หลังจากการเก็บตัวอย่างครั้งแรกล้มเหลวและยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดทำให้ทีมวิศวกรของ Perseverance ต้องเปลี่ยนพื้นที่และวัตรถุเป้าหมายสำหรับการเก็บตัวอย่างใหม่ เพื่อทดสอบอุปกรณ์เก็บตัวอย่างใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้จะเป็นการเจาะหินจริง ๆ และไม่ใช่ดินทรายเหมือนครั้งที่แล้ว ซึ่งล้มเหลวโดยคาดว่าน่าจะเป็นเพราะดินรายที่ละเอียดเกินไป ครั้งนี้จึงลองกับวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่าเวลาแตกเป็นเศษ ๆ เพื่อยืนยันว่าสาเหตุมาจากเศษตัวอย่างที่เล็กเกินไปจริง ๆ
อ่านบทความ – Perseverance เก็บตัวอย่างครั้งแรกล้มเหลว ข้อมูลการประเมินตัวอย่างพบว่าไม่มีหินอยู่ในหลอดตัวอย่าง
วัตถุเป้าหมายของการเก็บตัวอย่างในรอบนี้ คือ หินที่ชื่อว่า “Rochette” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะเป็นหินอายุน้อย เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบกับข้อมูลของหินที่บริเวณ South Séítah ซึ่งมีอายุแก่กว่า ก็จะช่วยให้เราปะติดปะต่อวิวัฒนาการของพื้นที่บริเวณ Jezero Crater ได้
ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ว่าจะเก็บตัวอย่างจากหินก้อนนี้หรือไม่ เนื่องจากหลอดเก็บตัวอย่างมีจำกัด โดยตอนนี้เหลือเพียง 42 หลอดเท่านั้น (มีทั้งหมด 43 หลอด)
หากนักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจที่จะเก็บตัวอย่างจากหินก้อนนี้ Perseverace ก็จะเริ่มต้นการเก็บตัวอย่างด้วยการ “Abrade” หรือขัดผิวของหินก่อนเพื่อกำจัดดินทรายที่ปนเปื้อนเหนือผิวของมันออก จากนั้นจึงจะใช้แขนกลยาว 2 เมตรที่มีหัวสว่านพร้อมหลอดเก็บตัวอย่างเพื่อเจาะเข้าไปในเนื้อของหินและเก็บเข้าหลอดตัวอย่าง
ปกติแล้วขั้นตอนการเก็บตัวอย่างจะเป็นไปอย่างอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีวิศวกรควบคุมระหว่างการเก็บตัวอย่าง แต่จากประสบการณ์ในรอบก่อนที่ Perseverance ทำทุกอย่างให้เสร็จสรรพ ปิดผนึกหลอดเก็บตัวอย่างให้เรียบร้อยอย่างดี พอวิศวกรเอากล้องมาส่องดูดันว่างเปล่าซะงั้น จึงเสียหลอดเก็บตัวอย่างนั้นไปฟรี ๆ
ครั้งนี้จึงแก้ Protocol สำหรับการเก็บตัวอย่างใหม่ ทุกขั้นตอนจะยังคงเป็นอัตโนมัติอยู่เหมือนเดิมยกเว้นแค่ก่อนซีลหลอดเก็บตัวอย่าง ที่ต้องให้ Perseverance นำกล้อง Mastcam-Z ไปถ่ายรูปหลอดตัวอย่างก่อน แล้วส่งรูปดังกล่าวกลับโลกเพื่อให้วิศวกรยืนยันว่ามีตัวอย่างอยู่จริง ๆ แล้วจึงจะส่งคำสั่งไฟเขียวให้ Perseverance ปิดผนึกแล้วนำหลอดเก็บตัวอย่างกลับเข้าที่
ขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมานี้จึงทำให้ Perseverance จะใช้เวลาในการเก็บตัวอย่างแต่ละครั้งมากกว่าเดิม แต่ก็แลกมาด้วยความสบายใจว่าจะไม่เสียหลอดเก็บตัวอย่างฟรีเหมือนรอบแรกแน่ ๆ นั่นเอง
หากการเก็บตัวอย่างครั้งนี้สำเร็จ Perseverance ก็จะเดินหน้าสำรวจพื้นที่ที่เป็นหุบเขาเหนือ Crater Floor ของ Jezero Crater เรียกว่า “Citadelle” ซึ่งข้อมูลการประเมินเบื้องต้นพบว่าหินบริเวณนี้ทนทานต่อการกัดกร่อนโดยลม โดยจะเริ่มใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า RIMFAX ซึ่งเป็นเสมือนเรดาร์ไว้ใช้สำรวจชั้นของหินเบื้องต้นเพื่อหาเป้าหมายในการเก็บตัวอย่างต่อไปนั่นเอง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง