Relativity Space บริษัทอวกาศมาแรง ที่ผลิตจรวดจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ครั้งแรกของโลก

ในปัจจุบันเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จากการพิมพ์สิ่งของเล็ก ๆ จนไปถึงการพิมพ์บ้านที่คนอยู่อาศัยได้ได้ขึ้นมาใช้จริง ๆ ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่กระทั่งมีคอนเซ็ปต์การพิมพ์บ้าน 3 มิติ บนดาวอังคารออกมาให้เราได้เห็นกันอีกด้วย และตอนนี้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเดินทางมาถึง อุตสหกรรมการผลิตจรวดแล้ว บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ Relativity Space บริษัทสตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ ที่มีความทะเยอทะยานในการจรวดจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยพนักงานส่วนมากเคยทำงานที่ SpaceX และ Blue Origin มาก่อน และบริษัท Relativity Space ยังมีแผนส่งจรวดลำแรกขึ้นไปภายในปี 2021 นี้อีกด้วย

อ่านเรื่องราวของบ้านจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ บนดาวอังคารเพิ่มเติมได้ ที่นี่ MASHA แบบบ้านจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ บนดาวอังคาร ที่ได้รางวัลจาก NASA

จรวด Terran R ที่มา – Relativity Space

บริษัท Relativity Space ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 โดยคุณ Tim Ellis และ Jordan Noone แต่พึ่งเริ่มมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นหลังจากทางบริษัทประกาศสร้างจรวดรุ่นใหม่ Terran R เมื่อต้นปี 2021 นี้ โดยตัวจรวดนั้นสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมดอีกด้วย เหตุผลที่ทาง Relativity Space เลือกวิธีการผลิตจรวดด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ก็เพราะว่า กระบวนการพิมพ์สามารถเร่งอัตราการผลิตได้เร็วกว่าการผลิตจรวดแบบดั้งเดิมได้ถึง 10 เท่า และยังลดชิ้นลวดต่าง ๆ ในการประกอบจรวด “พวกเรากำลังจะปฏิวัติอุตสหกรรมจรวดที่ดำเนินมายาวนานกว่า 60 ปี” ทาง Relativity Space กล่าวเพิ่มในเว็บไซต์ของตน

แต่ก่อนที่จะสร้างจรวดได้ก็ต้องมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติเสียก่อนซึ่งทาง Relativity Space ได้เริ่มการพัฒนาเครื่องพิมพ์ของตนที่มีชื่อว่า Stargate เครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะใช้ระบบ AI ในการควบคุมการผลิตอีกด้วย โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการผลิตจรวดพร้อมปล่อยด้วยอัตราเร็วในการผลิต 60 วันต่อจรวด 1 ลำ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากหากเทียบกับวิธีการผลิตจรวดอื่น ๆ ที่ใช้เวลาประมาณ 12-16 เดือน แต่อย่างไรก็ตามในกระบวนการพิมพ์อาจจะยังต้องใช้มนุษย์ในการตรวจสอบโครงสร้างว่าได้คุณภาพการผลิตตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ส่วนวัสดุที่ใช้ในการพิมพ์จะเป็นโลหะผสมหรืออัลลอยด์แบบพิเศษที่ Relativity Space ศึกษาทางโลหะวิทยาแล้วทำวัสดุขึ้นมาเอง

ปัจจุบัน Relativity มีจรวดในแบบด้วยกันทั้งหมด 2 รุ่นได้แก่ Terran 1 และ Terran R โดยจรวดลำแรกที่จะปล่อยภายในปี 2021 นี้คือ Terran 1 ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ Aeon 1 จำนวน 9 เครื่อง ที่สามารถส่งสัมภาระน้ำหนักถึง 1,250 กิโลกรัมสู่วงโคจรระดับต่ำของโลก (LEO) ส่วนอีกลำหนึ่งที่เป็นกระแสเมื่อไม่นานมานี้คือจรวด Terran R เพราะว่าหากดูเผิน ๆ รูปทรงดันเงาวับแลดูคล้ายกับยาน Starship ของ SpaceX ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เช่นกัน โดยจะเครื่องยนต์ Aeon R จำนวน 7 เครื่องยนต์ และสามารถส่งสัมภาระไปได้ 20,000 กิโลกรัม ในวงโคจร

ภาพเปรียบเทียบขนาดจรวด Terran 1 (ซ้าย) และ Terran R (ขวา) ที่มา – Relativity Space

นับตั้งแต่บริษัท Relativity Space ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2021 บริษัทได้มีการทดสอบเครื่องยนต์ Aeon ของตนมาแล้วมากกว่า 500 ครั้ง ที่ใช้เชื้อเพลิงออกซิเจนเหลวกับก๊าซธรรมชาติจำพวกมีเทน เพื่อสร้างความมั่นใจต่อกลุ่มลูกค้าว่าเครื่องยนต์ที่ผลิตโดยเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นสามารถใช้งานได้จริง จนได้รับความสนใจอย่างมากจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาและ NASA ที่มีงานให้เงินทุนสนับสนุนรวมไปถึงการใช้ยืมฐานปล่อยจรวดอีกด้วย หรือแม้แต่บริษัทอวกาศในประเทศไทย mu Space กับ Relativity Space ก็ได้ตกลงทำสัญญาในการส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศด้วย

การทดสอบเครื่องยนต์ Aeon 1 ที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่มา – Relativity Space

เรียกได้ว่า Relativity Space เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนมาแรงที่ตาม SpaceX และ Blue Origin มาติด ๆ เลยก็ว่าได้ ทาง NASA เองก็มีการเปิดประเด็นคุยกันและเจรจากับ Relativity Space ถึงแนวโน้มที่จะตามมาเข้าร่วมโครงการ Artemis ของ NASA ที่จะส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 อีกด้วย ทำให้เป็นที่น่าสนใจในว่าในอนาคตเทคโนโลยีการพิมพ์จรวดด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ นั้นจะช่วยพัฒนาการสำรวจอวกาศไปในทิศทางใดได้บ้างในยุค New Space นี้

อ่านเรื่องราวของยุคใหม่แห่งการสำรวจอวกาศได้ ที่นี่ Old Space กับ New Space คืออะไร

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Mostly being a space-nerd who dreamt to work at NASA, but now a 21 years old Film Student dedicating to generalize space communication.