เล่าประสบการณ์การทำข่าวปล่อย Falcon 9 ในฐานะสื่อของ NASA

บทความนี้ค่อนข้างเป็นมุม Personal ครับ ตลอดระยะเวลาการคอนเทนต์ด้านอวกาศมาตลอด 10 ปีของผม การได้ไปรายงานสดจากฐานปล่อยเป็นความฝันมาโดยตลอด ผมเริ่มรายงานข่าวการ Launch หรือการปล่อยยานอวกาศมาตั้งแต่ปี 2014 ผ่านเว็บไซต์เล็ก ๆ ในตอนนั้นที่ชื่อว่า Nutn0n Blog ที่ ถ้าใครติดตามกันมาตั้งแต่ตอนนั้นผมก็อยากจะขอบคุณและอุทิศบทความนี้ให้ทุกท่านครับ การปล่อยยานอวกาศครั้งแรกที่ผมได้เขียนบอกเล่าเป็นคอนเทนต์ คือการปล่อยเที่ยวบินทดสอบแรกของยาน Orion ในวันที่ 5 ธันวาคม 2014 ด้วยจรวด Delta IV หลังจากนั้น ผมได้รายงานความคืบหน้าของการลงจอดจรวด Falcon 9 มาโดยตลอด จนกระทั่ง Falcon 9 สามารถลงจอดบนฐานปล่อยได้สำเร็จในเที่ยวบิน Orbcomm-OG2 ในวันที่ 22 ธันวาคมปี 2015 และการลงจอดบนเรือสำเร็จครั้งแรกในวันที่ 8 เมษายน 2016

คำเตือน บทความนี้ยาวมาก ดังนั้นแนะนำให้หาเวลาอ่านทีเดียวให้จบนะครับ จะได้เก็บมวลอารมณ์ของบทความได้อย่างเต็มที่

Falcon 9 เป็นจรวดลำนึงที่ผมค่อนข้างผูกพันและแชร์ Timeline กับหลาย ๆ เหตุการณ์ในชีวิต การได้เห็นการปล่อย Falcon 9 จริง ๆ ตรงหน้า และการกลับมาลงจอดที่ฐานปล่อย จึงเป็นมากกว่าแค่งานหนึ่งชิ้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางสำหรับอาชีพ “นักข่าวสายอวกาศ” หรือ “Space Journalist” ที่ผมพยายามให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งเว็บไซต์สเปซทีเอชครับ และจะดีแค่ไหน ถ้าวันนี้ผมบอกว่า โอกาสของการทำงานนี้ไม่ได้ไกลเกินเอื้อม เมื่อผมมีโอกาสได้รับเชิญจาก NASA ให้เข้าร่วมชมการปล่อย Falcon 9 ในภารกิจกิจปล่อยยานอวกาศ PACE ณ แหลมคะเนอเวอรัล รัฐฟรอลิดา บ้านของ NASA และจุดเริ่มต้นของการสำรวจอวกาศในสหรัฐฯ ในฐานะ International Media เจ้าเดียวในภารกิจวันนั้น

ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่า ในเดือนมิถุนายน 2023 ผมได้มีโอกาสเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของ SpaceX ในเมืองฮาวโทรน ในแคลิฟอร์เนีย และสัมผัสกับความสูงใหญ่ของจรวด Falcon 9 ที่ตั้งกระหง่านอยู่หน้าสำนักงานใหญ่ โดยจรวดลำนี้เป็นจรวดที่มีความหมายของ SpaceX และมีความหมายกับผมมากเช่นกัน เนื่องจากมันคือจรวดลำเดียวกับที่ผมได้รับชมการลงจอดสำเร็จครั้งแรก ในเดือนธันวาคมปี 2015 ซึ่งในตอนนั้นผมต้องโดดเรียนเพื่อมานั่งรายงานข่าวนี้ และนั่งเขียนบทความจนไม่ได้เรียนหนังสือแทบทั้งวัน การที่ได้เห็นจรวดลำนี้อยู่ตรงหน้ากับตา ก็เรียกว่าเป็นความรู้สึกที่มีความหมายมาก

จรวด Falcon 9 ที่หน้าสำนักงานใหญ่ของ SpaceX ในแคลิฟอร์เนีย

พักเรื่องจรวด Falcon 9 ก่อน ผมต้องเท้าความว่า การเดินทางไปยัง NASA ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แตกต่างกับที่ผมเคยพาทุกคนไปเยี่ยมชม NASA Jet Propulsion Laboratory ก่อนหน้านี้อย่างมาก เพราะในรอบนั้น ผมใช้เวลาจัดการเอกสาร และทำแผนอยู่ราว 3 เดือนได้ ในขณะที่การเดินทางไปยัง NASA Kennedy Space Center รอบนี้ เกิดขึ้นจริง ๆ ในเวลาเพียงแค่หลักสัปดาห์เท่านั้น

NASA Accredited Media

รู้หรือไม่ครับ ว่า NASA นั้น ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็จะเข้าไปทำข่าวได้ แต่ NASA จะอนุญาติให้สื่อที่มีตัวตนจริง ๆ มีผลงานการตีพิมพ์จริง ๆ เท่านั้นที่สามารถเข้าไปได้ โดย NASA จะเรียกสื่อในลักษณะนี้ว่า Accredited Media

แต่ต้องเล่าให้ฟังด้วยว่า NASA นั้นมีโครงการอีกหนึ่งโครงการที่ชื่อว่า NASA Social ซึ่งจะเป็นการคัดเลือกเอาคนทำเว็บไซต์ หรือเพจ หรือช่อง YouTube ต่าง ๆ มาร่วมโครงการ สามารถกรอกใบสมัครเพื่อเข้าร่วมการทัวร์แบบพิเศษได้ โดยคนไทยที่เคยเข้าร่วมโครงการในลักษณะนี้ก็คือ คุณนีน่า หทัยชนก ทีมคอนเทนต์ของสภาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่เคยเข้าร่วมโครงการ NASA Social ในปี 2019 และได้เดินทางไปยัง JPL เพื่อทำคอนเทนต์มาแล้ว

ซึ่งวัตถุประสงค์ของ NASA Social กับ Accredited Media นั้นจะต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ เพราะเท่าที่ทราบมา Accredited Media นั้นเปรียบเสมือนนักข่าวเจ้าประจำ ในขณะที่ NASA Social จะเน้นการสรรหาบุคคลกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาให้เกิดความหลากหลาย แต่ก็แอบน่าอิจฉาที่ NASA Social นั้นมีโอกาสที่จะได้เข้าไปดูอะไรที่ลึกกว่า Accredited Media อยู่มากพอสมควร แต่ Accredited Media ก็จะดีตรงที่เหมือนเราได้เป็นที่รู้จักกับ NASA แล้ว

ซึ่ง Accredited Media นี้ ก็จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ก็คือสื่อในประเทศ และสื่อ International ซึ่งโดยปกติ NASA จะไม่ได้เปิดรับ Internaional Media บ่อย ๆ เพราะข้อจำกัดด้านความปลอดภัยและนโยบายการรักษาความลับ ทำให้มีเพียงแค่บาง Event เท่านั้น ที่ NASA เปิดให้ Internaional Media สมัครได้

โดยการสมัครจะทำผ่านเว็บไซต์ News Media Accreditation ครับ

เว็บไซต์ระบบ Media Accreditation ของ NASA สังเกตคือจะมี Foreign National Media Application อยู่ สามารถสมัครเข้าชม Event ต่าง ๆ ได้ หรือจะขอ Approve การเข้าไปทำข่าวก็ได้

ผมเคยส่งชื่อของตัวเองเข้าไปเป็น Accredited Media ตั้งแต่ช่วงปี 2021 แต่ก็ยังไม่ได้ถูกรับเลือก จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2023 NASA ได้ประกาศให้สามารถส่งชื่อ Internaional Media เข้าร่วมการปล่อยยาน PACE ซึ่ง ณ ตอนนั้น ยังไม่ได้ระบุวันปล่อยชัดเจน ผมจึงลองส่งชื่อของตัวเองเข้าไป และแอบหวังว่าจะได้รับเลือกเนื่องจากตัวเอง มีชื่ออยู่ในระบบ IDMax ของ NASA (ระบบที่ NASA ใช้จัดการกับผู้ติดต่อภายนอก ทั้งผู้รับเหมา นักข่าว และคนจากองค์กรอื่น)

เหตุการณ์ทั้งหมด ไล่เรียง Timeline ได้ตามนี้ครับ

12 ธันวาคม 2023 ผมลงชื่อสมัคร Internaional Media ของการปล่อยยาน PACE ไป โดยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก หลังจากนั้น 16 มกราคม 2024 ผมได้รับการติดต่อจากคุณเต๊นท์ แห่ง JPL ว่าได้รับอีเมลจากระบบ IDMax ให้มา Escort (ผู้คุ้มกันการเยี่ยมชม) ให้กับผมที่ Kennedy Space Center ซึ่งอาจจะเกิดจากบั๊กของระบบ ผมจึงได้ติดต่อไปยังทีมดูแลสื่อของ Kenndy Space Center ก็ได้ทราบว่า รายชื่อของผมนั้นติดอยู่ใน Accredited Media เรียบร้อย แต่ยังไม่ได้ยืนยันการเข้าร่วมการปล่อย ส่วนที่อีเมลไปแจ้งเตือนคุณเต๊นท์นั้น เป็นบั๊กของระบบ IDMax ครับ (ซึ่งมันกากมาก ผมมีปัญหากับระบบนี้ทุกครั้งที่ทำงานกับ NASA)

โดยหากเรามี IDMax แล้ว นั่นหมายความว่าเราจะสามารถเข้าสู่ระบบต่าง ๆ ที่เป็นการจัดการผู้ใช้งานภายในของ NASA ได้ ก็คือระบบ NASA Acess Launch Pad ครับ

ระบบ NASA Access Launch Pad ในการอัพโหลดเอกสารต่าง ๆ

31 มกราคม 2024 ผมได้รับอีเมลยืนยันว่า ผมได้เป็น Internaional Media สำหรับการปล่อยภารกิจ PACE อย่างเป็นทางการ และ NASA ได้แจ้งวันปล่อยยานเป็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2024 (ซึ่งจริง ๆ คือคืนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เนื่องจากตัวยานปล่อยในเวลาประมาณตีหนึ่ง) นั่นหมายความว่า ผมมีเวลาเตรียมตัวทั้งสิ้น 5 วันเท่านั้น ในการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา

โดยเอกสารที่ NASA ส่งมาให้ ผม List มาให้คร่าว ๆ เป็นข้อมูลให้พอเห็นภาพประมาณนี้ครับ

Directions to Kennedy Space Center Badging Office on SR-405

Directions to the Kennedy Space Center Press Accreditation Building on SR 3

นอกจากนี้ NASA ก็จะส่งข้อมูลส่วนอื่น ๆ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละ Event เช่น การวาง Remote Camera Setup หรือช่องสัญญาณสำหรับต่อออก Feed ต่าง ๆ (ซึ่งอธิบายไปตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพ เดี๋ยวให้ดูภาพใน Press Site ครับ)

ซึ่งนั่นหมายความว่า 5 วันนี้ คือวันที่ผมใช้ในการจองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบิน เพื่อเดินทางไปยังอเมริกาด่วนทันที โดยในรอบนี้ ผมเดินทางกับสายการบิน Cathey Pacific ไปเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง เพื่อนัดคุยงานกับคุณ เชงจ์ โชติทิวัตถ์ ที่ฮ่องกง และได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาต่อ

เดินทางมาเปลี่ยนต่อเครื่องที่สนามบิน Chek Lap Kok ที่ฮ่องกงก่อนที่จะบินยาว 15 ชั่วโมงต่อไปที่เมืองบอสตัน

ที่ฮ่องกงผมยังได้นัดเจอกับคุณปั๊บ ชยภัทร เพื่อนร่วมเดินทางในทริปนี้ที่บินตามมา อย่างไรก็ตาม คุณปั๊บไม่ได้สิทธิ์ในการร่วมทำข่าวเพราะไม่ได้ส่งชื่อไปตั้งแต่ตอนแรก โดยเราสองคนเดินทางจากฮ่องกงไปยังสนามบิน Boston Logan International Airport ที่บอสตัน ในช่วงค่ำของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2024 และได้นอนค้างที่สนามบิน 1 คืน

พวกเรานอนพักก่อนบินต่อกันที่โรงแรม Hyatt ที่สนามบิน Boston Logan ครับ

เช้าวันถัดมา พวกเราเดินทางจากสนามบิน Boston Logan มายังสนามบิน Orlando รัฐฟรอลิดา ด้วยสายการบิน Jet Blue ออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืดและถึงที่ Orlando เวลาประมาณ 9 โมงเช้า

รอบนี้ผมเลือกใช้บริการสายการบิน Jet Blue เนื่องจากมีความ Flexible เรื่องเวลาสูง หากเกิดการเลื่อนหรือยกเลิกการปล่อย ก็จะสามารถเปลี่ยนหรือขอคืนเงินได้เต็มจำนวนครับ

สำหรับภารกิจในวันนี้นั้น ก็คือการเดินทางไปรับ Badge สำหรับเข้า NASA โดย ผมจะต้องถือบัตรทั้งหมด 2 ใบด้วยกัน ได้แก่

  • Badge สีเขียวเข้ม สำหรับเข้าไปยังบริเวณต่าง ๆ ของ NASA Kenndy Space Center ซึ่งใบนี้จะต้องรับที่ NASA Badge Office ซึ่งตั้งอยู่ก่อนถึงรั้วทางเข้า NASA Kenndy Space Center ในเวลาทำการ (ก่อนบ่ายสามโมง)
  • Badge สีเขียวอ่อน เป็นบัตรนักข่าว ซึ่งจะออกให้สำหรับแต่ละ Event ในกรณีนี้คือ SpaceX PACE Launch โดยบัตรใบนี้ จะต้องรับที่ Accredited Media Office บริเวณใกล้ ๆ กับประตูอีกฝั่งหนึ่งของ NASA บัตรใบนี้ จะรับได้ในคืนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ก่อนการปล่อย
ผมและคุณปั๊บ ขณะเดินทางบนทางหลวงหมายเลข 528 จากสนามบินไปยัง Merrit Island

การเดินทางในสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าเราจะต้องขับรถเป็นหลัก ผมได้เช่ารถจากบริษัท Sixt เช่นเคย โดยรอบนี้ได้เช่าเป็น BMW Series 4 ครับ เนื่องจากช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนเลนโดยไม่ใช้ไฟเลี้ยวและขับจี้ตูดใครก็ได้ (ล้อเล่นครับ สนับสนุนให้ทุกคนขับรถอย่างเคารพกฏหมาย) เดินทางออกจากสนามบิน Orlando เป้าหมายแรกก็คือการเดินทางไปยัง NASA Bading Office

NASA Badging Office

ในการเดินทาง เราจะขับรถจากสนามบินมายังทิศตะวันออก (East Bound) บนทางหลวงหมายเลข 528 อยู่ประมาณ 40 นาที ก่อนที่จะเบี่ยงซ้าย เพื่อเข้ามายังเกาะที่ชื่อว่า Merrit Island ซึ่งเป็นที่ตั้งของ NASA Kenndy Space Center ครับ โดยในการข้ามมายังเกาะ เราจะต้องข้ามแม่น้ำที่ชื่อว่า Indian River และบนสะพานนี้เองครับ ที่เราได้เห็นอาคาร VAB หรือ Vehicle Assembly Building ของ NASA อยู่ที่ปลายขอบฟ้า เป็นสัญลักษณ์ว่าเราได้เดินทางมายัง Kennedy Space Center เรียบร้อย

ผมถ่ายบรรยากาศข้างทางมาให้ดู เหมือนขับรถอยู่เขาใหญ่เลยครับ

ก่อนอื่นผมอยากอธิบายแผนที่บริเวณนี้ให้ฟังก่อนนะครับ จะได้เข้าใจกัน เมืองที่อยู่ติดกับทางเข้า NASA จะชื่อว่า Titusville ซึ่งเมืองนี้ทั้งเหมืองจะมีความเป็นธีมอวกาศอยู่ในตัว คือจะมีร้านอาหาร บาร์ และโรงแรมต่าง ๆ เป็นธีมอวกาศ ในขณะที่เมืองทางตอนใต้ของแหลมคะเนเวอรัล จะชื่อว่า Cocoa Beach เป็นชายหาดลากยาวลงไปทางทิศใต้ ซึ่งบริเวณนี้ก็จะใกล้เคียงกันกับ Titusville แต่จะมีความเป็นเมืองท่องเที่ยวมากกว่า มีกิจกรรมให้ทำหลากหลายโดยเฉพาะการเล่นกระดานโต้คลื่น

และบริเวณ Cocoa Beach นี้เอง ก็ยังเป็นที่ตั้งของ Cape Caneveral Port หรือท่าเรือคะเนเวอรัล ซึ่งใครที่มาขึ้นเรือสำราญจากฝั่งฟรอริดาก็จะต้องมาขึ้นที่นี่นี่แหละครับ แถมยังเป็นที่ฐานประจำการของการเก็บกู้จรวด Falcon 9 ของ SpaceX ด้วยเช่นกัน

ในส่วนของบริเวณที่หลังจากนี้เราจะเรียกว่าเขตหวงห้าม หรือเขตที่ต้องใช้ Badge เข้า จะมีสองส่วนด้วยกันนะครับ ส่วนแรกคือ Kennedy Space Center (KSC) และส่วนที่สองคือ Cape Canaveral Space Force Station (CCSFS) ซึ่งเป็นจุดที่ฐานปล่อย SpaceX อยู่ แต่เนื่องจากเราจะไม่ได้เดินทางเข้าไปที่ CCSFS อยู่แล้ว จึงจะพูดแบบเหมา ๆ รวมเพื่อความง่ายต่อการอธิบาย

แผนที่แสดงจุดที่ผมจะพูดถึงในบทความนี้ครับ รั้วสีแดงที่ผมวาดไว้คือพื้นที่หวงห้าม จะเข้าได้ต้องใช้ Badge ครับ

หลังจากนั้นเราจะลงจากทางหลวงและขับต่อไปทางทิศเหนือของ Merrit Island เพื่อไปยัง Badging Office ครับ โดยเราจะขับผ่านถนนที่ชื่อว่า Kenndy Park Way และ Space Commerce Way ที่เป็นที่ตั้งของบริษัทอวกาศต่าง ๆ เช่น Blue Origin

โรงงานของ Blue Origin ซึ่งใช้สำหรับการประกอบจรวด New Glenn รุ่นใหม่ บน Space Commerce Way

เมื่อเดินทางมาถึง Bading Office เราก็จะเห็นรถมากมายหลากหลายประเภท โดยเฉพาะรถบรรทุก รถขนวัสดุหนัก มาต่อคิวเข้ากัน ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องไปต่อคิวกับเขานะครับเนื่องจากเราจะไม่ได้นำรถเข้าไป สามารถขับเข้าเลนสองและจอดรถที่หน้าลานจอดได้เลย และเดินเข้าไปที่อาคาร รับบัตรคิวและรอเรียกคิวครับ

บรรยากาศด้านหน้าอาคาร NASA Badging Office

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการทำ Green Badge ตัวนี้ก็คือ Passport ตัวจริง และเลข IDMax ที่เราได้รับจากอีเมลครับ เมื่อถึงคิวก็แจ้งเจ้าหน้าที่ได้เลย ระบบจะมีชื่อของเราอยู่แล้วว่าเรามาทำอะไร เข้าได้วันที่เท่าไหร่ สำหรับของผมก็คือเอาอีเมลที่ได้รับที่มีเลข IDMax ให้เจ้าหน้าที่ดู ก็จะต้องถ่ายรูป และได้บัตรออกมา คล้าย ๆ กับการออกบัตรทั่วไปครับ ซึ่งบัตรใบนี้จะต้องอยู่กับเราตลอดเวลาที่เราอยู่ใน NASA ห้ามทำหายครับ แต่ถ้าทำหายก็สามารถมาออกบัตรใหม่ได้

บรรยากาศใน NASA Badging Office ที่จะมีผู้ติดต่อหลากหลายประเภทเข้ามาทำบัตรครับ

ผมได้รับบัตร หลังจากรวมเวลารอคิวและออกบัตรประมาณ 1 ชั่วโมงครับ ถือว่าไม่ช้า ไม่เร็ว สำหรับงานด้านเอกสารโดยเฉพาะกับหน่วยงานรัฐอย่าง NASA ที่ต้องพูดแบบนี้เพราะ แม้พวกเราจะรู้จัก NASA กันในนามหน่วยงานอวกาศสุดล้ำแต่แท้จริงแล้ว ก็ให้นึกภาพว่า NASA ก็คือหน่วยงานรัฐหน่วยงานนึงนั่นแหละครับ เต็มไปด้วยระบบ Bureaucracy ต่าง ๆ ไม่แพ้หน่วยงานในประเทศไทย เผลอ ๆ บางหน่วยงานในไทย ยังจัดการกับ Bureaucracy ได้ดีกว่า NASA เสียด้วยซ้ำครับ

