มีงานประชุมงานนึงที่ตั้งชื่อว่า New Space Europe จัดเป็นประจำทุกปี ที่ประเทศลักเซมเบิร์ก ประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ในด้านอวกาศยาวนานเหมือนกับสหรัฐฯ หรือรัสเซีย โดยเนื้อหาในงานจะพูดถึงธุรกิจอวกาศ การสำรวจอวกาศ ซึ่งเราก็อาจจะนึกภาพแนว ๆ ว่าเป็นงาน Conference ประชุมงานหนึ่ง แต่คำสำคัญมันอยู่ที่คำว่า “New Space” นี่สิ หลายคนอาจจะรู้จักคำว่า Space แล้ว เวลาพูดว่า Space เราอาจจะนึกถึงโครงการ Apollo นึกถึงจรวดลำใหญ่ ๆ นึกถึงธุรกิจดาวเทียม ซึ่งจริง ๆ ก็ถูกแล้ว เพราะ Space นั้นจริง ๆ มีพื้นฐานมาจากสงคราม (อ่าน – ประวัติศาสตร์จรวด อาวุธสังหารสู่สะพานเชื่อมดวงดาว) แล้วคำว่า New Space มันคืออะไร ? แล้วอะไรคือ Old Space, Traditonal Space ? ในบทความนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กัน
การแบ่งแยกระหว่างสิ่งใหม่กับสิ่งเก่าด้วยคำว่า New และ Old หรือ Traditional นั้นพบเจอได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ถ้าใครที่เรียนด้านการสื่อสาร เราก็จะชินกับคำว่า “New Media” หรือสื่อใหม่ (สื่อออนไลน์ แฟนเพจ การทำไลฟ์) ซึ่งเป็นเส้นที่ตัดแบ่งกับสื่อเก่า หรือสื่อดั้งเดิม (Traditonal Media) พวกทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุต่าง ๆ
ที่ยกตัวอย่างเรื่อง New Media กับ New Space มาเล่าก็เพราะว่าจริง ๆ แล้วพื้นฐานที่มาของเส้นแบ่งระหว่างยุคเก่าและใหม่ของทั้งสองอุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน และมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก แถมยังมีความคล้ายคลึงกันมากเพราะจริง ๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้เกิดจาก “สงครามโลกครั้งที่สอง” นั่นเอง
สื่อกับการสำรวจอวกาศ บนเส้นทางที่แตกต่างเหมือนกัน
ให้เรานึกภาพสมัยก่อน สมัยสงครามโลก “ทหาร” หรือ “ฝ่ายความมั่นคง” คือเจ้าของทรัพยากรหลาย ๆ อย่าง และแน่นอนว่ารวมถึงสื่อด้วย ทรัพยากรที่ว่านั้นนอกจากจะเป็นเงินทุนมหาศาล (ที่ต้องใช้ในการสร้างเครื่องมือต่าง ๆ แล้ว) ยังรวมถึงทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้อย่าง สิทธิในอากาศ น่านน้ำ อวกาศ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมทหารจึงเป็นเจ้าของช่องทีวีและวิทยุต่าง ๆ และยังคงเป็นเจ้าของสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันด้วย
เวลาผ่านไปแนวโน้มประเทศประชาธิปไตยเกิดการแบ่งจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ให้นายทุนสามารถนำมาสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจ เกิดการทำสัมปทาน หาเงินเข้ารัฐ ลากยาวมาจนถึงการให้อิสระในการบริหารจัดการต่าง ๆ อย่างเสรียิ่งขึ้น ประกอบกับการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต การเกิดขึ้นของ Personal Computer อุปกรณ์ส่วนตัวต่าง ๆ ทำให้ใคร ๆ ก็ครอบครองทรัพยากรที่จะเป็น “สื่อได้” ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมัยก่อน เราอยากจะเป็นสื่อคุยกับคนเยอะ ๆ เราต้องไปสัมปทานความถี่จากรัฐฯ หรือทหารมา แค่นั้นยังไม่พอ เรายังต้องมีเงินในการซื้อเสาสัญญาณ กล้องถ่ายทอด เป็นทุนมหาศาล ทำให้การทำอะไรที่คุ้มทุนนั้นจำเป็นจะต้องมีลูกค้าจำนวนมาก (นำมาซึ่งลัทธิบริโภคนิยม คือผลิตให้ได้เยอะ ๆ ขายให้ได้เยอะ ๆ ไว้ก่อน) เนื้อหาในสื่อถึงได้ดูซ้ำ ๆ กันไปหมด เพราะออกแบบมาเพื่อเอื้อความบริโภคนิยมให้แก่กลุ่ม Mass นั่นเอง
ทีนี้ย้อนกลับมาในปัจจุบัน ถ้าเราอยากจะสื่อสารกับคนจำนวนเยอะ ๆ ในประเด็นที่ Niche มาก ๆ เราทำได้ไหม? คำตอบคือได้! แถมในต้นทุนที่ไม่มากเท่าเมื่อก่อนด้วย เพราะเราก็แค่ไปเปิดเพจบน Facebook หรือเขียน Blog ของตัวเองขึ้นมา ใช้เงินเริ่มต้น 0 บาท เพราะอินเทอร์เน็ตนั้นเปิดให้ใช้ฟรี ๆ (แค่เสียค่าบริการให้กับ Service Provider ที่ทำหน้าที่ลากสายมาที่บ้านเราเท่านั้นเอง) สิ่งนี้จึงนำมาซึ่งนิยามของ “สื่อใหม่” หรือ New Media ที่ใคร ๆ ก็เป็นเจ้าของได้ และไม่จำเป็นต้องพึ่งทรัพยากรมหาศาลอีกแล้ว
แล้วอวกาศ New Space และ Traditional Space เป็นยังไง
ให้เรานึกภาพกรณีเดียวกันกับเรื่องเมื่อกี้นี้ แต่ลองคำนึงถึงปัจจัยว่าการสำรวจอวกาศใช้อะไร หรือนำมาซึ่งอะไรบ้าง ซึ่งเราจะโยน Keyword หลัก ๆ ให้ เช่น จรวด, วงโคจร, ยานอวกาศ, นักบินอวกาศ, การถ่ายภาพจากวงโคจร, GPS, เชื้อเพลิง, ฐานปล่อยจรวด พอ! หยุดแค่นี้ก่อน แล้วลองสำรวจ Keyword พวกนี้ เราจะสามารถเชื่อมโยง Keyword พวกนี้เข้ากับทหารและสงครามได้หมดเลย จรวดนั้นเกิดจากขีปนาวุธ, วงโคจรเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะถ้าใครที่เคยเรียน รด. ทหารจะชอบบอกว่าขอบเขตของประเทศเลยขึ้นไปจนถึงอวกาศ, นักบินอวกาศส่วนมากมาจากนักบินรบเพราะต้องอดทนต่อแรงต้านมหาศาล, GPS ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ใช้ในกองทัพ, ฐานปล่อยจรวดอยู่ในเขตทหาร และอื่น ๆ สุดแต่เราจะเชื่อมโยง
นี่คืออวกาศในยุคแรกหมดเลย ให้เราลองนึกภาพการแข่งขันกันในช่วงสงครามเย็น แม้ NASA จะประสบความสำเร็จในการฉีกภาพของการสำรวจอวกาศออกมาจากกิจการทางทหาร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็ยังเกี่ยวข้องกันอยู่ดี จะปล่อยจรวดยังต้องขอกองทัพอากาศ หรือจรวดหลาย ๆ ลำที่ NASA ใช้ก็มีพื้นฐานมาจากขีปนาวุธข้ามทวีป เช่นจรวด Titan ที่ใช้ในการปล่อยยาน Voyager 1 และ 2 ที่โด่งดัง
ทีนี้ก็เหมือนกับสื่อ พอมาถึงยุคยุคหนึ่งอวกาศถูกนำมาใช้ในมิติของพลเรือนมากขึ้น สหรัฐฯ เปิดให้ใครก็ได้สามารถใช้งาน GPS ที่เป็นของกองทัพ มีการเซ็น Outer Space Treaty of 1967 และ The Moon Treaty of 1979 เพื่อเปิดโอกาสการสำรวจอวกาศเพื่อสันติ เริ่มเกิดการสัมปทานงานอวกาศให้กับบริษัท เช่น โครงการกระสวยอวกาศของ NASA การทำจรวดต่าง ๆ ซึ่งบริษัทที่เข้ามาทำก็จะเป็นแก๊งเดียวกับที่รับงานด้านกองทัพ เช่น Boeing, Lockheed Martin ต่าง ๆ (ให้นึกภาพว่า เหมือนกับเราไปช่องทีวีบนความถี่คลื่นของทหาร)
ทีนี้ ยุคของ New Space เริ่มส่องแสงตอนที่มีการปลดล็อกข้อกฎหมายต่าง ๆ ให้เอกชนสามารถเข้ามาสานต่อทรัพยากรที่ถูกปลดล่อยมาอีกทีจากมรดกของสงครามเย็น เช่น วงโคจร การปล่อยจรวด ต่าง ๆ เกิดเป็นธุรกิจอวกาศขึ้นมา ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพกับ New Media มันคือการที่อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมาแล้วทุกคนเริ่มสามารถสร้างอะไรของตัวเองได้ ในขณะที่อเมริกาเริ่มมีการปลดล็อกอวกาศให้กับเอกชน มีโครงการ Commercial Resupply Program สนับสนุนให้เอกชนทำยานอวกาศได้เต็มที่ ตามมาด้วยโครงการ Commercial Crew ในฝั่งยุโรปเอง องค์กรอวกาศยุโรป ESA (ซึ่งเจ๋งตรงที่ไม่ได้มาจากสงคราม) ก็สามารถรวมบริษัทต่าง ๆ ขึ้นมา เกิดการรวมกลุ่มของบริษัทที่ช่วงแรก ๆ เก่งเรื่องดาวเทียมสื่อสาร เช่น Thales, Airbus ต่าง ๆ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับเทคโนโลยีและวิธีคิดทางธุรกิจ ใหม่ ๆ ด้านอวกาศ
จนถึงวันที่ SpaceX สามารถส่งยานขึ้นไปเทียบสถานีอวกาศนานาชาติได้ วันนั้นเรามองว่ายุคของ New Space ได้เริ่มต้นแล้วอย่างจริงจัง
แล้ว New Space หน้าตาเป็นยังไง
ตอบแบบกำปั้นทุบดิน New Space ก็คือสิ่งที่ไม่ใช่ Old Space (ฮา) ก็คือ ถ้าการทำสัมปทานดาวเทียมจากทหารคือ Old Space ดังนั้น New Space ก็คือการที่ใครก็ได้สามารถที่จะทำดาวเทียมของตัวเองส่งขึ้นไปบนอวกาศได้ (เช่น โครงการ CubeSat หรือแม้กระทั่งการสำรวจอวกาศของเด็กมัธยมต่าง ๆ) ถ้า Old Space คือจรวดที่มีพื้นฐานมาจากขีปนาวุธ New Space ก็คือการที่บริษัทเอกชน ทำจรวดขึ้นมาเองโดยอาศัยการศึกษาเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น บริษัท SpaceX, Blue Origin หรือ Rocket Lab
New Space เป็นผลผลิตจากการที่ทรัพยากรอวกาศ หรือสิ่งที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาการด้านอวกาศเทคโนโลยี ถูกโยนลงมาให้เอกชนสามารถครอบครองได้ New Space คือจุดที่อวกาศเกิดการ Commercialize ในระดับที่เรารู้สึกว่าต้นทุนมันต่ำมากและเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นตามใจและไอเดียของเอกชนหรือนักธุรกิจเอง
ดังนั้นย้อนกลับไปที่งาน New Space Europe ถ้าเราลองย้อนกลับไปดู Video ของงานในปีก่อน ๆ เราจะเห็นการพูดถึงหัวข้อที่ใหม่มาก ๆ อย่างเช่น การทำยานอวกาศเอง (เมื่อก่อนทำไม่ได้แน่ ๆ) การทำเหมืองบนดวงจันทร์ (อันนี้ยิ่งแล้วใหญ่) หรือการใช้ทรัพยากรอวกาศในแบบที่ไม่ใช่แค่ดาวเทียม ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยที่ทำให้ New Space เกิดได้ก็ได้แก่
- การรู้เท่าทันเทคโนโลยีและ Demand ด้านอวกาศของภาครัฐ ที่นำไปสู่การปลดล็อกกฎหมายต่าง ๆ และปล่อยให้เอกชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามการปลดล็อกกฎหมายต่าง ๆ ต้องมีการวางกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว ต้องเป็นรัฐนำทุน ไม่ใช่ทุนนำรัฐ ทั้งนี้ก็เพื่อยังรักษาให้การใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอวกาศเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนทั้งประเทศ รักษาสิทธิ์ขั้นพื้นฐานให้กับคนในประเทศ
- การรวมตัวกันเพื่อร่างกฎบัติสากล หรือกฎบัติภูมิภาค Treaties ต่าง ๆ เพื่ออำนาจในการต่อรอง การเจรจากับประเทศที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ การทหาร ทำให้สามารถที่จะกำหนดทิศทางของภูมิภาคหรือกลุ่มประเทศไปสู่ความร่วมมืออะไรบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น Artemis Accords ที่พูดถึงการใช้ทรัพยากรบนดวงจันทร์อย่างสันติ
การเกิดขึ้นของ New Space นั้นมีนัยสำคัญมาจากทางฝั่งยุโรป ซึ่งน่าสนใจตรงที่ยุโรปนั้นจริง ๆ แล้วมีบริษัทเทคโนโลยีที่มีเทคโนโลยีเยอะมาก แถมยังมี Airbus ซึ่งเป็นตัวอย่างของการรวมตัวกันของประเทศในกลุ่มยุโรป ซึ่ง Airbus เอง ก็ได้พูดถึงการเกิดขึ้นของ New Space Airbus เรียกร้องให้ EU มีการผลักดันกิจการอวกาศและผ่านร่างกฎหมายที่เอื้อให้เอกชนสามารถใช้ทรัพยากรต่าง ๆ และกระตุ้นให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการใช้งานอวกาศ
เพื่อเป็นตัวอย่างมา Support แนวคิดของเราด้านบน Tech Crunch เคยพูดถึง 4 เสาหลักของ New Space คือความสามารถในการปล่อยยานอวกาศ, ตัวดาวเทียมและการผลิตดาวเทียม, การใช้งานสัญญาณดาวเทียม และ การจัดการกับ Data ขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราจะเห็นว่ามันคือสิ่งที่เคยเป็น Old Space มาก่อน แค่จะมีการเปลี่ยนมือผู้เล่นเท่านั้นเอง
อ่าน – ทุนนิยมบนดวงจันทร์ ทำไม NASA ให้ SpaceX, Blue Origin ช่วย เศรษฐศาสตร์ของการกลับสู่ดวงจันทร์
ที่สำคัญคือ New Space นั้น Back ดีมาก เพราะไปตรงกับแนวคิดของ UNOOSA
ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงเรื่องของ UNOOSA ไปแล้วในบทความเรื่อง Democratizing Access to Space อวกาศเป็นของราษฎรและมนุษยชาติ ให้เรามองว่า การเข้าถึงทรัพยากรอวกาศทั้งในแง่ของการเข้าถึงแบบจับต้องได้จริง ๆ และการเข้าถึงในเชิงความรู้ Awareness นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ UN ซึ่งหลายคนรู้กันดีว่าเกิดขึ้นมาจากสงครามโลกครั้งที่สอง และมีข้อตกลงในเชิงสิทธิมนุษยชน (Universal Declartion of Human Rights) แล้ว อีกหน้าที่หนึ่งของ UN ก็คือการให้ความรู้กับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเรื่องอวกาศแล้ว เราก็จะนึกถึงชาติมหาอำนาจ คำถามก็คือ แล้วประเทศเล็ก ๆ จะมีส่วนร่วมและรู้ไหมว่าตัวเองนั้นสำคัญและมีบทบาทอะไรในวงการอวกาศโลก ถ้าใช่พวกเขาจะทำอะไรได้? การเกิดขึ้นของ UNOOSA จึงมีมาเพื่อช่วยเหลือให้ประเทศกำลังพัฒนา (รวมถึงไทย) สามารถเข้าใจต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้
เมื่อ New Space และ Space Democratizing มีแนวคิดแบบเดียวกัน คือการกระจายทรัพยากรให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ และแนวโน้มของโลกคือการพัฒนาไปสู่สันติในแง่สิทธิมนุษยชน ธุรกิจอวกาศ (Space Commercialization) จึงเป็นหัวข้อหนึ่งที่ UN ให้ความสำคัญ ร่วมกับ Space Education หรือการเรียนรู้ศึกษาเรื่องอวกาศ เพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมโลกกันได้ โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังนั่นเอง
New Space ในไทยเกิดหรือยัง?
