ไมเคิล คอลลินส์ นักบินอวกาศผู้ถูกลืม ในภารกิจลงดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ

เมื่อพูดถึงการลงดวงจันทร์ครั้งแรก ผู้เขียนมั่นใจได้เลยว่าชื่อของภารกิจอพอลโล 11 กับนักบินอวกาศอย่างนีล อาร์มสตรองและบัซ อัลดริน จะต้องถูกพูดถึงอย่างแน่นอน เพราะทั้งคู่คือมนุษย์สองคนแรกที่ท้าทายทุกข้อจำกัด และประทับรอยเท้าของพวกเขาบนอีกโลกหนึ่งได้สำเร็จเป็นกลุ่มแรก แต่เรื่องราวของไมเคิล คอลลินส์กลับถูกเล่าขานต่อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นนักบินยานควบคุม (Command Module) ยานลำที่พาอพอลโล 11 ออกเดินทางไปดวงจันทร์และกลับโลกได้อย่างปลอดภัย

บทความนี้จึงจะเล่าเรื่องราวของภารกิจอพอลโล 11 ในอีกมุมมองที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง ของชายผู้สัมผัสความโดดเดี่ยวในแบบที่ไม่เคยมีใครเคยเจอมาก่อน

ลูกเรือของอพอลโล 11 โดยคอลลินส์คือคนที่ยืนอยู่ตรงกลาง – ที่มา NASA

การรอคอยที่แสนยาวนาน

หลังจากที่ทั่วทั้งโลกเฉลิมฉลองการได้เห็นมนุษย์ก้าวลงเดินบนโลกอีกใบกันไปแล้ว ชายคนหนึ่งในวงโคจรรอบดวงจันทร์ก็กำลังเฝ้าคอยเพื่อน ๆ ทั้งสองของเขาอย่างมีความหวัง และสิ่งเดียวที่เขาอยากได้ยินในเวลานั้นก็คือ ทั้งอาร์มสตรองและอัลดรินสามารถกลับขึ้นมาจากพื้นผิวดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งนั่นจะช่วยให้เขาโล่งใจจากความคิดที่ว่า

คอลลินส์จะเป็นผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียวของภารกิจอพอลโล 11 ที่จบลงด้วยการสูญเสียของชายสองคนแรกบนดวงจันทร์ และเมื่อกลับถึงโลก ก็คงยากที่จะนึกว่าเขาจะโดนตราหน้าอย่างไรบ้าง ที่ทิ้งเพื่อนทั้งสองของเขาให้ตายอยู่บนดาวต่างดวง…

ในช่วงเวลานั้นอัตราความสำเร็จต่อความล้มเหลวของภารกิจอพอลโล 11 อยู่ที่ 50:50 เลยทีเดียว ความเสี่ยงนั้นสูงมาก ๆ ในระดับที่ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐในเวลานั้น ถึงกับต้องเตรียมบทพูดในกรณีที่ทั้งอาร์มสตรองกับอัลดรินไม่สามารถกลับโลกไว้เลย โดยสามารถอ่านต้นฉบับและแบบแปลไทยได้ที่นี่

ยานลงดวงจันทร์ ขณะกลับมาจากพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งในตอนที่ภาพนี้ถูกถ่ายขึ้น คอลลินส์คือคน ๆ เดียว ที่มีชีวิตอยู่ในวินาทีนั้น ที่ไม่ได้อยู่ในภาพ ๆ นี้ – ที่มา NASA

วินาทีที่อาร์มสตรองกดจุดเครื่องยนต์ของส่วนบน (Ascent Stage) ของยานลงดวงจันทร์ (Lunar Module) ได้สำเร็จ ความกลัวอันสูงสุดในจิตใจของคอลลินส์ไม่เกิดขึ้นจริง และลูกเรือทั้งสามของอพอลโล 11 ก็ได้เดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย พร้อมกับการต้อนรับอย่างวีรบุรุษ

จากผู้เกือบถูกตราหน้า มาเป็นผู้ถูกลืม

เรื่องราวการลงดวงจันทร์ครั้งแรกถูกพูดถึงในทุกมุมโลก ผู้คนจำได้ว่าชายคนแรกที่ลงดวงจันทร์ชื่อว่าอะไร อีกคนที่อยู่บนนั้นคือใคร คำแรกที่ถูกพูดบนนั้นคือคำไหน แต่ชื่อของอีกคนบนวงโคจรมักจะถูกมองข้ามไปในหลาย ๆ ครั้ง แต่คอลลินส์เองก็ไม่ได้ถือโกรธหรือน้อยใจที่ต้องคอยอยู่ภายใต้เงาของแสงไฟ แต่กลับให้สัมภาษณ์กับ The Guadian ว่าการที่เขาได้เป็นส่วนสำคัญในภารกิจนี้ “ถือเป็นเกียรติอันสูงส่ง” ของเขาอีกด้วย

