ไอศกรีมนับเป็นขนมหวานชนิดนึงที่เป็นที่นิยมกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งอดีตด้วยความเนียนนุ่มเย็นฉ่ำของมัน แต่ถ้าหากเราเคยเดินเข้าไปตาม Gift shop ของพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการทางด้านวิทยาศาสตร์ เราก็อาจจะเคยเห็นขนมซองเล็ก ๆ ในถุงทึบสีเงิน พิมพ์หน้าซองไว้ว่าเป็น Astronaut’s ice cream หรือ “ไอศกรีมของนักบินอวกาศ” ที่มีลักษณะแตกต่างกับไอศกรีมทั่วไปโดยสิ้นเชิง: เป็นก้อนสี่เหลี่ยมแข็ง ๆ ละลายเมื่อรับประทานเข้าไป เนื้อไม่เย็นและไม่ต้องแช่ตู้เย็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไอศกรีมของนักบินอวกาศที่ว่านี้ (อาจ) ไม่เคยถูกรับประทานโดยนักบินอวกาศในภารกิจไหน ๆ เลยด้วยซ้ำ
ในความเป็นจริงแล้ว ไอศกรีมแบบเดียวที่นักบินอวกาศ (อาจ) เคยได้รับประทานตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาก็เหมือนไอศกรีมแบบปกติที่รับประทานกันบนพื้นโลกของเรานี่เอง แต่เพื่อให้สมฐานะกับความยิ่งใหญ่ของการสำรวจอวกาศของมวลมนุษยชาติ การจะนำไอศกรีมแสนอร่อยขึ้นไปให้นักบินอวกาศได้รับประทานกันบนอวกาศก็คงต้องไม่ใช่เรื่องธรรมดาเช่นกัน (ฮา)
Apollo 7 and Vanilla Ice Cream
ในช่วงของโครงการ Apollo ที่ระยะเวลาของภารกิจ ๆ หนึ่งกินเวลายาวนานกว่าสองอาทิตย์ NASA ได้ทำสัญญาบริษัทชื่อ Whirlpool ในการพัฒนาอาหารสำหรับนักบินอวกาศสำหรับให้มีน้ำหนักน้อยลงและเน่าเสียยากขึ้นกว่าวิธีแบบในโครงการ Mercury และ Gemini
บริษัท Whirlpool ได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Freeze-drying หรือการทำให้แห้งด้วยการลดอุณหภูมิน้ำที่อยู่ในอาหารกลายเป็นน้ำแข็งก่อนทำให้น้ำแข็งระเหิดออกไป และผลิตอาหารขึ้นมาหลากหลายชนิด รวมถึง Freeze-dry Ice cream หรือไอศกรีมนักบินอวกาศที่เรารู้จักกัน
แต่ไอศกรีมนั้นเคยถูกจัดเตรียมเป็นอาหารของนักบินอวกาศจริงหรือไม่?
