชายที่ตายไปแล้วเมื่อสองพันปีปรากฎอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา แต่ไม่ใช่แค่นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของชายคนนี้เมื่อสองพันปีที่แล้วฝังลึกอยู่ในสมองของเราในยุคปัจจุบันเช่นกัน
ลองคิดเล่น ๆ ว่าในสังคมสังคมหนึ่ง เราอาจจะมีหญิงสาวหรือชายหนุ่มรูปงามที่สุด กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พ่อค้าที่มั่งคั่งที่สุด แต่สุดท้ายบุคคลที่เราจำได้คือนักปราชญ์ เพราะพวกเขาเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความคิดของเราจนถึงปัจจุบันผ่านการ “พิทักษ์” ไว้โดยบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น
หากใช้ตรรกะเดียวกัน ผู้เขียนก็ชื่อว่าในอนาคนอีกนับพันปีข้างหน้า เราอาจจะจำชื่อของ Warren Buffett ไม่ได้ Madonna หรือ Freddie Mercury ไม่ได้ แต่คนอาจจะจำชื่อของ Albert Einstein, Richard Feynman หรือ Wolfgang Pauli ได้ในฐานะของ “ยักษ์ใหญ่” ที่ Issac Newton ครั้งหนึ่งก็เคยอธิบายไว้ว่าที่เขาเห็นได้ไกลเพราะเขายืนบนบ่าของยักษ์ต่างหาก จนวันนี้ Newton ได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่สำหรับพวกเราให้ยืนอยู่บนบ่าของเขาแล้ว
คนเหล่านี้ตายไปเป็นร้อย ๆ ปีก่อน แต่สิ่งที่พวกเขาเหล่านี้ทิ้งไว้ให้ ไม่ใช่แค่ชื่อ แต่เป็นความคิด วิธีการคิด ทุกวันนี้เราเรียนกันให้คิดแบบ Newton หรือคิดแบบ Feynman เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ทำให้บุคคลเหล่านี้ “อยู่ในตัวเรา” ในสมองของเรา มี Newton หรือ Feynman อยู่ เราแชร์วิธีการคิดแบบเดียวกับ Newton
ปรากฎการณ์เหล่านี้เกิดจากความสามารถอันน่าทึ่งของมนุษย์ที่เรียกว่า Cognitive แถมเรายังสามารถ “แชร์” เรื่องราวเหล่านี่ได้ ใครที่เคยอ่านหนังสือเรื่อง Sapiens ของ Yuval Noah Harari น่าจะคุ้นเคยเรื่องราวเหล่านี้เป็นอย่างดี เราสามารถมีความรู้ “ก้อนหนึ่ง” ที่แชร์ร่วมกันได้
ดังนั้นสำหรับวิทยาศาสตร์ นอกจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้วการสื่อสาร และการบันทึก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะกระบวนการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดีจะช่วยฝังแน่นความรู้และความเข้าใจเหล่านั้นให้ลงลึกไปใน Cognitive ของเรา
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ 70 ปี 80 ปี หรือ 100 ปี ถ้าคุณต้องการมีชีวิตอยู่ตลอดกาล อย่างน้อยก็คือตราบเท่าที่มนุษย์ยังไม่เลิกที่จะ “บอกเล่า” หรือ “สื่อสาร” สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือถ่ายทอดความคิดของตัวเอง ทิ้งไว้ในตัวของมนุษย์คนอื่น ไม่ใช่แค่ให้เขาจดจำภาพ รับรู้กลิ่น หรือสัมผัสกายหยาบ แต่ให้ความคิดของเราเข้าไปอยู่ในตัวเขา ธรรมชาติอาจจะให้ชีวิตแก่เรา แต่เป็นหน้าที่ของเราเองที่จะต้องส่งต่อความคิดของเราไปให้ได้มากที่สุด และลงรากลึกที่สุดในตัวของมนุษย์คนอื่น
ให้เธอสัมผัสความคิดที่ฉันทิ้งไว้ อาจไม่เห็นได้ด้วยตา ฉันจะฝากเอาไว้ อยู่ในพื้นดินและท้องฟ้า
ความคิด – STAMP
การศึกษาจักรวาลเป็นศาสตร์ที่แปลกอย่างหนึ่ง เป็นการท้าทายตัวเราเองให้ตั้งคำถาม ทำลายข้อจำกัดของเวลาในการศึกษาและส่งต่อความรู้กันเป็นทอด ๆ ผ่านการฝังแน่นกระบวนการคิดและความรู้ลงบนมนุษย์คนอื่นนับร้อย นับพัน นับล้าน โดยใช้เวลาหลายพันหลายหมื่นปี แต่สุดท้ายธรรมชาติก็จะตอบเราย้อนกลับอยู่ดีว่า เราไม่สามารถจะใช้เวลาอันน้อยนิดในการตอบคำถามทั้งหมดนี่ได้ และกลับทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนแต่ไม่ทิ้งความกระหายที่จะเรียนรู้อย่างน่าประหลาด
มนุษย์อาจจะไม่มีวันได้ Theory of Everything, Unified Theory หรือทฤษฎีแห่งสรรพสิ่งที่อธิบายทุกอย่างในจักรวาล แต่เราสามารถเข้าใกล้สิ่งนั้นได้เรื่อย ๆ ผ่านการส่งต่อความรู้
มนุษย์คนหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว ต่อให้ตายไป แต่สุดท้ายเราจะมีชีวิตอยู่ในสมองของคนที่เราเคยพูดคุย เคยแชร์เรื่องราว เคยแชร์วิธีคิดและความรู้ และถ้ามีการส่งต่อสิ่งเหล่านั้น เราจะอยู่ในความคิดของพวกเขาต่อไปเรื่อย ๆ
ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าเมื่อเราเกิดมาแล้ว ต่อให้เราตายตัวเราก็จะไม่หายไปไหน ตัวเราจะอยู่ในหนังสือที่เราเขียน คำพูดที่เราพูด ควาทรงจำของคนที่เราเคยพบเจอ ความคิดของคนที่เราเคยแชร์วิธีการคิดที่อาจจะมีเพียงแค่เราเท่านั้นที่ทำได้ แต่หลังจากที่ความคิดนั้นถูกแชร์ออกไป จะไม่มีเพียงแค่เราที่คิดแบบนั้นได้อีกต่อไปแล้ว
ถ้าจะทำลายเราจริง ๆ สิ่งที่ต้องทำ ก็คือต้องทำลายจักรวาล เพราะนับตั้งแต่วันแรกที่เราเกิดขึ้นมา เราได้ประทับรอยเท้าเอาไว้ในจักรวาลนี้แล้ว แม้จะเป็นรอยเท้าเล็ก ๆ แต่มันคือรอยเท้าที่เป็นตัวแทนของการเดินทางที่เราก็ยังไม่รู้เช่นกันว่าเรากำลังไปไหน .. แต่สุดท้าย เรารู้ว่าเรากำลังเดินทาง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co