เป็นที่ยืนยันแล้วว่ายาน Opportunity สูญเสียพลังงานไปมากจนไม่สามารถติดต่อกับโลกได้ในเวลานี้ ซึ่งเป็นผลมาจากพายุฝุ่นที่ทวีคูณความรุนแรงขึ้นมาเรื่อย ๆ จนครอบคลุมพื้นที่ไปกว่า 1 ใน 4 ของดาวแล้ว และแม้ว่าทีมงานของภารกิจจะพยายามมองโลกในแง่ดีว่ายานจะตื่นขึ้นมาได้อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามความกังวลก็ยังคงไม่จางหายไป
Opportunity อาการหนักไหม
ครั้งสุดท้ายที่ยานติดต่อกลับโลกนั้นคือวันที่ 10 มิถุนายน ที่ส่งสัญญาณมาบอกว่าทุกอย่างยังปกติ ซึ่งปกติในที่นี้หมายถึงพลังงานแสงที่ส่องมาถึงแผงโซล่าร์เซลล์นั้นน้อยที่สุดตั้งแต่ยานอยู่บนดาวอังคาร และหลังจากนั้นยานก็เข้าสู่โหมดประหยัดพลังงานในทันทีเมื่อรู้ว่ายานไม่สามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอต่อการใช้งานของมัน แม้จะหยุดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ไปแล้วก็ตาม
“มันก็เหมือนกับแฟนของคุณอยู่ในอาการโคมา และคุณหมอก็เดินมาบอกว่า ‘ให้เวลาเธอหน่อยนะ เดี๋ยวเธอก็ฟื้นขึ้นมา’ สัญญาณชีพต่าง ๆ ของเธอยังปกติดีอยู่ อีกไม่นานแล้วแหละที่เธอจะฟื้น” คือคำพูดของผู้จัดการโครงการนี้ John Callas “พูดง่าย ๆ ก็คือเธอพ้นขีดอันตรายแล้ว”
แต่ความพยายามติดต่อกับยานในวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาก็ยังไม่เป็นผล ซึ่งแปลว่า Opportunity เข้าสู่โหมดพลังงานต่ำขั้นวิกฤติแล้ว นั่นหมายความว่ายานจะใช้เวลาส่วนใหญ่ตลอดทั้งวันไปกับการนอนหลับ และหวังว่าเมื่อมันตื่นขึ้นมาตอนกลางวันพายุจะจางหายไป พร้อมกับโทรกลับมาหาทุกคนที่รอคอยอยู่ที่บ้านอีกครั้ง
“ณ ตอนนี้เราก็ได้แต่เฝ้ารอ และทุก ๆ วันเรายังคงเงี่ยหูฟังเสียง ๆ นี้จากบนผิวดาวอังคารอยู่เสมอ” และก็เป็นไปได้ว่านาซ่าอาจต้องรออีกสักพักใหญ่ ๆ เลย เพราะพายุฝุ่นนี้ถูกตรวจพบครั้งแรกในวันที่ 30 พฤษภาคม และในวันนี้มันยังครอบคลุมเพียงแค่ 1 ใน 4 ของดาว ซึ่งก็เป็นไปได้ว่ามันจะกระจายตัวไปปกคลุมทั้งดาวอังคารและอยู่อย่างนั้นไปตลอดทั้งเดือน ซึ่งนั่นหมายถึง Opportunity อาจต้องนอนหลับอีกสักพักใหญ่
อ่านข่าวการค้นพบพายุฝุ่นบนดาวอังคารจากยาน MRO ได้ที่นี่
นาซ่ากลัวอะไรในตอนนี้
พวกเขาไม่กลัวพายุที่จะยืดเยื้อเท่ากับความหนาวเย็นบนดาวอังคาร ซึ่งทั้ง Opportunity และ Spirit ยานพี่สาวของเธอไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รอดจากฤดูหนาวบนดาวอังคารแม้แต่ฤดูกาลเดียวเลยด้วยซ้ำ ซึ่งข้อดีก็คือบน Opportunity นั้นมีตัวทำความร้อนโดยใช้พลูโตเนียมอยู่ทั้งหมด 8 ชิ้นด้วยกันที่จะช่วยคายความร้อนให้กับยานได้ รวมทั้งพายุฝุ่นที่พัดมาจะเป็นเหมือนผ้าห่มที่ให้ความอบอุ่นกับยาน แถมยังมาเป็นในช่วงเข้าหน้าร้อนบนดาวอังคารอีกด้วย ดังนั้นมันน่าจะยังอยู่รอดได้อีกสักพัก
อีกเรื่องที่ทีมงานกลัวกันในตอนนี้ก็คือเวลา เนื่องจากว่าตอนนี้พลังงานทุกอย่างที่ยานมีจะถูกส่งให้กับนาฬิกาภายในยาน ที่จะคอยจับเวลาไว้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนาฬิกาตัวนี้จะคอยปลุก Opportunity ให้ตื่นขึ้นมาเมื่อมีพลังงานเพียงพอ พร้อมกับติดต่อกับโลก แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นแน่ ๆ เมื่อพลังงานบนยานไม่เพียงพอที่จะเปิดนาฬิกาบนยานให้ทำงานต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้ยานนั้นหลงวันหลงเวลาไปในทันที และเมื่อพลังงานกลับมา Opportunity อาจตื่นขึ้นมาผิดเวลาก็เป็นได้ แต่นาซ่าเองก็มีระบบที่คอยป้องกันไว้อยู่แล้ว เพราะเมื่อยานเผลอตื่นขึ้นมาในตอนกลางคืน ระบบจะส่งมันกลับไปนอนใหม่ และรอเลือกเวลาที่จะปลุกยานขึ้นมาอีกรอบ ซึ่งมันจะทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่ายานจะติดต่อกับโลกได้สำเร็จ
เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส
ในเมื่อยานทั้งสองได้อยู่เป็นพยานเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้แล้ว นาซ่าเองก็จับทั้งคู่มาสำรวจพายุฝุ่นในครั้งนี้เอาเสียเลย ในส่วนของ Opportunity นั้นมันก็ยังส่งภาพถ่ายจากใจกลางพายุมาให้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา และ Curiosity ที่อยู่อีกฝั่งนึงของดาวซึ่งพายุเพิ่งเดินทางไปถึงก็ได้ร่วมทำการสำรวจในครั้งนี้ด้วย ทั้งการถ่ายภาพ ตรวจดูลักษณะของเม็ดฝุ่น ความดันอากาศและอุณหภูมิของดาวในช่วงที่มีพายุ เนื่องจาก Curiosity นั้นใช้ MMRTG ซึ่งแปลงพลังงานที่มาจากการคายความร้อนของพลูโตเนียมมาให้พลังงานกับตัวยาน ดังนั้นสิ่งเดียวที่ทีมงานกลัวมากที่สุดก็คือฝุ่นมันเข้าตา ฉันไม่ได้ร้องไห้~ (ผิด)
สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือรอคอยอย่างอดทน ด้วยความหวังว่าสักวันเราจะได้ยินเสียงที่หายไปนี้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็ตาม ดาวอังคารคงต้องพยายามให้หนักหน่อยรอบหน้าหากอยากจะฆ่ายานอวกาศของพวกเรา เพราะต่อให้มันจะตายจากไปบนผิวดาวอังคาร แต่ผลงานและการสำรวจของมันจะเป็นที่พูดถึงต่อไปอีกนานตราบนาน
อ้างอิง :