เวลาพูดถึง Startup หลายคนก็อาจจะนึกถึงแอพ นึกถึงบริการต่าง ๆ ที่เข้ามาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น Uber, Airbnb ต่าง ๆ แต่ถ้าบอกว่ามีการแข่งขัน Startup ด้านอวกาศเราอาจจะไม่รู้ว่าเขาแข่งทำอะไรกัน วันนี้ทีมงานจะพาไปดูการแข่งขัน S-Booster ซึ่งเป็นการแข่งขัน Startup ด้านอวกาศ ซึ่งจัดโดยรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นร่วมกับ JAXA และ GISTDA ในการเลือกหา Startup ด้านอวกาศที่จะไปชิงรางวัลและการได้เข้าร่วม workshop ที่ประเทศญี่ปุ่น
ถ้ายังจำกันได้เมื่อหลายเดือนก่อน GISTDA ได้ประชาสัมพันธ์โครงการ S-Booster ว่าเปิดรับสมัคร ซึ่งในวันนี้ก็ถึงการ Pitching ในรอบ Asia Round หรือระดับภูมิภาคกันแล้ว โดยการแข่งขันนี้จัดขึ้นที่งาน Startup Thailand 2019 : Startup Nation ที่ True Digital Park โดยทีมงานได้รับเชิญให้ไปชมบรรยากาศในครั้งนี้ด้วย
ทีมงานได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณ Yasuhiro Yukimatsu ซึ่งเป็น Director General และ National Space Policy Secretariat ที่เป็นผู้จัดการแข่งขันครั้งนี้ขึ้นมา คุณ Yukimatsu บอกว่า Startup อวกาศนั้นเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศที่มีอยู่เช่นระบบ QZSS (ดาวเทียมระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำในระดับเซนติเมตร) และการนำ Data จากภาคอวกาศมาใช้งานบนโลก เรียกว่า Utilization of Space Data
ซึ่งบรรยากาศภายในงานก็เต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้นเนื่องจากมีทีม Startup ที่จะเข้ามาทำการ Pitching กันมากถึง 15 ทีม โดยทีมที่ได้เข้ามาร่วมในงานนี้ได้แก่
- One-Sec (Centimetres in Seconds Satellite Solutions) จากประเทศออสเตรเลีย
- General Agronomics- Development of crop insurance index from remote sensing data จากประเทศไทย
- Establishment of Control Points for Land Surveying using Super High-Resolution Satellite จากประเทศฟิลิปินส์
- Agrilite จากประเทศไทย
- Green fuel for propulsion of spacecraft, to produce oxygen, water and heat on other planet จากประเทศไทย
- Thailand Smart Agricultural monitoring by Tellus platform with Deep Neural Network จากประเทศไทย
- Fourestate จากประเทศไทย
- SPACE probiotic for future space food จากประเทศไทย
- Road surface condition for land transportation จากประเทศไทย
- Space Communication and IOT integration จากประเทศฟิลิปินส์
- All India Farmland Visualization Project จากประเทศอินเดีย
- RS-AR: Remote Sensing Data Visualized in Augmented Reality จากประเทศฟิลิปินส์
- BlueWatch: Spatial Aquaculture Advisory System for Smart AquaFrams จากประเทศไทย
- Packagehub จากประเทศฟิลิปินส์
- Traffic Light Management for Intelligent City by QZSS & 5G Platform จากประเทศไทย
จะเห็นว่าหัวข้อที่ส่งเข้ามาประกวดนั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก และเน้นไปที่การเอาข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในปัญหาชีวิตประจำวันครอบคลุมตั้งแต่การทำการเกษตร การคมนาคม หรือการสำรวจอวกาศ
แต่ความยากของการทำ Startup จะอยู่ตรงที่ว่าผู้แข่งขันจะต้องมีแผนธุรกิจมารองรับ โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตาม Plan เพราะการแข่งขั้นนี้ไม่ใช่แค่การหาทุนไปทำวิจัยแต่เป็นการทำธุรกิจจริง ๆ แบบ Startup นั่นเอง
โดยสำหรับรูปแบบการ Pitching นั้น แต่ละทีมจะได้รับเวลาเท่า ๆ กันที่ 7 นาที โดยต้องนำเสนอความน่าสนใจให้กับกรรมการได้ฟัง จากนั้นกรรมการจะคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบ เพื่อเข้าไป workshop กันต่อที่ประเทศญี่ปุ่นและเข้าไปชิงในรอบต่อไปที่จะมีผู้แข่งขันจากนานาชาติเข้ามามากกว่านี้
สำหรับ ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ผู้ผ่านการคัดเลือกเหลือ 4 ทีม เป็นตัวแทนภูมิภาคเอชีย จะเข้ารับการส่งเสริมไอเดียทางธุรกิจ ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยทางผู้จัดจะสนับสนุนค่าเดินทางไป-กลับ ที่พัก ตลอดการเดินทาง และในวันที่ 25 พฤศจิกายน จะเป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ณ ประเทศญี่ปุ่น ชิงรางวัลมูลค่ากว่า 3 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากการแข่งขันแล้ว ภายในงาน Startup Thailand 2019 : Startup Nation ยังได้มีการจัดกิจกรรมของทาง S-Booster ซึ่งนำเอาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาจัดแสดงผลงานเทคโนโลยีต่าง ๆ ในด้านอวกาศ รวมถึงผู้สนับสนุนต่าง ๆ สามารถเข้ามาพูดคุยกับบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นระดับโลกกันได้
ถ้าถามว่าทีมงานชอบไอเดียไหนมากที่สุด ต้องบอกว่าตอบยาก เพราะแต่ละไอเดียนั้นมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมากและไม่ซ้ำกันเลย แสดงว่าอวกาศนั้นกำลังจะเข้ามาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการผลักดันธุรกิจในอนาคตได้แน่ ๆ
สำหรับใครที่จะเป็นตัวแทนไปร่วมแข่งขันกันต่อนั้นก็ต้องรอติดตามกันต่อไป ใครที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : S-Booster in ASIA หรือผ่านทางเว็บไซต์ S-Booster 2019