จริง ๆ แล้วโลกนั้นโดนอุกกาบาตชนไม่ต่างจากวัตถุอื่น ๆ ในระบบสุริยะ แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมหน้าตาของโลกถึงได้เรียบเนียนกว่าดวงจันทร์ หรือดาวพุธ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าโลกนั้นมีกระบวนการทางธรณี หรือธรณีแปรสัณฐาน แปลว่าแผ่นดินบนโลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ หลุมเก่า ๆ ที่เคยโดนอุกกาบาตชนก็ถูกกลบด้วยกระบวนการธรณีแปรสัณฐานดังกล่าว เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก การเคลื่อนที่มาซ้อน ชน ดัน ต่าง ๆ จนหน้าตาของโลกเปลี่ยนไปอย่างแทบจำไม่ได้ เป็นเช่นนี้มานานแสนนาน
มี Paper ล่าสุดได้รับการตีพิมพ์ในชื่อว่า Australasian impact crater buried under the Bolaven volcanic field, Southern Laos เล่าเรื่องราวของการค้นพบหลุมอุกกาบาตซึ่งเกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตขนาดใหญ่นับสิบกิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดสะเก็ดจากการพุ่งชน กระจายไปตกมากถึง 10%-30% ของพื้นที่ทั้งหมดบนโลก ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย แอฟริกา ไปจนถึงแอนตาร์กติกา เราเรียกบริเวณที่สะเก็ดกระเด็นไปตกว่า Australasian strewnfield
การที่รู้ว่ามีอุกกาบาตเคยพุ่งชน ไม่ได้แปลว่าจะรู้ว่ามีการพุ่งชนที่ไหน นักธรณีวิทยาทำได้แต่เพียงคาดเดาและศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น แต่ข้อมูลล่าสุดก็สามารถบอกได้ว่า Event การพุ่งชนครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นที่ลาว ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่บน Khorat Plateau (ที่ราบสูงโคราช) ใกล้กับไทยและกัมพูชา แต่ที่เราไม่เห็นลักษณะของหลุมอุกกาบาตอย่างชัดเจน (ซึ่งการพุ่งชนครั้งนี้ควรจะสร้างหลุมที่กว้างหลายสิบกิโลเมตร) ก็เพราะว่ากระบวนการธรณีแปรสัณฐาน ที่เกิดจากภูเขาไฟ ซึ่งเคยมีการระเบิดของภูเขาไฟที่ลาว แล้วลาวาที่ไหลออกมาเย็นตัวลงและเกิดผิวหน้าของโลกใหม่ขึ้นในบริเวณนั้น ทำให้หลุมอุกกาบาตจริง ๆ ถูกซ่อนไว้อยู่ภายใต้ชั้นหินที่เกิดขึ้นหลังจากอุกกาบาตพุ่งชน
อย่างไรก็ตามเศษสะเกิดที่พุ่งกระเด็นออกจากการชนเมื่อแปดแสนปีที่แล้วนั้น กระเด็นออกไปทั่วเรียกว่า Tektites ซึ่งมีการพบ Tektites ที่เกิดจากการชนนี้จำนวนมากรวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่ง Australasian strewnfield นี้ก็เป็นชื่อเรียกของบริเวณที่พบกลุ่ม Tektites ที่พบจากการชนในครั้งนี้ และเป็น youngest and largest คือมีอายุน้อยที่สุด (แปดแสนปี) และใหญ่ที่สุด (กินวงกว้างถึง 10-30% ของพื้นผิวโลก)
แปดแสนปีก่อนนั้นมนุษย์พวก Homo erectus ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกแล้ว อ้างอิงจาก Early Dispersals of Homo from Africa มีการค้นพบหลักฐานการใช้ชีวิตในบริเวณทางตอนใต้ของจีน แปลว่ามนุษย์กลุ่มนี้เคยอยู่ร่วมกับเหตุการณ์ครั้งนี้ และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์การชนของอุกกาบาตครั้งใหญ่ที่สุดที่พวก Homo เคยสัมผัสด้วยตัวเอง (ดีที่ไม่ไปตกที่แอฟริกา ไม่งั้นเราอาจจะไม่ได้เป็น Homo sapiens แบบทุกวันนี้)