ตอนนี้ก็เป็นเวลาประมาณบ่ายโมงนิด ๆ ครับ เป็นช่วงเวลาว่าง ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากกว่าจะเข้าไปยัง Acredited Media Site ได้ก็ต้องรอเวลาประมาณสี่ทุ่มเลยทีเดียว ทำให้เราสามารถใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณครึ่งวันนี้เที่ยวชม Visitor Center ของ Kennedy Space Center รอครับ ซึ่งที่นี่ก็มีกิจกรรมให้ทำเยอะอยู่ทีเดียว รวมถึงได้นั่งรถไปยัง Apollo Center ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเก็บจรวด Saturn V หนึ่งในไม่กี่ลำที่หลงเหลืออยู่ในสหรัฐฯ และชมกระสวยอวกาศ Atlantis ที่จัดแสดงอยู่ โดยค่าเข้าชมนั้นอยู่ที่คนละ 80 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,900 บาท จัดว่าแพงเลยทีเดียว แต่ยืนยันว่าคุ้มค่าและห้ามพลาดครับ

เป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อยก็คือ ที่ค่าตั๋วแพงขนาดนี้ เพราะ NASA ไม่ได้เอาภาษีประชาชนมาใช้จ่ายในส่วน Visitor Center เลย เรียกได้ว่า มี Business Model เป็นของตัวเองจากการขายบัตร และรับ Sponsor จากบริษัทอวกาศต่าง ๆ เช่น Lockheed Martin หรือ Boeing ครับ ทำให้ส่วน Visitor Center นั้นอยู่ได้ด้วยตัวเองจากเงินค่าตั๋วของพวกเรา ๆ นี่แหละครับ

ซึ่งบทความนี้เราจะยังไม่โฟกัสที่ตัว Vistor Center นี้กันนะครับ แต่จะโฟกัสไปที่การทำงานก่อน สำหรับใครที่อยากตามพวกเรามาเที่ยว รอติดตามรีวิว Visitor Center กันต่อได้ครับ

หลังจากที่เที่ยวกับเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาเย็นพอดีครับ เราจะไปเช็คอินโรงแรมที่ได้จองไว้ ซึ่งโรงแรมที่เรานอนกันก็คือ Courtyard by Marriott Titusville Kennedy Space Center ซึ่งเป็นโรงแรมที่อยู่ใกล้กับสะพานที่เชื่อมต่อไปยัง NASA โดยตรง และเป็นโรงแรมในบริเวณนั้นที่อยู่ใกล้กับ NASA ที่สุดด้วยครับ

โรงแรม Courtyard by Marriott Titusville Kennedy Space Center ที่เราพักกันในคืนนี้

อยากพูดถึงโรงแรมนี้ซักหน่อย เนื่องจากเป็นโรงแรมที่เหมาะกับเนิร์ดอวกาศมากครับ เพราะว่าด้านในจัดเป็นธีมอวกาศ เข้าไปก็จะเจอกับจรวด Atlas V ตั้งต้อนรับอยู่พร้อมกับ Poster งานอวกาศต่าง ๆ เช่น โครงการ Artemis ทีวีด้านในจะเปิดสารคดีเกี่ยวกับอวกาศ มีขายของที่ระลึกเกี่ยวกับอวกาศ และอุปกรณ์สำหรับชมการปล่อย เช่น กล้องส่องทางไกล ยากันยุง เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ถ้าใครมาดู Launch จะต้องได้ใช้บริการแน่ ๆ รวมถึงจะมีจอที่ใช้บอกตารางการปล่อยต่าง ๆ ไว้อย่างครบครัน

บรรยากาศด้านล่างของโรงแรม ช่างเหมาะกับการมาทำข่าวอวกาศมาก ๆ

และที่สำคัญก็คือบนดาดฟ้าของโรงแรม ยังเป็นที่ตั้งของบาร์ที่ชื่อว่า Space Bar เป็นจุดที่ให้ผู้คนมาชมการปล่อยจรวด พร้อมสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มมารับประทานได้ ซึ่งแนะนำมากครับสำหรับใครที่ต้องการจะเดินทางมาดู Launch เพราะที่นี่เขาอำนวยความสะดวกขั้นสุด อย่างไรก็ตาม การปล่อยของเราในวันนี้เป็นช่วงหลังจากที่บาร์ปิดทำการแล้ว แต่แขกของโรงแรมก็จะสามารถขึ้นมาดูการปล่อยด้านบนนี้ได้ครับ

โมเดลจรวด Atlas V ของบริษัท United Launch Alliance บริเวณเลาจน์ของโรงแรม

ส่วนในห้องพัก ก็เนิร์ดไม่แพ้กัน มีหนักสื่ออวกาศ และมีกล้องส่องทางไกลยี่ห้อ Celestron วางไว้ให้ใช้ ซึ่งเขาไม่ได้ให้นะครับ เอาไปใช้ได้แต่ต้องเอามาคืนด้วย

ผมเดินทางมารับประทานอาหารและนอนพักผ่อนเอาแรง ก่อนที่จะลุกออกจากโรงแรม เพื่อเตรียมเดินทางไปยัง NASA Accredited Media Office เพื่อรับป้าย และเตรียมนั่งรถไปยังจุดชมการปล่อยที่ Press Site ครับ

Accredited Media Office

เวลาสามทุ่มครึ่ง ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ผมขับรถออกมาจากโรงแรมเพื่อตรงไปยัง Accredited Media Office ซึ่งตั้งอยู่ห่างจาก Badging Center ที่เราเข้าไปทำบัตรตอนกลางวันกันเล็กน้อย แต่เมื่อเดินทางไปถึงก็ปรากฎว่า ไม่เจอใครเลยครับ เข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้เจอกับทีมงาน NASA ที่เราพูดคุยกันผ่านอีเมลตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้รับแจ้งว่า การปล่อยถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากสภาพอากาศครับ

บรรยากาศภายใน NASA Accredited Media Office

ซึ่งสภาพอากาศนี่แหละคือสิ่งที่ผมกังวลมาตลอดตั้งแต่นั่งเครื่องบินมายัง Orlando เนื่องจากเช็คสภาพอากาศมาก็พบว่ามีโอกาสฝนตกและลมกระชากแรง ซึ่งเจอแบบนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ครับต้องกับรถกลับไปวางแผนต่อที่โรงแรมว่าจะเอาอย่างไรกับผลที่ออกมา ซึ่งการปล่อยถูกเลื่อนออกไปจากเดิม 24 ชั่วโมง เป็นของคืนวันที่ 6 (เช้ามืดวันที่ 7) แทน

บัตรสีเขียวอ่อน สำหรับนักข่าว โดยบัตรนี้จะออกโดย Accredited Media Office ของ NASA ครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปที่ Accredited Media Office แล้ว เจ้าหน้าที่ก็เลยจัดการให้บัตรสีเขียวอ่อนสำหรับนักข่าว สอบถามไปสอบถามมาก็พบว่า ผมเป็น International Media เจ้าเดียวสำหรับการปล่อยในรอบนี้ด้วยครับ

กิจกรรมในขณะรอการปล่อย

ต้องบอกว่าการเลื่อนการปล่อยเป็นอะไรที่ปกติในงานอวกาศมาก ๆ อยู่แล้วครับ ก่อนที่จะมาก็ทำใจไว้หมดแล้วว่ามีโอกาสเลื่อน ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ผมถึงตัดสินใจบินมาลงที่ Boston ก่อน และซื้อตั๋วเครื่องบิน Jet Blue แบบ Flex เพื่อมายังคะเนเวอรัล ก็เพื่อให้สามารถแพลนและขยับเขยื้อนตารางได้สะดวกครับ

โดยแผนของผมก็คือ ผมซื้อตั๋วแบบเลื่อนไม่ได้เพื่อให้เดินทางถึงสหรัฐฯ ในวันที่ 5 และมีตั๋วขากลับในวันที่ 10 นั่นหมายความว่า หากการปล่อยเกิดขึ้นตามแผน หลังจากภารกิจเสร็จสิ้นที่คะเนอเวอรัล ผมจะสามารถบินกลับไปยัง Boston เพื่อเที่ยวต่อได้ (ในกรณีนี้ ผมนัดคุณพีพี พัทน์ ภัทรนุธาพร แห่ง MIT Media Lab ไว้) แต่หากเลื่อนการปล่อย ผมจะมีโอกาสที่จะอยู่ได้จนถึงวันที่ 9 รวมมีโอกาสให้เลื่อนการปล่อย 3 ครั้งด้วยกัน คือปล่อยคืนวันที่ 5 (แผนเดิม) 6 (เลื่อนครั้งที่หนึ่ง) 7 (เลื่อนครั้งที่สอง) และ 8 (เลื่อนครั้งที่สาม)

อย่างไรก็ตามในรอบนี้ คุณปั๊บ มีภารกิจที่ MIT Media Lab จึงต้องบินกลับก่อนในเช้าวันที่ 6 ทันทีตามแผนเดิม พลาดการชมการปล่อยครั้งนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

อีกหนึ่งสิ่งไม่คาดฝันก็คือ ผมไม่สามารถอยู่ที่โรงแรม Courtyard by Marriott Titusville Kennedy Space Center ต่อได้เนื่องจากสอบถามกับเจ้าหน้าที่พบว่าห้องพักถูกจองไว้เต็ม และผมจองมาแค่คืนเดียว โดยคืนนี้จะต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งเอาจริงก็ไม่ได้แย่เท่าไหร่เพราะ ถ้าเราต้องเดินทางไปยังฐานปล่อยตอน 4 ทุ่ม และการปล่อยเกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณตี 1 หมายความว่า เมื่อเสร็จธุระจากการปล่อย ผมสามารถเดินทางกลับไปที่สนามบินได้ทันที จึงได้จัดการเลื่อนตั๋วของ Jet Blue เป็นกลับในช่วงเช้าของวันที่ 7 กุมภาพันธ์แทน

