เมื่อเวลา 11:12 ที่ผ่านมา จรวด Long March 11 หรือชื่อจริงของมันคือ Chang Zheng 11 (長征十一號運載火箭) ได้ทะยานขึ้นสู่อวกาศอย่างสำเร็จเรียบร้อย พร้อมกับนำดาวเทียมทั้งสิ้น 6 ดวงขึ้นสู่วงโคจร และยังขึ้นครองอันดับ 1 ของยอดรวมการส่งจรวดในปีนี้อีกด้วย
นี่นับว่าเป็นครั้งแรกที่จรวดเชื้อเพลิงแข็งของจีนได้นำดาวเทียมของต่างชาติขึ้นสู่อวกาศ โดยเป็นดาวเทียม Kepler 2 (ไม่ใช่กล้องโทรทรรศอวกาศ Kepler) ของบริษัท Kepler Communication จากประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารหนึ่งในสองดวงที่ถูกส่งขึ้นไป โดยดาวเทียมสื่อสารอีกดวงคือ Quantutong-1 ของ All Graphic Location Network Co. ซึ่งเป็น CubeSat ขนาด 6U
นอกจากสองดวงข้างต้นแล้วก็ยังมี Jilin-1 Shipin 07 กับ 08 ของ CNSA ที่ใช้ในการสำรวจโลก Tianyi 2 ที่เป็น CubeSat ขนาด 6U เป็นดาวเทียมทดสอบเทคโนโลยีของ Tianyi Research Institue in Changsha และดวงสุดท้ายเป็น CubeSat ขนาด 2U จากเด็ก ๆ ของ Huai’an Youth Comprehensive Development Base เพื่อไปทำการทดลองบนอวกาศ ซึ่งนี่เป็นครั้งที่ 4 ที่จีนได้ส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศในปี 2018 นับเป็นครึ่งหนึ่งของการปล่อยจรวดตลอดทั้งปีจากทั่วโลกเลยทีเดียว (สหรัฐ 2 ญี่ปุ่น 1 อินเดีย 1) ซึ่งหนึ่งในการปล่อยนั้นพวกเขาได้ทำจรวด Long March 3B ที่ปล่อยเมื่อวันที่ 11 มกราคม ตกใส่ในบริเวณชุมชนของจีน แต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บแต่อย่างไร (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
สำหรับ Long March 11 นั้นเป็นจรวด 4 ส่วน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร ความสูง 20.8 เมตร และมีความสามารถที่จะขนส่ง payload ขึ้นสู่วงโคจร Low Earth Orbit ได้ไม่เกิน 700 กิโลกรัม และในวงโคจร Sun-synchronous Orbit ไม่เกิน 400 กิโลกรัม เที่ยวบินแรกของมันเกิดขึ้นในวันที่ 25 กันยายน 2015 พร้อมกับดาวเทียม 4 ดวง และตลอดทั้งสามเที่ยวนั้นมันยังไม่เคยเกิดปัญหาขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว
สถิติที่น่าสนใจในการปล่อยจรวดครั้งนี้:
– เที่ยวบินที่ 3 ของ Long March 11
– เที่ยวบินที่ 264 ของตระกูลจรวด Long March
– เป็นการปล่อยจรวดครั้งที่ 100 จากฐานปล่อย Jiuquan
– เป็นการปล่อยจรวดครั้งที่ 4 ของจีนในปีนี้
– เป็นครั้งแรกที่จรวดเชื้อเพลิงแข็งของจีนนำดาวเทียมของต่างชาติขึ้นสู่อวกาศ
บทความแนะนำ
เกือบหล่นใส่บ้าน ชิ้นส่วนจรวดจีนตกต่อหน้าต่อตาประชาชีในมณฑลกวางสี
ที่มา: