Blue Origin นำ New Glenn ขึ้นฐานปล่อย LC-36 เริ่มต้นปล่อยจรวดจากคะเนเวอรัล

22 กุมภาพันธ์ 2024 บริษัท Blue Origin ได้เผยภาพจรวด New Glenn รุ่นใหม่ ถูกนำขึ้นไปติดตั้งบนฐานปล่อย LC-36 ในบริเวณ ฐานทัพอากาศคะเนเวอรัล หลังจากที่ในช่วงต้นปีที่ได้มีการเผยภาพตัวจรวด New Glenn ถูกเคลื่อนย้ายออกจากโรงประกอบจรวดในบริเวณใกล้เคียงใน Kenndy Space Center ไปยังฐานปล่อย

ภาพที่เห็นนี้นับว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการสำรวจอวกาศเอกชน เนื่องจาก New Glenn เป็นจรวดระดับ Orbital Class รุ่นแรกของ Blue Origin ที่ก่อนหน้านี้ Blue Origin ได้ประสบความสำเร็จอย่างมากกับจรวดแบบ Sub-Orbital รุ่น New Shepard ซึ่งได้ส่งทั้งการทดลองและผู้โดยสารเดินทางขึ้นไปแตะขอบอวกาศ แต่การปล่อยจรวด New Shepard นั้น จะเกิดขึ้นที่ Corn Ranch ในรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นฐานปล่อยที่สำคัญของ Blue Origin ในการบินขึ้นและลงของ New Shepard

จรวด New Glenn ของบริษัท Blue Origin บนฐานปล่อย LC-36 ที่มา – Blue Origin

Blue Origin มีแผนพัฒนา New Glenn มาตั้งแต่ช่วงปี 2012 แต่ยังไม่ได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการหรือมีภาพออกมาให้เห็น แต่ในช่วงปี 2016-2017 เราก็เริ่มเห็น Blue Origin ประกาศการพัฒนา New Glenn อย่างออกหน้าออกตา รวมถึงมีการเซ็นสัญญาเข้าไปใช้งานพื้นที่ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในบริเวณแหลมคะเนเวอรัล ณ ฐานปล่อย LC-36 ซึ่งเดิมทีถูกใช้สำหรับการปล่อยจรวดตระกูล Atlas ก่อนที่จะปล่อยร้างไม่ได้มีการใช้งานต่อ หลังจากจรวด Atlas III สิ้นสุดการผลิตในช่วงปี 2005 การกลับมาใช้งานฐานปล่อย LC-36 จึงนับว่าเป็นการคืนชีวิตให้กับฐานปล่อยหลังเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ก็ว่าได้

Blue Origin ยังได้ให้ความสนใจการปล่อยจรวด New Glenn ในฐานปล่อย Vandenberg Space Force Base ฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ในรัฐแคลิฟอร์เนียอีกด้วย ซึ่งก็เป็นที่เดียวกับที่ SpaceX ใช้ปล่อยจรวดจากฝั่งตะวันตก

นอกจากบริเวณฐานปล่อยแล้ว Blue Origin ยังได้สร้างโรงงานผลิตจรวดแห่งใหม่ ในบริเวณ Kenndy Space Center ซึ่งตั้งเป้าใช้ในการผลิตจรวด New Glenn รวมถึงเป็นพื้นที่โรงเก็บจรวด เนื่องจาก New Glenn เป็นจรวดที่สามารถใช้งานซ้ำได้ โดยกลับมาลงจอดที่ฐานปล่อยคล้ายกับ Falcon 9 ของ SpaceX ซึ่งโรงเก็บจรวดของ SpaceX ก็ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

โรงงานประกอบจรวดของ Blue Origin ในบริเวณแหลมคะเนอเวอรัล ที่มา – Blue Origin

New Glenn นับนับได้ว่าเป็นจรวดยักษ์ ตระกูล Heavy Lift เทียบเท่า SLS หรือ Starship ของ SpaceX มีความสูงถึง 98 เมตร เมื่อรวมทุกท่อนเข้าด้วยกัน สามารถนำส่ง Payload หนักกว่า 45,000 กิโลกรัมขึ้นสู่ Low Earth Orbit ได้ ได้รับแรงขับจากเครื่องยนต์ BE-4 ที่ Blue Origin พัฒนาขึ้นมา

Bill Nelson ผู้อำนวยการ NASA เดินทางเยี่ยมชมโรงงานประกอบจรวดในคะเนเวอรัล ในช่วงกลางปี 2023 ที่มา – NASA

เครื่องยนต์ BE-4 นี้ยังได้ถูกนำไปใช้กับจรวด Vulcan ของบริษัท United Launch Alliance อีกด้วย และเพิ่งผ่านการทดสอบในเที่ยวบินแรกของจรวด Vulcan ไปในต้นปี 2024 เพื่อนำส่งยานอวกาศ Perigrine สู่ดวงจันทร์​ (แม้ภารกิจการลงจอดจะไม่สำเร็จ แต่ตัวจรวด Vulcan ทำงานได้อย่างดี เต็มประสิทธิภาพตามที่ออกแบบไว้) อ่าน – รู้จักกับจรวด Vulcan Centaur ผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของจรวดตระกูล Atlas

บริษัท Blue Origin ในช่วงนี้เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอวกาศโลก ตั้งแต่การทำการค้าจรวด New Shepard ได้เต็มรูปแบบ การได้สร้างเครื่องยนต์จรวดและมีลูกค้าซื้อไปติดตั้งกับจรวดรุ่นใหม่อย่าง Vulcan ของ ULA การได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Artemis ทั้งในด้าน Human Landing System และ Commercial Lunar Payload Service และการเปิดตัวจรวดยักษ์รุ่นใหม่ของตัวเอง

สำหรับตารางการปล่อยเที่ยวบินแรกของ New Glenn นั้น แม้จะยังไม่ได้ระบุออกมา แต่ก็คาดว่าจะอยู่ในช่วงกลางปี 2024 นี้นั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.