Emergency Egress แผนการอพยพออกจากฐานปล่อยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

โดยปกติแล้วขั้นตอนการปล่อยจรวดจะเป็นขั้นตอนที่อันตรายอย่างมาก อย่างไรก็ตามเวลาปล่อยจรวดก็จะมีการกั้นผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากบริเวณฐานปล่อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะในขั้นตอนการเติมเชื้อเพลิงจรวดซึ่งหากเกิดเหตุระเบิดขึ้นแน่นอนว่าไม่มีใครรอดแน่นอน แต่นั่นก็จะเป็นสถานการณ์สำหรับการปล่อยดาวเทียมหรือยานอวกาศ หากเป็นการปล่อยที่มีลูกเรือเดินทางไปกับยานด้วยและทีมงานภาคพื้นที่คอยช่วยเหลือลูกเรือในการเข้าไปในยานอวกาศอยู่ด้วยเราก็คงกันคนเหล่านี้ออกไปไม่ได้ (เพราะเขาต้องทำงาน) ดังนั้น ในฐานปล่อยจรวด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการฉุกเฉิน สำหรับการอพยพเจ้าหน้าที่และนักบินอวกาศออกจากฐานปล่อย หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่าแม้จะเป็นการปล่อยที่มีลูกเรือเดินทางไปด้วยตัวอย่างเช่นยานอวกาศ Crew Dragon ของ SpaceX ก็ไม่ใช่ว่าจะมีเจ้าหน้าที่เดินไปเดินมา ณ ฐานปล่อยได้ตามใจชอบ แต่จะมีเจ้าหน้าที่ “เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น” ในการช่วยพานักบินอวกาศเข้าไปในตัวยานอวกาศ และเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็จำเป็นจะต้องต้องออกมาในบริเวณที่ปลอดภัย เหลือไว้เพียงแต่นักบินอวกาศที่นั่งอยู่บนยานอวกาศเท่านั้น

รู้จักเจ้าหน้าที่สำหรับช่วยเหลือนักบินอวกาศขึ้นยาน

เจ้าหน้าที่เหล่านี้หากเป็นการปล่อยโดย SpaceX มักจะได้รับชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า “นินจา” เพราะใส่ชุดสีดำ ปิดหน้า เหมือนกับนินจา (ฮา) หรือสำหรับ Boeing ในการปล่อยยาน Starliner ก็จะมีชื่อเรียกว่า “Pad Team A” โดยเราจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะทั้ง SpaceX หรือ Boeing เราจะเห็นว่าทุกคนจะมีหมายเลขประจำตัวเอง ปรากฎเด่นชัดบนชุด เพื่อให้ทีมที่เฝ้าดูผ่านกล้องมองออกว่าใครเป็นใครนั่นเอง (เพราะทุกคนใส่หน้ากากอนามัยปิดหน้าไว้ – ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากร่างกายไปติดนักบินอวกาศที่ผ่านการกักตัวแล้วนั่นเอง) หน้าที่ของพวกเขาเหล่านี้ ก็คือการพาลูกเรือเข้าไปนั่งในยาน จัดการล็อกปิดฝายาน และตรวจสอบความเรียบร้อยในขั้นตอนสุดท้าย

นักบินทดสอบ Bob และ Douge ในภารกิจทดสอบ Demo-2 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นการปรากฎตัวของทีมนินจา ที่มา – SpaceX

โดยขั้นตอนการช่วยเหลือนักบินอวกาศขึ้นยานนี้ ก็เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุค Apollo มาจนถึงยุคกระสวยอวกาศกันเลยทีเดียว กระบวนการต่าง ๆ ก็จะคล้าย ๆ กัน แม้ทุกวันนี้เราจะอยู่ในยุคการสำรวจอวกาศเอกชน

ซึ่งทีมช่วยเหลือเหล่านี้และนักบินอวกาศนี่เอง ที่จะต้องเป็น “ผู้ใช้บริการระบบอพยพฉุกเฉิน” หรือที่เรียกว่า “Astronaut Escape System หรือ AES” ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เพราะในช่วงเวลาที่นักบินอวกาศขึ้นยาน เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินในส่วนอื่น ๆ ก็จะออกจากบริเวณฐานปล่อยไปหมดแล้วนั่นเอง

Pad Team A ของ Boeing ที่จะทำงานในขั้นตอนสุดท้ายในการช่วยเหลือนักบินอวกาศ
Crew Access Arm ถูกยกขึ้นติดตั้งบนฐานปล่อย LC-41 ของ ULA เป็นครั้งแรกเพื่อยาน Starliner

