ทำไม NASA ต้องรับอาสาสมัคร เพื่อใช้ชีวิตในที่ปิดตาย เพื่อเตรียมภารกิจไปดาวอังคาร

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา ทางการ NASA ได้ประกาศอย่างเป็นทางการผ่านเว็บไซต์ว่าจะมีการเปิดรับสมัครอาสาสมัคร ที่จะเข้าร่วมทดลองเป็นนักบินอวกาศในภารกิจที่มีชื่อว่า CHAPEA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Analog เพื่อจำลองการใช้ชีวิตบนดาวอังคารในที่อยู่อาศัยระบบปิด โดยจะมีพื้นที่ราว 1,700 ตารางเมตร ซึ่งจะถูกสร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติโดยบริษัท ICON คล้ายกับที่อยู่อาศัยของโครงการ MARSHA ที่ได้รับรางวัลจาก NASA ไปเมื่อปี 2019

ซึ่งทาง NASA เองก็ได้มีแผนเริ่มการทดสอบไว้ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2022 โดยหลังจากที่ข่าวเผยแพร่ออกไปแล้ว ผู้คนจำนวนมากก็ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วก็อาจสงสัยว่าทำไม NASA ต้องเอาคนไปขังในสถานที่ปิดตายเป็นปี ๆ อีกทั้งโครงการในลักษณะนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย ในบทความนี้เราจึงจะมาพาทุกคนย้อนไปศึกษาประวัติการทดลองขังคนในสถานที่ปิดตายกันว่าทำไมถึงเรื่องนี้ถึงสำคัญต่อการสำรวจอวกาศ

อ่านเรื่องราวของโครงการ Artemis เพิ่มเติมได้ที่นี่ MASHA แบบบ้านจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ บนดาวอังคาร ที่ได้รางวัลจาก NASA

ตัวอย่างที่อยู่อาศัยบนดาวอังคาร Mars Dune Alpha ที่มา ICON

เมื่อปี 2015 เราอาจจะได้ยินข่าวกันมาบ้างว่า NASA ได้ส่งนักบินอวกาศที่ชื่อว่าคุณ สก็อต เคลลี่ (Scott Kelly) ไปใช้ชีวิตอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลากว่า 1 ปีเพื่อศึกษาผลกระทบทางด้านร่างกายที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะไร้น้ำหนักได้ อย่างเช่น การสูญเสียมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่คุณ สก็อต เคลลี่ (Scott Kelly) กลับมายังโลกเขาก็ไม่สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองได้เลยเป็นเวลาหลายสัปดาห์จนกว่าร่างกายของเขาจะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแรงโน้มถ่วงของโลกได้

การทดลองในครั้งนี้จึงถือนับได้ว่าเป็นการสังเกตผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมบนอวกาศที่ส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ในระยะยาว แต่บนอวกาศมันมีปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากนั้น ซึ่งก็คือผลกระทบทางด้านจิตวิทยา ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ NASA ให้ความสำคัญและจริงจังกับเรื่องนี้มาก ถึงขนาดที่ว่าใน คู่มือ วิธีการรับมือปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ของนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติยังจัดให้หมวดจิตวิทยาอยู่เป็นลำดับที่ 2 ในรายการ ซึ่งในนั้นมีบทหนึ่งได้ให้คำแนะนำว่า “หากมีนักบินอวกาศเกิดสติแตกขึ้นมา ให้นำเทปกาวไปมัดมือผู้ป่วยคนนั้นไว้ พร้อมนำเชือกมารัดตัวไว้อีกที จากนั้นค่อยฉีดยาสลบใส่” ข้อความนี้จึงได้แสดงให้เห็นว่า NASA ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพียงใด

อ่านเรื่องราวของคุณ สก็อต เคลลี่ (Scott Kelly) เพิ่มเติมได้ที่นี่ Scott Kelly เขียนบทความถึงคนที่กำลังกักตัวอยู่ในบ้าน วิธีการปรับตัวต่าง ๆ ในแบบฉบับของนักบินอวกาศ

คุณ สก็อต เคลลี่ (Scott Kelly) ขณะถูกหามออกมาจากยานโซยุส (Soyuz) หลังภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา NASA/Bill Ingalls

