Lunar Library II องค์ความรู้ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติที่จะเดินทางไปดวงจันทร์ใน CLPS-1

หลังจากการส่ง Golden Record ไปกับยานอวกาศ Voyager 1 และ Voyager 2 มนุษย์ก็ได้สรรหาส่งอะไรใหม่ ๆ ไปสู่อวกาศในเชิงสัญลักษณ์กันเยอะขึ้นมาก ๆ ตั้งแต่การส่งชื่อลงในชิปขนาดเล็กไปกับยานอวกาศสำรวจดาวอังคารอย่าง Perseverence หรือการส่งชื่อไปดวงอาทิตย์ในภารกิจ Parker Solar Probe หรือในไทยเองก็มีโครงการคล้าย ๆ กันอย่าง MESSE ที่นำเพลงความฝันกับจักรวาลขึ้นสู่อวกาศ หรือไข่มุกจันทรา ที่ส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

ในภารกิจ Commercial Lunar Payload Service ครั้งที่ 1 หรือ CLPS-1 ซึ่งตอนนี้เป็นของยานอวกาศ Peregrine จากบริษัท Astrobotic เอง (อ่าน – Peregrine ยานอวกาศลำแรกที่จะไปดวงจันทร์ในโครงการ CLPS) ก็ได้มีการนำวัตถุเชิงสัญลักษณ์ขึ้นไปด้วยหลายชิ้น หนึ่งในนั้นก็คือ Lunar Library II ซึ่งเป็นการนำเอาองค์ความรู้ของมนุษยชาติขึ้นไปยังดวงจันทร์ผ่านเทคโนโลยีที่ชื่อว่า NanoFiche ซึ่งจัดทำโดย Arch Mission Foundation ที่ก่อนหน้านี้ได้เคยฝากงานในลักษณะเดียวกันนี้ไปในหลากหลายภารกิจสำรวจอวกาศ เช่น การทดสอบส่งจรวด Falcon Heavy ของ SpaceX หรือ Lunar Library ในครั้งแรกที่เดินทางไปกับยาน Baresheet ในปี 2019

แผ่นจารึกที่จะเดินทางไปกับยาน Perigrine ที่มา – Arch Mission Foundation

NanoFiche เป็นการใช้เทคโนโลยีนาโนสลักลงบนแผ่นนิกเกิล (nickel) โดยจะเป็นการนำเอาภาพถ่าย ข้อความ ตัวอักษร เขียนลงไปยังแผ่นนิกเกิลนาโนโดยตรง แนวคิดของการเก็บข้อมูลในลักษณะนี้จะแตกต่างกับการเก็บลงในแผ่นเสียงทองคำแบบ Golden Record บน Voyager หรือลงในชิปดิจิทัล หรือแม้กระทั่งการเก็บแบบ DNA Storage เนื่องจากไม่มีความซับซ้อนในการถอดรหัส (Decode) เพราะเพียงแค่ใช้กล้องจุลทรรศน์ก็สามารถอ่านข้อมูลที่อยู่ด้านในได้

Arch Mission Foundation ได้ระบุในเว็บไซต์ว่า ขนาดตัวอักษร 1 ตัวจะมีขนาดประมาณ 1 ไมครอน ในพื้นที่ 20 x 20 มิลลิเมตร จะสามารถบันทึกข้อมูลได้ถึง 8,000 หน้ากระดาษที่ถูกแสกนด้วยความละเอียด 150 dpi นั่นทำให้ NanoFiche ขนาดเท่ากับจดหมายหนึ่งฉบับจะเก็บข้อมูลได้เท่ากับกระดาษ 1.2 ล้านหน้าเลยทีเดียว

ลักษณะการเก็บข้อมูลลงบน NanoFiche ที่มา – Arch Mission Foundation

และความพิเศษจากคุณสมบัติของแผ่นนิกเกิล ทำให้ข้อความหรือรูปที่ถูกสลักลงไป ทำให้ Arch Mission Foundation มั่นใจว่าข้อมูลดังกล่าวจะยังสามารถถูกอ่านได้อยู่แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 50 ล้านปี

สำหรับโครงการ Lunar Library II นั้น ที่เป็นหมายเลข 2 ก็เพราะว่าในครั้งแรกได้มีการทำ Lunar Library ครั้งแรกไปแล้วในภารกิจการส่งยาน Baresheet ไปลงจอดดวงจันทร์ของบริษัท SpaceIL ประเทศอิสราเอลในปี 2019 อย่างไรก็ตามเนื่องจากภารกิจ Baresheet ไม่ประสบความสำเร็จและตัวยานตกกระแทกผิวดวงจันทร์ทำให้เป็นนัยว่า Lunar Library ฉบับแรกนั้นถูกทำลายไปแล้วด้วยเช่นกัน Beresheet ภารกิจลงจอดดวงจันทร์ที่เกือบสำเร็จของอิสราเอล

ภาพที่ใช้อธิบายวิธีการอ่าน Lunar Library II ซึ่งบอกแบบง่าย ๆ ว่าให้ส่องดูด้วยการขยายภาพ ที่มา – Arch Mission Foundation

สำหรับ Lunar Library II นั้นได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญได้แก่ วิกิพีเดีย (Wikipedia) ฉบับภาษาอังกฤษทุกบทความ, เอกสารใน Project Gutenberg ที่เป็นการนำวรรณกรรมมากกว่า 70,000 ฉบับมาทำเป็นไฟล์ดิจิทัล, คำที่เหมือนกันในภาษากว่า 5,000 ภาษาที่มาจากฐานข้อมูล Rosetta Project และ PanLex, Arch Mission Primer ซึ่งเป็นการรวมรวมองค์ความรู้ที่จัดทำโดย Arch Mission Foundation นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ อีกจากหน่วยงานพันธมิตร เช่น SETI

แม้โดยภารกิจหลักของ Lunar Library II จะเป็นการบันทึกลงใน NanoFiche เป็นหลัก แต่ก็มีข้อมูลบางส่วนได้ถูกนำมาบันทึกลงใน DNA Storage ด้วยเช่นกัน ด้วยความร่วมมือจาก University of Washington, Catalog DNA, และ LifeShip

วรรณกรรม The Foundation ของ Issac Asimov ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เทคนิกเดียวกันส่งไปกับรถยนต์ Tesla Roadster ของ Elon Musk ในภารกิจการทดสอบจรวด Falcon Heavy ไปแล้ว

การส่งข้อความไปเก็บไว้ยังจุดต่าง ๆ ของจักรวาล มาจากไอเดียที่ต้องการเก็บรักษาองค์ความรู้ของมนุษยชาติเอาไว้ ซึ่งสองเทคโนโลยีที่มักจะนำมาใช้กันก็คือ Nano หรือ DNA Storage ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ในขนาดที่เล็ก โดยเป้าหมายก็คือต้องการรักษาองค์ความรู้ในวันหนึ่งที่อารยธรรมมนุษย์อาจล่มสลาย หรือมนุษย์ต้องเดินทางไปทั่วจักรวาลแล้วเกิดการสูญหายขององค์ความรู้ขึ้น การเก็บองค์ความรู้ไว้เช่นนี้อาจช่วยให้เราสามารถประกอบสร้างอารยธรรมใหม่ได้ในเวลาอันจรวดเร็ว (คล้ายกับพล็อตเรื่อง The Foundation)

สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ว่าภารกิจไหนบ้างที่มีผลงานของ Arch Mission Foundation สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ Arch Mission Foundation

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.