Luna 25 ภารกิจดวงจันทร์ของรัสเซียที่รอนานกว่า 47 ปี

10 สิงหาคม 2023 ณ ฐานปล่อยจรวดแห่งใหม่ด้านตะวันออกของรัสเซีย ที่ชื่อว่า วอสโตชินีย์ (Восточный) จรวด Soyuz 2.1 ได้นำพายานอวกาศ Luna 25 (เขียนว่าลูนา ตามแบบการเขียนภาษารัสเซีย) เดินทางขึ้นสู่อวกาศ มีเป้าหมายการเดินทางไปยังดวงจันทร์ และนับว่าเป็นการเดินทางสู่ดวงจันทร์ในรอบ 45 ปี และเป็น “ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย” เนื่องจากก่อนหน้านี้ ภารกิจ Luna 24 ได้เดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 1976 ที่ในตอนนั้นเป็นในยุคของสหภาพโซเวียต (สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991)

เดิมทีรัสเซียตั้งเป้าส่งยาน Luna 24 ตั้งแต่ในช่วงปีที่แล้ว แต่เนื่องจากเหตุการณ์หลาย ๆ อย่าง ทำให้ภารกิจถูกเลื่อนออกมาและได้ปล่อยในช่วงกลางปี 2023 ในที่สุด

โลโก้ Luna 25 บนฝาครอบจรวด Soyuz 2.1 ซึ่งมีแต่ธงชาติรัสเซียกับโลโก้ของหน่วยงานในรัสเซีย ที่มา – Roscosmos

เป็นที่ทราบกันดีว่า รัสเซียถอนตัวออกจากโครงการ Artemis ของทีมฝั่งนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ และ NASA โดยรัสเซีย ได้ประกาศความร่วมมือสำรวจอวกาศกับจีน ในโครงการ ILRS (International Lunar Research Station) ในปี 2021 ทำให้โครงการ Luna ของรัสเซียที่ทิ้งระยะห่างไปกว่าครึ่งศตวรรษนั้น กลับมามีบทบาทสำคัญในการสำรวจดวงจันทร์ ที่ก่อนหน้านี้จีนได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในโครงการ ฉางเอ๋อ (Chang’e) ที่มีทั้งการสำรวจแบบลงจอด รถโรเวอร์ และการนำตัวอย่างหินกลับโลก ตั้งแต่ในช่วงปี 2013 จนถึงปัจจุบัน (อันที่จริง จีนเป็นประเทศแรกที่ส่งยานกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง นับตั้งแต่โครงการ Luna 24) และโครงการ Luna และ ฉางเอ๋อ นี่เองที่จะนำพาทั้งจีนและรัสเซียไปสู่เป้ามหายระยะไกลในการสำรวจดวงจันทร์

Luna 25 ยานอวกาศลำใหม่ของรัสเซีย

ช่วงหลัง ๆ นั้นรัสเซียเรียกได้ว่าว่างเว้นสำหรับการพัฒนาภารกิจสำรวจอวกาศมากพอสมควร เพราะก่อนเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก ที่มีที่มาจากกรณีสงครามรัสเซียยูเครน ที่เริ่มต้นในช่วงต้นปี 2022 รัสเซียเองก็มีบทบาทร่วมกับ ESA ในการพัฒนายานอวกาศต่าง ๆ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องพัฒนาเองทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ภารกิจความร่วมมือ ExoMars ที่รัสเซีย ทำหน้าที่พัฒนาระบบนำส่ง ไปจนถึงออกแบบตัวโรเวอร์ (ที่ปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าแล้ว) หรือในปี 2011 ที่รัสเซีย ได้เสียยานสำรวจดวงจันทร์บริวาร Fobos ของดาวอังคารของตัวเองในโครงการ Fobos-Grunt ที่ไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่วงโคจรโลกอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นกรณีการพัฒนา Luna 25 จึงมีความน่าสนใจทั้งในมิติวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และการเมือง อย่างมาก

Luna 25 เป็นยานอวกาศหุ่ยนต์ประเภท Lander มีมวล 1,750 กิโลกรัม นับว่าไม่มากไม่น้อย (Hakuto-R ของญี่ปุ่นมีมวล 1,000 กิโลกรัม ในขณะที่จันทรายาน 3 มีมวลประมาณ 1,700 กิโลกรัมเช่นกัน) ติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์รวมกันประมาณ 30 กิโลกรัม เช่น อุปกรณ์วัดอนุภาคและรัสสี แขนกลสำหรับเก็บและศึกษาตัวอย่าง เป้าหมายการลงจอดของ Luna 25 คือบริเวณ หลุมอุกกาบาต Boguslawsky บริเวณใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ การลงจอดถูกกำหนดไว้เป็นวันที่ 21 สิงหาคม 2023 รวมระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง 10 วันโดยประมาณ

ประวัติศาสตร์ของ Luna 25 นั้นน่าสนใจ (และน่าสนใจกว่าอุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนยานด้วยซ้ำ) เพราะมีแผนมาตั้งแต่ในยุค 90 แต่แผนก็ถูกยื้อมาเรื่อย ๆ จากความไม่ชัดเจนในนโยบายการสำรวจดวงจันทร์ (อย่าลืมว่าในตอนนั้นรัสเซียเพิ่งถังแตกจนถึงกระทั่งไม่มีเงินพัฒนาโมดูลสำหรับโครงการสถานีอวกาศนานาชาติที่ตัวเองไปเซ็นสัญญาร่วมไว้ จนโมดูลซาเรียของตัวเอง ต้องถูกพัฒนาขึ้นโดยเงินจากฝั่งสหรัฐฯ) แถมทั้งโลกเองก็ยังไม่ได้มีแรงผลักดันจากการค้นพบ เพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้ค้นพบน้ำแข็งในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ แถมรัสเซียเองก็มีเป้าหมายในการไปดาวอังคารในโครงการ Fobos-Grunt

หลังจากที่ Fobos-Grunt กลายเป็นโครงการเผาเงินเล่น เพราะไปไม่รอดตั้งแต่ออกจากวงโคจรโลก รัสเซียก็กลับมาถังแตกอีกครั้ง (มันจะน่าสงสารไปไหน) และพยายามกลับมาปัดฝุ่นโครงการ Luna 25 อีกครั้ง ประกอบกับในช่วงนั้น หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับการกลับไปสู่ดวงจันทร์ โดยเฉพาะโครงการฉางเอ๋อของจีน และจันทรายานของอินเดีย ทำให้การป่าวประกาศถึงการกลับมาของโครงการ Luna นำมาซึ่งความร่วมมือระดับนานาชาติ แต่สุดท้ายด้วยความยืดยาดของรัสเซีย ก็ทำให้หลายฝ่ายเริ่มถอนตัวและไปทำของตัวเองดีกว่า

ยานอวกาศ Luna 25 ในขณะนำเข้ามาประกอบกับตัวจรวด Soyuz 2.1 ในฐานปล่อยที่วอสโตชินี ที่แม่งไม่มีใครสนใจ ที่มา – Roscosmos

จนมาถึงในปี 2017 รัสเซียเองก็ยังทำยาน Luna 25 ไม่เสร็จซักที มีการปรับแบบหลากหลายรอบ มีการตัดเอาส่วน Orbitor ออกให้เหลือแต่ตัว Lander จนกระทั่งกรณีสงครามรัสเซียยูเครน ก็ทำให้หลายประเทศยิ่งไม่คบหาเข้าไปอีก Luna 25 จึงกลายเป็นยานอวกาศที่อาจเรียกได้ว่า ไม่มีใครสน ไม่มีใครแคร์​ (แม้กระทั่งจีนเอง)

และแม้กระทั่งเมื่อตัวยานถูกพัฒนาจนสำเร็จในช่วงปี 2022 แม่งก็ไม่มีใครสนใจ รู้ตัวอีกทีก็คือปล่อยแล้วในวันที่ 10 สิงหาคม 2023 แถมสื่อยังดูเหมือนจะไปให้ความสนใจกับโครงการ จันทรายาน 3 ของอินเดีย ที่เดินทางสู่ดวงจันทร์ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันด้วย

การปล่อยยาน Luna 25 จากฐานปล่อยวอสโตชินี ทางฝั่งตะวันออกของรัสเซีย ในวันที่ 10 สิงหาคม 2023 ที่มา – Roscosmos

Luna 25 นั้นจึงอาจะเป็นตัวแทนของการไร้ซึ่งเป้าหมายที่ชัดเจนของรัสเซียในการสำรวจดวงจันทร์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าจับตามองต่อไปก็คือโครงการ Luna 26, 27 และ 28 ตามลำดับ ซึ่งจะยิ่งเข้าใกล้ช่วงเวลาที่รัสเซียกับจีนวางเป้าในการตั้งฐานบนดวงจันทร์ร่วมกัน

ภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์ จากยาน Luna-25 ซึ่งเป็นภาพถ่ายสุดท้ายที่เราได้รับ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2023 ที่มา – Roscosmos

วันที่ 17 สิงหาคม 2023 ตัวยานได้ส่งภาพถ่ายพื้นผิวของดวงจันทร์ในระยะใกล้กลับโลก อย่างไรก็ตามภาพถ่ายดังกล่าวก็กลายเป็นภาพถ่ายสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เวลาประมาณ 15 นาฬิกา Roscosmos ได้แจ้งข่าวทางโซเชียลมีเดียวว่า พวกเขาขาดการติดต่อกับยานตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2023 หลังจากนั้น ได้พบว่า ตัวยานเดินทางไปในวงโคจรที่ไม่ได้ออกแบบไว้ ก่อนที่จะนำไปสู่การตกกระแทกพื้นผิวดวงจันทร์ ปิดฉากภารกิจที่กินระยะเวลานานกว่ายี่สิบปีไปแบบง่าย ๆ

ยาน Luna 25 กลายเป็นยานอวกาศลำที่สองในปีนี้ที่พยายามเดินทางไปดวงจันทร์แต่ก็ล้มเหลว หลังจากที่ในเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา ยาน Hakuto-R ของญี่ปุ่น ก็ลงจอดผิดพลาดและสังเวยชีวิตให้กับดวงจันทร์เช่นกัน

Luna 26 มีกำหนดปล่อยในช่วงประมาณปี 2027 ในขณะที่ฉางเอ๋อ 6 มีกำหนดปล่อยในช่วงปี 2024 ก็ต้องมาดูว่ารัสเซียเองจะมีความชัดเจนในการสำรวจดวงจันทร์มากน้อยแค่ไหนหลังจากที่ฉางเอ๋อ 6 ปล่อยไป เพราะเอาจริง ๆ จีนเองก็เรียกได้ว่ามีทั้งทุน มีทั้งคน และมีทั้งแผนที่ชัดเจนยาวไปจนถึงถึง ฉางเอ๋อ 8 ยาว ๆ เกือบถึงปี 2030 ในขณะที่รัสเซียเอง วางเป้า Luna 26 ไว้ใกล้มาก ๆ ในขณะที่ความร่วมมือกับ ESA ที่เคยมีก่อนหน้านี้ก็ดันมาพังยับหมดในช่วงปี 2022

อย่างไรก็ดี เราก็ควรจดจำ Luna 25 ไว้ในฐานะอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่รัสเซียกลับมาเริ่มต้นการสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งแม้จะไม่สำเร็จก็ตาม

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.