หากดูเผิน ๆ แล้วปัญหาทางจิตวิทยาก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ยากบนอวกาศเพราะนักบินก็ดูเหมือนจะสามารถติดต่อสื่อสารกับคนบนโลกได้ตลอดเวลา แถมแต่ละคนก็ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีทั้งนั้น ซึ่งอาจที่จะใช้ได้กับกรณีของสถานีอวกาศนานาชาติที่อยู่ใกล้โลกเท่านั้น เพราะถ้าหากเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นมา นักบินอวกาศก็ต่างรู้ดีว่าตนสามารถกลับสู่โลกมายานลงจอดฉุกเฉินที่ติดอยู่กับสถานีอวกาศนานาชาติได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้ากลับเป็นสถานที่ที่อยู่ห่างไกลออกไปอย่างดวงจันทร์หรือดาวอังคาร ก็จะกลายเป็นอีกเรื่องราวหนึ่งในทันที

ย้อนกลับไปในยุคสมัยของโครงการอะพอลโล ช่วงปี 1969 ถึง 1972 ทาง NASA ได้ส่งมนุษย์ลงไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จทั้งหมด 12 คน ซึ่งดวงจันทร์ถือว่าเป็นสถานที่อยู่ห่างจากโลกเฉลี่ยราว 380,000 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 วันจากโลก ถ้าหากเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นมานักบินอวกาศเหล่านั้นจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโลกได้เลย นักบินทั้งหมดจึงต้องได้รับการฝึกฝนทางกายภาพและจิตวิทยามาเป็นอย่างดี ดังนั้นทางทำเนียบขาว จึงได้เตรียมแบบร่างประกาศของประธานาธิบดีกรณีที่นักบินอวกาศอะพอลโล 11 ไม่สามารถกลับมาที่โลกได้อย่างปลอดภัยไว้ และยังรวมไปถึงระเบียบการติดต่อสื่อสารกับนักบินว่าหลังจากที่นักบินได้บอกลาครอบครัวของตนแล้ว ทางการ NASA จะตัดช่องทางการสื่อสารทั้งหมดกับนักบินอวกาศในทันที หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง ก็คงยากที่จะจินตนาการถึงความกดดันของนักบินอวกาศที่จะต้องเผชิญ

อ่านเรื่องราวของแบบร่างสุนทรพจน์กรณีนักบินอวกาศติดอยู่บนดวงจันทร์ได้ที่นี่ ถ้านักบินอวกาศตายบนดวงจันทร์ ประธานาธิบดีจะพูดว่าอะไร

ภาพของโลกที่มีขนาดเล็กกว่านิ้วหัวแม่มือจากมุมมองของ ไมเคิล คอลลินส์ บนยานบัญชาการโคลอมเบีย ในภารกิจอะพอลโล 11 ที่มา NASA

ทีนี้เรามากันที่ดาวอังคาร ซึ่งตามปกติแล้วด้วยเทคโนโลยีเครื่องยนต์จรวดในปัจจุบัน เรามักจะใช้เวลาราว 6 ถึง 7 เดือนในการเดินทางไปยังดาวอังคารในช่วงที่ดาวอังคารโคจรมาในตำแหน่งที่มีระยะใกล้โลกมากที่สุดประมาณ 50 ล้านกิโลเมตร ในทุก ๆ 22 เดือน เมื่อคำนวณคร่าว ๆ ดูแล้วเราจะใช้เวลาเดินทางไปกลับทั้งหมดราว 1 ปี และอยู่บนดาวอังคารอีก 1 ปี เพื่อรอให้เส้นทางการเดินมายังโลกมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมทั้งหมดเป็นเวลา 2 ปี โดยประมาณ

ในช่วงเวลา 2 ปีนี้ นักบินอวกาศในอนาคตก็จะต้องตื่นขึ้นมาเจอคนเดิม ๆ ในสถานที่เดิม ๆ กินอาหารแบบเดิม ๆ เป็นเวลา 2 ปีเต็ม ๆ มิหนำซ้ำเมื่อนักบินอยู่ที่ดาวอังคารก็จะไม่สามารถสื่อสารได้อย่างทันท่วงทีกับผู้คนบนโลก เนื่องจากระยะห่างระหว่างโลกกับดาวอังคารซึ่งอาจทำให้สัญญาณล่าช้าราว 5 ถึง 20 นาที ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดาวแต่ละดวง ลองจินตนาการดูว่านักบินอวกาศจะรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องสื่อสารกับครอบครัวและคนที่พวกเขารักผ่านการอัดวีดีโอ แล้วส่งข้อมูลกลับไปยังโลก จากนั้นก็ต้องรออีกฝ่ายอัดวีดีโอแล้วส่งกลับมา หรือถ้าเกิดปัญหาขึ้นบนดาวอังคาร คนบนโลกก็จะไม่รับรู้จนกว่าเวลาจะผ่านไประยะหนึ่งเช่นกัน เรียกได้ว่าดาวอังคารเป็นสถานที่ห่างไกลและโดดเดี่ยวยิ่งกว่าเกาะร้างที่ห่างไกลที่สุดบนโลกหลายเท่า

