สถานีอวกาศนานาชาติ มีขั้นตอนการผลัดเปลี่ยนลูกเรืออย่างไร รู้จัก Direct และ Indirect Handover

International Space Station (ISS) หรือสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบันนั้นเป็นที่ที่เดียวที่มีมนุษย์อาศัยอยู่นอกโลก โคจรอยู่รอบโลกในวงโคจร low-Earth orbit (LEO) กว่า 20 ปีมาแล้วที่มีนักบินอวกาศจำนวนมากมาวนสับเปลี่ยนชุดลูกเรือบน ISS ไม่ว่าจะทั้งจากยาน Soyuz, ยาน CST-100 Starliner, กระสวยอวกาศ หรือแม้กระทั่งยาน Crew Dragon ของ SpaceX

การสับเปลี่ยนลูกเรือของ ISS นั้นมีสองแบบ คือ Direct Handover และ Indirect Handover

Handover ก็คือการสับเปลี่ยนชุดลูกเรือระหว่าง Expedition ลูกเรือแต่ละคนนั้นจะมีชุดเลข Expedition Number เมื่อเดินทางมายังสถานีอวกาศนานาชาติ เช่น ชุด Expedition 65 โดยในช่วงระหว่างที่ NASA ไม่มียานขนส่งนักบินอวกาศซึ่งเป็นช่วงปี 2011 ที่กระสวยอวกาศทั้งหมดถูกปลดระวางถึงช่วงปี 2020 ก่อนยาน Crew Dragon อย่างในภารกิจ Crew Dragon Demo-2 นั้น ลูกเรือบน ISS จะทำสิ่งที่เรียกว่า “Indirect Handover”

ปกติแล้วบน ISS จะมีชุด Expedition สองชุดปนกันอยู่ซึ่งจะเรียกรวมกันเลย อย่างเช่นชุด Expedition 62/63 ซึ่งประกอบไปด้วย Chistopher Cassidy, Anatoli Ivanishin, และ Ivan Vagner จากชุด 62 ส่วนชุด 63 นั้นประกอบไปด้วย Doug Hurley และ Bob Behnken จากภารกิจ Crew Dragon Demo-2 เรียกรวมกันว่า Expedition 62/63 ซึ่งสุดท้ายแล้วชุด 62 ก็จะถูกย้ายไปเป็นชุด 63 และชุด 63 ก็จะถูกย้ายไปเป็นชุด 64 (ยกเว้นกรณีของ Doug Hurley และ Bob Behnken ที่เพราะเป็นแค่ภารกิจทดสอบเลยได้กลับก่อนไม่ได้ย้ายไปชุด 63)

ลูกเรือชุด Expedition 62/63 ซึ่งประกอบไปด้วย Chistopher Cassidy, Anatoli Ivanishin, และ Ivan Vagner ใน Expedition 62 และ Doug Hurley และ Bob Behnken ใน Expedition 63 ที่เดินทางมาถึงชุดย่อยแรก (ล่าง) – ที่มา NASA

แต่ละ Expedition นั้นจะมี 6 คน โดยครึ่งหนึ่งของ Expedition นั้น ๆ (3 คน) เป็นลูกเรือที่ถูกย้ายมาจาก Expedition ก่อนหน้าและอีกครึ่งหนึ่งเป็นชุดลูกเรือที่มาใหม่ รวมเป็น 6 คน ลูกเรือแต่ละชุดจะมีระยะเวลาภารกิจชัดเจน นั่นหมายความว่าลูกเรือที่ถูกย้ายมาจาก Expedition ก่อนจะต้องกลับโลกก่อน นั่นคือจุดที่ทำให้เกิด Indirect Handover

ลูกเรือ 3 คนดังกล่าวที่มาจาก Expedition ก่อนก็จะโอนภารกิจให้กับชุดลูกเรือใหม่และติดตราภารกิจของ Expedition ใหม่ลง ISS ก่อนที่ลูกเรือชุดเก่าจะเดินทางกลับโลกด้วยยาน Soyuz (ตอนนั้นมันยังไม่มี Crew Dragon) ในขณะที่ลูกเรือของ Expedition ปัจจุบันที่ยังอยู่ก็จะอยู่รอผสมรวมกัน Expedition ที่จะมาเพิ่มในอนาคตรวมเป็น 6 คนอีกครั้ง แล้วชุด Expedition ที่อยู่ก่อนหน้าก็จะย้ายไปชุด Expedition ที่มาใหม่

ลูกเรือภารกิจ Expedition 16 โดยมี Peggy Whitson จากสหรัฐฯ เป็นผู้บัญชาการสถานี เป็น – ที่มา NASA