มองโลกในแง่ดีก็คือ เลื่อนการปล่อยทำให้เรามีโอกาสได้เที่ยวในบริเวณคะเนเวอรัลได้นานขึ้น ในช่วงเช้าวันที่ 6 หลังจากที่ไปส่งคุณปั๊บที่สนามบิน ผมก็ได้เดินทางไปยังบริเวณที่ชื่อว่า Merritt Island National Wildlife Refuge ซึ่งเป็นอุทยานรักษาพันธ์ุสัตว์ป่า ทางตอนเหนือของ Merrit Island ใกล้กับฐานปล่อย และจุดลงจอดของกระสวยอวกาศ (ใช่ครับ บริเวณนี้มีสัตว์ต่าง ๆ อาศัยอยู่)

แสดงจุดชม LC-39B ซึ่งอยู่ใกล้กับฐานบ่อยมากที่สุด

ค่าใช้จ่ายในการเข้ามายังพื้นที่นี้ (ค่าเข้าอุทยาน) จะอยู่ที่ 25 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 900 บาท แต่บอกได้เลยว่าคุ้มมาก เพราะได้เข้ามาใกล้กับฐานปล่อยมาก ๆ แต่ในบริเวณนี้ เวลามีการปล่อยจะปิดไม่สามารถเข้ามาได้เพื่อความปลอดภัย

บริเวณ Merritt Island National Wildlife Refuge ซึ่งเป็นจุดที่ดีมากที่จะเข้ามาถ่ายฐานปล่อย LC-39A และ 39B

ซึ่งบริเวณนี้ จะเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับฐานปล่อย LC-39A และ LC-39B ที่ใช้ตั้งแต่ยุค Apollo มาจนถึงเป็นฐานปล่อยของกระสวยอวกาศ และปัจจุบันก็คือฐานปล่อยของ SpaceX และจรวด SLS ในโครงการ Artemis ซึ่งปัจจุบัน กำลังจะถูกติดตั้งฐานปล่อยเพิ่มเติมสำหรับการส่งยานอวกาศ Starship ด้วยเช่นกัน โดยในรอบที่เราเดินทางมานี้เราจะเห็นการก่อสร้างโครงเหล็กขนาดใหญ่ไกล ๆ ด้านหลัง ซึ่งนั่นคือหอสำหรับปล่อย Starship นั่นเอง

ฐานปล่อย LC-39B สำหรับใช้ปล่อยจรวด SLS

ในช่วงเย็น ก็ยังเหลือเวลาว่างอีก ผมไม่รู้จะทำอะไร ดังนั้นเราจะมาทำกิจกรรมอะไรอเมริกัน ๆ กัน เช่นการยิงปืนครับ (ฮา)

โดยในคืนนั้น ระหว่างรอการเดินทางไปยัง Accredit Media Office อีกครั้ง ผมได้ลองขับรถจากบริเวณเมือง Titusville ลงไปทางทิศใต้ เพื่อไปยังบริเวณ Cocoa Beach และ Port Canaveral เพื่อรับประทานอาหารเย็นระหว่างรอ โดยก็ได้เดินทางไปยังร้านอาหาร บาร์ต่าง ๆ ใกล้กับ Port Canaveral และได้ทานอาหารเย็นที่ร้านชื่อ Fishlips Waterfront Bar & Grill ครับ

เมนู Fish and Chips ในร้าน Fishlips Waterfront Bar & Grill

ซึ่งร้านนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นร้านประจำของสายอวกาศเลยก็ว่าได้ เช่น Loren Grush นักข่าวสายอวกาศ ที่ตอนสมัยทำงานอยู่ที่ The Verge ก็เคยเขียนบทความเล่าว่าเธอได้เจอกับนักข่าวสายอวกาศคนอื่น ๆ ที่นี่ในบทความ The technology, sweat, and anxiety that goes into shooting a Falcon Heavy rocket launch

สติกเกอร์ที่ติดอยู่ในบาร์ ของร้านอาหารใน Port Canaveral ชื่อว่าร้าน Fishlips Waterfront Bar & Grill ครับ

แต่ในระหว่างที่รับประทานอาหารอยู่ ก็ดันมีข่าวร้ายเกิดขึ้นก็คือ ในค่ำคืนนี้การปล่อยถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งครับ นับเป็นการเลื่อนการปล่อยครั้งที่ 2 เนื่องจากสภาพอากาศในวันนี้ไม่ได้ดีไปมากกว่าเดิม ทำให้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเราต้องหาที่นอนในค่ำคืนนี้แน่ ๆ

เลื่อนการปล่อยครั้งที่สอง

สารภาพว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตอนนั้นก็รู้สึกเซ็ง ๆ ครับ แต่ไม่ได้รู้สึกเสียใจหรืออะไร เพราะอย่างที่บอก เราทำงานสายนี้เรารู้อยู่แล้วว่าโอกาสการเลื่อนการปล่อยเป็นปกติมาก ๆ ก็เลยจัดการตัวเองด้วยการ เลื่อนตั๋วเครื่องบินขากลับไปอีก 1 เที่ยวบิน และหาโรงแรมนอน โดยตั้งใจว่าคืนนี้จะนอนในบริเวณ Cocoa Beach เพื่อในช่วงเช้าของวันถัดไป จะได้มาถ่ายจรวด Falcon 9 ซึ่งอยู่ระหว่างการเก็บกู้จากเรือ มาขึ้นรถบรรทุกและนำกลับไปใช้งานใหม่

ซึ่งก็โชคดี ที่บริเวณนี้มีโรงแรมค่อนข้างเยอะให้เลือกนอน โดยผมได้เลือกนอนโรงแรม Four Points by Sheraton Cocoa Beach ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณ Port Canaveral ไปทางตอนใต้อีกครับ ซึ่งโรงแรมนี้จากที่ลองหาข้อมูลดูพบว่าขึ้นชื่อด้านการขายของที่เกี่ยวกับการเล่นโต้คลื่นด้วยครับ บรรยากาศโรงแรมก็ถือว่าต้อนรับนักท่องเที่ยวเลยทีเดียว

บรรยากาศการนอนโรงแรมในคืนนี้ถือว่าเงียบเหงาทีเดียว แต่ก็ดีใจที่ได้พักผ่อนเพิ่มเติมอย่างเต็มที่ครับ

โดยในคืนนี้นั้นผมกะว่าจะนอนเอาแรงให้เต็มที่ เนื่องจากในวันพรุ่งนี้ น่าจะเป็นวันที่ยาวนานและใช้พลังงานมากพอสมควร ในเมื่อการปล่อยถูกเลื่อนออกมาขนาดนี้แล้ว พรุ่งนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสที่สำคัญมาก ๆ เพราะดูพยากรณ์อากาศพบว่า สภาพอากาศจะเหมาะกับการปล่อยมากถึง 90% ดังนั้น เราน่าจะได้เห็น Falcon 9 บินขึ้นในคืนวันที่ 7 นี้แน่ ๆ ครับ

แอบส่อง Operation ของ SpaceX ที่ Port Canaveral

หลังจากนอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ ก็ได้เวลาเช็คเอาท์ออกจากโรงแรมครับ ผมออกจากโรงแรมในช่วงประมาณเที่ยง ๆ ของวันที่ 7 กุมภาพันธ์ และเดินทางไปยังท่าเรือ Port Canaveral อีกครั้ง ซึ่งโชคดีมากที่ในช่วงนี้ SpaceX กำลังนำเอาจรวด Falcon 9 ขึ้นจากเรือโดรน Just Read the Instruction อยู่พอดี

จรวด Falcon ถูกยกขึ้นมาจากเรือโดรน Just Read the Instruction เพื่อเตรียมวางลงบนรถบรรทุก ถ่ายจากฝั่งตรงข้ามของท่าเรือ Port Canaveral

นอกจากจรวด Falcon 9 แล้ว เรายังได้เห็นตัวเรือ Shannon ซึ่ง SpaceX ใช้สำหรับการเก็บกู้แคปซูลยาน Dragon ทั้งแบบ Crew Dragon และ Cargo Dragon ซึ่งอยู่ในระหว่างเตรียมตัวการออกไปรับลูกเรือภารกิจ Axiom 2 ที่กำลังจะมีแผนกลับจากอวกาศแต่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยด้วยเช่นกัน

เรือ Shannon ที่ SpaceX ใช้ในการเก็บกู้ยานอวกาศ Dragon

หลังจากที่แอบส่อง Operation ของ SpaceX แล้ว ผมก็ได้เดินทางย้อนกลับเข้าไปในเมือง Orlando ในช่วงบ่ายและเย็นเพื่อทำธุระส่วนตัว (นั่นก็คือการลอง Apple Vision Pro ซึ่งเพิ่งออกมาในช่วงนั้นพอดี) รับประทานอาหาร และแอบงีบพักผ่อนในรถเล็กน้อย (อย่างที่บอกครับ ทำตัวเป็นคนไร้บ้าน) หลังจากนั้นในช่วงเย็น ผมก็ได้เดินทางกลับมาที่ Courtyard by Marriott Titusville Kennedy Space Center โรงแรมที่ผมนอนในคืนแรกอีกครั้ง เพื่อมานั่งทำงาน เตรียมคอนเทนต์สำหรับในค่ำคืนนี้ ซึ่งทีมงานที่โรงแรมก็ใจดีครับ ทรีตเราเหมือนกับเป็นแขกอีกครั้งเพราะเราบอกเขาไปว่าเมื่อคืนจริง ๆ ยากนอนต่ออีกคืนแต่โรงแรมดันเต็มพอดี เลยได้โอกาสแอบนอนพักเอาแรงที่ล็อบบี้เล็กน้อย ก่อนที่เมื่อถึงเวลาประมาณ 4 ทุ่ม ผมก็ขับรถกลับไปที่ NASA Accredited Media Office อีกครั้งครับ

เตรียมตัวเดินทางไปยังจุดชมการปล่อย

ผมเดินทางไปถึง NASA Accredited Media Office ประมาณ 4 ทุ่มตรงพอดี และได้ทักทายกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านสื่อของ NASA ก่อนที่จะถูกเชิญให้ไปรอในห้องพักผ่อนขนาดเล็ก เพื่อรอเดินทางไปยังจุดที่เรียกว่า Press Site ซึ่งจะเป็นจุดที่สื่อในสหรัฐฯ สามารถเดินทางเข้าไปได้เองอยู่แล้ว ไม่ต้องเข้ามาที่ตรงนี้อีกครับ

บรรยากาศระหว่างรอในห้องรับรองของ NASA Accredited Media Office

เนื่องจากเราเป็น International Media กฎของ NASA ก็คือจำเป็นต้องมีพนักงาน NASA ตามประกบติดไปด้วยในทุกฝีก้าว (ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้เคร่งขนาดนั้นหรอกนะครับ) เราจะเรียกว่าการ Escort ซึ่งเราก็จะต้องรอพนักงานที่จะมา Escort เรา

รอได้ประมาณ 20 นาที เจ้าหน้าที่ของ NASA ที่จะมาทำหน้าที่ Escort ผมในวันนี้ก็เดินทางมาถึงครับ ก็คือคุณ Tiffany Fairley ซึ่งเป็น Communications Office Staff ที่ดูแลเรื่องโครงการ Artemis และโครงการ Human Landing System ครับ เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่เขียนข่าว คอยจัดการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Artemis และ HLS ถือว่าได้ตัวละครสำคัญมาเป็นผู้ร่วมทำคอนเทนต์ในรอบนี้เลยทีเดียว

Tiffany ขับรถตู้แบบมินิแวนคันเล็ก ๆ ของ NASA มาครับ หลังจากที่ทักทายแนะนำตัวกันเธอก็พาผมไปขึ้นรถซึ่งแน่นอนว่าผมเป็นผู้โดยสารเพียงคนเดียวของเธอในวันนั้น โดยเราออกเดินทางจาก NASA Accredited Media Office เข้าผ่าน Gate 3 ซึ่งเป็นทางเข้าหลัก จากนั้นเลี้ยวซ้ายผ่านโรงเก็บจรวด Falcon 9 ของ SpaceX เข้าไป ก่อนที่จะตรงไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็จะพบกับอาคาร VAB อันโด่งดังของ NASA อีกครั้ง

บริเวณโดยรอบอาคาร VAB และ Press Site

โดยปกติทั่วไป เรามักจะเห็นอาคาร VAB ตั้งตระหง่านในบริเวณนี้เป็นหลักใช่มั้ยครับ แต่แท้จริงแล้ว บริเวณนี้เรียกว่าเป็นหัวใจของ KSC เลยก็ว่าได้ เพราะจะประกอบไปด้วยอาคารสำคัญ ๆ หลาย ๆ อาคาร เช่น  Operations Support Building ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงฝ่ายช่าง อาคารประกอบชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงที่จอดของตัว Crawler-transporter ที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายจรวดไปยังฐานปล่อย และอาคาร Launch Control Center ของ KSC ซึ่งเป็นอาคารที่เราเห็นกันตั้งแต่ยุค Apollo มาจนถึงโครงการกระสวยอวกาศ และปัจจุบันถูกใช้เป็นศูนย์ควบคุมการปล่อยจรวด SLS ในโครงการ Artemis ด้วย ซึ่งอาคารนี้ ออกแบบมาให้มองเห็นฐานปล่อย LC-39A และ LC-39B ได้อย่างชัดเจน

ผมเมื่อเดินทางมาถึงบริเวณ Press Site โครงเหล็กด้านขวานั่นคือโครงสำหรับประกอบหอปล่อย Starship ที่ถูกขนย้ายมาทางเรือเพื่อนำไปประกอบบนฐานปล่อย LC-39A ครับ

แต่สำหรับเป้าหมายของเราในวันนี้ก็คืออาคารขนาดเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ริมน้ำใกล้กับลานจอดรถ นั่นคือ NASA Press Site ครับ ซึ่งจะเป็นเหมือนกับ “บ้าน” ของนักข่าวทุกคน เวลามีภารกิจต่าง ๆ หรือมีงานแถลงข่าวต่าง ๆ ที่เดี๋ยวเราจะลงลึกกันอีกทีครับว่าภายในมีอะไร

อาคาร Press Site ของ NASA ที่เขียนว่า NASA News Center ด้านข้างจะเป็นที่ตั้งของออฟฟิศชั่วคราวของสำนักข่าวต่าง ๆ

แต่ด้านนอกของอาคารนี้ ก็จะอยู่ใกล้กับลานกว้างขนาดใหญ่ริมน้ำ ซึ่งตรงนี้แหละครับ คือที่ตั้งของนาฬิกาอันโด่งดังของ NASA เป็นมุมที่เราจะได้เห็นจากแทบทุกการปล่อย มาตั้งแต่ยุค Apollo มาจนถึงยุค SLS เลยทีเดียว ซึ่งบริเวณนี้หลายคนเห็นจากในการถ่ายทอดสดอาจจะเข้าใจว่าเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาดูการปล่อยที่ตรงนี้นะครับ แต่แท้จริงแล้ว บริเวณนี้ จะมีเพียงแค่ Media นักข่าวจากสำนักต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ที่มีบัตรผ่านเข้า Gate ของ NASA เท่านั้น ที่สามารถมาชมการปล่อย ณ ตรงนี้ได้ ซึ่งนี่ก็คือจุดที่เราจะมาชมการปล่อยกันในวันนี้ครับ

อาคารประกอบจรวด VAB ของ NASA เมื่อมองจากบริเวณ Press Site

โดยบริเวณรอบอาคาร ก็จะมีอาคารขนาดเล็ก ๆ ย่อย ๆ ที่แปะโลโก้ของสำนักข่าวต่าง ๆ เช่น CBS, Reuters ซึ่งเป็นเหมือนกับออฟฟิศของสำนักข่าวนั้น ๆ เวลาที่มีข่าวสำคัญ ซึ่งน่าอิจฉามากครับ เป็นบริเวณที่ทุกสำนักข่าวจะมาแคมป์กัน เวลามีการปล่อยสำคัญ ๆ (โดยเฉพาะ SLS) แทบจะมากันเป็นรถบ้านเลยก็มี มีรถส่งสัญญาณดาวเทียมมาจอดกันเต็มไปหมด แต่สำหรับการปล่อยในวันนี้ จะเป็น Mission ทั่ว ๆ ไป เลยอาจจะไม่ได้เห็นการแย่งชิงพื้นที่กันมากเท่าตอน SLS ครับ

นาฬิกานับถอยหลังการปล่อย ซึ่งตอนนี้เวลานับอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 22 นาทีก่อนการปล่อย

น่าเสียดายที่ผมยังไม่ได้มีโอกาสเก็บบรรยากาศบริเวณนี้ในตอนกลางวันมาให้ทุกคนได้ชมกันครับ แต่ต้องบอกเลยว่าตอนกลางคืน บริเวณนี้คือมืดมาก จำเป็นต้องใช้ไฟฉายในการเดิน ไม่งั้นสะดุดล้มแน่ ๆ

มีอะไรอยู่ภายในอาคาร Press Site

Tiffany พาผมเดินเข้ามาในอาคาร Press Site ครับ ก่อนที่จะแนะนำว่านี่เป็นบริเวณที่สามารถนั่งทำงานได้ตลอด โดยเธอจะเข้าไปนั่งทำงานรอในห้องออฟฟิศของเธอ ให้เราสามารถจัดการตัวเองได้เลย เดินเข้าออกไปไหนมาไหนได้ แค่อยู่ในบริเวณที่ป้ายอนุญาตก็พอ เรียกได้ว่าเชื่อใจกันมากครับ (แต่ก็คงไม่มีใครอยากแหกกฎและโดนแบนจาก NASA หรอกใช่มั้ย) และหลังจากการปล่อยเสร็จ เธอบอกผมว่าให้นั่งทำงานได้เต็มที่ไม่ต้องเกรงใจ เสร็จเมื่อไหร่ ค่อยเรียกให้ขับรถไปส่ง ณ​ Accredited Media ได้เลย

โดยผมพาดูในบริเวณ Press Site นี้ก่อนนะครับ ด้านในจะเป็นห้องโล่ง ๆ ขนาดใหญ่ มีเก้าอี้ Lecture วางเรียงกันในแถวนหน้าสุด และในแถวหลัง ๆ จะเป็นเก้าอี้เคาเตอร์ มีปลั๊คไฟ มี WiFi และช่องสำหรับเสียบสาย Ethernet ให้บริการ อำนวยความสะดวกให้กับนักข่าวที่มานั่งทำข่าวการปล่อยยานได้ดีอย่างมาก

บริเวณทำงานของนักข่าว ใน Press Site

ซึ่งนักข่าวทุกคนจะนั่งหันหน้าไปยัง TV หลายตัวที่ติดอยู่ เพื่อรับชมการถ่ายทอดสดการปล่อย และในฝั่งนี้เองจะเป็นที่นั่งของทีม Media ของ NASA ซึ่งจัดที่นั่งได้เท่ดีครับ เอามาหันหน้าชนกับนักข่าว เวลาที่มีแถลงอะไรก็จะได้คุยกันตรงนี้ได้เลย

อีกฝั่งหนึ่งของห้องจะเป็นที่นั่งทำงานของเจ้าหน้าที่ Media ของ NASA ครับ นั่งหันหน้าชนกันกับนักข่าว

โดยในบริเวณนี้ก็จะสังเกตว่ามีตู้ Vending Machine สำหรับกดขนมต่าง ๆ ให้บริการด้วย แต่ก็จะมีน้ำเปล่า ชา กาแฟ รวมถึงน้ำร้อนสำหรับต้มมาม่าให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ ขอบคุณภาษีประชาชนชาวอเมริกัน ถามว่าทำไมต้องมี ก็ให้ลองนึกสภาพเวลาที่การปล่อยยานเลื่อนเป็นชั่วโมง ๆ สิครับ นี่แหละความยากลำบากของนักข่าวภาคสนาม แล้วยิ่งเป็นตอนกลางคืนแบบนี้ โรงอาหารปิดแล้ว จะออกไปร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ก็คงไม่สะดวก

ซักประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนปล่อย สังเกตว่านักข่าวจะเริ่มเดินทางมาถึงกันแล้วครับ ทั้งหมดนี้เป็นนักข่าวในสหรัฐฯ หมดเลย มีผมคนเดียวที่เป็น International Media ในค่ำคืนนี้ครับ

นั่งรอเวลาอยู่ตรงนี้ซักพัก นักข่าวสำนักอื่น ๆ ก็เริ่มมาครับ (เรียกได้ว่าผมมาเร็ว) อยากชี้ให้สังเกตจากภาพด้านบนก็คือ ในห้องนี้มีโปสเตอร์โครงการต่าง ๆ ของ NASA ในโครงการ Artemis Program ติดอยู่ไว้ที่มุมห้องด้วย เท่มากครับ