ภารกิจเดียวที่มีบันทึกของไอศกรีมคือในภารกิจ Apollo 7, ภารกิจ Apollo ภารกิจแรกที่มีนักบินอวกาศในภารกิจภายหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมของภารกิจ AS-204 หรือ Apollo 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 1966 ที่นักบินทั้ง 3 เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้. Apollo 7 ถูกส่งขึ้นไปสู่ชั้นวงโคจรโลกในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1968 ก่อนที่มันจะโคจรรอบโลก 163 ครั้งเพื่อทำภารกิจทดสอบการทำงานของอุปกรณ์และพาหนะในด้านต่าง ๆ
ในหน้า 61 ของ Press Kit สำหรับภารกิจ Apollo 7 ได้มีการระบุ Meal B ของวันที่ 2, 6 และ 10 ในรายการอาหารแบบที่ 2 (จาก 3 แบบที่ทำไว้) ไว้ว่า Salmon Salad, Butterscotch Pudding, Vanilla Ice cream และ Grapefruit Drink จึงเป็นที่สันนิษฐานได้ว่าอาจเคยมีการนำไอศกรีม (Dry-freeze) ขึ้นไปรับประทานในช่วงของโครงการ Apollo แต่ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ารายการแบบที่ 2 นี้ได้ถูกเลือกไปใช้หรือไม่
ฉบับเต็ม Press Kit: https://www.nasa.gov/specials/apollo50th/pdf/A07_PressKit.pdf
จนในช่วงปีไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้สื่อออนไลน์ของประเทศสหรัฐอเมริกาชื่อ Vox ได้สัมภาษณ์ Walt Cunningham นักบินอวกาศท่านเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ของโครงการ Apollo 7 ถึงการมีอยู่ของไอศกรีมวานิลลาบนยาน แต่ Cunningham ก็ได้ตอบกลับมาว่า “We never had that stuff.” นอกจากนั้น Vox ยังได้สัมภาษณ์คอนเฟิร์มกับ Jennifer Levasseur ภัณฑารักษ์ของ National Air and Space museum ซึ่งเธอก็คอนเฟิร์มว่า Cunningham จำถูกแล้ว และยังได้เสริมอีกว่า “มันอาจเคยถูกสร้างขึ้น, ทดลองบนพื้นดินและถูกปฏิเสธไป, พวกเขา (NASA) มักจะสร้างอะไร ๆ ล้ำ ๆ อยู่เสมอแต่พวกเขาก็คิดได้ว่ามัน (Dry-freeze Ice cream) เป็นไอเดียที่แย่, อย่างเดียวกับเวลาคุณไปซื้อพวกมันจากร้านกิฟต์ช็อป”
นอกจากนี้ในปี 2013 Chris Hadfield, นักบินอวกาศชื่อดังท่านหนึ่งยังได้ตอบคำถามเรื่องของการรับประทาน Astronaut Ice Cream บนอวกาศว่า มันแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ง่ายเกินไป ทำให้มันอาจลอยไปติดอยู่ตามที่ต่าง ๆ อย่างในดวงตาของนักบินหรือแม้แต่เราอาจเผลอสูดเข้าไป (และอาจทำให้อุปกรณ์บนยานอวกาศชำรุดได้หากเข้าไปติดอยู่ในนั้น – ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ห้ามนำขนมกรุบกรอบขึ้นไปบน ISS ในปัจจุบัน)
Skylab’s Fridge and Atlantis’s GLACIER
ภารกิจสุดท้ายของจรวด Saturn V, จรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกมาจนถึงปัจจุบัน คือการส่ง Skylab, สถานีอวกาศสถานีแรกของสหรัฐอเมริกาขึ้นไปบนอวกาศในปี 1973 พัฒนาการของบริการนักบินอวกาศด้านอาหารในโครงการ Skylab สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการมีถาดอุ่นอาหารและตู้เย็นให้นักบินอวกาศได้เลือกสรรอาหารกันเอง ตู้เย็นของ Skylab ทำให้การขนส่งและจัดเก็บไอศกรีม “จริง ๆ ” เป็นไปได้โดยไม่ละลายซะก่อน ต่างจากโครงการ Apollo ที่ไม่มีตู้เย็น
