เทคนิคถ่ายภาพสุริยุปราคา จากนักดาราศาสตร์ และบรรยากาศการซ้อมถ่าย

หลังจากที่ทีมงานได้เลือกที่จะมาถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบวงแหวนที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นจุดที่เกิดการบังแบบกึ่งกลางเป็นวงแหวนในขณะที่กรุงเทพมหานครและทุกจังหวัดในประเทศไทยจะได้เห็นเป็นสุริยุปราคาแบบบางส่วน ในครั้งนี้ เราได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากทาง Fujifilm Thailand และความรู้จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เพื่อให้การมาทดลองประสบการณ์การอยู่ใต้เงาสุริยุปราคาวงแหวนเป็นครั้งแรกของพวกเราน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น

สำหรับรายละเอียดทั้งหมดที่ควรรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคา 26 ธันวาคม สามารถอ่านได้ที่ สุริยุปราคา 26 ธันวาคม 2019 สรุปทุกอย่างที่ควรรู้

เทคนิคการถ่ายภาพสุริยุปราคา จากนักดาราศาสตร์มืออาชีพ

เนื่องจากเราไม่เคยมีประสบการณ์ในการถ่ายภาพสุริยุปราคามาก่อน แม้ว่าจะเคยถ่ายภาพดวงอาทิตย์ด้วย Filter มาบ้างแล้ว แต่อย่าลืมว่าการถ่ายภาพดวงอาทิตย์นั้น เมื่อพลาดสามารถถ่ายใหม่ได้ แต่ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เกิดให้เราเห็นในเวลาไม่นานเท่านั้น ข้อผิดพลาดหรือความไม่พร้อมเล็กน้อย สามารถทำให้เราอาจจะไม่ได้ภาพอะไรเลยก็ได้

ทางทีมงานจึงได้ปรึกษากับ อาจารย์แจ๊ค หรือคุณศุภฤกษ์ คฤหานนท์ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้ที่ถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคามาหลายครั้งจนมีประสบการณ์เรียกว่าแทบจะอันดับต้น ๆ ของไทย ให้ทางพี่แจ๊ค (ซึ่งถ้าใครติดตามเรามา เวลาเราไปสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติก็จะได้พี่แจ๊คนี่แหละที่พาชม) ให้คำปรึกษากับทีม ว่ามีอะไรบ้างที่เราควรจะรู้

  • การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น เป็นอะไรที่ต้องพึ่งพาโอกาสของธรรมชาติมากกว่า 80% ดังนั้น เตรียมพร้อมเสมอที่จะต้องมีการปรับแก้หน้างาน เทคนิคอย่างเดียวที่ช่วยเราได้มากที่สุดก็คือการซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม จนรู้ข้อจำกัดกับทั้งของตัวเอง ของอุปกรณ์ และของธรรมชาติ
  • บางที Filter ที่เราเตรียมไปนั้นอาจจะไม่ได้ใช้ก็ได้
  • พี่แจ๊คแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพ 2 แบบที่นิยม คือการถ่ายดวงอาทิตย์ให้เห็นความละเอียด ภาพที่ได้จะเป็นดวงอาทิตย์เดี่ยว ๆ แต่อีกแบบนึงที่น่าทำก็คือการถ่ายภาพมุมกว้าง โดยการตั้งกล้องไว้กับที่ถ่ายภาพที่เป็นภาพพื้นหลังไว้ แล้วรอดวงอาทิตย์ปรากฎคราสบนท้องฟ้าแล้วถ่ายผ่านฟิวเตอร์โดยการตั้งเวลาไว้ (ดูจากแอพหรือโปรแกรมคำนวณล่วงหน้าว่าดวงอาทิตย์จะปรากฎบริเวณไหน) จากนั้นนำภาพมาซ้อนกันจนเราเห็น Process ของการเกิดสุริยุปราคาว่าเริ่มต้นบริเวณไหน บังกึ่งกลางบริเวณไหน และสิ้นสุดที่ตอนไหน
  • ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ สิบโมงถึงบ่ายสองโมง ซึ่งเป็นช่วงที่พระอาทิตย์อยู่บนฟ้าชัดเจน
  • อย่างไรก็ตามในครั้งนี้เราถ่ายภาพที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสภาพเป็นเกาะมีฝนตกบ่อย แต่โอกาสก็มีเนื่องจากเรายังสามารถถ่ายภาพผ่านเมฆให้สวยงามได้ด้วยเทคนิคที่เราต้องไปปรับเอาหน้างาน