ตามความเป็นจริงแล้ว คอลลินส์เองต้องได้กลับไปลงเดินบนดวงจันทร์อีกครั้ง ในฐานะผู้บัญชาการของภารกิจอพอลโล 17 แต่ก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอที่หลายคนใคร่ปรารถนานี้ไป เนื่องจากการฝึกซ้อมเป็นนักบินอวกาศนั้นทำให้เวลาของเขากับครอบครัวมีน้อยลง และเขาต้องการแค่เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้นาซาดำเนินการตามความต้องการของจอห์น เอฟ เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ ที่อยากให้ประเทศของเขาส่งมนุษย์ไปลงเดินบนดวงจันทร์ และกลับโลกอย่างปอลดภัย ก่อนจะจบปี 1969 ลงได้ก็เท่านั้น คอลลินส์หันหลังให้การไปอวกาศ

ถามว่าความถูกลืมของเขานั้นพีคในระดับไหน ก็ต้องยกให้กับหน้าค้นหาของกูเกิล ที่แสดงผลของคอลลินส์คนที่เป็นนักบินอวกาศไว้เป็นอันดับที่ 2 รองจากไมเคิล คอลลินส์ ที่เป็นอดีตผู้นำของไอร์แลนด์อีกด้วย (ขนาดบัญชีกูเกิลของผู้เขียนถูกนำมาใช้ค้นหาเรื่องอวกาศบ่อยมาก ๆ แล้วนะ)

คอลลินส์ที่เป็นนักบินอวกาศ ถูกลืมแม้กระทั่งในกูเกิล…

แต่นั่นไม่สามารถทำอะไรเขาได้…

แม้จะเป็นบุคคลที่เหงาที่สุดในประวัติศาสตร์ (ในโลกไม่ได้ เพราะไปเหงาที่นอกโลก) และถูกลืมอยู่บ่อยครั้ง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำอะไรกับคอลลินส์ได้เลย

คอลลินส์ กับยานควบคุมของอพอลโล 11 ไม่นานหลังกลับจากดวงจันทร์ – ที่มา NASA

เริ่มตั้งแต่ตอนที่ยานของคอลลินส์หลบไปอยู่ที่ด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งทำให้เขาขาดการติดต่อกับทุกคนบนโลก และอาร์มสตรองกับคอลลินส์บนดวงจันทร์ ซึ่งความอ้างว้างนี้อาจทำให้บางคนรู้สึกไม่ดีได้ แต่นั่นไม่ใช่กับคอลลินส์เลย โดยเขาได้เขียนไว้ในอัตชีวประวัติว่า “เขาไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวในช่วงที่ขาดการติดต่อเลย แต่กลับมีความมั่นใจ ตื่นตัว พึงพอใจ และปลื้มใจ”

รวมทั้งสภาพจิตใจของเขาในช่วงหลังภารกิจด้วยเช่นกัน อย่างบัซ อัลดริน ที่เผชิญกับความซึมเศร้าและติดเหล้าอย่างหนัก (ก่อนจะต่อสู้และเอาชนะได้ในภายหลัง) ส่วนอาร์มสตรองก็แทบจะถือสันโดษและไม่พบเจอกับผู้คนไปเลย และพวกเขาทั้งสองก็เลิกกับภรรยาไปด้วย ต่างจากคอลลินส์ที่ยึดมั่นในรักเดียวมาตั้งแต่ปี 1958 จนถึงปี 2014 ที่ภรรยาของเขาได้เสียชีวิตลง

ในปัจจุบันคอลลินส์มีอายุ 88 ปี และนี่คือภาพถ่ายล่าสุดของเขากับบรรดานักบินอวกาศสมัยโครงการอพอลโล ที่ได้มารวมตัวกันเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2019 ที่ผ่านมานี้เอง

ที่มา – Felix Kunze via Space.com

แม้คอลลินส์อาจไม่โด่งดังเท่ากับเพื่อนของเขา แต่ก็เป็นบุคลากรสำคัญที่ไม่อาจขาดไปได้ และวิธีการรับมือกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เขาเผชิญมา ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาคือบุคคลที่น่านับถือยกย่อง สามารถเอาเป็นแบบอย่างได้ และนี่ก็คือเรื่องราวของไมเคิล คอลลินส์ นักบินอวกาศผู้ถูกลืมในภารกิจลงดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ

 

เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO

 

อ้างอิง:

The Guardian | How Michael Collins became the forgotten astronaut of Apollo 11

Collins, Michael (2001) [1974]. Carrying the Fire: An Astronaut’s Journeys. New York: Cooper Square Press. ISBN 978-0-8154-1028-7. OCLC 45755963

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138