เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงรู้จักกับดาวเทียมดวงแรกของโลกอย่าง Sputnik 1 ที่โด่งดังมาก มันนับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของการสำรวจอวกาศของสหภาพโซเวียต อีกทั้งยังเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของการแข่งขันสำรวจอวกาศ ของสองชาติมหาอำนาจอย่าง โซเวียต และ สหรัฐอเมริกา แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักถึงดาวเทียมดวงแรกของเอเชีย ทวีปบ้านเกิดเราอย่าง Ohsumi
ซึ่งดูจากชื่อก็แน่นอนว่าต้องเป็นของญี่ปุ่น โดยความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ 4 ที่ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรด้วยตัวเองสำเร็จ ถัดจากโซเวียต อเมริกาและฝรั่งเศส เราจะมารู้จักเจ้าดาวเทียม Ohsumi ไปพร้อม ๆ กัน
ดาวเทียม Ohsumi (おおすみ) เป็นดาวเทียมดวงแรกของญี่ปุ่น เจ้าของคือ ISAS ( Institute of Space and Aeronautical Science) ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยงานหนึ่งของ JAXA ถูกส่งขึ้นไปโดยจรวด Lambda 4S หมายเลข 04330 จากฐานปล่อย Kagoshima La-L เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1970 เวลา 04:25 UTC นับจากวันนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 48 ปีแล้วที่เจ้าโอะสุมิ ได้พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก แตกสลายกลายเป็นผงธุลีในปี 2003 นับเป็นอันสิ้นสุดภารกิจของมันเรียบร้อย
ดาวเทียมโอะสุมินี้ มีน้ำหนักราว 24 กิโลกรัม ความยาว 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.48 เมตร มีเสาอากาศที่ติดอยู่เพื่อรับสัญญาณทั้งหมด 6 เสา ดังภาพ มีเสาอากาศประเภท hook-type 2 เสา (เสาอากาศที่คล้าย ๆ ก้างปลา สีเงิน ในภาพด้านบน) และ เสาอากาศประเภท beryllium-copper whip-type 4 เสา (เสาที่มีสีทองแดง และใหญ่กว่าเสาสีเงินด้านข้าง ) และเครื่องยนต์พร้อมหลักการดาวเทียม
ชื่อของดาวเทียม Ohsumi มาจากชื่อของคาบสมุทรโอะสุมิ ในจังหวัดคะโกะชิมะ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะคิวชู ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานปล่อยดาวเทียมโอะสุมิและยังเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางดาราศาสตร์ที่สำคัญของญี่ปุ่นอีกด้วย ยาน HAYABUSA ที่ส่งไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย Itokawa และเก็บตัวอย่างมายังโลกได้สำเร็จ ก็ปล่อยจากฐานปล่อยแห่งนี้เหมือนกัน
ย้อนกลับไปวันแรกของโครงการอวกาศญี่ปุ่น ที่ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 1955 โดยมหาวิทยาลัยโตเกียว ปี 1964 หรืออีก 9 ปีต่อมา ได้มีการก่อตั้ง Space and Aeronautical Science (ISAS) ขึ้นที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Institute for Space and Astronautical Science แปลเป็นภาษาไทยตรง ๆ ว่า สถาบันวิทยาศาสตร์การบิน
ปี 1969 National Space Development Agency of Japan (NASDA) ได้พัฒนาระบบดาวเทียมและการสื่อสารทางไกล และเริ่มทดสอบระบบติดตามควบดาวเทียม มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศชาติญี่ปุ่น ให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ในปีเดียวกันนี้เอง ญี่ปุ่นได้ลงนามทำสนธิสัญญาร่วมกับอเมริกา เพื่อให้อเมริกาขนส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ให้ญี่ปุ่น โดยที่อเมริกาจะควบคุมการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่น หรือพูดง่าย ๆ ว่า ยินยอมให้อเมริกาควบคุมระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั่นเอง
11 กุมภาพันธ์ ปี 1970 หรือหนึ่งปีให้หลัง ดาวเทียมโอะสุมิได้ถูกส่งขึ้นไปโดยจรวด Lambda 4S หมายเลข 04330 จากฐานปล่อย Kagoshima La-L
ดาวเทียมโอะสุมิ มีวงโคจรแบบ elliptical orbit ลักษณะเป็นวงรี ให้ลองนึกภาพรัศมีวงรี ซึ่งแต่ละด้านจะไม่เท่ากัน จะมีด้านหนึ่งที่ใกล้จุดศูนย์กลางที่สุด และไกลจากจุดศูนย์กลางที่สุด ทำให้เกิดเป็นจุด perigee และ apogee ขึ้นมา เหมือนกับการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะมีตำแหน่งที่ใกล้และไกลโลกที่สุด
ดาวเทียมโอะสุมิ มีภารกิจหลัก ๆ คือ
- สังเกตการณ์รังสีเอ็กซ์
- สังเกตการณ์ภูมิศาสตร์ของสนามแม่เหล็ก
- เป็นตัวทดลองในเรื่องของวิศวกรรมดาวเทียม เพื่อจะเป็นพื้นฐานในการส่งดาวเทียมอื่นๆ ในอนาคต
โอะสุมิสามารถส่งสัญญาณกลับมายังโลกได้ในวันแรก แต่เมื่อถึงวันรุ่งขึ้นแล้วนั้น สัญญาณที่ส่งมากลับเริ่มแผ่วเบาลง สาเหตุนั้นก็เพราะแบตเตอรี่ในยานหมดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และส่งให้ยานเข้าสู่โหมดพักผ่อนตลอดกาล ก่อนที่ 33 ปีให้หลัง ในวันที่ 2 สิงหาคม 2003 โอะสุมิได้ทำการ de-orbit ตกสู่ชั้นบรรยากาศ ที่ละติจูด 30.3 ° N และถูกเผาไหม้ใกล้ ๆ ชายแดนของลิเบีย ปิดตำนานดาวเทียมดวงแรกจากแดนพระอาทิตย์อุทัยลงอย่างเป็นทางการ
ถึงอย่างนั้นดาวเทียมโอะสุมิก็ถือว่าเป็นดาวเทียมต้นแบบในการส่งดาวเทียมดวงอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตได้อีกหลายตัว นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญที่สุดในวงการการสำรวจอวกาศของประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้
อ้างอิง
Japan’s Space Program: A Fork in the Road? | RAND