เมื่อปี 2021 หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับจรวดปริศนาที่ไม่รู้ว่ามาไปยังไงมายังไง (รู้แต่ว่ามาจากโลกเมื่อนานมาแล้ว) กำลังพุ่งเข้าชนดวงจันทร์ การชนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2022 อย่างไรก็ตามยานสำรวจในวงโคจรของดวงจันทร์ไม่สามารถระบุได้ว่าจรวดปริศนาที่ว่ามันไปตกอยู่ไหนบนดวงจันทร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2022 นั้น ยาน Lunar Reconnaissance Orbiter หรือ LRO สามารถถ่ายภาพ Artificial Crater หรือหลุมอุกกาบาตที่เกิดจากการชนของจรวดปริศนานี้ได้ แต่หลุมที่ว่านั้นมันกลับมีสองหลุมซะงั้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 18 เมตร และ 16 เมตร
นั่นหมายความว่าจรวดปริศนานี้มีจุดศูนย์กลางมวลขนาดใหญ่อยู่คนละที่กิน ซึ่งโดยปกติแล้วในจรวดที่ไม่มีเชื้อเพลิงนั้น มวลส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่เครื่องยนต์จรวด นอกนั้นก็เป็นถังเชื้อเพลิงเปล่าที่เบามาก แต่เราก็ยังไม่รู้แน่ชัดอยู่ดีว่ามันคือจรวดอะไรกันแน่เนื่องจากหน่วยงานอวกาศแม้แต่ NASA ไม่ได้ติดตามขยะอวกาศจากภารกิจที่ส่งออกไปไกลจาก ติดตามแต่เพียงขยะอวกาศในวงโคจรโลกเท่านั้น
จรวดอื่น ๆ ที่เคยพุ่งชนดวงจันทร์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นท่อน S-IVB ของภารกิจ Apollo ซึ่งเป็นท่อนสุดท้ายของจรวด Saturn V ที่เมื่อแยกตัวแล้ว หากไม่ส่งเข้าวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ (Heliocentric Orbit) ก็จะจุดจรวดเพื่อพุ่งชนดวงจันทร์ ยกตัวอย่างเช่น S-IVB ของ Apollo 11 ที่ถูกส่งเข้าวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ หรือ S-IVB ของ Apollo 13 14 15 และ 17 ที่โม่งดวงจันทร์
โดยหลุมบนดวงจันทร์ที่เกิดจากการพุ่งชนของ S-IVB นั้นจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 35 เมตร แต่เป็นหลุมเดียว ไม่เหมือนกับหลุมที่ LRO เจอของจรวดปริศนาซึ่งเป็นสองหลุม
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง
NASA’s Lunar Reconnaissance Orbiter Spots Rocket Impact Site on Moon