ระบบการ Feed สัญญาณ SDI ของ NASA

หัวข้อนี้จะค่อนข้าง Technical หน่อยนะครับ แต่คิดว่าจำเป็นสำหรับใครที่เป็นสาย Live Stream หรือต้องการ Feed วิดีโอสด ๆ ของ NASA โดยปกติแล้ว เวลาที่เราทำข่าว เราจะอยากได้ “Clean Feed” กันใช่มั้ยครับ อธิบายสำหรับใครที่ไม่ได้เป็นสาย Production ให้ฟังกันซักนิดนึงก็คือ เวลาเราดูการถ่ายทอดสดการปล่อย เราจะเห็นมีผู้บรรยาย มีเสียงบรรยาย แต่สำหรับนักข่าวที่ต้องการจะบรรยายการปล่อยเอง หรือ Switch ภาพไปยังมุมกล้องต่าง ๆ เอง เราก็จะสามารถทำได้เช่นกัน โดย NASA จะมี การส่ง Clean Feed ผ่านสาย SDI จากกล้องของ NASA เอง ที่ใช้ Track ตัวจรวดจากมุมต่าง ๆ มายังห้องห้องนี้ครับ เราสามารถเอาตัวรับสัญญาณ Reciever SDI ต่อเข้ากับอุปกรณ์รับภาพมาใช้งานได้

ช่องสำหรับเชื่อมต่อสาย Ethernet และปลั๊คไฟ รวมถึงหัวต่อ SDI

แต่ช่วงหลัง เราอาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญของตรงนี้กันมาก ยกเว้นเป็น Production ใหญ่อย่างช่องทีวีครับ เพราะส่วนมาก เราก็จะรับ Feed ภาพมาจากอินเทอร์เน็ต (Live Stream) กันเป็นหลัก ซึ่งบางที ก็จะมี Live แบบ Clean มาให้ด้วย (SpaceX จะเรียกว่า Technical Webcast) แต่ข้อเสียก็คือ Live แบบ Clean แม้จะไม่มีเสียงบรรยายของ NASA แต่เราก็ไม่สามารถควบคุมมุมกล้องต่าง ๆ ได้เอง ในบางทีการต่อสัญญาณตรงกับ SDI เลยยังจำเป็นอยู่ครับ

โดยเราสามารถต่อ SDI เข้ากับ Annex Distribution Box บริเวณลานจอดรถได้ ซึ่งจะต้องลากสายกันเอง ใครมีรถถ่ายทอดก็จะต่อเข้ารถถ่ายทอดยิงขึ้นดาวเทียมได้ แต่ในห้องก็จะมี SDI ให้ด้วยเช่นกัน แต่เข้าใจว่าจะต่อมาจากข้างนอกอีกที โดยจะมีให้แค่โต๊ะละ 1 เส้น แล้วแต่ว่าเราจะออกแบบอย่างไร

คู่มือการใช้​ SDI Feed ที่ NASA ส่งมาให้ทางอีเมล ซึ่งจะเห็นว่ามีมุมกล้องต่าง ๆ ให้เราเลือกรับ

สำหรับตรงนี้ NASA จะมีคู่มือคำแนะนำต่าง ๆ แจ้งมาผ่าน Email ก่อนถึงช่วงการปล่อยครับ เพื่อให้เราสามารถเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันเวลา โดยจากภาพด้านบน เราจะเห็นว่า NASA จะมีมุมกล้องให้เราได้เลือกนำมาถ่ายทอดกันหลายมุมกล้องมาก ดีกว่าทำถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตแน่ ๆ

ออกไปถ่ายบรรยากาศการปล่อยด้านนอก

แต่งานหลักของเราในวันนี้ คือการรายงานการปล่อยผ่านภาพถ่ายและวิดีโอเป็นหลักครับ ดังนั้นเราจะไปตั้งแคมป์ถ่ายภาพกันด้านนอก ซึ่งอุปกรณ์ที่ผมได้นำติดตัวมาสำหรับการปล่อยในวันนี่ได้แก่

  • กล้อง Sony ZV-E1 พร้อมเลนส์ Sony FE 50 mm. F1.4 G-master ขอบคุณร้าน ZoomCamera ครับ
  • กล้อง Sony A6400
  • เลนส์ระยะไกล Sony FE 100-400mm F4.5-5.6 GM ขอบคุณ Sony Thai ครับ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน โดยผมได้วางแผนว่าการถ่ายจรวด จะใช้ Sony A6400 ร่วมกับเลนส์ระยะ 100-400 เนื่องจากจะได้การ Crop โดย Sensor ของ A6400 ที่เป็น APS-C ส่วนตัวกล้อง Sony ZV-E1 จะใช้สำหรับการบันทึกบรรยากาศรอบฐานปล่อยและในขณะการปล่อยแบบวิดีโอครับ เนื่องจากเก็บ Dynamic ของแสงได้ดีกว่า และสามารถบันทึกภาพในช่วงแสงน้อยได้ดีกว่ามาก

ก่อนการปล่อยประมาณ 1 ชั่วโมง ทุกคนก็เริ่มไปจับจองพื้นที่บริเวณสนามหญ้าริมน้ำที่เป็นจุดชมการปล่อย หากเราสังเกตเราจะพบว่า ปกติแล้วหากเป็นการปล่อยจากฐานปล่อย LC-39 เราจะหันหน้าไปยังฐาน ซึ่งอยู่ด้านหลังนาฬิกานับถอยหลังพอดี แต่ในวันนี้ เป็นการปล่อยจากฐาน LC-40 ของ SpaceX ทำให้ฐานปล่อยจะอยู่ไปทางทิศใต้ของจุดชมการปล่อย ทำให้บริเวณการรับชมที่ดีที่สุดไม่ใช่ตรงนาฬิกา เราจึงเห็นสื่อต่าง ๆ ไปจับจองพื้นที่ฝั่งใต้ของสนามหญ้ากัน

โดยวัดระยะห่างจากจุดชม หรือจุด Press Site ไปยังฐาน LC-40 จะอยู่ที่ 7 กิโลเมตร

วัดระยะห่างจากจุดชม หรือจุด Press Site ไปยังฐาน LC-40 จะอยู่ที่ 7 กิโลเมตร

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ไว้ก็คืออุณหภูมิที่เราจะต้องทำงาน แม้เราจะอยู่ที่รัฐฟลอริดาทางตอนใต้ของประเทศ แต่อากาศตอนกลางคืนในช่วงพายุเข้านั้นเย็นมาก และมีลมพัด ทำให้ในคืนนั้นอุณหภูมิที่รู้สึกจะได้จะเหมือนอยู่ที่ประมาณ 10 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ทำให้ต้องใส่เสื้อผ้ากันเตรียมพร้อมนิดนึงครับ

จรวด Falcon 9 สำหรับภารกิจ PACE อยู่บนฐานปล่อย LC-39A

Falcon 9 ที่ใช้ปล่อย PACE คือ Falcon 9 ทะเบียน B1081 ซึ่งเคยผ่านการปล่อยมาแล้ว 3 เที่ยวบินในภารกิจ Crew-7, CRS-29 และ Starlink Group 6-34 (ซึ่งข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2024 ลำนี้ได้ถูกนำมาใช้ปล่อยภารกิจ Transporter-10 ต่อ 25 วันหลังจากการปล่อย PACE)

ความพิเศษของวันนี้ก็คือ นอกจาก Falcon 9 สำหรับภารกิจ PACE แล้ว วันนี้ในช่วงค่ำก็ยังเป็นวันที่ SpaceX นำเอาจรวด Falcon 9 ทะเบียน B1060 ที่จะใช้ในเที่ยวบิน IM-1 ส่งยานอวกาศ Nova-C “Odysseus” เดินทางไปดวงจันทร์ ซึ่งภายหลังยาน Odysseus ก็ได้กลายเป็นยานอวกาศลำแรกของสหรัฐฯ ที่ได้เดินทางไปลงจอด ณ​ พื้นผิวของดวงจันทร์ในรอบกว่าครึ่งทศวรรษ

Falcon 9 อีกลำบนฐานปล่อย LC-39A เตรียมปล่อยภารกิจ IM-1 เดินทางสู่ดวงจันทร์

หลังจากที่เซ็ตกล้องได้แล้ว ช่วงเวลาประมาณ 20 นาทีก่อนปล่อย เราจะเห็นว่ามีคนออกมาดูเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเราได้คุยกับหลาย ๆ คน ก็มีทั้งเป็นทีมของ NASA ที่เป็นคนทำยานอวกาศ PACE มีทีมงาน NASA จากฝั่ง LSP หรือ Launch Service Program ที่ดูแลเรื่องการดีลการส่งกับบริษัทต่าง ๆ และทีมจาก NASA Earth Science ที่ดูเรื่องภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจโลก และที่แน่ ๆ เลยก็คือ นักข่าวและช่างภาพจากหลากหลายสำนัก

โดยด้านนอกนี้ เราจะไม่ได้ยินเสียงประกาศนับถอยหลัง แต่ละคนต้องดูจากนาฬิกาหรือฟังจากเสียง Live ส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องอย่าลืมว่า Live นั้นจะ Delay กว่าความเป็นจริงอยู่พอสมควร ทำให้หากเราได้ยินเสียงนับถอยหลังถึงซักประมาณ 20 วินาทีก่อนการปล่อย แปลว่าเราจะต้องพร้อมสำหรับการกดชัตเตอร์แล้ว

บรรยากาศการชม Falcon 9 บินขึ้นและกลับมาลงจอด

เสียงนาฬิกาค่อย ๆ นับถอยหลังผ่านหูฟัง AirPods ที่ผมฟังอยู่จาก Live บรรยากาศโดยรอบเงียบสงัดทุกคนต่างตั้งใจฟังและรอชมภาพที่กำลังจะเห็นในอีกไม่กี่วินาที เสียงที่เราได้ยินจากในหูฟังคือ 8 7 6 แต่ภาพที่เราเห็นอยู่ตรงหน้ากลับเป็นแสงสีส้มที่สว่างวาบขึ้นมา ทำให้ท้องฟ้าในบริเวณนั้นสว่างขึ้นมาอีกครั้ง

ถามว่าสว่างแค่ไหน ก็สว่างพอที่จะทำให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้วในบริเวณโดยรอบที่มืดมิดนั้น มีใครมาร่วมชมกับเราบ้าง คนต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในเงามืดถูกทำให้ปรากฎ ผมจึงเห็นว่าในบริเวณนั้นมีผู้มาร่วมชมการปล่อยมากกว่า 100 คนจาการประเมินด้วยสาตา กระจัดกระจายอยู่ในสนามหญ้าริมน้ำแห่งนี้