หลายปีต่อมาหลังจากภารกิจของ Skylab จบลงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1974, ยุคของ Space Shuttle ก็เริ่มต้นขึ้นในปี 1981 กระสวยอวกาศได้ถูกใช้ในภารกิจต่าง ๆ มากมาย รวมถึงหน้าที่การเป็นไปรษณีย์รับส่งสิ่งของต่าง ๆ ไปมาระหว่างโลกกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ครั้งหนึ่งในปี 2006 กระสวยอวกาศ Atlantis ได้มีภารกิจต้องไปที่ ISS และต้องขนตัวอย่างเลือด, ปัสสาวะของนักบินอวกาศกลับมาตรวจบนโลกโดยเก็บไว้ในตู้แช่ชื่อ GLACIER ที่ติดตั้งอยู่บนกระสวยอวกาศ
แต่ในเมื่อเราต้องขนของกลับมาแค่ขากลับ เราจะปล่อยให้ตอนขาไปตู้ GLACIER มันว่างทำไมหล่ะ? ภาคพื้นดินจึงได้ใส่ไอศกรีมยี่ห้อ Blue Bell เอาไว้ให้นักบินบนกระสวยอวกาศทานเล่นด้วย
หมายเหตุ: GRACIER (General Laboratory Active Cryogenic ISS Experiment Refrigerator) ถูกพัฒนาขึ้นโดย University of Alabama at Birmingham จุดประสงค์แรกเริ่มเพื่อใช้งานบน ISS ร่วมกับตู้แช่อื่น ๆ ชื่อ MELFI (Minus Eighty Degree Laboratory for ISS), MERLIN (Microgravity Experiment Research Locker/Incubator) และ Polar
SpaceX’s Commercial Resupply Services contract
ในปี 2008 บริษัท SpaceX ได้ชนะการประกวดโครงการ Commercial Resupply Services หรือ CRS ของ NASA เพื่อการขนส่งพัสดุและของใช้ต่าง ๆ ขึ้นไปยังบนสถานีอวกาศนานาชาติ SpaceX ได้งบ 1.6 พันล้านดอลล่าห์สหรัฐสำหรับการขนส่งสิ่งต่าง ๆ โดยใช้ยาน Dragon ส่งขึ้นอวกาศโดยใช้จรวด Falcon 9 เป็นจำนวน 12 เที่ยวบิน (SpaceX CRS-1 (SpX-1) ถึง SpaceX CRS-12 (SpX-12)) ก่อนที่จะมีการต่อเพิ่มขึ้นอีก 3 เที่ยว (SpX-13 ถึง SpX-15) ในช่วงต้นปี 2015 และเพิ่มขึ้นอีก 5 เที่ยว (SpX-16 ถึง SpX-20) ในช่วงต้นปี 2016
ภารกิจ SpaceX CRS-1 บินขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2012 จาก Launch Complex 40 แหลม Canaveral รัฐฟลอริดา Payload ของยานมีน้ำหนักรวมประมาณ 905 กิโลกรัมหรือ 400 กิโลกรัมเมื่อไม่รับรวม Packaging ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ร่วมกับเสบียงสำหรับนักบินอวกาศชุด Expedition 33 จากลิสต์รายการเสบียงที่ส่งขึ้นไปจำนวน 102 กิโลกรัม NASA ได้เขียนรายละเอียดไว้ว่า “Food, about 29 Bonus food rations” ไอศกรีมให้นักบินอวกาศได้รับการยืนยันโดย Michael Suffredini ผู้จัดการสำหรับโครงการสถานีอวกาศ ในงานแถลงข่าวก่อนปล่อยจรวดของ NASA ในวันที่ 6 ตุลาคม
“เรากำลังจะมีเที่ยวบินที่มีตู้แช่เปล่า ๆ ขึ้นไปบนอวกาศ, เราเติมเต็มมัน [ด้วยไอศกรีม] และมันดีจริง ๆ ” Robert Cabana ผู้อำนวยการ Kennedy Space Center และอดีตนักบินอวกาศกล่าว
การขนส่งไอศกรีมครั้งนี้เป็นไปได้จาก Cargo ที่มีตู้ GLACIER อยู่ด้วย ตู้เย็นที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแช่การทดลองทางวิทยาศาสตร์สำหรับตอนนำยานกลับมายังโลกยังว่างอยู่ในครั้งนำยานขึ้น ภาคพื้นดินจึงได้โอกาสนำไอศกรีมวานิลลายี่ห้อ Blue Bell กลับขึ้นไปเช่นเดียวกับเมื่อสมัยกระสวยอวกาศ แต่ครั้งนี้ไอศกรีมไม่ได้มีไว้สำหรับนักบินในกระสวยอวกาศ แต่สำหรับนักบินบนสถานีอวกาศนานาชาติต่างหาก