โดยในบทความนี้เราจะพูดถึงการอพยพของ 3 ระบบการปล่อยนักบินอวกาศหลัก ๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (จะยังไม่พูดถึงยุคกระสวยอวกาศ) ได้แก่ ฐานปล่อยยาน Crew Dragon ของ SpaceX, ยาน Starliner ของ Boeing (ซึ่งใช้ฐานปล่อยของ United Launch Alliance หรือ ULA และฐานปล่อย Space Launch System หรือ SLS สำหรับโครงการ Artemis)

ระบบอพยพฉุกเฉินของ SpaceX

ปัจจุบัน SpaceX มีการใช้ฐานปล่อยทั้ง LC-39A ณ NASA Kennedy Space Center และฐานปล่อย Space Launch Complex 40 ใน Cape Canaveral Space Force Station ในการปล่อยยานอวกาศ Crew Dragon พร้อมลูกเรือ ซึ่งทั้งสองฐานปล่อยนั้นจะต้องได้รับการติดตั้่งอุปกรณ์อพยกฉุกเฉินสำหรับความปลอดภัยทั้งคู่ บนหอคอย Crew Access Tower

ฐานปล่อย LC-39A ซึ่ง SpaceX จะเห็นหอคอย Crew Access Tower สำหรับพานักบินอวกาศขึ้นยาน ด้านขวาของภาพเราจะเห็นสายสลิงสำหรับรอกเพื่อการอพยพฉุกเฉิน

สำหรับบนฐานปล่อย LC-39A นั้นวิธีการที่เราจะเห็นการใช้งานกันเป็นปกตินั้นก็คือการ “ใช้รอก” หรือ “Zipline” ในการหนีลงมาจากบนหอคอยสำหรับการปล่อย เพื่อลงมายังจุดปลอดภัยให้ไกลจากตัวจรวดมากที่สุดนั่นเอง และแน่นอนว่าหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นการใช้ลิฟท์อาจเปรียบเสมือนเป็นการฆ่าตัวตายเลยก็ว่าได้

บน Crew Access Tower นั้นจะมีการติดตั้งสปริงเกอร์ไว้ด้วยในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ที่มา – SpaceX

โดยเราจะเห็นว่ามีการติดตั้งรอกไว้ทั้งหมด 7 เส้น ซึ่งแต่ละเส้นก็จะมีตะกร้าที่ให้เข้าไปอยู่ได้ประมาณ 2 คน ดังนั้นหมายความว่าระบบนี้จะใช้ได้กับนักบินอวกาศ 4 คน (ตัวเลขปกติของการขึ้นยาน Dragon) และ ทีมช่วยเหลืออีก 10 คนนั่นเอง สำหรับวิธีการนี้ก็จะคล้ายกับที่ NASA ใช้ในยุคกระสวยอวกาศและยุค Apollo เป็นวิธีปฏิบัติที่ใช้กันมาเนิ่นนาน

นักบินอวกาศ Shannon Walker และ Bob Behnken กำลังซ้อมแผนอพยกฉุกเฉินด้วยการลงไปอยู่ในตะกร้าที่เชื่อมกับรอกเพื่ออพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย ที่มา – SpaceX

ในภาพด้านบนเราจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่มีการนำเอาถุงพลาสติกมาครอบหัว ไม่ใช่ว่าอยากตายหรือต้องการให้หายใจไม่ออกแต่อย่างใด แต่กลับกัน มันคือการป้องกันไม่ให้เราสูดเอาควันพิษเข้าไปหากเกิดเพลิงไหม้ หรือมีสารพิษรั่วไหลออกมาในอากาศ

ทีม “นินจา” กำลังทดสอบซ้อมการอพยพฉุกเฉินด้วยอุโมงค์หลบหนี ที่มา – SpaceX

ส่วนฐานปล่อย SLC-40 ของ SpaceX ซึ่งเพิ่งมีการสร้าง Crew Acess Tower ขึ้นมานั้น ก็เลือกที่จะใช้วิธีการอพยพในรูปแบบ “อุโมงค์สไลด์” ก็คือเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินนักบินอวกาศและเจ้าหน้าที่ก็จะกระโดดลงมาในอุโมงที่พาไปยังพื้นที่ปลอดภัย คล้ายกับการใช้รอกแต่ว่าสามารถทำได้เรื่อย ๆ ไม่เหมือนรอกที่อาจจะมีโอกาสที่บางคนจะถูกทิ้งไว้ได้