แม้ว่าภาพจะสว่างขึ้นมา แต่เรากลับไม่ได้ยินอะไรเลยมีเพียงเสียงลมที่ดังอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ลูกไฟสีส้มนั้นค่อย ๆ ลอยขึ้นจากฐาน แสงสว่างที่เคยสว่างอยู่แล้วกลับถูกทำให้สว่างขึ้นไปอีก ณ วินาทีนั้น เป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาดและขัดต่อสามัญสำนึกอย่างมาก แต่ก็ทำให้เราดึงสติกลับมาและรับรู้ได้ว่า Falcon 9 เที่ยวบินที่ 296 ได้บินขึ้นแล้ว

จรวด Falcon 9 บินขึ้นจากฐานปล่อย LC-40 พร้อมกับยานอวกาศ PACE ของ NASA

และจากความจริงที่ว่าเราอยู่ห่างจากฐานปล่อยมาประมาณ 7 กิโลเมตร หรือประมาณ 7,000 เมตร ถ้าแสงเดินทางด้วยอัตราเร็ว 350 เมตรต่อวินาที แปลว่าประมาณ 20 วินาที เราจึงจะได้ยินเสียงจากฐานปล่อย เดินทางมาหาเรา ซึ่งนั่นก็จริง เสียงเดินทางมาถึงเราช้ากว่าสามัญสำนึกมาก เราต้องเงยหน้าดู Falcon 9 แล้ว แต่เสียงเพิ่งจะเดินทางมาถึง

เสียงที่เราได้ยินนั้นจะเป็นเสียงแบบก้อง ๆ ในบรรยากาศ ไม่สามารถบอกแหล่งที่มาของเสียงได้หากไม่มองภาพตรงหน้า เหมือนกับเสียงฟ้าผ่า ที่แม้จะมีแหล่งกำเนิดชัดเจนแต่หากหลับตาก็จะไม่สามารถบอกได้ เป็นความรู้สึกที่แปลกอย่างน่าประหลาด ใครที่เคยได้ชมการปล่อย ก็น่าจะรู้สึกเช่นนี้เหมือนกับเรา

จรวด Falcom 9 ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าพร้อมกับเสียงที่ค่อย ๆ เดินทางมาถึงฐานปล่อย

จรวดที่ค่อย ๆ ทุ่งทะยานขึ้นไปนั้นเมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อย ๆ หายไปบนท้องฟ้า เหลือไว้เพียงบรรยากาศโดยรอบที่กลับมามืดมิดอีกครั้ง เราได้ยินเสียงผู้คนโห่ร้องตะโกนตื่นเต้นกับบรรยากาศที่ได้เห็น การได้ดูการปล่อยเป็นอีกประสบการณ์ที่ว่ากันว่าแม้จะได้ดูซักกี่ครั้งก็ยังคงตื่นเต้นทุกครั้ง

แต่หลังจากนั้น ทุกคนยังคงยืนนิ่งอยู่ที่เดิม เพราะรู้ว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าเรากำลังจะได้รับชมอีกหนึ่งประสบกาณณ์ที่แปลกไม่แพ้กัน นั่นคือการลงจอดของจรวด Falcon 9

โดยปกติ Falcon 9 หลังจากแยกตัวออกจากจรวดท่อนที่ 2 จะมีการจุดเครื่องยนต์หรือ Burn สามครั้งด้วยกัน ได้แก่ Boostback Burn, Entry Burn และ Landing Burn โดยเราไม่ได้สังเกตเห็น MECO และ Stage Seperation เนื่องจากเกิดขึ้นลับขอบฟ้าไป แต่เราได้เห็นการทำ Entry Burn เป็นจุดสีส้ม ๆ สว่างบนท้องฟ้า แต่ไม่ได้สว่างเท่ากับตอนปล่อย รวมถึงไม่ได้ยินเสียงอะไร ซึ่งทุกคนก็ยืนมองท้องฟ้าดูจุดสีส้มค่อย ๆ เคลื่อนที่ และเมื่อ Entry Burn ดับไป ท้องฟ้าก็มืดมิดและไม่มีอะไรให้ดูอีกครั้ง

Falcon 9 ในขณะ Landing Burn กลับลงมาที่ฐานลงจอด Landing Zone 1

ประมาณ นาทีที่ 7 หลังการปล่อย ท้องฟ้าก็ได้สว่างวาบขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือเมื่อ Falcon 9 ทำการจุดเครื่องยนต์ครั้งสุดท้ายหรือ Landing Burn ซึ่งตอนนี้ เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุด เราเห็นจรวด Falcon 9 ค่อย ๆ ลดความเร็วในขณะที่ตกกลับลงมาบนพื้น ทันทีที่ Falcon 9 และแสงสีส้มนั้นหลายเข้าไปหลังต้นไม้ แสงวาบก็สว่างกว่าเดิมเนื่องจากแสงของเครื่องยนต์สะท้อนกับพื้นขึ้นไปบนท้องฟ้า แต่แสงนั้นก็วาบได้เพียงแค่วินาทีเดียวเท่านั้น ทุกอย่างก็มืดหายไป ท้องฟ้าที่เคยสว่างสไวก็มืดมิดอีกครั้ง

หลังจากนั้นเสียงของสิ่งที่เกิดขึ้นก็ค่อย ๆ ดังเข้ามาคล้ายกับเสียงการปล่อย ที่ค่อย ๆ เบาลงจนเงียบไป ทันใดนั้นก็มีเสียงดังราวกับฟ้าร้องสองครั้ง เป็นเสียงของ Sonic Boom ในขณะที่ Falcon 9 เกิด Shockwave ในขณะที่กลับเข้ามาอยู่ภายใต้ความเร็วเสียงอีกครั้ง เป็นอันจบพิธีการ

หลังจากการปล่อย

ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก หลังจากนั้นทุกคนก็เริ่มทะยอยเดินกลับ ใครที่เป็นสื่อก็จะเดินกลับไปยัง Press Site เพื่อลงรูปหรือเขียนรายงานข่าว หรือติดตามการปล่อยต่อ ซึ่งก็แน่ว่าการปล่อยยังไม่สิ้นสุดเท่านี้ภารกิจจะเสร็จสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อตัวยาน PACE แยกตัวออกจากจรวด Falcon 9 และกางแผง Solar Array เพื่อเริ่มต้นทำงาน

นั่นทำให้เราเองก็ต้องรีบกลับไปติดตามผ่านหน้าจอของ NASA TV ในห้อง Press Site ในขณะที่ก็ต้องแต่งภาพเพื่อลงบนเว็บไซต์และ Social Media ไปด้วย

บรรยากาศในห้อง Press Site หลังจากการปล่อยเกิดขึ้น และ Falcon 9 ในท่อนที่สองกำลังพายานอวกาศ PACE เดินทางสู่วงโคจรที่ออกแบบไว้

ในนาทีที่ 40 หลังการปล่อย ยานอวกาศ PACE ก็ได้แยกตัวออกจาก Falcon 9 และกางแผง Solar Array เรียบร้อย ทันทีที่ประกาศทุกคนก็ปรบมือพร้อมกันให้กับความสำเร็จในการปล่อยครั้งนี้ ทั้งสื่อและเจ้าหน้าที่ของ NASA ในทีม Media ซึ่งเป็นภาพที่น่าตื่นเต้นและหาชมได้ยาก เพราะว่าปกติเราก็จะเห็นการฉลองของทีม Science หรือทีม Enginner กัน แต่สำหรับทีม Media เราก็จะเห็นพวกเขาทำงานแค่ฉากหน้า เช่น พากษ์การปล่อย หรือบรรยายในขณะที่ปล่อย

แต่พอเราได้มาอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยทีม Media เรากลับเห็นบรรยากาศการให้กำลังใจทีม Media ด้วยกัน มีการพูดถึงเพื่อนที่กำลังรับหน้าที่เป็นพิธีกรอยู่ในหน้าจอ มีการคุยงานเรื่องแผนการลงคอนเทนต์บนเว็บไซต์และ Social Media กัน และสุดท้ายเมื่องานทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์เราก็ได้เห็นการดื่มฉลองกัน

บรรยากาศในช่วงท้าย ๆ ของงานในวันนี้ ผมอยู่จนกลับพร้อมกับทีม Media ของ NASA และ Tiffany ที่ต้องมาขับรถพากลับไปยังจุดที่ผมจอดรถไว้ครับ

หลังจากที่ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ผมก็ได้เวลาเดินไปคุยกับ Tiffany ว่าได้เวลากลับกันแล้วครับ จัดการเอาผลงานการรายงานสดโชว์ให้ Tiffany ดูเธอก็ตื่นเต้นมาก ๆ และฝากทักทายมายังผู้ติดตามสเปซทีเอชทุกคนด้วยนะครับ หวังว่าทุกคนจะชอบคอนเทนต์ที่เราร่วมผลินกันในวันนี้

เมื่อหลากหลายความรู้สึกเริ่มเกิดขึ้น

เวลาประมาณตีสองครึ่ง ถนนในคะเนอเวอรัลเงียบกริบ มีเพียงแค่แสงไฟของรถที่ Tiffany ขับ และผมให้เกียรติเธอด้วยการนั่งบนเบาะหน้าคนขับ ทำให้เธอเหมือนเป็นผู้ร่วมงานมากกว่าให้เธอมาขับรถให้ เราได้พูดคุยกันถึงเรื่องราวบางอย่างในอดีต Tiffany ทำงานที่นี่มาตั้งแต่ยุคกระสวยอวกาศ เธอได้มีโอกาสเซ็นฝาปิดประตูของกระสวยอวกาศครบทุกลำ หากไม่นับ Challenger และ Columbia ที่สูญเสียไป

Tiffany กลายเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังงานหลาย ๆ อย่างของ NASA รวมถึงข้อความที่ประกาศให้โลกรู้เรื่องการเลื่อนการปล่อยภารกิจ Artemis II ออกไป เพื่อความปลอดภัยของนักบินอวกาศ เราชื่นชมทีม Media จากฝั่ง Artemis อย่างมาก Tiffany ดีใจที่เราพูดเช่นนี้ แล้วเล่าให้ฟังว่าในการทำสื่ออวกาศจากฝั่ง NASA เองก็ต้องแบกรับความกดดันอย่างมาก และดีใจที่ข้อความเหล่านั้นถูกส่งต่อไปโดยสื่อเจ้าต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