จากการที่บนสถานีอวกาศไม่มีตู้แช่สำหรับใส่เสบียงเลย มีแต่ตู้แช่สำหรับงานทางวิทยาศาสตร์ (ถึงแม้บนสถานีอวกาศนานาชาติจะมี GLACIER เหมือนกันแต่ตู้บน ISS ถูกปรับไว้ในสภาวะที่เหมาะสมกับงานทางวิทยาศาสตร์ จึงไม่ได้นำมาใช้เก็บอาหาร ขณะที่ตู้ GLACIER บนยาน Dragon ในขาขึ้นไม่ได้ใส่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ไว้ จึงตั้งค่าไว้สำหรับเก็บไอศกรีมให้นักบินอวกาศได้) นักบินอวกาศจึงต้องรับประทานไอศกรีมให้หมดก่อนที่ตู้ GRACIER แช่ไอศกรีมเฉพาะกิจต้องเปลี่ยนไปใส่ผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์และส่งกลับไปยังพื้นดินในยาน Dragon ในสามอาทิตย์ให้หลังการเทียบยานกับ ISS ซึ่งหลังภารกิจ SpaceX CRS-1 จบลง ได้มีการส่งไอศกรีมขึ้นไปบนยังสถานีอวกาศนานาชาติอีกในบางครั้งบางคราว
ความจริงจริง ๆ คืออะไร
เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ New York Times ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม ปี 1968 หน้า 74 ภายใต้บทความเรื่อง “No Place for Gourmets” ได้เขียนไว้ว่า Donn F. Eisele นักบิน Command Module ของ Apollo 7 จะได้รับประทานไอศกรีมรสวานิลลาในวันนี้ ซึ่งก็เป็นที่สังเกตว่าไม่ตรงกับคำบอกเล่าของนักบินอวกาศหรือภัณฑารักษ์ที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ กรณีสองกรณีที่เป็นไปได้จากเหตุการณ์นี้คือ
- New York Times น่าจะอ้างอิงจาก press kit ทั้งที่จริงแล้ว เมนูที่มีไอศกรีมก็เป็นเพียง 1 ใน 3 ตัวเลือกเท่านั้น
- Walt Cunningham นักบิน Lunar Module ของ Apollo 7 จำผิด และ Jennifer Levasseur ภัณฑารักษ์ของ National Air and Space museum เข้าใจผิด
แต่ในท้ายที่สุดแล้ว อะไรคือเรื่องที่จริง คนเขียนก็ไม่รู้ (ฮา)
50 กว่าปีต่อมา เทคโนโลยีของสังคมไปไกลแบบก้าวกระโดด เรารับข้อมูลจำนวนมหาศาลในทุก ๆ วัน จากการที่ผู้คนสามารถเป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารได้ตลอดเวลา ทั้ง News, Fact, Opinion ผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องแม้แต่ผ่านกองบรรณาธิการดังเช่นสิ่งพิมพ์ในสมัยก่อน การคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลจึงเป็นกลายมาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก (และเป็นที่น่าเสียดายว่าเป็นเรื่องที่ภาคการศึกษาไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญ) แต่ที่ไปไกลกว่านั้นคือ บางเรื่องความจริงอาจไม่เป็น Objective หรือสิ่งที่เกิดจากสภาวะเสมอไปหากแต่เป็นเพียง Subjective ที่เกิดจากมุมมองของบุคคล เกิดเป็น “ความจริง” ในหลายรูปแบบ
สุดท้ายนี้ เราเป็นคนเดียวที่เลือกได้ว่าเราจะเชื่ออะไรคือ “ความจริงจริง ๆ” สำหรับเราจาก”ความจริง”จำนวนมหาศาล และระลึกอยู่เสมอว่าความจริงที่เรารู้มันก็อาจไม่จริงเสมอไป เช่นเดียวกับไอศกรีมนักบินอวกาศที่จริง ๆ แล้วมันก็ (อาจ) ไม่เคยถูกรับประทานโดยนักบินอวกาศนั่นเอง
อ้างอิง:
Astronauts bust the myth of space ice cream
Whirlpool helped win the Space Race by Developing the Space Kitchen
Ice cream for ISS: Frozen dessert flying on station-bound SpaceX Dragon