ระบบการอพยกฉุกเฉินด้วย “อุโมงค์สไลด์” ของฐานปล่อย SLC-40 ของ SpaceX ที่มา – SpaceX

ซึ่งการใช้ “อุโมงค์สไลด์” แบบนี้ก็เพิ่งถูกนำมาใช้กับฐานปล่อย SLC-40 ของ SpaceX เป็นที่แรกด้วย โดยจะมีการติดตั้งอุโมงค์เพียงแค่ 2 อุโมงค์เท่านั้น เพราะสามารถใช้งานซ้ำได้ ไม่เหมือนกับรอกที่ใช้งานได้เพียงแค่ครั้งเดียว

และเมื่ออพยพเสร็จแล้วทุกคนก็จะต้องไปขึ้นรถหุ้มเกราะที่เตรียมเอาไว้เพื่อหนีออกจากอันตราย โดยรถในลักษณะนี้สามารถทนต่อแรงระเบิดได้

รถหุ้มเกราะที่เตรียมพร้อมไว้หากเกิดเหตุฉุกเฉินเพื่อพาทุกคนเดินทางไปยังจุดปลอดภัย ที่มา – NASA

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน วันที่เขียนบทความนี้ 2 กันยายน 2024 ฐานปล่อย SLC-40 ของ SpaceX ยังไม่เคยถูกใช้งานในการปล่อยภารกิจที่มีลูกเรือมาก่อน เพราะปกติจะใช้ฐานปล่อย LC-39A แต่ก็จะมีการประเดิมการปล่อยภารกิจแบบมีลูกเรือในภารกิจ SpaceX Crew-9 ซึ่งเป็นการส่งลูกเรือสองคนขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในวันที่ 24 กันยายน 2024 นี้ เป็นภารกิจแรก (แต่ก็หวังว่าเราจะไม่ต้องเห็นลูกเรือใช้บริการระบบอพยพนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่)

ระบบอพยพฉุกเฉินของ Boeing Starliner

สำหรับระบบอพยพฉุกเฉินของยาน Starliner นั้น ต้องเล่าก่อนว่า Starliner ปล่อยจากฐานปล่อย SLC-41 ของ United Launch Alliance ซึ่งเดิมทีฐานปล่อยนี้ไม่เคยถูกใช้งานในการปล่อยภารกิจที่มีลูกเรือมาก่อน ทำให้ต้องมีการปรับปรุงฐานปล่อยให้รองรับการปล่อย Starliner เช่นกัน โดยวิธีการที่ ULA เลือกใช้ก็คือการโรยตัวในลักษณะ Zipline อีกแล้ว แต่รอบนี้จะไม่มีตะกร้าเหมือนกับของฐานปล่อย LC-39A ของ SpaceX

สลิงที่โยงลงมาจากฐานปล่อย LC-41 ของ ULA จำนวน 4 เส้น ที่มา – NASA

ULA เรียกระบบนี้ว่า Emergency Egress System (EES) ซึ่งตลอดโครงการพัฒนายาน Starliner ก็ได้มีการฝึกซ้อมการใช้งานระบบอพยพนี้อยู่เป็นระยะ ๆ ประสิทธิภาพของการอพยพแบบนี้ก็คือการที่สลิง 4 เส้นนี้ สามารถรองรับการโรยตัวได้มากเท่าไหร่ก็ได้ที่จะมีการติดตั้ง Zipline เข้าไป ไม่เปลืองพื้นที่เหมือนระบบ “ตะกร้า” ที่ SpaceX ใช้กับฐานปล่อย LC-39A

การโรยตัวลงมาจะใช้วิธีการเข้าไปนั่งอยู่ในกระเช้าส่วนตัวแทนหนึ่งคนต่อหนึ่งชิ้น ทำให้ประหยัดพื้นที่ได้มากกว่าแบบตะกร้า ที่มา – NASA

เราได้เห็น ULA ติดตั้งระบบนี้ให้กับฐานปล่อย SLC-41 ตั้งแต่ปี 2018 เป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้านี้ฐานปล่อย LC-41 จะเป็นฐานปล่อยแบบโล่ง ๆ เนื่องจาก ULA ใช้วิธีประกอบจรวดในอาคารที่เรียกว่า Verticial Intergration Facilities หรือ VIF แล้วเคลื่อยมายังฐานปล่อย ทำให้ทั้งระบบ ESS และ Crew Acess Tower นั้นไม่จำเป็นในตอนแรกนั่นเอง

