เบื้องหลังการออกแบบตราและแบรนดิ้ง NASA งานอาร์ตขวัญใจ Modernist

ปีคริสต์ศักราช 1975 สำนักงานใหญ่ของนาซ่าส่งจดหมายไปยังสำนักงานสาขาทั่วสหรัฐอเมริกา ถึงการเปลี่ยนโลโก้และภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ขององค์การ จากโลโก้ตัวอักษรสีขาวที่ติดอยู่กับรูปทรงตัวอักษร V สีแดงภายในวงกลมสีน้ำเงิน ไปสู่ตัวอักษรเปล่า ๆ สีแดงสี่ตัว จากความยุ่งเหยิงและเป็นมิตรไปสู่ความโมเดิร์นนิสต์เรียบหรูแบบสุดขั้ว

การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นกลายเป็นจดหมายเหตุที่สำคัญชิ้นหนึ่ง ทั้งในฐานะตัวจุดดสภาวะขัดแย้งในประวัติศาสตร์ ในแง่มุมของการมองศิลปะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เล่าได้ถึงความคิดเห็นที่แตกต่างของกลุ่มช่วงอายุ การงานอาชีพและยุคสมัย ในฐานะของเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไปจนถึงในฐานะเครื่องมือเพื่อสร้างกำลังใจแก่บุคลากรนาซ่าอีกครั้งภายหลังความซบเซาลงของหน่วยงาน โดยการถูกโยนทิ้งไปในปี 1992

Section 1.7 – The Logotype: Grid Drawing for Large Applications, Danne & Blackburn

นี่คือเรื่องราวของโลโก้ที่ถูกเรียกว่าตัวหนอนหรือ “NASA Worm logotype” ที่พ่วงมากับเอกสารยาวกว่า 90 หน้ากระดาษของดีไซเนอร์สองคนกับความพยายามเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ขององค์การการบินและท่องอวกาศแห่งนี้

“Support for the arts is increasingly good politics”

ในช่วงปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา Richard Nixon ได้รับบันทึกข้อความแนะนำจาก Leonard Garment คนสนิทและที่ปรึกษาส่วนตัว มีจุดประสงค์ให้ Nixon ให้ทำการต่ออายุทางกฎหมายของ National Foundation on the Arts and Humanities (NFAH) ที่จะหมดในเดือนมิถุนายนของปี 1970 และทำการเพิ่มงบประมาณจากของมูลนิธิจาก 15.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ (Fiscal year) 1970 ​เป็น 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 1971 โดยให้เหตุผลว่าในปัจจุบัน (สมัยนั้น) งานกิจการทางด้านวัฒนธรรมอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐเท่าที่ควร หากทำสนับสนุนงานด้านนี้แล้ว Nixon น่าจะได้ความนิยมที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มบุคคลต่าง ๆ โดย Nixon อาจให้เหตุผลของการกระทำนี้ต่อภาคส่วนต่าง ๆ ว่าเพื่อเป็นการจัดการเรียงลำดับ National Priority ใหม่ และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

ในหน้าที่ 6 อันเป็นหน้าสุดท้ายของบันทึกข้อความ Leonard ได้เขียนเอาไว้ว่า “Support for the arts is increasingly good politics” อีกทั้งยังแนะนำให้ส่งจดหมายดำเนินการเรื่องนี้ให้สภาคองเกรสภายใน 2 สัปดาห์ (วันที่ 15 พฤศจิกายน 1969)

บันทึกข้อความฉบับเต็ม : https://issuu.com/richardnixonfoundation/docs/garment_to_rn_nea

Nancy Hanks, National Park Service

Nixon ได้ส่งจดหมายให้คองเกรสไปในวันที่ 10 ธันวาคม ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติงบประมาณและต่ออายุของมูลนิธิไปอีก 3 ปี นอกจากนั้น Nixon ยังได้แต่งตั้ง Nancy Hanks ขึ้นเป็น Chairman ของ National Endowments on the Arts (NEA) ที่เป็นหน่วยงานย่อยของ NFAH อีกที ต่อมาในปี 1972 Hanks ได้ริเริ่มโปรเจกต์ชื่อ The Federal Design Improvement Program ที่ประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบย่อยโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนางานดีไซน์ของรัฐ ได้แก่