ยกตัวอย่าง เช่น เรามี Expedition 70 มีลูกเรือรวม 6 คน ชื่อ A, B, C, D, E และ F โดย A, B, C นั้นเป็นชุดที่ถูกย้ายมาจากชุดก่อนผ่าน Indirect Handover นั้นก็คือ A, B, C เป็นลูกเรือของ Expedition 69 มาก่อนและ Expedition 69 ครึ่งหนึ่ง (3 คน) ก็ถูกส่งกลับโลกไปแล้ว (เพราะ 3 คนนั้นเป็นลูกเรือของชุดก่อนอีกที ซึ่งก็คือชุด 68) ตอนนี้ก็เหลือแค่ 3 คนคือ A, B และ C เป็น Expedition 69/70 แทน

D, E, F นั้นเป็นชุด Expedition 70 แท้ ๆ ที่จะถูกปล่อยตามขึ้นมารวมกับชุด 69 กลายเป็นชุด Expedition 70 แบบจริง ๆ และพออีกสักพักเมื่อชุด 69 ที่ย้ายมา 70 ซึ่งก็คือ A, B และ C อยู่ครบอายุภารกิจก็จะถูกส่งกลับโลก Expedition 70 ก็จะเหลือ 3 คนรอชุด Expedition 71 มาเพิ่ม วนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วก็วนมาตั้งแต่ชุด Expedition 13 แล้ว

พื้นที่ในยาน Soyuz ที่น้อยมากซึ่งบรรจุนักบินอวกาศได้เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น – ที่มา ESA

จะเห็นว่า Indirect Handover นั้นจะมีช่องว่างระหว่างสับเปลี่ยนลูกเรือซึ่งทำให้ลูกเรือของ ISS เหลืออยู่เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น ซึ่งก็จำเป็นต้องทำเพราะว่า ณ ช่วงนั้น NASA ไม่มีจรวดไม่มียานในการส่งลูกเรือไปเองต้องพึง Soyuz (ที่ขนคนได้น้อยมาก)

Direct Handover คืออะไร

การเข้ามาของ Commercial Crew Program ต่าง ๆ เช่น Crew Dragon นั้นทำให้เราสามารถกลับมาทำ “Direct Handover” ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มจำนวนลูกเรือสูงสุดบน ISS เป็น 7 ได้อีกด้วย ซึ่งหลักการง่าย ๆ ของ Direct Handover ก็คือยัดมันเข้าไปเลย

Expedition ที่หมดอายุภารกิจ ทั้ง Expedition (ทุกคนใน Expedition) จะอยู่รอ Expedition ใหม่มา ถึง ISS ไม่มีแบ่งกลับครึ่งหนึ่งเหมือน Indirect Handover เมื่อ Expedition ใหม่มาถึงสักระยะ Expedition ที่หมดอายุภารกิจค่อยเดินทางกลับโลกพร้อมกันทั้ง Expedition

นักบินอวกาศในชุด Expedition 64 – ที่มา NASA

นั้นก็คือระหว่างเปลี่ยนลูกเรือ ISS จะมีลูกเรือมากกว่าปกติ เพราะมีชุดลูกเรือสอง Expedition อยู่ด้วยกันทั้งชุด อย่างเช่น Expedition ในปัจจุบันซึ่งก็คือ Expedition 64/65 เป็นการอยู่ร่วมกันของ Expedition 64 และ Expedition 65 ทั้งชุด โดย Expedition 64 นั้นเป็นลูกเรือจาก Crew-1 ทั้งหมด 4 คนและ Soyuz MS-18 อีก 3 คน ส่วน Expedition 65 นั้นเป็นลูกเรือที่พึ่งเดินทางมาถึง ISS จากภารกิจ Crew-2 อีก 4 คน รวมเป็น 11 คนบน ISS ในตอนนี้ และมีอีก 1 คนกำลังจะตามมาในภารกิจ MS-19

นักบินอวกาศในชุด Expedition 65 – ที่มา NASA

ลูกเรือของ Expedition 64 จะทยอยเดินทางกลับโลกตามยานที่ตัวเองมาโดยมากับยานไหนก็กลับกับยานนั้นพร้อม ๆ กัน ไม่มีแบ่งกลับกับยาน Soyuz เหมือนเมื่อก่อนนั่นเอง

ISS เคยมีลูกเรืออยู่พร้อมกันมากสุดถึง 13 คน 3 ครั้งระหว่างภารกิจกระสวยอวกาศหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งเป็นการรวมกันของลูกเรือที่อยู่บน ISS อยู่แล้ว 6 คนกับลูกเรือของกระสวยอวกาศที่ขึ้นมาทำภารกิจอีก 7 คน รวมเป็น 13 คน ในภารกิจ STS-127 และ STS-131 เมื่อปี 2009 และ STS-131 เมื่อปี 2012

ลูกเรือ Expedition 23 จำนวน 6 คน (เสือสีฟ้าอ่อน) และลูกเรือ STS-131 จำนวน 7 คน (เสือสีดำ) รวมกัน 13 คนบน ISS – ที่มา NASA

ครั้งที่ Crew-2 มาถึง ISS นั้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่มีลูกเรือบน ISS มากถึง 11 คน ครั้งสุดท้ายที่มีลูกเรือจำนวนเท่านี้คือเมื่อปี 2010

