แม้ว่าในทุกวันนี้รัสเซียกับสหรัฐจะยังคงร่วมมือกันในการสำรวจอวกาศ ทั้งการเดินทางไปอวกาศในยานลำเดียวกัน อยู่ในสถานีอวกาศที่ร่วมกันสร้าง และยังร่วมมือกันวางแผนสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ในวงโคจรรอบดวงจันทร์ร่วมกัน แต่อนาคตข้างหน้าของสองมหาอำนาจนั้นก็เริ่มที่จะห่างเหินกันออกไปอีก เมื่อทางรัสเซียกำลังคิดแผนสำรองของพวกเขา ที่จะแยกทางกับสหรัฐและไปร่วมมือกับศัตรูตัวฉกาจอย่างจีน
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซียหรือ ROSCOSMOS ได้เริ่มคิดแผนสำรองที่มีผลต่อการตัดสินหน้าประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศในอนาคต เมื่อแผนการนี้จะย้ายความร่วมมือของรัสเซียที่เคยมีให้กับสหรัฐมาตลอด 30 ปีไปให้กับจีน ซึ่งนั่นหมายถึงการให้ความร่วมมือในการก่อสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีนที่จะมาแทนเทียนกง 1 การส่งชาวจีนและรัสเซียไปดวงจันทร์ด้วยกัน และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการถอนความร่วมมือออกจากสถานีอวกาศนานาชาติก่อนจะหมดอายุขัยของสถานีอีกด้วย
อ่านเรื่องโอกาสที่คุณจะถูกชิ้นส่วนของเทียนกง 1 ตกใส่ได้ที่นี่
ผู้เชี่ยวชาญของรัสเซียจะมีเวลาในการเสนอแนวคิดจนถึงวันที่ 15 มีนาคมนี้ ซึ่งถ้าถูกบังคับใช้ขึ้นมาจริง ๆ ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการสำรวจอวกาศพอ ๆ กับภารกิจ Apollo-Soyuz Test Project ในปี 1975 ที่สหรัฐกับสหภาพโซเวียตร่วมมือกันส่งคนขึ้นสู่อวกาศด้วยกันเป็นครั้งแรกเลยทีเดียว เพราะนับตั้งแต่นั้นทั้งสองชาติต่างก็ร่วมมือกันในด้านการสำรวจอวกาศมาโดยตลอด
ในปี 1993 พวกเขาและองค์การอวกาศยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่นก็ร่วมมือกันสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ ที่โคจรรอบโลกมาตั้งแต่ปี 1998 แล้ว แต่เพราะความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติที่ดูเหมือนต่างฝ่ายต่างหันหลังให้กันอยู่ในตอนนี้ โอกาสที่ทาง ROSCOSMOS จะโบกมือลาอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังอายุขัยของสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มีกำหนดปลดประจำการระหว่างปี 2024 ถึงปี 2028 นี้
ความคลุมเครือของสองชาติไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นไม่นานมานี้ เพราะช่วงมิถุนายนที่ผ่านมาทาง ROSCOSMOS ก็ไม่ค่อยเต็มใจที่จะร่วมมือกับนาซ่าในการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างสถานีอวกาศในวงโคจรรอบดวงจันทร์ที่ชื่อ Deep Space Gateway ซึ่งจะมาแทนสถานีอวกาศนานาชาติประมาณปี 2025 และปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของสองประเทศก็อาจส่งผลให้รัสเซียถอนตัวจากความร่วมมือครั้งนี้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียต้องการจะสร้างโครงการอวกาศของตนเอง ทั้งโครงการสถานีอวกาศของรัสเซียในวงโคจรรอบโลก ไปจนถึงฐานปฏิบัติการถาวรบนดวงจันทร์
เหตุผลเดียวที่พวกเขายังไม่สามารถทำได้ก็เพราะปัญหาทางด้านการเงินนี่แหละ และนี่ก็คือเหตุผลที่รัสเซียต้องการพาร์ทเนอร์ที่จะร่วมสานฝันไปด้วยกัน (จนกว่าพวกเขาจะมีงบไปทำของตัวเอง) ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมารัสเซียก็เริ่มคิดแผนที่จะร่วมมือกับจีนโดยการส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปใช้บนสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีน ที่กำหนดขึ้นสู่วงโคจรในปีหน้านี้