  1. The Federal Design Assembly เป็นการจัดงานประชุมนัดพบระหว่างผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ กับผู้ที่ทำงานทางด้านศิลปะทั้งศิลปิน นักออกแบบ สถาปนิก เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานรัฐและโลกแห่งศิลปะ
  2. The Federal Graphics Improvement Program ดำเนินการในช่วงปี 1972–1981 ให้หน่วยงานรัฐสามารถยื่นเรื่องขอในการให้นักออกแบบ rebranding หน่วยงานของตัวเองได้
  3. The Federal Architecture Program เพื่อทำการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมกับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของรัฐ อย่างการปรับปรุงตัวอาคาร หรือตรวจสอบและเปลี่ยนแปลงจุดประสงค์การใช้งาน
  4. การประชุมหารือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานของหน่วยงานตัวเอง อย่างการหาวิธีพัฒนาคุณภาพของศิลปิน หรือลดขั้นตอนความยุ่งยากของสิ่งที่หน่วยงานอื่นต้องดำเนินการเพื่อติดต่อการใช้งาน The Federal Design Improvement Program

โปรเจกต์หนึ่งในโครงการ The Federal Design Improvement Program ที่มีอิมแพกต์ต่อคนทั่วโลกจนถึงปัจจุบันที่หลายคนอาจจะไม่รู้ คือการสร้างสัญลักษณ์ภาพชื่อ DOT pictograms จำนวน 50 ภาพ ให้กับกระทรวงคมนาคม โดยได้เปิดให้คนทั่วไปสามารถใช้ได้โดยไม่ติดลิขสิทธ์ ซึ่งสัญลักษณ์ภาพมาตรฐานหลายอันที่เห็นกันในปัจจุบันอย่างห้องน้ำ ลิฟต์ บันได หรือบันไดเลื่อน ก็ถูกสร้างมาจากโครงการนี้

Something that looked as if it might have come out of a Cracker Jack box

ในปี 1958 ที่ National Advisory Committee on Aeronautics (NACA) ได้กลายมาเป็น National Aeronautics and Space Agency (NASA) โลโก้ของนาซ่าได้ถูกออกแบบโดย James J. Modarelli หัวหน้าภาค Research Report ที่ NASA Lewis Research Center (ปัจจุบันคือ NASA Glenn Research Center), เป็นรูปวงกลมสีเหลืองสื่อถึงดาวเคราะห์ ที่ติดอยู่กับที่ติดอยู่กับรูปทรงตัวอักษร V สีแดง และกับเส้นสีขาวของยานอวกาศที่กำลังบินรอบ ๆ มีวงกลมสีขาวอยู่ด้านข้างขวา ดาวบนพื้นหลัง ภายในวงกลมสีน้ำเงิน มีกรอบสีขาวพิมพ์ชื่อเต็มของนาซ่าล้อมรอบ (สัญลักษณ์นี้ได้ถูกใช้ฐานะ seal ของนาซ่าจนถึงในปัจจุบัน)

ไม่นานหลังจาก seal เผยแพร่ออกมา Modarelli ได้รับคำขอให้ดีไซน์โลโก้ที่ใช้ในงานที่เป็นทางการน้อยลง, seal จึงได้ถูกลดทอน วงกลมสีเหลืองและขาว ชื่อเต็มล้อมรอบถูกตัดออกไป แล้วเพิ่มคำว่า “NASA” ลงไปตรงกลางแทน แต่ถึงจะลดทอนแล้ว ก็ยังเกิดปัญหาในการใช้งานโลโก้นี้อีกด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ในสมัยนั้นที่ยังไม่ดี ทำให้ในงานพิมพ์ขนาดเล็ก สีขาวของตัวหนังสือ ดาว และเส้นวงกลมกลืนกันจนมองไม่ออก หรือในงานพิมพ์ขาวดำเละเทะจนไม่จำเป็นต้องพูดถึง

Seal (1958) / “Meatball” (1958) / “Worm” (1975)