บริเวณที่พบนั้นเรียกว่าที่ราบสูงโบลาเวน คนไทยอาจจะเคยได้ยินชื่อนี้บ่อย ๆ ในโฆษณาพี่เบิร์ด ตอนที่พี่เบิร์ดพูดว่า “ของขวัญจากดินภูเขาไฟ” นี่แหละ พี่เบิร์ดกำลังพูดถึงภูเขาไฟที่ทำให้ลาวาเย็นตัวและเกิดเป็นที่ราบสูงนี้ขึ้น และหลุมอุกกาบาตที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษย์ Homo เคยเห็น ก็ซ่อนตัวอยู่ใต้ที่แห่งนี้นี่เอง
สำหรับการค้นพบในครั้งนี้ก็นับว่าเป็นการไขปริศนาที่เราศึกษากันมาค่อนข้างยาวนาน ว่าเหตุการณ์ไหนที่ทำให้เกิด Australasian strewnfield แม้ว่าหลาย Paper ก่อนหน้านี้ เช่น Field Recovery of Layered Tecktites in Northeast Thailand: Evidence of a Large-scale Melt Sheet ก็พยายามบอกว่าเกิดจากหลาย ๆ การชนรวมกัน จะเห็นว่างานชุดปริศนา Australasian strewnfield นี้ มีคนไทยทำเยอะอยู่พอสมควร เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในบริเวณ strewnfield สำคัญนี้ด้วย ใน Paper ล่าสุดนี้นอกจาก Kerry Sieh นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันและทีมแล้ว ก็ยังมีชื่อของ ดร.ธวัชชัย เชื้อเหล่าวานิช จากกรมทรัพยากรธรณี และ ดร.ปัญญา จารุศิริ จาก ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทย์ฯ จุฬาฯ เป็นผู้ร่วมวิจัยด้วย
สำนักข่าว The New York Times รายงานเรื่องนี้ในข่าว Hints of Phantom Crater Found Under Volcanic Plateau in Laos บอกว่า Dr. Sieh และทีม ใช้วิธีการคิดว่า หินจากภูเขาไฟเก่านั้นมีอายุน้อยกว่าระยะเวลาเจ็ดแสนแปดหมื่นปี ซึ่งเป็นเวลาที่การพุ่งชนน่าจะเกิด ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าหลุมอุกกาบาตจะต้องถูกกลบโดยลาวาไปแล้วและเย็นตัวกลายเป็นชั้นหินใหม่ รวมถึงได้ใช้วิธีอื่น ๆ เช่น การตรวจสอบวิปลาสความโน้มถ่วง (Gravitational Anomaly) คือการที่แต่ละจุดมีค่าความโน้มถ่วงไม่เท่ากัน เพราะความโน้มถ่วงเกิดจากมวล ยิ่งมีมวลมากยิ่งมีความโน้มถ่วงมาก หลักการนี้ใช้ในการศึกษาทรัพยากรธรณีด้วยการสร้างแผนที่สนามโน้มถ่วง
งานวิจัยชิ้นนี้ ก็นับว่าเป็นส่วนสำคัญในการไขปริศนาทางธรณีที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ก็สร้างคำถามใหม่ ๆ ขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกอย่างก็เหมือนกับการไขปริศนาไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เราได้เข้าใจที่มา และทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นบนผิวหน้าของโลก แม้จะมีระยะเวลาเพียงแค่หลักแสนปี แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปจนไม่เหลือโครงเดิม การศึกษาดาวโลกก็เหมือนกับการศึกษาจักรวาล เราต้องต่อสู้กับ Timescale ที่ใหญ่มาก ๆ และต้องใช้หลักฐานในปัจจุบัน จินตนาการภาพย้อนกลับไปว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ On the Shoulder of Giant เหมือนเช่นเคย นี่ก็คือความเจ๋งของวิทยาศาสตร์
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co