ตัวอย่างปัญหาการสื่อสารที่ไม่สามารถติดต่อกันได้อย่างทันท่วงที ที่มา ภาพยนตร์ Interstellar

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าทาง NASA และผู้คนในวงการดาราศาสตร์ก็ได้รับรู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ดีในอนาคต จึงได้เกิดโครงการการจำลองสภาวะบนดาวอังคารขึ้นมาอย่างมากมาย แต่ที่โด่งดังที่สุดก็คงจะเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 ที่ได้มีเศรษฐีท่านหนึ่งที่ชื่อว่า เอ็ด แบส (Ed Bass) และนักระบบนิเวศวิทยา จอห์น อัลเลน (John Allen) ได้ร่วมกันสร้างอาคารปิดตายขนาดยักษ์ที่ชื่อว่า Biosphere 2 ขึ้นมากลางทะเลทรายรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยบนดาวอังคารขนาดใหญ่ในอนาคต (ส่วน Biosphere 1 สร้างมาเพื่อจำลองโลก) และด้วยพื้นที่กว่า 12 ตารางกิโลเมตรของอาคาร Biosphere 2 ทำให้ในนั้นมีทั้งระบบไหลเวียนอากาศ, น้ำ, และพื้นที่สำหรับในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ไว้ได้อย่างครบถ้วน

อาคาร Biosphere 2 ในปี 1991 ที่มา John Miller/Associated Press

ในปี 1991 โครงการในการส่งคน 8 คนเข้าไปอยู่อาศัยใน Biosphere 2 เป็นเวลาถึง 2 ปี เพื่อจำลองระยะเวลาที่จะใช้ในภารกิจไปยังดาวอังคารก็ได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งเมื่อโครงการดำเนินไปได้เพียง 6 เดือน ก็ได้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นอย่างมากมาย ทั้งปัญหาการผลิตออกซิเจนที่ไม่เพียงพอ น้ำไม่สะอาด การขาดแคลนอาหาร และในที่สุดปัญหาทางด้านสุขภาพจิตก็เกิดขึ้น โดยที่หนึ่งในผู้ร่วมโครงการเกิดสติแตกขึ้นมาจนตัดปลายนิ้วของตัวเองออก จนต้องถูกหามออกจาก Biosphere 2 ก่อนระยะเวลาที่กำหนด สื่อหลายสำนักจึงได้ตราหน้าว่าโครงการ Biosphere 2 ล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า

ต่อมาในปี 2013 ก็ได้มีโครงการจำลองสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอีกโครงการหนึ่งที่มีชื่อว่า HI-SEAS หรือ Hawaii Space Exploration Analog and Simulation ซึ่งมี NASA เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ เพื่อทดสอบปัญหาทางด้านการแก้ปัญหาระบบต่าง ๆ ภายในที่อยู่อาศัย การปฏิบัติการบนพื้นผิวดาวอังคาร และปัญหาทางด้านจิตวิทยาที่อาจเกิดขึ้นเช่นกัน โดยตัวอาคารนั้นได้ตั้งอยู่ที่เนินภูเขาไฟ เมานาโลอา (Mauna Loa) ที่ความสูงราว 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล บนเกาะฮาวาย

ภาพจำลองการใช้ชีวิตในโครงการ HI-SEAS ที่มา HI-SEAS

ในขณะที่ในโครงการ HI-SEAS นั้นมีความท้าท้ายมากกว่า Biosphere 2 อยู่มากในแง่ของพื้นที่ที่ต้องอยู่ในโดม 2 ชั้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 11 เมตร โดยในชั้นแรกนั้นประกอบไปด้วย ห้องครัว โต๊ะรับประทานอาหาร ห้องแล็บ และห้องออกกำลังกาย ส่วนชั้นที่ 2 ก็จะเป็นห้องนอนสำหรับ 6 คน และห้องน้ำเพิ่มเติมอีกหนึ่ง ส่วนระบบภายนอกอาคารก็จะมีระบบไฟฟ้าและประปาติดตั้งอยู่ ซึ่งโครงการ HI-SEAS ได้ดำเนินมาแล้วถึง 7 ภารกิจ โดยเริ่มจากการอยู่อาศัยนาน 4 เดือน ไปถึง 8 เดือน และ 1 ปีในที่สุด ซึ่งได้ประสบความสำเร็จไปเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาในการทดสอบครั้งที่ 5