งานดีไซน์นี้ถึงแม้จะจะมีปัญหาอย่างไร ก็ยังถูกชอบโดยคนภายในองค์การอยู่บ้าง ด้วยความ Sci-Fi ช่างฝันของมัน ขณะเดียวกันก็เป็นที่เกลียดชังของบรรดาดีไซเนอร์รวมถึงประชาชนบางส่วน (ขนาด Alan Shepard ชาวอเมริกาคนแรกที่ได้ขึ้นไปบนอวกาศก็ยังเคยวิจารณ์เหรียญตรา seal ของนาซ่าสีทองที่เขาได้รับหลังการทำภารกิจผ่านนิตยสาร Times ว่าเหมือนหลุดออกมาจากกล่อง Cracker Jack (Something that looked as if it might have come out of a Cracker Jack box))

16 ปีให้หลังจากการก่อตั้งของหน่วยงาน ในปี 1974 สำนักงานใหญ่นาซ่าได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ National Endowments on The Arts เพื่อหาลุคใหม่ให้กับตัวเอง Jerome Perlmutter ผู้บริหารของ NEA ได้เห็นศักยภาพและติดต่อบริษัทออกแบบเล็ก ๆ ที่มีพนักงานเพียงแค่ 3 คนชื่อ Danne & Blackburn (D&B) ของ Richard Danne ที่ได้ทำงานดีไซน์มาหลากหลายแขนง และ Bruce Blackburn ที่เป็นคนออกแบบโลโก้ที่ได้รับเลือกให้ใช้ในวาระครบ 200 ปีของชาติอเมริกา (United State Bicentennial Logo) ให้เป็นคนรับงานในการ rebranding นาซ่าครั้งนี้

D&B and The Graphics Standards Manual

Bruce Blackburn (ซ้าย) และ Richard Danne (ขวา), Alan Orling

ก่อนที่การออกแบบกราฟิกโดยใช้คอมพิวเตอร์เกิดขึ้น การออกแบบต่าง ๆ ล้วนถูกทำด้วยมือ ไม่เว้นแม่แต่การ rebranding ของนาซ่า, D&B ได้ค่อย ๆ ปากกาจุ่มหมึก, ไม้บรรทัดตัวทีและไม้โค้งฝรั่งเศส ร่างโลโก้และหนังสือ Branding System ออกมา ด้วยอิทธิพลของ Modernist Art Movement ที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น ประกอบกับเพื่อแสดงความทันสมัยของหน่วยงาน งานที่ออกมาจึงมีลักษณะเรียบหรูมินิมอลที่สุด

และที่คงจะไม่กล่าวถึงไม่ได้อีกก็สีแดง Pantone 185 ที่ถูกใช้เป็น Primary color ของโลโก้ แหวกแนวจากสีโลโก้ของหน่วยงานเกี่ยวกับทะเลหรือท้องฟ้าที่มักมีสีหลักเป็นสีน้ำเงินเพื่อแสดงถึงน้ำทะเล ท้องฟ้าและความเย็น แต่ D&B เลือกที่จะฉีกกรอบออกมาใช้สีแดงเพื่อสื่อถึงความร้อนแรง Danne อธิบายโลโก้นี้ไว้ว่า “สะอาด, ก้าวหน้า, สามารถอ่านได้จากระยะเป็นไมล์ ๆ และง่ายต่อการใช้ในทุกรูปแบบ”

โลโก้นี้ถูกใส่ไว้ในเป็นบทแรกจากทั้งหมด 9 บทของหนังสือ Graphics Standards Manual ที่ D&B อธิบายถึง Design System ทั้งหมด โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

บทที่ 1 The NASA Logotype: โลโก้ แบรนดิ้ง เอกลักษณ์ วิธีการใช้สีบนพื้นหลังประเภทต่าง ๆ ข้อห้ามในการใช้งานโลโก้ (การการใส่เงา การใส่กรอบ การใช้ในแนวตั้ง) แม่แบบของโลโก้ในการทำซ้ำ (เพราะยุคนั้นยังไม่มี Illustrator ยังไงหล่ะ!) และการใช้งาน Mission Patch และ Seal ยุคแรกเริ่มที่ Moderelli ออกแบบไว้ในยุคแรกเริ่ม

