สรุปแผนการบินลาดตระเวนทางอากาศบนดาวอังคารของ Ingenuity ในเที่ยวบินที่ 6

หลังจากการสาธิตทางเทคโนโลยีของ Ingenuity ได้สิ้นสุดลงแล้วหลังจากที่มันได้บรรลุภารกิจเดิมของมันคือการทำการบินสาธิตทั้งหมด 5 ครั้งใน 30 วัน อย่างไรก็ตามหลังเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าวลง ทีมวิศวกรประเมิณว่า Ingenuity ยังสามารถทำงานได้ดีอยู่ พร้อมกับทรัพยากรต่าง ๆ ที่ยังเหลือพอสำหรับการทำการบินเพิ่มเติม ทีมวิศวกรจึงได้ตัดสินใจใช้ Ingenuity ในการทำงานทางด้านการลาดตระเวนทางอากาศต่อช่วย Perseverance

เที่ยวบินแรกที่ Ingenuity จะทำการลาดตระเวนทางอากาศอย่างเป็นทางการใน Operations Demonstration Phase ของภารกิจคือในเที่ยวบินที่ 6 ซึ่งถือเป็นเที่ยวบินแรกของการสำรวจ โดยมีกำหนดการช่วงประมาณปลายเดือน พฤษภาคม 2021

อ่านบทความเกี่ยวกับภารกิจการลาดตระเวนทางอากาศของ Ingenuity ได้ที่นี่ – Ingenuity เตรียมเริ่มภารกิจการลาดตระเวนทางอากาศบนดาวอังคารสนับสนุน Perseverance

ภาพถ่ายพื้นผิวดาวอังคารจาก Ingenuity ที่ความสูง 10 เมตรในเที่ยวบินที่ 5 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2021 – ที่มา NASA/JPL-Caltech

หลังจากเที่ยวบินที่ 5 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2021 ที่เป็นแบบ One Way Flight ทำให้ Ingenuity อยู่ในจุดลงจอดใหม่เรียกว่า Airfield B ห่างออกมาจากบริเวณ Wright Brothers Field ซึ่งเป็นจุดขึ้นบินแรกเริ่มของ Ingenuity มาทางทิศใต้ประมาณ 129 เมตร

แผนของการลาดตระเวนทางอากาศในเที่ยวบินที่ 6 ก็คือการให้ Ingenuity ขึ้นบินจาก Airfield B สู่ความสูง 10 เมตร ก่อนที่จะบินลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้อีก 150 เมตร แล้วเคลื่อนลงใต้ซ้ำอีกครั้งประมาณ 15-20 เมตร เพื่อสำรวจและถ่ายภาพสภาพของดินทรายรวมถึงภาพของหินสว่างที่สะท้อนแสงอาทิตย์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาภารกิจสำหรับสำรวจทางอากาศในอนาคต

หลังจากนั้นมันก็จะเคลื่อนที่ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 50 เมตร ก่อนที่มันจะลงจอดในจุดลงจอดใหม่ที่เรียกว่า Field C โดยในครั้งนี้ Ingenuity จะบินที่ความเร็ว 4 เมตร/วินาที (14.4 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ในเที่ยวบินก่อน ๆ นั้นบินเร็วสุดเพียงแค่ 3.5 เมตร/วินาทีเท่านั้น

ภาพเคลื่อนไหวขณะ Ingenuity กำลังบินในเที่ยวบินที่ 4 วันที่ 30 เมษายน 2021 จากกล้องนำทางของมัน โดยอัตราการถ่ายภาพทำให้ใบพัดของ Ingenuity มีลักษณะเคลื่อนที่ช้ามาก ๆ – ที่มา NASA/JPL-Caltech

นอกจากนี้ ในเที่ยวบินนี้จะเป็นเที่ยวบินที่เรียกได้ว่าไปตายเอาดาบหน้า หมายความว่า Ingenuity ไม่เคยไปสำรวจจุดลงจอดที่มันจะไปลงจอดซึ่งก็คือ Field C มาก่อน ต่างกันกับในเที่ยวบินก่อน ๆ ที่ถ้าจะไปลงที่ไหน จะต้องมีเที่ยวบินหนึ่งที่จะบินไปสำรวจก่อนแล้วกลับมา ก่อนที่จะไปลงจอดจริง ๆ แต่

ในเที่ยวบินที่ 6 จะต้องพึ่งการวิเคราะห์จุดลงจอดโดยทีมวิศวกรจากภาพสำรวจจุดลงจอดด้วยกล้องความละเอียดสูง HiRISE บนยาน Mars Reconnaissance Orbiter (MRO) ของ NASA เท่านั้น ซึ่งก็ถือเป็นการทดสอบความสามารถของทีมวิศวกรในการวิเคราะหืพื้นที่ลงจอดโดยไม่ต้องให้ Ingenuity ไปสำรวจก่อน และถ้าหากมีอัตราการประสบความสำเร็จสูง หมายความว่าเราก็จะสามารถประหยัดเวลาภารกิจได้ เพราะไม่ต้องส่ง Ingenuity ไปสำรวจก่อนหนึ่งรอบ

นอกจากนี้ยังถือเป็นการทดสอบความสามารถของ Flight Computer บน Ingenuity ด้วยว่ามันมีความสามารถพอที่จะหาจุดลงจอดที่ปลอดภัยให้ตัวเองได้หรือไม่ เพราะบนดาวอังคารที่ห่างออกไปหลายสิบล้านกิโลเมตรนั้น ทีมวิศวกรจะไม่สามารถส่งคำสั่งแก้ไขใด ๆ ให้ Ingenuity ได้เลยเนื่องจากดีเลย์ในการส่งสัญญาณ เพราะฉะนั้น Ingenuity จะต้องพึ่งความฉลาดของมันที่ทีมวิศวกรเขียนให้มันมานั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

Plans Underway for Ingenuity’s Sixth Flight

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.