เมื่อเช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา ตอนที่ยาน InSight กำลังจะลงจอดบนดาวอังคาร หลายคนอาจได้เห็นขวดที่บรรจุถั่วลิสงตั้งอยู่ในห้องสองขวด สำหรับภารกิจ InSight และ MarCO แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ถั่วลิสงถูกอัญเชิญเข้ามาตั้งไว้ในห้องควบคุม เพราะย้อนไปตอนปล่อยยานเมื่อเดือนพฤษภาคม ก็มีการนำถั่วลิสงนี้เข้ามาเช่นกัน มาดูประวัติและที่มาของประเพณีถั่วลิสงของนาซาได้ในบทความนี้
สำหรับประวัติของมันนั้นต้องย้อนกลับไปในปี 1961 นาซ่าเพิ่งสามารถส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ และกำลังพยายามที่จะส่งยานไปดวงจันทร์ให้ได้ ซึ่งนั่นทำให้เกิดโครงการเรนเจอร์ (Ranger) ขึ้นมา ซึ่งถูกออกแบบมาโดยมีเป้าหมายเพียงแค่เดินทางไปให้ถึงดวงจันทร์ ถ่ายรูปกลับมาก่อนจะพุ่งชน
แต่แค่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เมื่อภารกิจที่ 1-6 ล้วนแล้วแต่จบลงด้วยความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า JPL กำลังโดนด่า นาซ่าเองก็โดนแรงกดดันทั้งจากภาครัฐและเอกชน โครงการเรนเจอร์กลายเป็นไอ้ขี้แพ้และตัวพลาญเงินของประเทศ และแล้วพวกเขาก็มาถึงวันภารกิจที่ 7 แต่ในครั้งนี้มันต่างออกไปจากทุก ๆ ครั้ง ใช่แล้ว มันมีถั่วลิสงอยู่ในห้อง
“ผมนำถั่วลิสงเข้ามา เพื่อหวังว่ามันจะช่วยบรรเทาความกังวลในห้องควบคุมลงไปเพียงเท่านั้น แต่ที่เหลือนั้นคือตำนาน” คือคำพูดของ Dick Wallace ผู้ออกแบบวิถีโคจรของยานเรนเจอร์ แน่นอนว่ายานเรนเจอร์ 7 ปฏิบัติภารกิจของมันได้สำเร็จ รวมถึงภารกิจที่ 8 และ 9 ซึ่งนี่ถือเป็นตัวช่วยในการวางแผนการลงจอดยานอพอลโล่ที่ส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ในภายหลัง และนั่นทำให้ถั่วลิสงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งใน checklist ก่อนปล่อยยานอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ปี 1964
ทีนี้คุณอาจจะกำลังนึกว่า อ้าว ก็อาจจะแค่ถูกจังหวะแค่นั้นแหละ ทำไมต้องเชื่ออะไรงมงายกันแบบนี้ด้วย ดังนั้นเราจึงของเสนอคำพูดในตำนานที่ว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะเคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ถั่วลิสงนำโชคไม่ได้อยู่ในห้องควบคุม แล้วเราต้องสูญเสียยานลำนั้นไปหลังจากปล่อยไม่นาน อีกครั้งการปล่อยก็ถูกเลื่อนออกไปกว่า 40 วัน และกว่าจะได้ปล่อยนั้นก็ต้องรอให้ถั่วลิสงนำโชคนี้ถูกส่งไปที่ทีมปล่อยยานเสียก่อน หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญก็คือการปล่อยยานแคสซินี ที่ทีมปล่อยลืมเอาถั่วลิสงเข้ามาในห้องปล่อย ทำให้พวกเขาไม่ได้ปล่อยในโอกาสครั้งแรก ดังนั้นในโอกาสที่สอง ทีมงานก็ไม่ลืมที่จะนำเอากระป๋องใส่ถั่วลิสงเข้ามาในห้อง แน่นอนว่าในครั้งนี้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี
นับจากภารกิจวอยาเจอร์ กระป๋องถั่วลิสงไม่ได้ถูกอันเชิญเข้ามาในห้องควบคุมแค่วันปล่อยเท่านั้น แต่เมื่อถึงช่วงเวลาสำคัญของภารกิจ เช่นวันที่บินผ่าน เข้าสู่วงโคจร วันที่ลงจอด หรือช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงและน่าตื่นเต้น ถั่วลิสงจะถูกนำมาเปิดกินกันในห้องควบคุมโดยตลอด
เมื่อถูกถามคำถามนี้ Dick Wallace ได้ตอบว่าเขาไม่คิดว่ามันเป็นแบบนั้น อย่างน้อยก็ในเชิงของเหตุและผล หลาย ๆ อย่างจำเป็นต้องพร้อมเพื่อให้ภารกิจดำเนินไปต่อได้ เช่นในการปล่อย สภาพอากาศ สถานะของจรวดและยานปล่อย ทุกอย่างต้องสอดคล้องไปด้วยกันถึงจะปล่อยได้อย่างประสบความสำเร็จ
แน่นอนว่าการเดินทางสู่อวกาศไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่บางครั้งความผิดพลาดในการ “ลืมแปลงหน่วย” ก็ทำให้เราสูญเสียยานอวกาศไปได้แล้ว วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ว่าจะไร้ความเชื่อ เรามีความเชื่อเหมือนกัน เพียงแค่มันคือความเชื่อใจ เชื่อมั่น ไม่ใช่ความเชื่ออย่างงมงาย การมีอยู่ของถั่วลิสงก็ไม่มีความหมายอะไรหากวิศวกรของภารกิจนั้น ๆ ไม่เชื่อใจในภารกิจของเขา ความสำเร็จของภารกิจที่แท้จริงก็ไม่ได้มาจากการมีอยู่ของถั่วแต่อย่างไร แต่มันมาจากความพยายาม ความตั้งใจ และความเชื่อมั่นของทีมงานทุกคนต่างหาก
หรือบางทีถั่วลิสงก็อาจเป็นข้ออ้างแก้หิวของทีมงานก็เป็นได้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co