ซึ่งทางพี่แจ๊คก็ได้สอนเทคนิคการปรับหน้างานกับเรา บางทีเราอาจจะไม่ได้ใช้ Filter ที่เราเตรียมมาก็ได้ แต่ใช้วิธีการถ่ายผ่านเมฆแล้วใช้เทคนิค Black Card หรือการเอากระดาษสีดำหรือมือของเราปัดหน้ากล้องที่ตั้งค่ารูรับแสงไว้ต่ำ ๆ แล้วให้มองเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเมฆที่กรองอีกชั้นเอา

อย่ายึดติดกับสถานที่ที่เราวางแผนไว้ บางทีเราอาจจะต้องเปลี่ยนที่ ขับรถตาม ย้ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามโอกาส เช่น เมฆบัง หรือวิวไม่เหมาะสมที่จะถ่าย การรู้จักกับสถานที่ อากาศ เวลา และมุมขององศาที่เราจะถ่ายจึงสำคัญมาก ๆ

และที่สำคัญที่สุด ที่สำคัญทีสุดในการสังเกตการณ์คือความปลอดภัย ไม่ควรดูด้วยตาเปล่า และแม้จะมองผ่านตัวกรองก็ไม่ควรจ้องมองนานเกินไป ควรพักดวงตาเป็นระยะ

ทดลองลงพื้นที่สังเกตดวงอาทิตย์ และวางแผนการถ่าย

ทีมงานหลังจากที่ได้ฟังที่พี่แจ๊คแนะนำแล้ว ทำให้รู้ว่าเราควรจะรู้จักกับสถานที่ สภาพอากาศและเหตุการณ์ที่อาจจะเกิด เพราะยิ่งเรารู้เยอะเราก็จะยิ่งปรับแก้หน้างานได้ ทีมงานจึงใช้วิธีเลือกบริเวณที่เราจะถ่ายเลย คือถ่ายออกไปให้เห็นวิวของประเทศสิงคโปร์ได้แก่บริเวณ Mariana Bay ถ่ายออกไปเห็น Merlino และตึกระฟ้าต่าง ๆ โดยเราเลือกที่จะถ่ายภาพแบบมุมกว้างและมุมแคบ อุปกรณ์ที่เราใช้ได้แก่กล้อง Mirrorless จาก Fujifilm ได้แก่ X-T3 และ X-H1

โดยตัวที่ใช้ถ่ายภาพมุมแคบเราใช้เลนส์ Fujinon 100-400 mm f/4.5-5.6 R LM OIS WR ซึ่งเป็นเลนส์ที่ระยะเทียบเท่าบนฟูลเฟรม 150 – 600mm รวมถึงมีกันสั่นภายในตัวเลนส์และคุณสมบัติกันละอองน้ำละอองฝุ่น

ส่วนเลนส์มุมกว้างที่เราใช้ได้แก่ Fujinon XF8-16mm f/2.8 R LM WR

และคุณสมบัติการกั้นน้ำและฝุ่นนั้นก็ได้ใช้ เพราะปรากฎว่าวันที่เราไปทดลองกัน ซึ่งเป็นวันก่อนเกิดปรากฏการณ์ 1 วัน ซึ่งอย่างที่บอกว่าสิงคโปร์ฝนตกบ่อยมากนึกจะตกก็ตกทำให้บางครั้งฝนตกแป๊บเดียวเราเลยไม่ต้องย้ายกล้องไปมา ตั้งกล้องตากฝนได้เลย (ฮา)

สำหรับประเด็นสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากการไปทดลองถ่ายก็คือ

  • ต้องมีคนคอยดูเมฆอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สัญญากับคนที่ถ่ายภาพเพื่อให้เตรียมตัวหรือเร่งถ่าย เพราะถ้าเมฆบังจะถ่ายด้วย Setting เดิมไม่ได้
  • โหลดแอพเช่น Sky Guide ไว้คอยเล็งตำแหน่งของวัตถุบนท้องฟ้าไว้ แม้จะมีเมฆบังเราจะได้รู้ว่าตำแหน่งอยู่ตรงไหน
  • พยายามใช้ Filter ที่สามารถถอดและใส่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะบางทีเราอาจจะไม่ต้องใช้

สรุปก็คืออย่างที่พี่แจ๊คบอกเรา ก็คือการลองหน้างานจะช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ตลอดเวลา ซึ่งการที่เราได้เข้าไปดูที่หน้างานก่อนก็ช่วยให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้วโอกาสที่จะได้ก็ไม่ได้น้อย แต่โอกาสที่จะเจออุปสรรคก็ไม่ได้น้อยเช่นกัน

สุดท้ายผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามกัน

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.