พาเที่ยวงาน ชมบรรยากาศ มหกรรมวิทย์ ฯ 62 นิทรรศการ กิจกรรม

กลับมาอีกครั้งกับงานมหกรรมวันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 ซึ่งในครั้งนี้ทางทีมงาน ก็ได้มาเดินชมงานมหกรรมวิทย์ฯ นิทรรศการต่าง ๆ

งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในปีนี้ จัดขึ้นที่อาคาร 6-12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในวันที่ 16-25 สิงหาคมนี้เท่านั้น ซึ่งงานนี้ดำเนินงานโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วเมืองไทย จัดขึ้นมาเป็นประจำทุกปี และแต่ละปีก็มีนิทรรศการมากมายหลายแบบให้เราได้เข้าไปร่วมกิจกรรมกัน

พาชมบรรยากาศงาน

และแนวคิดหลัก (Theme) ในการจัดงานประจำปีนี้คือ “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” การออกแบบรูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ เน้นไปในด้านที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อเราเดินเข้าไปในงานมหกรรมวิทย์ฯ แล้วเราจะเห็นว่าภายในงานมีบูธจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่นนิทรรศการเทิดพระเกียรติ นิทรรศการภารกิจพิชิตดวงจันทร์ นิทรรศการนิโคลา เทสลา ยอดนักประดิษฐ์ ผู้คิดเปลี่ยนโลก นิทรรศการมหัศจรรย์เมืองแห่งธาตุ นิทรรศการพินิจ พิพิธ-พันธ์ุ นิทรรศการพลาสติกพลิกโลก นิทรรศการข้าวคือชีวิต นิทรรศการ Maker Space ย้อนอดีตสิ่งประดิษฐ์ พลิกความคิดสู่อนาคต และนิทรรศการ LEGO Space Challege Land

เดินชมตั้งแต่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ ซึ่งภายในนิทรรศการนี้จะเป็นการแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เป็นนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เป็นคุณูปการต่องานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษาของประเทศไทย

พินิจ พิพิธ-พันธ์ุ (Biodiversity AMUSE-um) นิทรรศการนี้จะเป็นการนำเสนอตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายมากทั้งในด้านสปีชีร์และในด้านความหายาก จึงมีตัวอย่างที่นำมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมาในรูปของตัวอย่างดอง ตัวอย่างแห้ง หรือสัตว์สตัฟฟ์

ถัดมาภายในงานจะเป็น นิทรรศการภารกิจพิชิตดวงจันทร์ (Mission to the Moon) ภายในนิทรรศการจะแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ของโครงการ Apollo 11 ตั้งแต่เมื่อจรวดอันทรงพลังถูกปล่อยจากพื้นโลกในวันที่ 16 กรกฎาคม 1969 จนถัดไป 4 วันเราก็ได้เห็นมนุษย์คนแรกฝากรอยเท้าเล็ก ๆ ไว้บนดวงจันทร์ ดาวบริวารที่ห่างจากโลกไปเกือบสี่แสนกิโลเมตร นับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญของมนุษยชาติ ในการพิชิตจุดหมายที่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็ได้

ภายในนิทรรศการนี้ เมื่อเดินเข้ามาสิ่งแรกที่จะเห็นคือยาน Lunar Module ที่ตั้งไว้ตรงหน้าทางเข้าของนิทรรศการ และเมื่อเดินเข้าไปด้านในของนิทรรศการจะเห็นเป็นเรื่องราวที่มนุษย์เราอยู่กับดวงจันทร์ ฝากความรู้สึกไปกับดวงจันทร์ เพลงและภาพยนต์ต่าง ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดวงจันทร์ เรื่องราวการแข่งขันเดินทางไปดวงจันทร์ของสองมหาอำนาจ การใช้ชีวิตของนักบินอวกาศ รวมถึงรับรู้พัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้มาจากโครงการการสำรวจอวกาศ

