Rogue Planet รู้จักดาวเคราะห์กำพร้าในทะเลแห่งดวงดาวอันมืดมิด

ถ้าพูดถึงดาวเคราะห์ หลาย ๆ คนคงคิดถึงดาวอังคาร ดาวเคราะห์สีแดงอิฐที่เต็มไปด้วยออกไซด์ของเหล็ก ดาวพฤหัสบดี ยักษ์ใหญ่ที่มีพายุไซโคลนหมุนตลอดกาลแถมยังมีขนาดที่ใหญ่กว่าโลกของเราอีก หรือจะเป็นดาวเสาร์ ผู้ครองฉายาเจ้าพ่อแห่งวงแหวนที่มีวงแหวนสวยเด่นเป็นเอกลักษณ์ หรืออาจจะใกล้ตัวเราเข้ามาอีก พื้นดินที่เราอาศัยอยู่ก็คือส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์ที่มีชื่อว่าโลก ดาวเคราะห์ที่มีสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในระบบสุริยะ

แม้กระทั่ง Exo-Planet ยังมีดาวฤกษ์อันเป็นแม่ของมัน

ทั้งหมดที่ว่ามานั้นคือดาวเคราะห์ในแบบที่เรานิยามมันขึ้นมากันเองทั้งนั้น ซึ่งแน่นอนว่าทางสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ก็เป็นคนกำหนดนิยามของดาวเคราะห์ขึ้นมาว่าดาวเคราะห์นั้นจะต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์ มีมวลที่มากพอที่จะทำให้ตัวเองอยู่ในสภาวะสมดุลไฮโดรสแตติก เรียกง่าย ๆ คือต้องมีทรงเกือบกลม สุดท้ายคือในวงโคจรรอบของดาวเคราะห์จะต้องไม่มีวัตถุอะไรมาขวางทางโคจรไว้ (ยกเว้นดาวบริวารนะ) แน่นอนว่ามีวัตถุหลายอย่างถูกตัดออกไปจากสถานะดาวเคราะห์อย่างสิ้นเชิง ล่าสุดก็คือดาวพลูโตน้องเล็กที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่โคตรไกลหลายล้านกิโลเมตร ก็โดนทางสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากลตัดออกจากการเป็นดาวเคราะห์เรียบร้อย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549

หลายครั้งที่เราพบเจอดาวเคราะห์นอกระบบ ดาวเคราะห์ที่เคลื่อนที่โคจรรอบ ๆ ดาวฤกษ์ใจกลาง ดาวเคราะห์นอกระบบที่ถูกยืนยันแล้วก็มีมากพอ ๆ กับกาบหอยตามชายหาด ส่วนมากก็จะเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่กับดาวแม่ของมัน แล้วจะมีดาวเคราะห์ดวงไหนไหมนะที่อยู่โดดเดียวเพียงลำพังในเอกภพแห่งนี้

ค้นพบดาวเคราะห์ผู้โดดเดี่ยว

หันหน้าไปทางกลุ่มดาวแพะทะเล พื้นที่มืดมิดที่มีดาวเคราะห์ดวงใหญ่ล่องลอยอยู่เพียงลำพัง โคจรไปรอบ ๆ ใจกลางทางดาราจักรอยู่อย่างเดียวดาย ไม่มีแม้กระทั้งแสงสว่างจากดาวฤกษ์ดวงไหนค่อยสาดแสงส่องสว่างให้กับมัน ดาวเคราะห์ที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวนี้มีชื่อว่า PSO J318.5–22 แล้วมันก็ไม่มีชื่อไทยให้เรียกง่าย ๆ ด้วยนะ

ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 2013 โดยการถ่ายภาพโดยตรง หรือ Direct Imaging และในปัจจุบันนี้ มันได้รับการยืนยันว่าเป็น Rogue Planet เป็นดาวดวงแรกและในปี 2015 ที่ผ่านมาก็ได้ยืนยันดาว SDSS J111010.01+011613.1 เพิ่มอีกหนึ่งดวง แต่นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ต่างก็คิดว่าในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราอาจจะมีดาวเคราะห์ที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวนี้อยู่อีกมากมายหลายพันดวง 

ตำแหน่งของดาวเคราะห์ PSO J318.5-22 ที่อยู่ในบริเวณกลุ่มดาวแพะทะเล ที่มา – N. Metcalfe / Pan-STARRS 1 Science Consortium.

นอกจากมันจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวในกาแล็กซีนี้แล้ว มันยังทำตัวคล้ายกับดาวฤกษ์ตลาดล่างที่อยากจะเป็นดาวฤกษ์แต่ก็เป็นไม่ได้ โดยอุณหภูมิของมันสูงถึง 800 องศาเซลเซียลเลยทีเดียว ถ้าเทียบกับอุณหภูมิพื้นผิวดวงอาทิตย์ของเราก็น่าจะน้อยกว่าไปประมาณ 6 เท่าเลยทีเดียว แถมมันยังมีมวลมีมหาศาลมากกว่าดาวพฤหัสถึง 6.5 เท่าอีกด้วย แต่มวลขนาดนี้ก็ไม่ทำให้มันกลายเป็นดาวฤกษ์ได้เลย

ดาวเคราะห์ดวงนี้ถือว่าเป็นดาวเคราะห์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมาไม่นานมากเท่าไหร เพียงแค่ 12 ล้านปีเท่านั้น ส่วนวิธีเกิดของมันนั้นยังเป็นที่สงสัยของนักดาราศาสตร์อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ บางก็คิดว่ามันเกิดมาจากการที่เนบิวลายุบตัวเพื่อที่จะกลายเป็นดาวฤกษ์แต่ดันเกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิคการปั๊มดาวเล็กน้อย หรือมันอาจจะเคยเป็นดาวเคราะห์จากระบบใดสักระบบหนึ่งแล้วถูกดีดออกมาให้มันอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายในทะเลดวงดาวอันแสนมืดมิดแบบนี้

ก็แค่ดาวที่ไม่มีคู่จะสนใจไปทำไม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในตอนนี้เราได้พยายามค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบหรือ Exoplanet กันอย่าบ้าคลั่ง งานวิจัยต่าง ๆ ที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในวัยของเด็กมัธยมศึกษาก็มีไม่น้อยที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของดาวเคราะห์นอกระบบ นอกจากนั้นยังมีการสำรวจดาว Rogue Planet ที่ล่องลอยอย่างโดดเดียวเพิ่มอีกด้วย 

ปัจจัยหลัก ๆ ที่นักดาราศาสตร์ยังศึกษาดาวเคราะห์พวกนี้อยู่ ก็เพื่อศึกษาถึงการมีอยู่ของมันว่ามันมาจากที่ไหน มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือดาวเคราะห์พวกนี้อาจจะมีสภาพแวดล้อมที่สามารถก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตได้ แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาแบบมนุษย์โลกของเรา อาจจะเป็นเพียงแค่แบคทีเรียหรือโครงสร้างที่อาจจะทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต

เนื่องจากดาวเคราะห์ที่เราได้พบเจอนั้นมีความดันที่สูงมาก แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าดาวเคราะห์พวกนี้จะไม่มีสิทธิที่จะเจอสิ่งมีชีวิตเลย นักวิทยาศาสตร์สันนิฐานว่าดาวเคราะห์พวกนี้มักจะมีดาวบริวารติดสอยห้อยตามกับมันมาด้วย อาจจะเป็นวัตถุที่บินผ่านมาแล้วโดนจับให้เข้ามาเป็นดาวบริวาร หรืออาจจะเกิดจากฝุ่นรอบข้างที่โคจรรอบ ๆ ดาวดวงนี้แล้วก่อตัวมันขึ้นมาเป็นดาวบริวารที่อาจจะมีสภาพแวดล้อมเพียงพอที่จะทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขึ้นมาได้

แต่นับตั้งแต่เราค้นพบดาวที่อาจจะจัดว่าอยู่ใน Rogue Planet มานั้นยังไม่เคยพบดาวบริวารของมันเลย นั้นอาจจะเป็นเพราะว่ารอบข้างของมันมืดสนิท ไม่มีแสงจากดาวฤกษ์ค่อยส่องสว่างให้เราได้เห็นก็ได้ ดังนั้นนักดาราศาสตร์จำนวนมากจึงไม่ค่อยจะสนใจมันสักเท่าไหร (ขนาดอยู่อย่างโดดเดียวแล้วก็ยังโดนมองข้ามอีกนะเนี่ย) 

ภาพวาดดาว OTS 44 กับจานรวมมวลที่อาจจะนำไปสู่การเกิดดาวบริวารของมันในภายภาคหน้า ที่มา – Sciencenews

ถึงแม้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อาจจะมืดมิดไม่มีดาวฤกษ์ที่คอยแผ่รังสีให้ความร้อนออกมา ทำให้มีอุณหภูมิต่ำ แต่หากดาวเคราะห์นี้มีชั้นบรรยากาศที่ประกอบด้วยไฮโดรเจนและมีความดันสูง ความร้อนที่สะสมอยู่ภายในใจกลางของดาวตั้งแต่ที่มันเริ่มก่อตัวก็มากพอที่จะทำให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลวได้ และเมื่อมีน้ำที่เป็นของเหลวนั้นก็อาจจะทำให้เราเจอสิ่งมีชีวิตได้นั้นเอง

แม้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะไม่มีดาวฤกษ์เป็นของมัน ก็ไม่ได้หมายความว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะต้องไม่มีสิทธิที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ นักดาราศาสตร์ยังคงเชื่อว่าอาจจะมีสักดวงที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิต ถึงแม้จะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สื่อสารกับมนุษย์เราได้ แต่ถ้ามันมีอยู่จริง ๆ ก็นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของวงการดาราศาสตร์โลกที่ได้พบเจอสิ่งมีชีวิตที่อยู่ห่างไกลจากเราออกไปหลายปีแสง

แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะเจอดาวเคราะห์ดวงนั้นเมื่อไหร และก็ไม่รู้ว่าจะเป็นตอนไหน คล้าย ๆ กับคนรักที่ไม่รู้ว่าจะหากันเจอตอนไหน ก็เลยต้องอยู่คนเดียว อยู่ลำพังแบบนี้ต่อไปจนกว่าเราจะได้เจอกัน

 

อ้างอิง

Billions of rogue planets wander the universe without a home – PBS NEWS

Astronomers Create Weather Map of Rogue Planet-Like Object – SCI News

A strange lonely planet found without a star – PHYSICS.ORG

Where the Nightlife Never Ends – NASA

Rogue Planets: Not as Plentiful as Thought – SKY&TELESCOPE

มายด์ - บรรณาธิการและนักเขียน นิสิตปี 1 ภาคฟิสิกส์ จุฬาฯ สนใจเรื่องอวกาศ วิทยาศาสตร์ BLACKPINK อดีตไอดอลที่ออกวงการมาแล้ว และในปัจจุบันนี้เป็น Atomic Queen Ambassador of Physics 2019