พลูโตยังคงเป็นดาวเคราะห์แคระอยู่ และโคจรอยู่เหมือนเดิมในระบบสุริยะของเรา (ไม่ว่าจะในสถานะใดก็ตาม)

ดาวพลูโต หรือ (134340) พลูโต อดีตดาวเคราะห์ที่ถูกค้นพบในปี 1930 ได้มาเป็นที่รู้จักในวงกว้างนับตั้งแต่ที่มันถูกลดขั้นลงไปเป็นดาวเคราะห์แคระเมื่อปี 2006 ที่ผ่านมา และดาวพลูโตก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในวัตถุที่ถูกพูดถึงในบรรดาคำคมต่าง ๆ มากที่สุดตราบจนปัจจุบัน

แต่ล่าสุดมีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ท่านหนึ่ง ได้ทวีตข้อความตามภาพด้านล่างนี้ ซึ่งเนื้อหาที่ผู้ใช้ท่านดังกล่าวผู้ถึงอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านดาราศาสตร์โดยตรง ทว่าสิ่งที่กล่าวถึงว่า “NASA คืนตำแหน่งดาวเคราะห์ให้ดาวพลูโตแล้วซะงั้น” นั้นผิดไปจากความเป็นจริงอยู่พอสมควร ผู้เขียนจึงได้สรุปทุกประเด็นที่ควรทราบของเรื่องนี้ ว่าสรุปแล้วดาวพลูโต (ที่รัก) ของเราอยู่ในสถานะใดกันแน่ และ NASA สามารถให้ตำแหน่งกับวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะได้หรือไม่

พลูโตอยู่ในสถานะอะไรกัน

ในวินาทีนี้ ถ้าเราอิงตามคำนิยามของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลหรือ IAU ดาวพลูโตนั้นก็ยังคงเป็น “ดาวเคราะห์แคระ” หรือ Dwarf Planet อยู่ เพราะนิยามของดาวเคราะห์แคระนั้นก็คือ มันต้องไม่เป็นดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ มีมวลมากพอที่จะรักษาสภาพใกล้ทรงกลม และโคจรรอบดวงอาทิตย์ของเรา

Jim Bridenstine ผอ. ของ NASA ได้พูดในงาน International Astronautical Congress หรือ IAC ว่าดาวพลูโตนั้นควรเป็นดาวเคราะห์อีกครั้ง เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับจากยาน New Horizons ที่ไปบินเฉียดผ่านในระยะใกล้เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นถึงสภาพพื้นผิวที่ซับซ้อนและน่าสนใจ รวมทั้งอาจมีชั้นมหาสมุทรใต้ผิวดาวลงไปอีกด้วย

Jim Bridenstine ผอ. NASA ขณะพูดในงาน IAC 2019 – ที่มา NASA/Bill Ingalls

อย่างไรก็ตาม แม้ Jim Bridenstine และอีกหลาย ๆ คนจะสนับสนุนว่าพลูโตควรถูกให้กลับมาเป็นดาวเคราะห์อีกครั้ง แต่หน่วยงานที่กำหนดคำนิยามอย่างสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลหรือ IAU ยังคงอ้างอิงตามคำนิยามเดิมมาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ ในตอนนี้

อันที่จริงคำนิยามดังกล่าวก็ไม่ได้ถือว่าสมบูรณ์อะไรนักหรอก โดยเฉพาะข้อที่บอกว่าต้องไม่มีวงโคจรทับซ้อนกับวัตถุอื่น ๆ ซึ่งก็ยังคงถูกประท้วงและถกเถียงมาจนถึงในตอนนี้ โดยสามารถอ่านบทความที่สรุปประเด็นเกี่ยวกับความคลุมเครือในคำนิยามได้ที่นี่

NASA มอบตำแหน่งให้กับดาวเคราะห์ได้หรือไม่

ต้องย้อนไปพูดถึงทางสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลกันก่อน ซึ่งถูกก่อตั้งเมื่อ 100 ปีที่แล้วพอดี (ในปี 1919) และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ได้รับผิดชอบการตั้งชื่อและจัดระบบประเภทให้กับวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพจำลองขนาดดาวเคราะห์ดวงต่าง ๆ ในระบบสุริยะ กับดวงอาทิตย์ – ที่มา NASA

ถามว่าการนิยามของ IAU ต้องนำไปถูกบังคับใช้เป็นข้อกฏหมาย หรือทุกที่ต้องยอมรับมันหรือไม่ ก็ไม่จำเป็นเสมอไป แต่การมีอยู่ของ IAU เหมือนเป็นการตั้งมาตรฐานกลางขึ้นมา เพื่อให้เราและนักดาราศาสตร์สามารถแยกประเภทวัตถุต่าง ๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

ส่วนของ NASA นั้นเป็นหน่วยงานอวกาศของสหรัฐ ที่มีส่วนสำคัญในการสำรวจและตามหาวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ ทว่าสิทธิ์ขาดในการนิยามวัตถุต่าง ๆ นั้นก็ยังเป็นของ IAU อยู่ และ NASA เองก็รับรองและใช้ตามนิยามของ IAU อยู่เช่นกัน แม้นักดาราศาสตร์หรือผอ. ของ NASA จะเสนอว่าพลูโตควรเป็นดาวเคระาห์อย่างไร ถ้ายังไม่มีการปรับนิยามจาก IAU พลูโตก็ยังคงเป็นดาวเคระาห์แคระอยู่ไปเรื่อย ๆ

แล้วมันส่งผลอะไรกับพลูโตไหม

ถ้าส่งผลในเชิงแบบกายภาพกับดาวนั้นแทบไม่มีผลอะไรเลย เพราะตั้งแต่ก่อนที่พลูโตจะถูกค้นพบ มาจนถึงในวินาทีนี้ มันก็ยังโคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ของเราตามเดิม ไม่ได้วาปหายไป หรือมีขนาดเล็กลงเนื่องจากโดนลดลำดับสถานะไปแต่อย่างใด

ทว่าหากพลูโตได้ถูกยกขั้นกลับมาเป็นดาวเคราะห์อีกครั้ง ก็อาจทำให้หน่วยงานอวกาศต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกได้งบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการสำรวจดาวพลูโตก็เป็นได้

แต่ในกรณีนี้ก็แอบเห็นใจแทนยูเรนัสกับเนปจูนนะ เพราะภารกิจล่าสุดที่ถูกส่งไปสำรวจทั้งสองดวงก็ผ่านมาแล้วมากกว่า 30 ปีด้วยกัน

สุดท้ายไม่ว่าพลูโตจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม มันก็ยังคงเป็นดาวดวงที่มีหัวใจดวงโต ที่โคจรอยู่ในมุมไกลของระบบสุริยะด้วยความเร็ว 4.743 กิโลเมตรในทุก ๆ วินาที

Pluto in True Color - High-Res.jpg
พลูโต และหัวใจของมัน 🙂 – ที่มา NASA/JHUAPL/SwRI

เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง:

Space.com | NASA Chief Keeps Saying ‘Pluto Is a Planet’ Because It’s a Complex, Amazing World

IAU 2006 General Assembly: Result of the IAU Resolution votes

NASA | What is a planet?

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138