ผมเรียนรู้ที่จะใช้คำว่า “เป็นไปไม่ได้” ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง – ฟอน เบราน์

จากกรณีที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ออกมาให้ความเห็นว่า “เราต้องรู้ว่า อะไรทำไม่ได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และอย่าเสียเวลาเสียพลังไปกับเรื่องเหล่านั้นมากนัก แต่จงทุ่มเททำอะไรที่เป็นไปได้และสิ่งนั้นควรทำ” ซึ่งก็ได้ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำบน Facebook เพจของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งหลังจากที่ได้มีการโพสต์ข้อความทำนองดังกล่าว ทำให้ได้มีผู้ที่เข้าไปตั้งคำถามถึงทัศนคติของท่านรัฐมนตรีเป็นอย่างมาก ส่วนมากออกไปในทางที่ว่าแนวคิดที่กล่าวมานั้น ขัดต่อทิศทางของกระทรวงที่ควรจะออกมาสนับสนุนให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เมื่อพูดถึงเรื่องของนวัตกรรมด้วยแล้วตามชื่อก็บอกว่า นวัตกรรม หรือสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน

ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลังจากที่ได้มีการปรับกระทรวงวิทยาศาสตร์เดิม มาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมก็ได้มีข่าวกรณีต่าง ๆ แปลก ๆ ออกมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นดราม่าการยุบ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน
“สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์” มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือ IF – The Institute for Fundamental Study ซึ่งทำให้แสดงว่า ณ​ ปัจจุบัน ผู้มีอำนาจตัดสินใจในฝั่งของนโยบายยังไม่ได้เห็นค่าของการศึกษาศาสตร์พื้นฐานที่ไม่อาจตอบได้ว่านำไปสู่อะไร (แต่จริง ๆ แล้วสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นวิทยาศาสตร์แบบ Front-tier ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถนำมาทำกำไรได้ แต่สอนให้คนรู้จักคิด และนำไปพัฒนาต่อเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ประยุกต์ทุกวันนี้) หรือแม้กระทั่งข่าวการตัดงบวิจัยในช่วงปี 2019 และ 2020 ซึ่งแม้จะมีการพิจารณาใหม่แล้ว แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงการมองงานวิจัยต่าง ๆ ว่าเป็น “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ซึ่งเป็นคำที่อยู่คู่กับวงการวิทยาศาสตร์ วิจัย ปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม อว. ภายใต้การนำของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีฯ คนก่อนหน้า ซึ่งถูกจับตามองเป็นพิเศษเพราะมีการพูดถึงศาสตร์ที่เป็น Front-tier อยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์อนุภาค หรือการวิจัยด้านฟิสิกส์ควอนตัม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งจริง ๆ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ในมุมของเราก็ยังไม่นับว่าฝากผลงานที่เป็นรูปธรรมขนาดนั้นก่อนจะออกจากตำแหน่งไป

จนมาถึงยุคของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นี้เองที่เข้ามาวันแรกพร้อมหมุดหมายจะเข้ามาเป็น ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ให้กับรัฐบาลประยุทธ์ โดยทิศทางดูเหมือนจะไปในแนวสร้างงานสร้างอาชีพมากกว่า และบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ นั้นเรามองว่าไม่ได้มีความพูดถึงเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์หวือหวาเท่า ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งเราก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป

อย่างไรก็ดี การออกมาพูดเรื่องความเป็นไปไม่ได้ดังกล่าวนั้น ก็ยิ่งเป็นคำถามว่า ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มีทัศนคติต่อวิทยาศาสตร์อย่างไรกันแน่ และจะสามารถนำกระทรวงฯ ไปในทิศทางของการเสริมสร้างความรู้พื้นฐานที่เป็นรากฐานที่แท้จริงของการพัฒนาได้หรือเปล่า ?

ความระมัดระวังในการใช้คำว่า “เป็นไปไม่ได้” ของบิดาแห่งจรวด

ในปี 1920 หนังสือพิมพ์ The New York Times เคยลงไว้ว่า “A rocket will never be able to leave the Earth’s atmosphere.” หรือจรวดนั้น จะไม่สามารถออกจากบรรยากาศของโลกได้ ซึ่งภายหลังได้มีการออกมาถอนคำพูดดังกล่าว และแสดงความรับผิดชอบ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 1969 ซึ่งเป็นวันที่มนุษย์เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ

“ผมเรียนรู้ที่จะใช้คำว่า ‘เป็นไม่ไม่ได้’ ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง” หรือ “I have learned to use the word ‘impossible’ with the greatest caution.” ดอกเตอร์แวร์นเนอร์ ฟอน เบราน์ได้กล่าวไว้ครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตของเขา ดอกเตอร์แวร์นเนอร์ ฟอน เบราน์ หรือ Wernher von Braun วิศวกรและสถาปนิกจรวดผู้ที่ได้ออกแบบจรวดเชื้อเพลิงเหลวอย่าง V-2 ให้กับทางกองทัพเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นจรวดที่สามารถขึ้นสู่อวกาศได้เป็นรุ่นแรกของโลก และเป็นบุคคลสำคัญในโครงการอวกาศสหรัฐอเมริกาอย่าง Apollo ที่ได้ออกแบบจรวด Saturn V หรือจรวดที่ได้ชื่อว่า เป็นจรวดรุ่นแรกและรุ่นเดียวของมนุษยชาติในตอนนี้ที่เคยส่งมนุษย์ขึ้นไปลงบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ

MSFC CENTER DIRECTOR VON BRAUN, WERNHER-DR. IN HIS OFFICE WITH ROCKET MODELS IN BACKGROUND. 5/18/64

ความจริงก็คือ ฟอน เบราน์ต้องการส่งคนขึ้นสู่อวกาศได้ ในตอนนั้นกองทัพสหรัฐไม่มีไอเดียที่จะส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศด้วยซ้ำ สิ่งที่วอน บราวน์ทำได้ก็คือการออกสื่อ ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันให้ความสนใจในแนวคิดของเขา เป็นการกดดันรัฐบาลให้หันมาสนใจในโครงการอวกาศของฟอน เบราน์ เขาถึงขนาดพูดคุยกับ วอล์ต ดิสนีย์ และใช้พื้นที่และสื่อของดิสนีย์ ในการขายฝันเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศให้กับอเมริกันชน การกระทำของฟอน เบราน์ ดูเหมือนจะทำให้อเมริกันชนให้ความสนใจกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า “ดาวเทียม” มากขึ้น อเมริกาเริ่มมีแผนที่จะสร้างดาวเทียมจริง ๆ ตามแนวคิดของฟอน เบราน์

ซึ่งสิ่งนั้นก็ถูกสานต่อมาในภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ คือการเดินทางไปดวงจันทร์ ที่ประธานาธิบดี JFK ได้ออกมากล่าวต่อหน้าประชาชนว่า ที่เราเลือกที่จะทำสิ่งนี้ไม่ใช่เพราะว่ามันง่ายแต่เพราะว่ามันยาก ความตอนหนึ่งในบทพูดของเขาได้กล่าวถึง “จรวดที่ใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอล สร้างด้วยวัสดุที่ยังไม่เคยถูกคิดค้นขึ้น ณ เวลานั้น และประกอบเข้าด้วยกันด้วยความแม่นยำมากกว่านาฬิกาที่ปราณีที่สุด” ซึ่งภายหลัง สิ่งนี้คือจรวด Saturn V ซึ่งยังคงเป็นจรวดที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเรื่องราวเส้นทางการพัฒนาจรวดได้ที่ – ประวัติศาสตร์จรวด อาวุธสังหารสู่สะพานเชื่อมดวงดาว

ฟอน เบราน์ยังเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งจรวดและวิทยาศาสตร์อวกาศ” แห่งสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากการเดินทางไปลงดวงจันทร์แล้ว ฟอน เบราน์ได้เคยพูดคุยกับบุคคลใกล้ชิดของเขาเรื่องการเดินทางในห้วงอวกาศลึก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปดาวอังคาร หรือสถานที่ต่าง ๆ ในระบบสุริยะจักรวาล

จะเห็นได้ว่าฟอน เบราน์นั้นไม่เคยยอมแพ้ให้กับคำว่า “เป็นไปไม่ได้” เพื่อหนีไปทำเรื่องที่ “เป็นไปได้” เขาได้เคยวาดฝันเกี่ยวกับการที่มนุษย์ไปลงดวงจันทร์และการเดินทางในห้วงอวกาศลึกไปตามดวงดาวต่าง ๆ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในตอนนั้นยังมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือเป็นไปไม่ได้ และกาลเวลาก็ได้พิสูจน์สิ่งที่เขาได้กล่าวไว้ว่ามันเป็นไปได้และเกิดขึ้นจริงแล้ว

จริง ๆ แล้ววิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่การกระเพื่อตอบโจทย์ให้กับธุรกิจ ไม่ใช่การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อให้กับนายทุน แต่ล้วนเกิดจากความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์ การเลือกที่จะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก่อนนั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

19 y/o Just mechanical engineering student, hobbyist illustrator || เด็กวิศวะหัดเขียนเรื่องราวในโลกของวิศวกรรมการบินอวกาศ