Section 1.6  – The Logotype: Incorrect Use, Display Graphic Design Collection

บทที่ 2 Reproduction Art: ต้นแบบของโลโก้ โลโก้ที่มีชื่อเต็มด้านล่าง โลโก้หน่วยงานย่อย (ก็ด้วยไม่มี Illustrator เหมือนเดิม) ต้นแบบ Seal ในการทำซ้ำ และ palette สีแดง pantone 185 ที่ใช้ในโลโก้

บทที่ 3 Stationary: แม่แบบของจดหมาย (สัญลักษณ์ที่หัวกระดาษ) ซองจดหมาย ซองเอกสาร แนวทางการพิมพ์เอกสาร และแม่แบบ News Releases

บทที่ 4 Form: แม่แบบฟอร์มเอกสาร (มีเอกสารประกอบเพียงหน้าเดียว แต่เขียนเอาไว้ว่างาน Redesign ทั้งหมดจะตามมาในภายหลัง)

บทที่ 5 Publication: แนวทางการใช้ Logo แนวทางภาพถ่ายและภาพวาดที่ควรนำมาใช้ กำหนดสี รูปแบบ ขนาดกระดาษ ฟอนต์ (Helvetica, Futura, Garamond, Times Roman) แนวทางการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ อย่างเช่นแผ่นพับ วารสาร หนังสือ โปสเตอร์ รวมถึงวาง Grid ที่ควรใช้ภายในเล่มหนังสือและเอกสารต่าง ๆ

บทที่ 6 Signage: ป้ายสัญลักษณ์ตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายห้องแล็บ แผนที่ ป้ายชื่อของเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่ป้ายโทรศัพท์และห้องน้ำ

บทที่ 7 Vehicle: วิธีการติดชื่อหน่วยงานและข้อมูลต่าง ๆ บนยานพาหนะ ตั้งแต่รถยนต์ เครื่องบิน กระสวยอวกาศ ดาวเทียม

Section 7.8  –  Air & Space Vehicles, NASA/Danne & Blackburn

บทที่ 8 Miscellaneous: แม่แบบเกียรติบัตรและรางวัล

บทที่ 9 Supplementary Guides: การใช้แผ่นป้าย (vinylcal & decal) และชุดยูนิฟอร์มของเจ้าหน้าที่

ไฟล์เล่มหนังสือ:

ฉบับจากเว็บไซต์ NASA มี 60 หน้าจาก 90 หน้า ตัดหน้ารองปกและบางส่วนของเล่มออก และมีการเปลี่ยนลายเซ็นผู้บริหารจาก James C. Fletcher เป็น Richard H. Truly

https://www.nasa.gov/sites/default/files/atoms/files/nasa_graphics_manual_nhb_1430-2_jan_1976.pdf

ฉบับสแกนจากเล่มส่วนตัวของ Richard Danne https://standardsmanual.com/products/nasa-graphics-standards-manual# (เมนู Original Manual) จากโปรเจกต์ The NASA Graphics Standards Manual Reissue โดย Jesse Reed และ Hamish Smyth

Well, yes, the cross stroke is gone from the letter A.

ในวันที่ Danne และ Blackburn นำเสนอ Design System อันใหม่นี้ให้กับบอร์ดที่ประชุมของนาซ่าฟังในเดือนตุลาคม ปี 1974 เสียงของคณะที่ประชุมได้แตกออกเป็นสองฝ่าย จากบทสนทนาที่ Danne ถ่ายทอดออกมาในภายหลัง James C. Fletcher และ George Low. Fletcher ผู้บริหารและรองผู้บริหารของนาซ่าในขณะนั้น ก็ครุ่นคิดอย่างหนักกับงาน Rebrand ที่ออกมา:

Fletcher: ผมรู้สึกอึดอัดกับตัวอักษร (โลโก้) อันนี้ บางอย่างขาดหายไป Low: เอ่อ, ใช่ เส้นขีดกลางตัว A หายไป Fletcher: ใช่ และนั่นมันกวนใจผม Low: ทำไมหล่ะ? Fletcher: (หยุดไปซักพัก) ผมรู้สึกว่ามันไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหน่ะสิ !

