ยาน Parker Solar Probe เป็นยานสำรวจ Heliophysics ดวงอาทิตย์ของ NASA โดยวงโคจรของ Parker Solar Probe นั้นจะค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เรื่อย ๆ และตอนนี้มันก็ยังเป็นยานที่มีวงโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดอีกด้วย โดยการปรับวงโคจรให้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์นั้น ยาน Parker Solar Probe จะทำ Gravity Assist กับดาวศุกร์ 7 ครั้งเพื่อใช้แรงโน้มถ่วงของดาวศุกร์เหวี่ยงยานให้เข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และนี่ก็เป็นโอกาสของ Parker Solar Probe ที่จะสำรวจดาวศุกร์อีกด้วย
สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับยาน Parker Solar Probe – Parker Solar Probe ยานอวกาศสุดเร่าร้อน
ครั้งที่ยาน Parker Solar Probe ทำ Gravity Assist เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2020 ระหว่างการเข้าใกล้ดาวศุกร์ ยานได้ใช้กล้อง Wide-field Imager for Parker Solar Probe (WISPR) ถ่ายรูปดาวศุกร์ในด้านมืดที่ระยะ 12,380 กิโลเมตรจากดาวศุกร์โดยกล้อง WISPR นั้นเป็นกล้องที่ถูกออกแบบมาใช้ถ่ายในการถ่ายชั้นโคโรนาและ Heliosphere ของดวงอาทิตย์ในช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ รวมถึงภาพของลมสุริยะ ที่ดาวศุกร์ภาพที่ WISPR ถ่ายออกมานั้นแสดงให้เห็นที่ขอบดาวที่เป็นขอบชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์มีการเรืองแสงเกิดขึ้นที่เรียกว่า Nightgrow ซึ่งเป็นการเรืองแสงที่เกิดจากอะตอมของออกซิเจนในชั้นบรรยากาศชั้นบนมารวมตัวกันกลายเป็นโมเลกุล รวมถึงสามารถถ่ายภาพพื้นผิวของดาวศุกร์ที่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงคลื่น Infrared ได้อีกด้วย
ซึ่งในภาพยังเห็นพื้นที่สีดำที่เรียกว่า Aphrodite Terra ซึ่งเป็นพื้นผิวที่สูงที่สุดบนดาวศุกร์และที่มันมืดเป็นเพราะว่าบริเวณนั้นอยู่สูงจึงมีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณรอบข้าง
นอกจากนี้ในภาพยังเห็นแสงที่มีรูปแบบเป็นเส้น ๆ ซึ่งคาดว่าเป็นอนุภาคมีประจุที่เรียกว่า Cosmic rays หรือฝุ่นอวกาศที่สะท้อนแสงดวงอาทิตย์ได้หรือแม้แต่อนุภาคของยานเองเช่นสารเคลือบที่ชนกับฝุ่นอวกาศพวกนี้แล้วหลุดออกมาเป็นอนุภาคนั่นเอง
ซึ่งภาพนี้จริง ๆ แล้วสร้างความตกใจให้กับทีมภารกิจพอสมควรเพราะกล้อง WISPR ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ถ่ายแสงช่วงคลื่น Infrared แต่ดันถ่ายพื้นผิวของดาวศุกร์ที่ช่วงคลื่น Infrared ได้ยิ่งไปกว่านั้นพื้นผิวของดาวศุกร์กล้องแมวอะไรก็ถ่ายไม่ได้ด้วยซ้ำ โดยที่ทีมนักวิจัยคิดว่ามันเป็นช่วงคลื่น Infrared เพราะว่าลักษณะของภาพที่ถ่ายได้มันไปตรงกับภาพของยาน Akatsuki ของญี่ปุ่นที่ถ่ายพื้นผิวของดาวศุกร์ด้วยช่วงคลื่นแสงใกล้ Infrared ได้ (แต่อันนี้เขาออกแบบมาให้มันถ่าย near-IR แล้วก็บังเอิญถ่ายพื้นผิวได้พอดี แต่ WISPR นี่ออกแบบมาให้ถ่ายช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้แต่ไหงไปถ่ายภาพแบบเดียวกับ Akatsuki ได้)
ซึ่งหากทำได้จริงมันจะสามารถนำไปใช้ในการศึกษาฝุ่นอวกาศรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ได้ แต่หากจริง ๆ แล้วมันถ่ายไม่ได้แต่ภาพนี้บังเอิญ ภาพจากดาวศุกร์อันนี้อาจจะเป็นภาพที่ถ่ายได้พอดีกับช่วงที่เรียกว่า “Window” ของดาวศุกร์ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์เบาบางลงจนแสงช่วงคลื่น Infrared ที่แผ่ออกมาจากพื้นผิวสามารถทะลุชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ได้ จริง ๆ แล้วไม่ควรทำได้เพราะส่วนใหญ่ภาพของดาวศุกร์จะถ่ายได้แต่ชั้นบรรยากาศเท่านั้นเพราะชั้นบรรยากาศและเมฆของมันหนามากจนแสงจากพื้นผิวสะท้อนขึ้นมาไม่ได้ ก็จะได้เป็นภาพดาวศุกร์เรียบ ๆ แบบนี้
การ Fly-by และทำ Gravity assist ของยาน Parker Solar Probe พึ่งเกิดขึ้นไปล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2021 โดยทางทีมนักวิจัยคาดว่าน่าจะได้รับข้อมูลภาพถ่ายชุดใหม่ของดาวศุกร์ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจมากเพราะหากภาพอันนี้ถ่ายช่วงคลื่น Infrared ได้ ก็แสดงว่าอยู่ ๆ กล้องมันก็อัพสกิลโดยที่เราไม่รู้เพราะไม่ได้ทดสอบ แถมถ้ามันถ่ายพื้นผิวดาวศุกร์ได้ก็แสดงว่าการถ่ายพื้นผิวดาวศุกร์ไม่ได้เป็นไปไม่ได้นั่นเอง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง