รีวิว LEGO: NASA Mars Rover Perseverance

​LEGO นับเป็นหนึ่งในแบรนด์ของเล่นตัวต่อพลาสติกที่อยู่คู่กับวงการอวกาศตั้งแต่สมัยช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างโครงการอวกาศ Apollo ไปสู่โครงการกระสวยอวกาศ ซึ่งก็นานพอ ๆ กับการเปลี่ยนผ่านจากจากาการผลิตขของเล่นที่ทำจากวัสดุไม้ไปสู่พลาสติกของบริษัท LEGO โดยแม้ว่าซีรีส์ชุดตัวต่อที่อยู่ธีมเกี่ยวกับอวกาศของบริษัทจะอยู่มานานแล้ว แต่ชุดตัวต่อที่อิงกับโครงการอวกาศที่อยู่ในโลกความเป็นจริงเพิ่งออกมาได้ไม่กี่แบบ ซึ่งไล่มาตั้งแต่มิถุนายนปี 2017 ที่ออกตัวต่อชุด NASA Apollo Saturn V ออกมาเป็นครั้งแรก จนล่าสุดก็คือชุดตัวต่อ NASA Space Shuttle Discovery ที่ออกมาในเดือนเมษายน 2021

หลังจากนั้น 26 เดือน ในเดือนมิถุนายน 2023 ทาง LEGO ได้วางขายชุดตัวต่อที่อิงกับอีกหนึ่งโครงการอวกาศที่โด่งดังและได้สร้างอีกหนึ่ง Impact ให้กับหมู่คนผู้ที่รักในการสำรวจอวกาศอีกครั้งอย่างชุดตัวต่อ NASA Mars Rover Perseverance ที่คราวนี้อยู่ในกลุ่มที่ทำการตลาดประเภทกลไกอย่าง Technic ที่แน่นอนว่าเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น LEGO Technic แล้ว มันต้องแพงแน่นอน (ฮา) โดยแม้ในบ้านเราจะวางขายไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน แต่ในประเทศบ้านเกิดของโรเวอร์ Perseverance อย่างสหรัฐอเมริกากลับวางขายในช่วงเดือนสิงหาคมของปีเดียวกับ สำหรับ LEGO ชุดนี้ได้วางขายในราคา 3,800 บาทหรือ 99.99 ดอลลาร์สหรัฐ

ภาพรวมของ LEGO ชุดนี้

ด้วยจำนวนชิ้นส่วนรวมแล้ว 1,132 ชิ้น นับได้ว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากและไม่น้อยเกินไป แต่ตอนประกอบแอบประกอบยากนิดหน่อย เนื่องด้วย LEGO Technic เป็นซีรีส์ที่ต้องอยู่คู่กับกลไกจุดขยับต่าง ๆ และมีตัวต่อที่เป็นแบบก้านและหมุดยึดเป็นส่วนใหญ่ซึ่งแตกต่างจากชุดตัวต่อซีรีส์อื่น ๆ ที่มักเป็น Brick เหลี่ยมที่นำมาต่อกันได้ง่ายกว่า ทำให้ต้องออกแรงกันพอสมควรในการต่อ LEGO ชุดนี้

ในแง่ของระบบช่วงล่างและล้อขับ ใน LEGO ชุดนี้ไม่ได้มีชุดมอเตอร์มาเหมือนกับ Technic ชุดอื่น ๆ ทำให้ไม่ต้องกังวงเรื่องของการต่อระบบไฟฟ้า มอเตอร์และน้ำหนักที่จะทำให้โรเวอร์คันนี้หนักเกินไป แต่ก็แลกมาด้วยการที่โรเวอร์ไม่สามารถขยับเองได้ ในส่วนของการออกแบบช่วงล่างก็เรียกได้ว่าคล้ายคลึงกับระบบช่วงล่างของ Perseverance ตัวจริงที่กำลังวิ่งอยู่บนดาวอังคารในตอนนี้ ที่มีจุดขยับของคานช่วงล่างที่สามารถทำให้ตัวโรเวอร์ขึ้นลงภูมิประเทศที่ขรุขระได้ และส่วนของรายละเอียดของล้อ ทำออกมาได้คล้ายกับล้อของ Perseverance ที่มีความแตกต่างกับล้อของ Curiosity ซึ่งถือว่าค่อนข้างใส่ใจในรายละเอียดได้ดีทีเดียว

นอกจากนี้แล้วยังมีกลไกที่น่าสนใจอีกอย่างเฟืองเพลาที่เชื่อมต่อกับชุดดล้อสำหรับเลี้ยวที่กลไกชุดนี้จะมีสองโหมดด้วยกัน อย่างโหมดการเลี้ยวปกติโหมดหมุนรอบตัวเอง แต่กลไกล้อแบบนี้ได้อย่างก็เสียอย่าง มันจะมีเรื่องติดขัดเรื่องการจับโรเวอร์ไถวิ่งทางตรงที่ชวนหงุดหงิดนิดหน่อย ปัญหามันอยู่ที่ล้อมักจะบิดไปด้านข้างทำให้ขัดกับการวิ่งทางตรง แต่ปกติเรามักจะวางตั้งโชว์ไว้นิ่ง ๆ ถ้าไม่คิดอะไรมากอาจไม่มีปัญหาอะไร

และกลไกส่วนสุดท้ายอย่างแขน Robotic Arm เรียกได้ว่าตรงนี้อาจเป็นตัวชูโรงของกลไกของ LEGO ชุดนี้เลยก็ว่าได้ ในส่วนของกลไกชุดนี้จะใช้เฟืองเพลาควบคุมด้วยกันสองชุด ชุดนึงเป็นการควบคุมองศาแขนในแนวราบและอีกชุดนึงควบคุมในส่วนของมุมก้มเงยของแขน โดยชุดควบคุมจะอยู่บนหลังกรอบ Radioisotope Thermoelectric Generator (RTG) ที่จะต่อเพลาไปที่ด้านหน้าของตัวโรเวอร์

พูดถึงเรื่องสติ๊กเกอร์ที่ติดมากับ LEGO ชุดนี้ เรียกได้อีกว่าเป็นอีกจุดที่ทีมออกแบบตั้งใจเก็บรายละเอียดให้ใกล้กับโรเวอร์ตัวจริง โดยส่วนตัวเราชอบสติ๊กเกอร์ด้วยกันสามชิ้น ซึ่งก็มีตัว Calibrator Target สำหรับ Mastcam-Z ที่ได้แฝงสัญลักษณ์และคำขวัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภารกิจของ Perseverance สติ๊กเกอร์ชิ้นต่อมาคือ COVID Memorial on Mars ที่เลียนแบบแผ่นอะลูมิเนียมสีดำรูปโลกและงูที่ไต่ไปตามแท่งโลหะ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้คนในวงการแพทย์ที่คอยเสี่ยงอันตรายต่อสู้กับการระบาดของไวรัส COVID-19 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับกับโค้งสุดท้ายของการทดสอบระบบต่าง ๆ ของ Perseverance และสติ๊กเกอร์ชิ้นสุดท้ายอย่าง 10,932,295 Explorers สติ๊กเกอร์ชิ้นที่เลียนแบบแผ่น Chip ขนาดเล็กสามชิ้นที่ได้สลักชื่อของผู้คนราวสิบเอ็ดล้านชื่อลงไป ซึ่งเป็นแคมเปญสนุก ๆ ในการส่งชื่อตัวเองไปดาวอังคารพร้อมกับโรเวอร์ นอกจากนี้แล้วตัว Chip ยังได้บรรจุบทความรวมแล้ว 155 เรื่องที่ได้เข้ารอบประกวดการตั้งชื่อให้กับโรเวอร์คันนี้ โดยนอกจาก Chip ทั้งสามแล้วยังมีแผ่นโลหะที่กัดเลเซอร์เป็นรูปโลก ดวงอาทิตย์ และดาวอังคาร ที่ยังมีความหมายแฝงผ่านรังสีของดวงอาทิตย์บนแผ่นโลหะเป็นรหัสมอสที่แปลว่า “Explore as one,”

และสิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับ LEGO ชุดนี้ นอกจากจะมีตัวโรเวอร์ Perseverance แล้วยังมีเฮลิคอปเตอร์จิ๋วอย่าง Ingenuity ติดมาด้วย ซึ่งเป็นของที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับภารกิจ Mars 2020 เอาจริง ถ้าให้ถามว่าทำออกมาเหมือนตัวจริงมั้ย มันก็ไม่อยู่แล้ว (ฮา) เพียงเป็นเป็นการเลียนแบบองค์ประกอบโดยรวมของเจ้าเฮลิคอปเตอร์จิ๋งเครื่องนี้ที่เป็นการสะท้อนถึงความสำเร็จในการบินในชั้นบรรยากาศดาวอังคารด้วยกำลังของใบพัดเป็นครั้งแรก

ในส่วนสุดท้ายที่เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ของ LEGO ชุดนี้คือการเล่นร่วมกับแอพ LEGO Technic AR ได้ด้วย โดยรวมแล้วมีเกมประกอบความรู้ให้เล่น โดยในตัวเกมจะอธิบายคร่าว ๆ ว่าภารกิจของโรเวอร์คันนี้คืออะไร สามารถทำอะไรได้บ้าง และมี AR อธิบายอุปกรณ์บางชิ้นของตัวโรเวอร์อย่าง RTG ที่เป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์พลูโตเนียมที่ถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้กับทุก ๆ อุปกรณ์ของโรเวอร์ทั้งคัน รวมทั้งคำอธิบายของเครื่อง Mars Oxygen ISRU Experiment (MOXIE) ที่สามารถแปลงแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศดาวอังคารให้เป็นออกซิเจนสำหรับหายใจได้

ความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง LEGO และตัวจริง

ถ้าในเรื่องของความเหมือนแบบเหมือนจริง ๆ ทุกกระเบียดนิ้ว ก็ต้องตอบว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งควรจะเรียกว่ามีความคล้ายกันมากกว่า เหมือนกับ Ingenuity ที่ได้เขียนไว้ มันเป็นการลอกเลียนองค์ประกอบหลักของของจริงมาไว้ในของเล่นซึ่งจรงนี้ต้องยอมรับว่าทำออกมาได้ใกล้เคียงในหลายจุด

กลไกแขน Robotic Arm และชุดช่วงล่างของโรเวอร์ เรียกว่าเป็นการจำลองกลไกแบบคร่าว ๆ จากของจริงได้ดีพอสมควร ทั้งจุดขยับต่าง ๆ สามารถพับเข้าออกได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะกับโครงสร้างของคานล้อที่ทำมาให้เครื่องที่ในทางวิบากได้ เรื่องลองรายละเอียดของล้อ ต้องยอมรับว่าทาง LEGO ยอมลงทุนทำแม่พิพม์ขึ้นมาพิเศษสำหรับ LEGO ชุดนี้โดยเฉพาะ เนื่องด้วยลักษณะของพื้นผิวล้อและซี่ล้อที่ไม่มีรถยานพาหนะคันหรือโรเวอร์คันไหนนอกจาก Perseverrance และฝาแฝดอย่าง OPTIMISM (Curiosity ก็มีฝาแฝดชื่อ MAGGIE อยู่ที่โลกด้วยเช่นกัน) ที่มีล้อแบบนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทาง LEGO ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ตรงนี้

ในส่วนรายละเอียดอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นการทำเลียนแบบลักษณะภายนอกให้เห็น ทำให้ใน LEGO ชุดนี้ เราจะไม่เห็นรายละเอียดภายในอย่างเช่นเครื่อง MOXIE และส่วนจัดเก็บตัวอย่างดินของดาวอังคาร เอาจริง ๆ ถึงเราจะบอกว่าทำเลียนแบบลักษณะภายนอก แต่มันไม่ได้แปลว่าจะเอามาครบทุกรายละเอียด แม้จะมีชิ้นส่วนที่เลียนแบบมาจากอุปกรณ์ของโรเวอร์ตัวจริง แต่บางอย่างก็ขาดหายไป อย่างอุปกรณ์เซเซอร์บางชิ้นที่มีขนาดเล็กมาก ๆ จนใส่มาใน LEGO ไม่ได้ก็ไม่ได้ใส่มา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่พอยอมรับได้

ในเรื่องของสัดส่วน บอกได้เลยค่อนข้างต่างจากตัวจริง อย่างตัว Warm Electronics Box (WEB) ในความเป็นจริงจะค่อนข้างแบนกว่าของ LEGO ซึ่งที่มันเป็นแบบนั้นเพราะมันต้องเผื่อเฟืองเพลาที่เป็นกลไกของโรเวอร์ LEGO คันนี้ และยังมีตำแหน่งของอุกรณ์บางส่วนที่คลาดเคลื่อนจากตำแหน่งที่ควรจะเป็นไปไม่มาก ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างชุดล้อที่ล้อตรงกลางจะยื่นออกมากว้างกว่าล้ออื่น ๆ แต่ใน LEGO ชุดนี้ล้อทุกล้อกลับอยู่เสมอในแนวเดียวกัน (ก็ดีแล้ว เดียวประกอบยากกว่าเดิม – ฮา)

ความเห็นส่วนตัว

สำหรับ LEGO ชุด NASA Mars Rover Perseverance ส่วนตัวมองว่าเป็นชุดที่ทำออกมามีคอนเทนต์ที่น่าสนใจอยู่เยอะมาก ถือว่าค่อนข้างคุ้มราคาเมื่อเทียบชุด NASA Space Shuttle Disvovery ที่นอกจากจะแพงกว่าแล้ว (วางขายในราคา 6,400 บาทหรือ 199.99 ดอลลาร์สหรัฐ) ยังมีลูกเล่นที่น้อยกว่าด้วย แต่ด้วยจำนวนชิ้นส่วนตัวต่อที่มากกว่าของชุดโรเวอร์พอสมควรก็ต้องยอมรับในเรื่องของราคาที่แพงกว่า

ถือว่าเป็น LEGO อีกหนึ่งชุดที่ผู้ที่รักในการสำรวจอวกาศไม่ควรพลาดจริง ๆ ต่อสนุกแต่ก็ต้องออกแรงกันนิด ๆ หน่อย ๆ ไปซื้อมากล่องนึงแล้วพาพี่น้องหรือลูกหลานมาช่วยประกอบกันให้ปวดนิ้วเล่นก็ได้ โดยเฉพาะตอนต่อชิ้นส่วนที่เป็นหมุดยึด บางขั้นตอนก็โคตรแข็ง แต่ถ้าต่อเสร็จแล้วยืนยันได้ว่าคุ้มค่ากับความเหนื่อยแน่นอน ส่วนใครที่จะนั่งต่อคนเดียวแบบเรา มันก็เหงา ๆ หน่อยนะ 555

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

19 y/o Just mechanical engineering student, hobbyist illustrator || เด็กวิศวะหัดเขียนเรื่องราวในโลกของวิศวกรรมการบินอวกาศ