ระบบ ESS ของ ULA นั้นจะนำทางไปสู่รถหุ้มเกราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งรถหุ้มนี้ก็เพื่อป้องกันสะเก็ดหรือวัตถุอันตรายที่ระเบิดออกมาพร้อมจรวดนั่นเอง ที่มา – NASA

ระบบอพยพฉุกเฉินของ Space Launch System

ส่วนโครงการใหม่โครงการใหญ่ของ NASA ที่ทุ่มงบปรับปรุงฐานปล่อย LC-39B เพื่อใช้สำหรับจรวดรุ่นต่อไป ได้แก่จรวด SLS หรือ Space Launch System นั้น ก็ต้องมีการวางแผนระบบอพยพฉุกเฉินเช่นเดียวกัน เราเรียกระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดที่ใช้กับจรวด SLS (ก็คือทุกอย่างที่ไม่ใช่ SLS) ว่า EGS หรือ Exploration Ground System

Mobile Launcher ขณะถูกเคลื่อยย้ายไปยังฐานปล่อย LC-39B บนรถ Crawer ที่มา – NASA

และระบบการอพยพของ SLS นั้นก็จะยากกว่าระบบอื่น ๆ ที่เรากล่าวมาเป็นพิเศษ เพราะว่าจรวด SLS นั้นจะถูกประกอบบนฐานที่เรียกว่า Mobile Launcher ก็คือตัวหอคอย Crew Acess Tower จะเคลื่อนย้ายมายังฐานปล่อยบนตัว Mobile Launcher พร้อมกับจรวดเลย ไม่ได้เป็นหอคอยตั้งถาวรอยู่ที่ฐานปล่อยแบบหอคอยของ SpaceX หรือ ULA (หรือแม้กระทั่งยุคกระสวยอวกาศเองก็ตาม) เรียกได้ว่า SLS นั้นใช้ระบบเดียวกับจรวด Saturn V ในยุค Apollo ทำให้ในการเคลื่อนย้าย Mobile Launcher มายังฐานแต่ละครั้งนั้น จะต้องมีการติดตั้งระบบการอพยพใหม่ทุกครั้ง

Mobile Launcher ขณะอยู่บนฐานปล่อย LC-39B จะเห็นว่ามีการโยงสลิงลงมายังบริเวณด้านล่าง ที่มา – NASA

และระบบที่ NASA เลือกมาใช้สำหรับ SLS, EGS นั้นก็คือตะกร้าวิเศษอีกแล้ว (ดูเหมือนว่า NASA จะค่อนข้างพอใจกับวิธีนี้) และเนื่องจากหอ Mobile Launcher นั้นเคลื่อนที่ได้ เวลาที่นำเอา Mobile Launcher มาตั้งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปล่อย (หรือการซักซ้อม) ก็จะต้องมีการโยงสลิงเพื่อติดตั้งระบบอพยพใหม่ทุกครั้ง

ตะกร้าที่ NASA เลือกใช้กับระบบ AEES สามารถจุคนได้มากถึง 5 คนพร้อมกันต่อการอพยพหนึ่งครั้ง ที่มา – NASA

NASA เรียกระบบนี้ว่า Artemis Emergency Egress System หรือ AEES (มันเป็นอะไรกันจะต้องตั้งชื่อใหม่ทุกครั้ง) ซึ่งจะประกอบไปด้วยตะกร้าขนาดใหญ่ทั้งหมด 4 อัน แต่ละอันจะสามารถบรรทุกคนได้มากถึง 5 คน ทำให้จำนวนคนที่สามารถขึ้นไปทำงานบน Mobile Launcher นั้นอยู่ที่ 20 คนเลยทีเดียว

การซักซ้อมอพยพฉุกเฉินสำหรับโครงการ Artemis ที่มา – NASA

เรียกได้ว่าระบบ AEES ของ Exploration Ground System นั้นเป็นระบบอพยพฉุกเฉินที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 3 โครงการที่เราเล่ามาเลยก็ว่าได้ แถมยังมีความซับซ้อนเนื่องจากต้องมีการขึงสลิงใหม่ทุกครั้ง โดยระบบนี้จะถูกนำมาใช้งานครั้งแรกกับภารกิจ Artemis II ซึ่งจะเป็นการเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งของมนุษยชาติในช่วงปี 2025 และเราก็หวังว่านักบินอวกาศของเราจะไม่ต้องมาใช้บริการระบบอพยพนี้

การซักซ้อมการเคลื่อยย้ายหากนักบินอวกาศหมดสติ ที่มา – NASA

ระยยการอพยพฉุกเฉินที่เราเล่ามาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของแผนการณ์ฉุกเฉินที่ใหญ่กว่านั้น ไม่ใช่แค่ว่าหนีออกมาได้แล้วก็จบ แต่ในแผนจะมีการกำหนดตั้งแต่เส้นทางที่รถพยาบาลหรือรถดับเพลิงจะเข้ามายังจุดเกิดเหตุ การปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐาน การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บที่ทุกอย่างจะถูกซักซ้อมจนทุกคนแม่นยำและสามารถปฏิบัติตามได้หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

โชคดีที่ในการสำรวจอวกาศยุคใหม่ เรายังไม่เคยเห็นการอพยพฉุกเฉินออกจากฐานปล่อยแต่อย่างใด ซึ่งก็ถือว่าต้องชื่นชมผู้ปฏิบัติงานในทุกภาคส่วนที่ทำให้ทุกอย่างออกมาปลอดภัยที่สุด

แล้ว Launch Escape System ใช้ตอนไหน

คำถามต่อมาก็คือ ยานอวกาศสำหรับมนุษย์โดยสารทุกลำ จะต้องมีระบบ Launch Escape System หรือระบบดีดตัวฉุกเฉินออกจากฐานปล่อยหรือออกจากตัวจรวด ถ้ามีระบบนี้แล้วทำไมยังต้องมีระบบโรยตัวอะไรพวกนี้อีก คำตอบง่ายมาก ๆ ก็คือ ระบบการอพยพมีไว้ใช้สำหรับเมื่อมีเหตุฉุกเฉินขณะที่มีเจ้าหน้าที่กำลังช่วยเหลือนักบินอวกาศเข้าสู่ยานอวกาศอยู่ แต่เมื่อนักบินอวกาศเข้าไปนั่งในตัวยานแล้วและทีมภาคพื้นดินออกมาจากฐานปล่อยหมดแล้ว ก็จะใช้งานระบบ Launch Escape System นั่นเอง (เพราะกว่าจะแกะตัวเองออกจากเก้าอี้ กว่าจะเปิดฝายาน เหตุอาจจะร้ายแรงขึ้นมาก) หรือระบบ Launch Escape System ก็จะใช้งานในกรณีที่จรวดพุ่งขึ้นไปแล้วด้วยนั่นเอง

แม้ในการสำรวจอวกาศยุคใหม่ เราจะไม่ได้เห็นการโรยตัวลงมาจากฐานปล่อย แต่สำหรับ Launch Escape System เราก็ได้เห็นกันไปในภารกิจ Soyuz MS-10 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2018 เมื่อตัวจรวด Soyuz ดันเกิดขัดข้องในระหว่างเที่ยวบินจนระบบ Launch Escape System ต้องพาสองนักบินอวกาศ Aleksey Ovchinin และ Nick Hague หนีออกมาจากตัวจรวดได้อย่างปลอดภัย เราเรียกว่า In-Flight Abort หรือการดีดตัวในระหว่างเที่ยวบิน

การทดสอบระบบ Pad Abort ของยาน Dragon ในปี 2015 ที่มา – SpaceX

ส่วนการทำ Pad Abort หรือการดีดตัวออกจากฐานปล่อยเดียวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์นั้นก็เกิดขึ้นย้อนกลับไปในปี 1983 ในภารกิจ Soyuz T-10-1 เมื่อจรวดดันเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมา และระบบดีดตัวฉุกเฉินก็ได้พานักบินอวกาศ Vladimir Titov และ Gennadi Strekalov หนีออกจากกองเพลิงได้อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่จำไม่รู้ลืมเกี่ยวกับฐานปล่อยนั้นก็คงต้องย้อนกลับไปในวันที่ 24 ตุลาคม 1960 ณ ฐานปล่อย Baikonur Cosmodrome ของสหภาพโซเวียต เมื่อจรวดดันเกิดระเบิดบนฐานปล่อยทำให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินมากกว่า 120 ชีวิตเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ และตัวเลขของผู้ที่เสียชีวิตตามมาจากเหตุครั้งนั้นอาจสูงถึง 300 ราย นับเป็นอุบัติเหตุด้านการสำรวจอวกาศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์

และด้วยเหตุการณ์นั้นเอง จึงเป็นบทเรียนให้กับปัจจุบันตามที่เราได้เห็นกันนตามมาตรการที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้เพื่อให้การสำรวจอวกาศนั้นปลอดภัยที่สุดนั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.