(หลายนาทีต่อมา)

Fletcher: แล้วก็ไอ้สีแดงนี้มันไม่เมคเซนส์กับผม Low: แล้วมันควรจะเป็นยังไงครับ? Fletcher: สีน้ำเงินสมเหตุสมผลกว่ากว่า… อวกาศสีน้ำเงิน Low: แต่ท่านครับ, อวกาศมันสีดำ!

ภาพถ่ายของ Graphics Standards Manual, James Emmerman

วันนั้นยังไม่มีมติที่แน่ชัดว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน จนกระทั่งหลายสัปดาห์ต่อมา D&B ได้รับจดหมายฉบับนึงของนาซ่าที่ส่งมาผ่าน U.S. Mail, พวกเขาตัดสินใจจะใช้ Branding อันใหม่ของ D&B

โลโก้เก่าของนาซ่าไม่เคยมีชื่อเล่นมาก่อน จนกระทั่งปี 1975 ที่ถูกเรียกเป็นครั้งแรกว่า Meatball, อาหารที่สุดแสนจะอร่อยและเป็นที่รักของคนหลาย ๆ คน ตรงข้ามกับโลโก้ใหม่ที่ถูกเรียกว่า Worm จากเส้นโค้งยึกยือสีแดงที่ถูกมองว่าน่าเกลียดและไร้วิญญาณ

ถึงแม้จะผ่านความคิดเห็นของ Fletcher และ Low และบอร์ดศูนย์ใหญ่ไปได้ แต่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของนาซ่าจากทั่วสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับรู้ถึงข้อมูล และเพิ่งจะได้เห็นโลโก้ครั้งแรกผ่านจดหมายที่ชี้แจงการเปลี่ยนแปลงนั้น เสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย (อีกแล้ว) ถึงแม้จะเป็นที่ชื่นชอบของเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ ๆ ในองค์การ แต่ก็สร้างความฉุนเฉียวเจ้าหน้าที่วันอาวุโส (ซึ่งก็เป็นส่วนมาก) อย่างมาก

จนกระทั่ง Danne และ Blackburn ถูกมอบหมายให้ไปเดินทางไปยังศูนย์ต่าง ๆ ของนาซ่าทั่วประเทศ เพื่อจะ “ขาย” Branding ใหม่นี้ให้กับเหล่าเจ้าหน้าที่ของศูนย์นั้น ๆ (ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาดีขึ้นบ้างถึงแม้จะไม่สามารถซื้อใจคนได้ทุกคน) โลโก้ได้ถูกเริ่มนำไปใช้ตามที่ต่าง ๆ ดังที่เขียนไว้ในเล่มหนังสือ แต่การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ทำแบบฉับพลัน แต่ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป เพื่อการประหยัดงบประมาณ

การตกแต่งข้อความและสัญลักษณ์บนกระสวยอวกาศ Enterprise, NASA

ขณะเดียวกัน ที่ภายนอกนาซ่า Branding ใหม่นี้ก็เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าดีไซเนอร์และประชาชนมากมาย (โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นและคนนิยมศิลปะ Modernist) จนถึงระดับได้รับรางวัล Presidential Award for Design Excellence ในปี 1984 และ D&B ยังได้รับการว่าจ้างให้ดีไซน์ branding ให้กับหน่วยงานรัฐอีกบางแห่ง อย่างกระทรวงคมนาคมหรือ United States Army Corps of Engineers

Now let me tell you, we have a little surprise today

ในยุค 90 เป็นยุคที่เรียกได้ว่ายุคทองของนาซ่าสิ้นสุดลงแล้ว ภายหลังโศกนาฎกรรมของกระสวยอวกาศ Challenger ประกอบกับความ hype ในเรื่องอวกาศของผู้คนที่ลดน้อยลง, ข่าวการทุจริตที่เกิดขึ้นและปัจจัยอื่น ๆ ก็ทำให้นาซ่าก็ซบเซาลงเรื่อย ๆ