New Space จริง ๆ เกิดขึ้นในไทยมาไม่นาน เพราะแม้ว่าเราจะมีดาวเทียมมาตั้งแต่ยุค Thaicom รุ่งเรือง แต่แนวคิดของ Thaicom นั้นยังคงเป็นโมเดลของ Old Space หรือดาวเทียม THEOS-1 ของ GISTDA นั้นก็ยังเป็น Old Space เนื่องจากยังขาดการใช้ประโยชน์เชิงการค้าจากฝั่งเอกชน
ในช่วงปี 2018 เป็นต้นมา เริ่มมีแนวคิดของการร่างนโยบายกิจการอวกาศแห่งชาติ พร้อมกับการเกิดขึ้นใหม่ของบริษัทอวกาศ ตั้งแต่ Space Zab, mu Space, Astroberry และล่าสุดก็คือ NBSpace ที่ทั้งสามกลุ่มนี้สามารถมองได้ว่าเป็น New Space เพราะสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง จะขาดก็แต่การผลักดันโดยรัฐและการปลดล็อกกฎหมายอะไรบางอย่างเพื่อให้บริษัทเหล่านี้สามารถทำการค้าได้บนทความเข้าใจของตลาด
จากกรณีของ ดร.เอนก ที่พูดถึงโครงการไปดวงจันทร์ ซึ่งภายหลังถูกเปิดตัวในชื่อโครงการ Thai Space Consortium ซึ่งมุ่งเน้นไปในการทำดาวเทียมวิทยาศาสตร์ ทำให้เรามีประเด็นที่น่าสนใจมาชวนคิด ว่า Thai Space Consortium อาจจะเป็นดาวเทียมวิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่งจากความสามารถของทีม NARIT, GISTDA, SLRI อย่างไร้ข้อกังขา เพราะแค่ NARIT ก็มีผลงานเยอะแยะ ทำเองตั้งแต่ตอกเสาเข็มหอดูดาวยัน เคลือบกระจกกล้องให้โครงการนานาชาติ แต่! คำถามก็คือ TSC นั้นจะนำมาซึ่ง New Space ได้จริง ๆ หรือเปล่า ความท้าทายมาตกที่ NIA ซึ่งมาเข้าร่วมกับ Consortium และต้องการผลักดันธุรกิจอวกาศให้เกิดขึ้นในไทย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี
แต่สิ่งนี้ก็นำมาซึ่งคำถามที่เราเองก็สงสัยว่า จริง ๆ แล้ว TSC เป็นโครงการที่จะช่วยกระตุ้น New Space จริง ๆ หรือเปล่า? เพราะอย่างที่บอกว่าการพัฒนา New Space นั้นต้องนำมาซึ่งความสามารถของเอกชน เทคโนโลยี Ecosystem ความเพรียบพร้อมในเชิงนโยบาย การปลดล็อกกฎหมายของรัฐ แต่ TSC นั้นเรียกได้ว่าวัตถุประสงค์หลักแทบจะเป็น Scientific Standalone (ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะโครงการพวกนี้จะ Inspire เด็ก ๆ และผลักดันขีดจำกัดด้านวิชาการอยู่แล้ว) จึงน่าจับตามองว่า จริง ๆ แล้วแม้ว่าไทยจะมี TSC แต่ TSC ไม่ได้เป็นโครงการที่นำมาซึ่ง New Space ตรง ๆ การเกิดขึ้นของ New Space จริง ๆ ในไทย จึงน่าจะมาจากผลพวงจาก TSC มากกว่าตัว TSC โดยตรง
หรือว่าเรากำลังคาดหวังกับ TSC มากเกินไปว่ามันจะมี function ทำได้ทุกอย่าง? ทั้งที่จริง ๆ มันก็คือ Spacecraft program ที่มา push ด้าน tech and sci เพื่อเตรียมคนไปสู่ chapter ต่อไปเท่านั้น
สรุปเดี๋ยวยาวเกิน ไว้บทความหน้าบ้าง
สรุปก็คือ เราสามารถนิยาม New Space กับ Old Space/Traditional Media ได้คล้ายกับการนิยาม New Media กับ Traditional Media โดยสนใจที่มาที่ว่าใคร ๆ ก็สามารถครอบครองทรัพยากรที่ใช้ในการสำรวจอวกาศได้ และโดยรวมแล้ว New Space กำลังเป็น Trend ที่น่าจับตามองของโลก โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป
ซึ่ง New Space ก็นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การสำรวจอวกาศก้าวหน้าไปมากเพราะไม่ใช่แค่มันจะช่วยให้มนุษย์ได้ทำอะไรเจ๋ง ๆ อย่างการทำเหมืองบนดาวเคราะห์ดวงอื่น หรือการสำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคารในมิติใหม่ ๆ มันยังเป็นการทำให้การสำรวจอวกาศนั้นมีความยั่งยืนมากกว่าแค่การไปดวงจันทร์แล้วกลับ เหมือนกับที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งได้วางรากฐานไว้ในอดีต
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co