และแล้วในปี 2019 NASA ก็ได้เข้ามาทำการทดสอบการจำลองสภาวะบนดาวอังคารด้วยตนเองอย่างเป็นทางการ หลังจากการประกาศเป้าหมายของ NASA ที่จะกลับไปเหยียบดวงจันทร์ในโครงการ อาร์ทิมิส (Artemis) เพื่อวางรากฐานการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารในอนาคต ในชื่อโครงการ อะนาล็อก (Analog) ที่ประกอบด้วยหลายภารกิจด้วยกัน โดยหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 4 สถานที่ที่ NASA จะใช้ทดสอบ ได้แก่

  • CHAPEA โครงการจำลองที่อยู่อาศัยบนดาวอังคารปิดตายจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
  • HERA ที่อยู่อาศัยในโมดูลจำลองในศูนย์อวกาศจอห์นสันของ NASA
  • NEK & SIRIUS จัดขึ้นที่ศูนย์อวกาศในรัสเซีย ในกรุงมอสโก
  • NSF ที่ขั้วโลกใต้
ภาพจำลองของโมดูลในภารกิจ CHAPEA ที่มา ICON

โดยที่ในโครงการ CHAPEA ซึ่งเป็นโครงการจำลองสภาวะการอยู่บนดาวอังคารล่าสุดในปี 2021 ที่ได้กล่าวไปในตอนต้นของบทความ ก็ได้เริ่มเปิดรับสมัครหาอาสาสมัครชาวอเมริกัน หรือผู้อยู่อาศัยถาวร (Permanent Resident) ช่วงอายุ 35 ถึง 55 ปี และจำเป็นต้องผ่านกฏเกณฑ์การคัดเลือกนักบินอวกาศของ NASA เพื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่พักอาศัยจำลองบนดาวอังคาร เป็นเวลา 1 ปีเต็มแล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2021 เป็นต้นไป ซึ่งโครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่

  • ระยะที่ 1 เริ่มต้นช่วง เดือนกันยายน ปี 2022
  • ระยะที่ 2 เริ่มต้นภายในปี 2024
  • ระยะที่ 3 เริ่มต้นภายในปี 2025

ทั้งนี้ที่ในช่วง NASA ที่ผ่านมา NASA ก็ได้ก้าวเข้ามีส่วนร่วมในโครงการลักษณะนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า NASA มีแผนที่จะส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 ในโครงการที่มีชื่อว่า อาร์ทิมิส (Artemis) ซึ่งมีแผนการสร้างสถานีวิจัยบนดวงจันทร์และจะส่งมนุษย์ไปอยู่อาศัยเป็นระยะอีกด้วย ต่างกับกรณีของสถานีอวกาศนานาชาติที่นักบินอวกาศในอนาคตต้องอยู่ห่างระยะทางห่างจากโลกกว่า 380,000 กิโลเมตร เพื่อที่จะนำร่องภารกิจไปดาวอังคารในอนาคตของมนุษยชาติ การศึกษาพฤติกรรมทางจิตวิทยาของมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างที่อยู่อาศัยในโครงการ CHAPEA ที่มา ICON

ถึงตอนนี้เราอาจจะสรุปได้ว่า นอกเหนือจากความท้าทายทางด้านกายภาพต่าง ๆ อย่างสภาวะไร้น้ำหนัก หรือ ปริมาณรังสีสูงบนอวกาศ ปัญหาทางด้านจิตวิทยาที่เกิดจากตัวมนุษย์เองก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราก็ต้องให้ความสนใจกับมันเช่นกัน เพราะบางทีปัญหาทางจิตวิทยาที่รุนแรงก็อาจจะเริ่มจากความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แล่นเข้ามาในหัวอย่างเช่น เวลาที่เรายืนรอรถไฟอยู่ที่ชานชาลา เราทุกคนก็อาจจะเคยคิดกันบ้างว่าถ้าเราถูกใครบางคนผลักตกลงไปจะเกิดอะไรขึ้น หรือถ้าเรากลายเป็นคนผลักคนอื่นเอง จะเกิดอะไรขึ้นตามมา ซึ่งถ้าหากความคิดชั่ววูบในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาบนอวกาศจริง ๆ เราก็คงได้เห็นนักบินอวกาศถูกมัดมือด้วยเทปกาว แล้วโดนวางยาสลบ ตามคู่มือของ NASA

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

A Step Toward Mars

About Analog Missions

NASA is Recruiting for Yearlong Simulated Mars Mission

Mostly being a space-nerd who dreamt to work at NASA, but now a 21 years old Film Student dedicating to generalize space communication.