ในวันที่ 22 พฤษภาคม 1992 Daniel S. Goldin ผู้บริหารคนใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งของนาซ่า ได้ไปเยี่ยม Langley Research Center และได้ถาม George W. S. Abbey ที่ปรึกษาส่วนตัวและ Paul F. Holloway Director ของ Langley ว่าจะทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ของนาซ่าได้บ้าง Abbey บอกออกมาทันทีว่า “เอา Meatball กลับมาสิ” ส่วน Holloway ก็ได้แสดงนามบัตรของเขาให้ดู เขาเลือกที่จะใช้โลโก้ Meatball บนนามบัตรของเขา

ในเวลาถัดมาของวันนั้น Goldin ได้ประกาศกับเจ้าหน้าที่ของนาซ่าที่ Langley และเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของนาซ่าผ่านทาง NASA TV ว่าใจความสำคัญว่า “ผมจะบอกอะไรคุณ, Meatball จะมาเป็นองค์ประกอบของวันนี้และอนาคตข้างหน้า จิตวิญญานแห่งอดีตกลับมามีชีวิต เวทย์มนต์กลับมาอีกครั้ง มันกลับมาเพราะทุกคนอยากให้มันกลับมา, ของที่คลาสสิคและไม่เคยเก่า” ในอีกมุมหนึ่ง ยุค 90 กระแส Modernist ได้หายไปแล้ว กระแส retro มาแทนที่ อันเป็นเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว อย่างการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ หลากหลายสีสันมากขึ้น หรือในงานอาร์ตในวงการบันเทิง

Worm Logo หน้าสำนักงานใหญ่ NASA, Washington D.C.

ในคู่มือกราฟิกฉบับปี 2006 ของนาซ่า (https://users.cs.jmu.edu/bernstdh/web/common/policies/NASA_StyleGuide_Nov06.pdf) Worm Logo ได้ถูกเขียนไว้ว่าห้ามใช้งาน ยกเว้นเพื่อการค้าหรือได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น การใช้งานในระดับทางการของ Worm Logo เหลือเพียงไม่กี่ที่ อย่างบนแผ่นป้ายหินหน้าสำนักงานใหญ่ที่สลักเอาไว้, โลโก้ของ NASA Federal Credit Union ที่ใช้สีน้ำเงินแทนแดง, บนกระสวยอวกาศ Enterprise ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ หรือกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล เพราะไม่มีใครไปทาสีใหม่ให้มันบนวงโคจรของโลก

แต่ออกมาเมื่อเราก้าวเท้าออกมาที่นอกนาซ่า Worm Logo ก็เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการแฟชั่นและศิลปะ มีการออกคอลเลคชันเสื้อผ้าที่ใช้โลโก้นี้ออกมาอย่างแพร่หลาย (และขายได้ดีมากซะด้วย) ถูกใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบสิ่งต่าง ๆ มากมายในวงการดีไซน์ และด้วยความ Modernist ของมัน มันได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ Pop-Culture ที่โด่งดังไปทั่วโลก

Heron Preston x NASA, Heron Preston

ในท้ายที่สุดนี้ กระแส Worm vs Meatball ก็ยังจะคงมีอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ มีหลายคนที่จุดกระแสให้นำ Worm Logo กลับมาใช้ ขณะที่เชียร์ Meatball ก็คงขึ้นอยู่กับค่านิยมและมุมมองของคนในยุค ๆ นั้น ไม่แน่ว่าในอนาคตที่แนวคิดด้านศิลปะของสังคมโดยรวมเปลี่ยนไป โลโก้ที่จะถูกทาลงในยานอวกาศเพื่อเดินทางไปดาวเคราะห์ดวงอื่น กาแลกซี่อื่น หรืออวกาศอันไกลโพ้น อาจไม่ใช่ก้อนมีทบอลกลม ๆ สีน้ำเงิน หากแต่เป็นตัวหนอนตัวหนา ๆ ยึกยือสีแดงก็เป็นได้

ที่จุด ๆ นึง นาซ่าอาจจะเป็น “เหตุ” ของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของมนุษย์ แต่ที่อีกจุดนึง มันก็อาจเป็นจดหมายเหตุที่สำคัญในรูปแบบ “ผล” ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของมนุษย์เช่นกัน

อ้างอิง:

Emblems of Exploration – NASA

Setting Standard on Arts – Arts.gov

Mmodernism When-Bauhaus Arrived to American

Nixon and NASA Branding Design

แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้