หลาย ๆ คนน่าจะมีคำถามว่าแล้วลูกเรือที่จบภารกิจใน Expedition ตัวเองแล้วแต่รอ Expedition ใหม่มาอยู่หรือ Expedition ใหม่มาแล้วรอกลับโลก เขาทำอะไรกัน? คำตอบก็คือลูกเรือที่จะกลับโลกส่วนใหญ่จะเตรียมเก็บข้าวเก็บของกลับโลก ซ้อมขั้นตอนการกลับโลกต่าง ๆ รวมถึงเก็บตัวอย่างการทดลองต่าง ๆ ที่ต้องเอากลับด้วย ส่วน Expedition ที่มาใหม่ก็จะทำภารกิจปรับตัวต่าง ๆ เพื่อให้ชินกับ ISS

แล้วคนเยอะขนาดนี้เขาไปอยู่ไหนกันอาจจะสงสัย บน ISS นั้นจริง ๆ แล้วมีห้องสำหรับลูกเรือเป็นจำนวนมากรวมถึงที่นอนด้วย เราเรียกห้องนี้ว่า Permanent Crew Quarter หรือห้องพักลูกเรือถาวร ซึ่งมีถึง 7 ห้องบน ISS เลยทีเดียว แบ่งเป็น 4 ห้องใน Harmony Module (Node 2 ของฝั่งสหรัฐ) 1 ห้องใน Columbus Module ของ ESA และ 2 ห้องใน Zvezda Module ของรัสเซีย

ภาพภายใน Crew Quarter ของ ISS ในภาพคือนักบินอวกาศ Nicole Scott – ที่มา NASA

แน่นอนว่าเมื่อมันมีคำว่า Permanent (ถาวร) หมายความว่ามันต้องมี Temporary (ชั่วคราว) ระหว่างที่บน ISS นั้นมีลูกเรือมากกว่าที่ Permanent Crew Quarter ทั้งหมดจะรองรับไหวโดยเฉพาะช่วง Direct Handover ที่ลูกเรือจาก 2 Expedition เต็ม ๆ อัดกันอยู่ทำให้ที่นอนใน Crew Quarter ไม่พอ

นักบินอวกาศ Shannon Walker และ Michael Hopkins ขณะกำลังติดตั้ง Alternate Sleep Accommodation หรือที่นอนชั่วคราวสำหรับรองรับลูกเรือทั้งหมด 11 คนบน ISS ซึ่งเมื่อไม่ได้ใช้สามารถทำเป็นที่เก็บของได้ – ที่มา NASA

ในอวกาศนั้นลูกเรือไม่รู้สึกถึงน้ำหนัก ทำให้จะนอนที่ไหนก็ได้ไม่ต้องมีเตียง ลูกเรือส่วนหนึ่งจึงจะหาจุดที่เรียกว่า “Campout” สำหรับนอนหลับชั่วคราว ซึ่งจะเป็นที่ไหนก็ได้ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ น้อย ๆ เช่น Airlock หรือถ้าอยากได้โมดูลใหญ่ ๆ ห้องใหญ่ ๆ ก็อาจจะไปนอนใน Kibo Module ของฝั่งญี่ปุ่น (ซึ่งใหญ่โคตร) หรือใครอยากไปนอนยานตัวเองอย่างยาน Crew Dragon ก็สามารถนอนได้เช่นกัน

ทั้งนี้เพื่อรอให้ลูกเรือของ Expedition ที่หมดอายุภารกิจกลับโลกก่อนจึงจะมี Crew Quarter เพียงพอสำหรับลูกเรือทุกคน ถึงอย่างนั้นก็ตามลูกเรืออยากนอนที่ไหนก็ตามใจเลย (ที่ไม่ใช่นอก ISS) แค่ Flight Controller อนุญาตก็พอ อย่าง Mike Hopkins นักบินอวกาศของ NASA ในภารกิจ Crew-1 ก็นอนแต่ใน Crew Dragon ตลอดระยะเวลาภารกิจกว่า 6 เดือน

นักบินอวกาศและผู้บัญชาการภารกิจ Crew-1 Michael Hopkins พร้อมกับที่นอนของเขาในยาน Crew Dragon Resilience ซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับ ISS – ที่มา NASA

ลูกเรือแต่ละชุด Expedition จะมีอายุภารกิจเฉลี่ย 6 เดือน โดย Expedition ชุดหนึ่งนั้นจะประกอบไปด้วยลูกเรือจากทั้ง Crew Dragon และ Soyuz ซึ่งจะมาถึง ISS และกลับโลกไม่พร้อมกันทำให้จะมี Handover 2 ครั้งในการสับเปลี่ยน Expedition หนึ่งที และ Expedition แต่ละชุดนั้นมีอายุ 6 เดือน ทำให้เราจะเห็นการทำ Handover ทั้งหมด 4 ครั้งต่อปีนั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.