ย้อนกลับไปเมื่อ 9 เดือนก่อน ในช่วงต้นปี 2021 หากทุกคนยังจำกันได้ ทางบริษัทการขนส่งทางอวกาศเอกชน Rocket Lab ได้ประกาศพัฒนาและสร้างจรวดรุ่นใหม่อย่าง Neutron โดยในตอนนั้นได้มีการอธิบายไว้ว่าเป็นจรวดที่มีความสารมารถในการขนส่งของขึ้นวงโคจรได้เหนือกว่าจรวดรุ่นก่อนหน้าอย่าง Electron ซึ่งตอนนี้ก็ประสบความสำเร็จในการเก็บกู้มาแล้วถึง 3 ครั้ง จึงได้เห็น CEO อย่าง Peter Beck กินหมวกจริง ๆ ตามสำนวน “I’ll eat my hat” มาแล้ว (ฮา)
ค่ำวันที่ 2 ธันวาคม 2021 ทาง Rocket Lab ได้อัพเดทเกี่ยวกับสถานะการพัฒนาจรวดรุ่นนี้อีกครั้ง โดยเนื้อหามีใจความประมาณว่าทาง Rocket Lab ได้คาดการณ์ว่าประมาณ 80% ของดาวเทียมในอีกทศวรรษข้างหน้าจะเป็นดาวเทียมขนาดเล็กและเป็นกลุ่มดาวกันเสียส่วนใหญ่ แน่นอนว่าการส่งดาวเทียมแบบกลุ่มนั้นจะมีความพิเศษในการส่งขึ้นอวกาศมากกว่าดาวเทียมการปล่อยดาวเทียมแบบอื่น ๆ ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีจรวดที่ไหนตอนนี้ที่เกิดมาเพื่อการของแบบกลุ่ม จรวด Neutron จึงเกิดมาเพื่อทำเรื่องแบบนั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะทำได้แค่การส่งดาวเทียมแบบกลุ่มอย่างเดียว ตัวจรวด Neutron เองจะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งของขึ้นวงโคจรค้างฟ้า ส่งมนุษย์ไปอวกาศ หรือแม้แต่ภารกิจ Interplanetary เองก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา
มาพูดในส่วนของหน้าตากันบ้างดีกว่า Neutron นั้นจะมีความสูง 40 เมตร กว้าง 7 เมตรและส่วนของฝาครอบ Payload จะมีความกว้าง 5 เมตร เรียกได้ว่าค่อนข้างอ้วนกันเลยทีเดียว โดยตัวมันเองถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นจรวดใช้ซ้ำที่เอากลับมาได้ทั้งตัวจรวดท่อนแรกและฝาครอบ Payload เพราะตัวฝาครอบนั้นอยู่ดจกับตัวบูสเตอร์เลย (หากใครนึกไม่ออกให้นึกถึงจรวดท่อน S-IVB ที่เคยใช้ส่งโมดูลลงจอดบนจรวด Saturn IB และ Saturn V หรือไม่ก็ยานอวกาศที่ใช้ Haijack ยานอวกาศ Gemini ที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง James Bond: You Only Live Twice นั่นแหละ)
และสำหรับขาลงจอดจะไม่ได้กางออกเหมือนจรวด Falcon 9 ของ ทาง SpaceX สำหรับวัสดุที่นำมาสร้างเป็นลำจรวดนั้นจะไม่เหมือน Stainless Steel หรือ Aluminium ที่มักใช้กับจรวดทั่วไป แต่เป็นวัสดุเส้นใยคาร์บอนที่พัฒนาขึ้นเองโดยทาง Rocket lab โดยทาง Rocket lab เคลมว่ามีความแข็งแรงกว่าโลหะสองชนิดที่ยกตัวอย่างมาแน่นอน ซึ่งได้มีการทดสอบทุบให้ดูด้วย
ในส่วนของเครื่องยนต์ที่ใช้ได้รับการตั้งชื่อว่า Archimedes โดยเครื่องยนต์รุ่นนี้จะไม่มีการใช้ปั๊มไฟฟ้าแบบเครื่องยนต์ Rutherford ที่ใช้บน Electron แต่จะเป็นการใช้ระบบ Gas Turbine ที่ต้องอาศัย Gas Generator แทน โดยถูกออกแบบให้มีการใช้เชื้อเพลิงออกซิเจนเหลวร่วมกับมีเทน ซึ่งจะติดตั้ง 7 ทั้งหมดเครื่อง บนท่อนแรกและอีก 1 เครื่องบนท่อนที่สอง และจรวดไม่จำเป็นต้องมีเรือไปรอรับการลงจอดกลางทะเลแบบ Falcon 9 หรือ New Glenn แต่บินกลับมาฐานส่งแทนซึ่งเป็นการลดงบประมาณไปได้พอสมควรถ้าเทียบการนำเรือออกไปรับ นอกจากนี้ทาง Rocket Lab ก็ได้มีการย้ำว่าเนี่ยแหละคือจรวดแห่งยุค 2050 ด้วย Slogan “A 2050 rocket, built today”
สำหรับ Timeline การพัฒนาของ Neutron นั้นก็คงต้องติดตามกันต่อไป แต่บอกได้เลยว่าตอนนี้ผู้ผลิตจรวดรายเล็กมาแรงมาก ๆ หนึ่งในนั้นก็คือ Rocket Lab นี่แหละ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co