นอกจากนี้ภายในนิทรรศการนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจเช่น แบบจำลองสถานการณ์สภาวะไร้น้ำหนัก (Moon Walk) ประสบการณ์กับเครื่องเล่น Aerotrim และสัมผัสประสบการณ์ 4 มิติ และ Virtual Reality

เดินไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นนิทรรศการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน (สดร.) ที่จะเล่าเรื่องราวย้อนรอยเหตุการณ์ 50 ปี เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษชาติ ยาน Apollo 11 นำมนุษย์ขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำรวจดวงจันทร์

สำหรับนิทรรศการอื่น ๆ อาทิเช่นนิทรรศการ The Miracle of Element City ก็จะพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับตารางธาตุ ลำดับการค้นพบอะตอมของธาตุ อะตอมคืออะไร โครงสร้างอะตอมของนักวิทยาศาสตร์แต่ละคนเป็นยังไง มีแนวคิดแบบไหนบ้าง

อีกหนึ่งในงานที่จะพลาดไปไม่ได้นั้นก็คือนิทรรศการ Nikola Tesla : The Man who Changed the World พูดถึงเรื่องราวเกี่ยวข้องกับกระแสไฟฟ้าและการค้นพบของเขา มีพูดถึงกระแสไฟฟ้า AC/DC และไฟฟ้าสถิต หลักการเกิดไฟฟ้าของมัน ขวดลวดเทสลา ที่สามารถสร้างไฟฟ้าได้สูงถึงหมื่นโวลต์พร้อมทั้งผลงานแนวคิดอื่น ๆ ที่ยังรอคอยการต่อยอดจากคนรุ่นใหม่อยู่

นอกจากนี้ภายในงานยังมีนิทรรศการจากหน่วยงานอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เวทีเสวนาที่น่าสนใจ มีโครงงานและงานวิจัยของเด็ก ๆ รวมทั้งงานประกวดแข่งขันต่าง ๆ ที่สามารถเข้าไปดูเข้าไปรับชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

บรรยากาศภายในก็จะมีเด็ก ๆ จากหลากหลายโรงเรียนเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการของแต่ละหน่วยงาน หรืออาจจะมากับครอบครัวมาทั้งพ่อแม่และลูก ๆ มีสื่อสำนักข่าวต่าง ๆ เข้ามาทำข่าวหลายสื่อด้วยกัน

งานนี้จัดขึ้นแต่ละครั้งก็ไม่เคยที่จะหยุดอยู่เพียงแค่ความพีคเท่าเดิม เพราะยิ่งทำยิ่งมีความน่าตื่นเต้นและน่าสนใจมากขึ้นทุกปี หาใครคนไหนว่าง ทีมงาน SPACETH.CO ก็อยากเชิญชวนทุกคนเข้ามาร่วมสนุกกับกิจกรรมดี ๆ เสริมสร้างความรู้และทักษะการทำงานของสมอง ถ่ายรูป และเดินชื่นชมนิทรรศการที่เปี่ยมไปด้วยความรู้อันอัดแน่นและพร้อมที่จะส่งต่อให้ผู้เข้าร่วมนำไปใช้ในชีวิตประจำวันกันได้อย่างแน่นอน

เปิดให้เข้าชมฟรี เดินทางอย่างไร วันไหนบ้าง 

ช่วงเวลาของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจะมีตั้งแต่วันที่ 16-25 สิงหาคม 2562 เปิดให้บริการระหว่างเวลา 09.00 – 19.00 น. (เข้าชมฟรี) ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค (Hall 6-12) เมืองทองธานี

  • สามารอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thailandnstfair.com
  • ติดต่อเข้าชมแบบเป็นหมู่คณะที่ 025779960

เรียงเรียงโดย SPACETH.CO

มายด์ - บรรณาธิการและนักเขียน นิสิตปี 1 ภาคฟิสิกส์ จุฬาฯ สนใจเรื่องอวกาศ วิทยาศาสตร์ BLACKPINK อดีตไอดอลที่ออกวงการมาแล้ว และในปัจจุบันนี้เป็น Atomic Queen Ambassador of Physics 2019