หลังจากที่ SpaceX ประสบความสำเร็จกับยาน Dragon รุ่นใหม่อย่าง Crew Dragon ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญอย่างมากในการพามนุษย์ขึ้นสู่อวกาศและเป้าหมายสูงสุดอย่างการเดินทางไปดาวอังคารไปแล้ว ผลที่ตามมาคือเรามักได้ได้ยินแต่ข่าวที่ SpaceX ส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS แน่นอนว่าเราได้ยินมันมาสองภารกิจแล้วคือภารกิจ DEMO-2 และ CREW-1 ที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา โดยมันเป็นภารกิจที่ส่งคนขึ้นไปทำภารกิจบน ISS แต่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้า SapceX เปิดโอกาสให้พลเรือนแบบเรา ๆ ได้ลองขึ้นอวกาศด้วยยาน Crew Dragon ดูล่ะ? ในบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับภารกิจนี้กัน
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมาทาง SpaceX ได้ประกาศภารกิจใหม่ที่จะส่งยาน Crew Dragon ขึ้นสู่อวกาศในช่วงไตรมาสที่สี่ของปีนี้ในชื่อของ Inspiration4 โดยทางเว็บไซต์ inspiration4.com ได้ระบุว่าภารกิจนี้จะเป็นภารกิจแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ชาติที่จะมีการส่งมนุษย์กลุ่มแรกที่ลูกเรือในภารกิจเป็นพลเรือนทั้งหมดขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งแน่นอนว่า SpaceX จะใช้ฐานส่ง Launch Complex 39A ซึ่งเป็นฐานส่งจรวดที่สร้างประวัติศาสตร์ให้มนุษยชาติมานับครั้งไม่ถ้วนในการส่ง Crew Dragon ในภารกิจนี้ (เพราะว่าฐานส่งที่ SpaceX เซ็นสัญญาเช่าไว้มีแค่ฐานนี้เท่านั้นที่มีหอส่งนักบินขึ้นยาน (ฮา))
โดยผู้ที่ริเริ่มโครงการนี้คือคุณ Jared Isaacman เศรษฐีพันล้านอายุ 37 ปี ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัท Shift4 Payments ซึ่งภารกิจนี้เป็นแนวคิดของคุณ Isaacman เพียงคนเดียว แสดงว่าก็จะเหลืออีกที่นั่งอีกสามที่ไว้ (ยาน Crew Dragon ถูกออกแบบมาให้มี 7 ที่นั่งก็จริงแต่ในตอนนี้ยังไม่มียานแคปซูลลำไหนที่มีการติดตั้ง 7 ที่นั่ง) โดยที่นั่งอีกสามที่ที่เหลือนั้นจะมีการประกาศว่าใครจะได้รับเลือกให้ร่วมเดินทางไปกับคุณ Isaacman ผ่านทางเว็บไซต์ inspiration4.com ในอีกสัปดาห์ไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า (สามารถเช็คเวลาได้จากเว็บไซต์ได้เลย) และแน่นอนว่าอีกสามคนที่ได้ร่วมเดินทางไปก็เป็นพลเรือนทั่วไปเช่นกัน
แน่นอนว่าการที่ NASA ได้ประกาศว่า SpaceX นั้นเป็นบริษัทเอกชนเจ้าแรกที่สามารถส่งนักขินขึ้นสู่สถานีอวกาศได้จึงไม่ใช้เรื่องแปลกที่ว่าคนทั่ว ๆ ไปจะเริ่มยอมรับและให้ความเชื่อใจกับบริษัทแห่งนี้ และอยากจะลองเอาชีวิตที่แสนเบื่อหน่ายไปทำอะไรที่ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ อย่างเช่นการขึ้นไปอยู่ในอวกาศเพื่อใชีชีวิตในสภาวะไร้น้ำหนัก ซึ่งคุณ Isaacman ก็อาจจะคิดแบบนี้เช่นกัน และมันก็ทำให้ SpaceX ได้รับโอกาสที่จะพาบริษัทให้ไปได้ไกลมากขึ้น เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Elon Musk ก็ได้พูดขึ้นขณะประชุมว่า นี่จะเป็นภารกิจแรกในประวัติศาสตร์ที่ลูกเรือในภารกิจจะเป็นคนจากภาคเอกชนทั้งหมด
โดยภารกิจนี้จะเป็นการใช้ยาน Crew Dragon “Resilience” ซึ่งเป็นยานลำเดียวกันกับยานในภารกิจ CREW-1 ที่ต่อนี้ยัง dock อยู่กับสถานีอวกาศนานาชาติอยู่เลย (ฮา) แต่กำหนดการส่งมันก็ตั้งปลายปี จึงไม่น่าห่วงเรื่องระยะเวลาในการตรวจสอบความพร้อมเท่าไหร่ โดยภารกิจนี้อาจจะใช้เวลาอยู่บนอวกาศกันประมาณ 2 ถึง 4 วันบนวงโคจร โดยจะเป็นวงโคจรต่ำของโลกหรือ LEO (รอบหนึ่งใช้เวลาประมาณ 90 นาที) ซึ่งหลังจากครบกำหนดตัวยานก็จะ Re-entry กลับสู่ชั้นบรรยกาศและ Splashdown ลงในมหาสมุทรด้วยร่มชูชีพ
โดยเหตุที่ไม่ได้อยู่นานขนาดนั้นก็เป็นเรื่องของระบบยังชีพในยานที่มีค่อนข้างจำกัดทั้งเสบียงอาหารและอากาศ ซึ่งจริง ๆ ในทางทฤษฎีมันอยู่ได้ถึง 7 วัน แต่คงไม่น่ามีใครอยากจะอยู่จนถึงเวลาที่ออกซิเจนหมดพอดีหรอกนะ (ฮา) แต่ทาง Elon Musk ได้กล่าวว่ารายละเอียดของภารกิจเบื้องลึกจะขึ้นอยู่กับทางคุณ Jared Isaacman ผู้เป็นผู้ออกทุนในภารกิจนี้เอง
ทั้งนี้คุณ Jared Isaacman ยังระบุอีกว่า “ภารกิจ Inspiration4 นี้เป็นภารกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครก็ตามผู้ที่อยากจะเข้าดวงดาวมากขึ้น และเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาล St. Jude Children’s Research ที่อยู่ใน Memphis” เหตุที่เป็นโรงพยาบาลนี้ก็เพราะว่า” โรงพยาบาลดังกล่าวเป็นสถาบันชั้นนำในการต่อสู้กับโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ และดูแลเด็ก ๆ โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ” คุณ Isaacman ยังบอกอีกทำนองว่า “ผมอยากสร้างหน้าประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับมนุษยชาติในขณะที่ได้ช่วยต่อสู้กับโรคมะเร็งในเด็กบนโลก”
ซึ่งแน่นอนว่า Elon Musk ก็ต้องถูกใจและรู้สึกตื่นเต้นกับแนวคิดของภารกิจนี้ไปไม่น้อย พร้อมกับแสดงท่าทีที่ว่า ภารกิจนี้จะเป็น milestone ที่สำคัญในการทำให้อวกาศเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น ทาง Elon ก็รู้ดีว่าสำหรับของพวกนี้ในครั้งแรก ๆ มันก็แพงเป็นเรื่องปกติ แต่เค้าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะพยายามช่วยให้มันถูกลงเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เหมือนกับเทคโนยีอากาศยานที่สมัยก่อนคนธรรมดาแทบไม่มีโอกาศได้จับต้อง จนกลายมาเป็นสิ่งที่เข้าถึงการได้ง่ายเหมือนทุกวันนี้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co