NASA เปิด 3 โครงการ เดินทางไปพร้อมยาน IMAP สำรวจดวงอาทิตย์

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2020 NASA ได้คัดเลือกโครงการ SmallSat 2 โครงการเพื่อเดินทางไปกับ Interstellar Mapping Acceleration Probe (IMAP) ของ Applied Physics Laboratory (APL) สำหรับการสำรวจอนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์ ลมสุริยะ และ Interstellar medium ที่จะเดินทางไปยังจุด Lagrange L1 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2025 กับ Falcon 9 ของ SpaceX ซึ่ง L1 เป็นจุด Langragian ที่อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลกที่เดียวกับ SOHO ทำให้การสำรวจด้านสว่างของโลกและการสำรวจดวงอาทิตย์เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ถูกโลกบัง

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับจุด Langrange ได้ที่ – Lagrangian Point คืออะไร ทำไมยานอวกาศถึงต้องไปอยู่ตรงนั้น

ภาพจำลอง Interstellar Mapping and Acceleration Probe – ที่มา NASA

โดยทั้งสองโครงการที่จะเดินทางไปกับ IMAP มีชื่อว่า Global Lyman-alpha Imagers of the Dynamic Exosphere (GLIDE) และ Solar Cruiser ซึ่งจะเ็นส่วนหนึ่งของภารกิจ Solar Terrestrial Probes (STP) ของ NASA

GLIDE เป็นดาวเทียมถ่ายรูปที่จะเน้นการศึกษาชั้นบรรยากาศ Exosphere ของโลกด้วยการติดตามการแผ่รังสี far-Ultraviolet จาก Hydrogen โดย Exosphere เป็นชั้นบรรยากาศที่แยกระหว่างชั้นบรรยากาศของโลกออกจากอวกาศซึ่งเป็นชั้นที่ไม่สามารถนิยามได้ว่าสิ้นสุดอยู่ตรงไหน และยังเป็นจุดที่สสารหรืออะตอมได้ก็ตามที่มีที่มาจากโลกจะออกสู่อวกาศ GLIDE จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาชั้น Exosphere ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก เช่น การศึกษาผลกระทบของสภาพอวกาศต่อชั้นบรรยากาศของโลก เพราะ Exosphere เป็นชั้นแรกที่จะเจอกับลมสุริยะ รวมถึงการทำนายสภาพอวกาศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันการรบกวนทางคลื่นวิทยุจาก CME/SPE (Coronal Mass Ejection/Solar Particle Event) เพราะการสำรวจชั้น Exosphere จำเป็นที่จะต้องใช้กล้องที่ถ่ายมาจากนอกโลกเท่านั้นประกอบกับการที่ GLIDE อยู่จุด L1 ซึ่งเป็นด้านที่สามารถหันเข้าหาด้านสว่างของโลกตลอดได้ทำให้การสำรวจชั้น Exosphere เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง

โครงการ GLIDE ปัจจุบันดูแลโดย University of Illinois งบประมาณทั้งหมด 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.25 พันล้านบาท)

ภาพจำลอง SmallSat GLIDE ขณะกำลังตรวจสอบโครงสร้างชั้นบรรยากาศของโลก – ที่มา NASA

ส่วน Solar Cruiser เป็นภารกิจ Technology Demonstration Mission ที่เน้นการสาธิตการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ซึ่งครั้งนี้ก็ตามชื่อเลย Solar Sail หรือเรือใบแสงอาทิตย์ขนาดกว่า 1,700 ตารางเมตร ซึ่งจะสาธิตการใช้ Photon (อนุภาคของแสง) จากแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนหลักการคล้ายกับเรือใบบนโลกที่ใช้ลมในการขับเคลื่อน เปรียบ Photon เป็นลมนั่นเอง โดย Solar Cruiser จะสาธิตเทคโนโลยีในจุด L1 เช่นกันซึ่งเป็นจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์พอสมควร (Solar Heliospheric Observatory: SOHO ยานสำรวจดวงอาทิตย์ในปัจจุบันก็อยู่ที่ L1) ทำให้ความเข้มข้นของ Photon ที่โพรบจะได้รับยิ่งมากขึ้นซึ่งจะทำให้เราเห็นผลการทดลองได้ง่ายขึ้นนั่นเอง ปัจจุบันโครงการ Solar Cruiser ดูแลโดย NASA’s Marshall Space Flight Center งบประมาณทั้งหมด 65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.95 พันล้านบาท)

ภาพจำลองเรือใบแสงอาทิตย์ NanoSail-D – ที่มา NASA

นอกจากนี้ยังมีอีกโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขั้นสุดท้ายคือโครงการ Spatial/Spectral Imaging of Heliospheric Lyman Alpha (SIHLA) ซึ่งได้รับงบประมาณให้ไปทำการศึกษาขั้นสุดท้ายอยู่ โดย SIHLA เป็นภารกิจที่จะสร้างแผนที่ฟ้า Heliosphere ขอบเขตอำนาจแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ Interstellar medium และ Heliopause ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ภาพจำลองลมสุริยะขณะกำลังชนเข้ากับสนามแม่เหล็กโลกที่มองไม่เห็น – ที่มา NASA

ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ GLIDE, Solar Cruiser และ SIHLA เป็นส่วนหนึ่งของ RideShare opportunities ของ NASA ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งยานทั้งของ NASA เองและของเอกชนด้วยการใช้หลักไปทางเดียวกันก็ไปด้วยกันนี่แหละ โดย NASA เองจะส่ง Probe อย่าง IMAP อยู่แล้ว ใครอยากไปด้วยก็มาเสนอ Proposal ดู NASA ออกค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ให้เพราะเป็น Primary payload ส่วน GLIDE, Solar Cruiser, SIHLA ก็อาจจะออกนิดหน่อยเพราะเป็น Secondary payload ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายได้พอสมควรและยังเพิ่มความคุ้มค่าของการปล่อยจรวดครั้งหนึ่งด้วย

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA Selects Heliophysics Missions of Opportunity for Space Science Research and Technology Demonstration

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.