บทสนทนายังไม่ทันจบ เราก็บอกลากันเมื่อพวกเราเดินทางกลับมาถึงบริเวณ Accredited Media Office เธอเองหลังจากนี้ก็คงนำรถกลับไปจอดและขับรถกลับบ้าน ในขณะที่ผมก็รีบเก็บของขึ้นรถเพื่อเตรียมเดินทางไปยังสนามบิน Orlando และเดินทางกลับเมือง Boston ผมโบกมือลา Tiffany จนเธอค่อย ๆ ขับรถหายไปในความมืด รอบตัวไม่มีอะไร มีเพียงผมและรถของผมที่จอดอยู่ในลานจอดที่มีเพียงไฟส่องสว่างดวงเดียว ท่ามกลางต้นไม้และป่า มองไปยังถนนที่ไม่มีรถขับผ่าน

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว นี่เป็นบทความที่ยาวมาก ๆ บทความนึงเลยใช่มั้ยครับ ใครที่อ่านมาได้ถึงตรงนี้ผมอยากขอบคุณมาก ๆ ที่ได้เริ่มเข้าลึกมาจนถึงความรู้สึกที่มันใช้เวลากว่า 24 ปีในชีวิตของผมในการค่อย ๆ สร้างอารมณ์นี้ขึ้นมา

ตอนที่ผมเป็นเด็กราว 5-6 ขวบ ผมพยายามพูดคำว่า “คะเนอเวอรัล” ตามคำที่ได้ยินในทีวี แม้จะพูดออกมาไม่ชัดและผิด ๆ ถูก ๆ ซึ่งรู้ว่าเป็นบริเวณที่ใช้ในการปล่อยยานอวกาศ ในยุคนั้นก็คือกระสวยอวกาศนั่นเอง และวันนี้ผมได้มาที่นี่ในฐานะคนทำงานคนนึง ที่ได้รับการยอมรับจากคนรอบตัว ผมไม่ได้แค่พูดถึง Tiffany แต่กำลังพูดถึงทุกคนที่อยู่ในกระบวนการทั้งหมด

แล้วสิ่งหนึ่งก็ผุดขึ้นมาในหัว คือภาพของทีม Media ของ NASA ที่ทำงานเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของ NASA กำลังฉลองในห้องที่ผมเพิ่งได้เห็น เป็นภาพที่ผมเชื่อว่ามีแค่ไม่กี่คนในโลกจริง ๆ ได้เห็นภาพเมื่อซักครู่ มันทำให้ผมรู้สึกยินดีและมีมุทิตาจิตกับทุกความฝันที่ได้พาตัวเองมาอยู่ตรงนี้

ผมไม่ปฏิเสธว่าตอนนั้นผมร้องไห้และกรี๊ดออกมาดังมาก ถ้าตรงนั้นมีทีมรักษาความปลอดภัยยืนอยู่คงวิ่งเข้าเพราะเข้าใจว่าผมโดนปล้น แต่โชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่รู้ที่ตรงนั้นไม่มีใครเลย ผมจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่ายืนอยู่ข้างรถตรงนั้นนานแค่ไหน อาจจะเป็นวินาที เป็นนาที หรือครึ่งชั่วโมงก็ได้ ก่อนที่จะสัมผัสได้ถึงความสุขอะไรบางอย่าง เหมือนกับได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ได้พิสูจน์สิ่งที่ตัวเองอยากพิสูจน์ จากเด็กที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลยกลายมาเป็นคนที่ได้ทำงานชิ้นนี้ จากประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสื่ออวกาศสื่อหนึ่งที่อยู่ได้ด้วยความฝันของคนรุ่นใหม่ในประเทศนี้

ผมค่อย ๆ พาตัวเองกลับมาที่โลกแห่งความจริงอีกครั้ง สตาร์ทรถและค่อย ๆ จับออกไปจากบริเวณเกาะ Merrit Island บอกลา NASA และพูดในใจกับตัวเองว่า “ฉันจะกลับมาที่นี่ ไม่ใช่แค่อีกครั้ง แต่นับครั้งไม่ถ้วน”

เวลาตีสี่ผมกลับมาคืนรถที่สนามบิน เพื่อเตรียมตัวออกเดินทาง สำหรับการเดินทางในบทถัดไป

หลังจากคืนรถที่สนามบินเรียบร้อย เดินทางในสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องบินไปยังงานต่อไปครับ

สรุปทุกอย่างที่ควรรู้เกี่ยวกับการเป็น Accredited Media ของ NASA

กลับมาที่เรื่อง Technical กันอีกครั้งนะครับ บอกกันตามตรงว่า บทความนี้อยากที่จะเล่าถึงความเป็นได้ของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การสมัคร การเดินทาง ไปจนถึงการได้เข้าไปเป็น Media ใน NASA ดังนั้นบทความนี้ตอนท้าย จึงอยากสรุปสิ่งที่ทุกคนควรรู้หากต้องการจะไปถ่ายการปล่อย หรือเป็น Media เข้าไปใน NASA ไม่ว่าจะด้วยเรื่องงาน หรือเรื่องความฝันส่วนตัวแล้วกันครับ

อย่างแรก ควรมี Visa B1/B2 ให้พร้อม ย้ำว่าเป็น B1/B2 นะครับ หรือเป็น Visa ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการทำงาน เช่น H1B ไปเลย เนื่องจากว่า NASA จะตรวจ Visa ของเราว่าสมเหตุสมผลหรือเปล่า และสิ่งที่สำคัญไปกว่าประเภท Visa ก็คือ ต้องมี Visa ก่อนสมัครนะครับ ไม่เช่นนั้น NASA จะไม่อนุญาตให้ส่งใบสมัครเลย นั่นหมายความว่า เราควรมีประวัติการเข้าสหรัฐฯ มาก่อน หลายคนอาจจะเถียงบอกว่า ก็รอมีงานก่อนค่อยไปทำ Visa หรือไปสมัคร Visa กับสถานทูตฯ แล้วบอกว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อจะไป NASA แบบนั้นผมว่าเสียงไปด้วยเรื่องเวลา และความน่าเชื่อถือ พูดตรง ๆ ก็คือ ตลอดเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมพยายามให้ตัวเองมีประวัติการเข้าออกสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องปกติ จนทำให้ผมแทบไม่ได้รับคำถามอะไรเลยในการเข้าประเทศ และหากมีคำเชิญอะไรมาจากทาง NASA ผมก็สามารถที่จะบินได้เลยทันที

อย่างที่สองก็คือ คนทำงานใน NASA มีหลากหลายมาก อาจจะมีทั้งคนที่ขยันตอบ Email และคนที่ดอง Email แต่วัฒนธรรมการทำงานแบบอเมริกันก็คือ ต้องการอะไรจี้เขาได้เลยครับ อย่าเอาความขี้เกรงใจ ความคิดไปเองแบบคนไทยมาใช้ อย่าไปคิดว่า เขาไม่ตอบแปลว่าเขากำลังทำให้อยู่ เขาไม่ตอบแปลว่าเขาลืมครับ ต้องการถามอะไร ถามไปตรง ๆ เลย เหมือนกับที่ผมเมลไปถามว่า อันนี้คืออะไร ระบบผิดพลาดใช่มั้ย แล้วต้องทำยังไงต่อ

อย่างที่สามคือ อยู่อเมริกาเช่ารถเถอะครับ จำเป็นมาก ๆ ผมไม่รู้จะอธิบายว่าจะมีอะไรสำคัญไปกว่าการขับรถอีกแล้วในแง่ของการเดินทาง ผมรู้ว่าทุกคนนั่งเครื่องบินเป็น ขึ้นรถเมล์เป็น แต่อย่างไรก็ตาม ตารางชีวิตการอยู่อเมริกาของคุณจะง่ายขึ้นเยอะมากเลย และคุณจะพร้อมทำงานขึ้นมาก โทรเรียกมาทำงานตอนไหนก็เดินทางได้เลย และการอยู่ใน NASA แต่ละตึก แต่ละอาคารห่างกันมาก ดังนั้นขับรถเถอะครับ

และอย่างสุดท้ายทุนชีวิตไม่สำคัญเท่าทุนทรัพย์ครับ ทุนชีวิตอาจจะทำให้คุณเกิดมาไม่มีเงินบ้านไม่ได้รวยได้ และแม้คุณอาจจะยังรวยในระยะยาวไม่ได้ คุณรวยในระยะสั้นได้ครับ ทำยังไงก็ได้ที่ถ้าโอกาสเข้ามาแล้วคุณจะรับไว้ได้

และสุดท้ายจริง ๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทริปในลักษณะนี้ผมหมดเงินไปเท่าไหร่ คำตอบก็คือหากวางแผนไว้ประมาณนี้ นอนโรงแรมในลักษณะนี้ รวมแผนสำหรับการเลื่อนการปล่อย และการเดินทางในสหรัฐฯ ผมเงินหายไปประมาณ 100,000 บาทครับ อันนี้คือเอาแบบสบาย ๆ นอนโรงแรม ไม่ลำบาก ไม่นอนบ้านเพื่อน เพราะสุดท้ายอย่าลืมว่าเรามาทำงาน แค่งานก็เหนื่อยและเครียดแล้ว อะไรจ่ายได้จ่ายไปครับ ซึ่งผมว่าไม่เยอะไม่น้อย สมเหตุสมผลครับ เมื่อเทียบกับประสบการณ์ที่ได้

กุมภาพันธ์ 2024 สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วนะครับ เราได้เห็นสื่อไทย เดินทางไปถ่ายทำบรรยากาศการปล่อยจรวดที่ NASA ในฐานะที่ได้รับการยอมรับจริง ๆ ไม่ใช่ไปกับบริษัทคู้ค้าของบริษัทจรวด หรือเป็นคนใน NASA ไปชมการปล่อย ดังนั้นผมอยากให้นี่เป็นจุดเริ่มต้น ที่เราจะได้เห็นการทำงานในสไตล์ Journalist ซึ่ง “มีไม่มากนัก” ในประเทศไทยของเรา เรามีคนทำสื่อเยอะแยะกันไปหมด แต่เราจะทำสื่อที่ง่ายไปทำไมครับ เขียนบทความสั้น ๆ ทำวิดีโอง่าย ๆ เอาคลิปชาวบ้านมาแปล เอางานคนอื่นมาทำซ้ำ ลอกกันไปลอกกันมา มาทำสื่อที่ยากกันดีกว่า เพื่อผลักดันความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

แด่ทุกความฝันและทุกการเดินทาง Ad Astra Per Aspera

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.