หลังจากความสำเร็จของสถานีอวกาศเทียนกง 1 และ 2 ในช่วงที่ผ่านมา การส่งโมดูลแรกของสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีนนี้ก็จะเกิดขึ้นในปีหน้านี้แล้ว และเมื่อมันสร้างเสร็จก็จะมีขนาดที่ใกล้เคียงกับสถานีอวกาศเมียร์ของโซเวียต/รัสเซีย และตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจีนก็ต้องการชาติที่มาร่วมมือในการก่อสร้างสถานีอวกาศแห่งนี้
แต่เพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมืองทำให้ความสนใจค่อย ๆ จางหายไป แต่ในตอนนี้ลมก็เริ่มเปลี่ยนทิศ เพราะนอกเหนือจากรัสเซียที่กำลังเหล่ตามองมาแล้ว องค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA และญี่ปุ่นก็กำลังตัดสินใจอีกครั้งว่าจะร่วมมือกับทางจีนหรือไม่
(เกือบ)พังเพราะตำแหน่งที่ตั้ง
ครั้งแรกที่วิศวกรของรัสเซียปิ๊งไอเดียว่าจะร่วมมือกับจีนในการสร้างสถานีอวกาศนั้นเกิดขึ้นในปี 2015 ซึ่งพวกเขาคาดหวังว่ารัสเซียสามารถมีส่วนร่วมในการก่อสร้างสถานีได้จากการปล่อยจรวดขึ้นจากฐานปล่อย Baikonur Cosmodrome ในประเทศคาซัคสถาน ก่อนที่ Igor Komarov หัวหน้าของ ROSCOSMOS จะออกมายอมรับในปี 2017 ว่ามันมีข้อผิดพลาดเล็กน้อย ก็แค่คุยเรื่องตำแหน่งที่ตั้งไม่ตรงกันแค่นั้นเอง
จีนได้ให้ข้อมูลว่าพวกเขาจะส่งสถานีอวกาศไปโคจรรอบโลกทำมุม 41-43 องศากับเส้นศูนย์สูตร ในขณะที่ฐานปล่อย Baikonur นั้นตั้งอยู่สูงจากเส้นศูนย์สูตร 46 องศา (สถานีอวกาศนานาชาติโคจรทำมุม 51.64 องศากับเส้นศูนย์สูตร) ซึ่งหมายความว่าถ้ารัสเซียจะส่งยานไปยังสถานีอวกาศของจีน พวกเขาจะต้องผลาญเชื้อเพลิงจำนวนมากเพื่อปรับเปลี่ยนวงโคจร และวิธีแก้ชั่วคราวก็คือการใช้ฐานปล่อย Sea Launch ของรัสเซีย (แต่ดันไปประจำการอยู่นอกชายฝั่งของสหรัฐ) ซึ่งข้อดีของมันคือสามารถแล่นไปหาสถานที่ปล่อยที่เหมาะสมได้ ข้อเสียคือต้องปัดฝุ่นฐานปล่อยนี้อีกครั้ง หลังการปล่อยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
อีกหนึ่งข้อเสียที่สำคัญของ Sea Launch คือมันสามารถปล่อยได้แค่ภารกิจขนส่งเสบียงและภารกิจก่อสร้างสถานีอวกาศเท่านั้น ปัญหาการส่งนักบินอวกาศของรัสเซียไปสู่สถานีอวกาศจีนก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้อยู่ดี เมื่อรัสเซียเองก็คงไม่ยอมปล่อยให้นักบินอวกาศของเขาไปเกาะยานเซินโจวของจีนเพื่อเดินทางสู่สถานีอวกาศ (ทั้ง ๆ ที่มันก็คือโซยูสในร่างจีนนั่นแหละ)
ไปดวงจันทร์กับอาตี๋ดีกว่า
และเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ทาง ROSCOSMOS กับ CNSA ของจีนก็ได้ลงนามใน MOI ว่าด้วยความต้องการที่จะร่วมมือกันสำรวจดวงจันทร์ด้วยยานลงจอดอัตโนมัติ เพราะทางรัสเซียเองก็อยากส่งยานลงจอดไปบุกเบิกและสำรวจความเป็นไปได้ในการตั้งถิ่นฐานถาวรในแถบขั้วโลกของดวงจันทร์
และจีนเองก็ต้องการที่จะสำรวจดวงจันทร์เป็นเป้าหมายหลักหลังจากเสร็จการก่อสร้างสถานีอวกาศของพวกเขาอยู่แล้ว หากสหรัฐไม่สามารถรั้งรัสเซียไว้ หรือไม่ยอมเปิดใจมาคุยกับจีน ภารกิจพร้อมมนุษย์สู่ดวงจันทร์รุ่นถัดไปอาจจะมาจากความร่วมมือของจีนและรัสเซียก็เป็นได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของรัสเซียก็ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการคิดและศึกษาอยู่เท่านั้น ซึ่งมันอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้
และต่อให้รัสเซียย้ายค่ายจริง ๆ สหรัฐก็ยังคงมีองค์การอวกาศยุโรปที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตลอดในการพัฒนายานโอไรออน และพวกเขาก็ยังมีบริษัทเอกชนชั้นนำอย่าง SpaceX, ULA, Orbital ATK, Lockheed Martin และ Blue Origin ซึ่งพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนายานอวกาศสำหรับภารกิจต่าง ๆ อยู่เสมอ
อ้างอิง