ในปี 2006 ยาน New Horizons ขณะกำลังเดินทางออกจากโลกเพื่อผจญภัยกับอวกาศห้วงลึกนอกระบบสุริยะนั้น การสื่อสารกับยานใช้เวลาเพียงแค่หลักนาทีเท่านั้นเพื่อที่จะส่งคำสั่งต่าง ๆ ให้กับยานและรอการตอบรับกลับมาจากคอมพิวเตอร์บนยาน
แต่ในปัจจุบันระยะทางจากโลกเพียงหลักล้านกิโลเมตร ตอนนี้ก็กลายเป็นหลักพันล้านไปแล้ว ระยะเวลาในการสื่อสารก็เช่นกัน จากหลักนาทีจนตอนนี้เป็นหลักชั่วโมงแล้ว ในวันที่ 18 เมษายน 2021 เวลา 12:42 UTC ยาน New Horizons เดินทางถึงระยะ 50 หน่วยดาราศาสตร์ (Astronomical Units: AU) หมายความว่ามันอยู่ห่างจากโลก 50 เท่าของระยะทางจากโลกไปดวงอาทิตย์
โดยยาน New Horizons ณ ตอนนี้เป็นยานเพียง 1 ใน 5 ลำที่เดินทางผ่านระยะทางเท่านี้ไป ซึ่งก็คือ Voyager 1, Voyager 2, Pioneers 10 และ Pioneers 11 ณ ตอนนี้ด้วยการสื่อสารผ่านทางสัญญาณวิทยุซึ่งเดินทางด้วยความเร็วแสง ยังต้องใช้เวลาถึง 7 ชั่วโมงในการส่งสัญญาณไปหา New Horizons และยังต้องรออีก 7 ชั่วโมงกว่าเราจะรู้ว่ายานได้รับสัญญาณและตอบกลับหรือไม่ รวมเป็น 14 ชั่วโมงในการสื่อสารเต็มรูปแบบรอบหนึ่ง
ขณะเดียวกัน จุดที่ New Horizons อยู่ในตอนนี้ก็เป็นจุดที่ยานทั้ง 4 ก่อนหน้านี้เคยเดินทางมาถึงเช่นกัน หนึ่งในนั้นก็คือ Voyager 1 ซึ่งเป็นวัตถุอวกาศที่อยู่ไกลที่สุดจากโลกซึ่งสร้างโดยมนุษย์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2020 ซึ่งเป็นวันคริสต์มาสอันเงียบเหงาของปี 2020 ยาน New Horizons ได้หันกล้อง Long Range Reconnaissance Imager ไปยังยานรุ่นพี่ของมัน Voyager 1 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกออกไปกว่า 152 AU หรือประมาณ 22.9 พันล้านกิโลเมตร (ห่างจาก New Horizons ประมาณ 18 พันล้านกิโลเมตร) นอกจากนี้ การถ่ายรูปยานอวกาศที่อยู่นอกระบบสุริยะด้วยยานอวกาศที่อยู่ในระบบสุริยะยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ภาพที่ได้กลับมานั้น มีแต่ความว่างเปล่าของอวกาศ แต่ในความว่างเปล่านั้นมีวัตถุที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ทดแทนความเพียรพยายามของมนุษยชาติที่ชื่อว่า Voyager 1 อยู่ ตำแหน่งของ Voyager 1 ถูกระบุไว้ด้วยวงกลมสีเหลือง แม้เราจะไม่สามารถมองเห็น Voyager 1 ได้เพราะว่าระยะทางของมันนั้นไกลมาก แต่เราสามารถรับรู้ได้ด้วยการหาตำแหน่งของยานด้วยสัญญาณวิทยุ เช่น การติดตามตำแหน่งของยานอวกาศด้วย Very-long-baseline Interferometry (VLBI)
ปัจจุบัน New Horizons เป็นยานที่เดินทางด้วยความเร็วสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยความเร็วกว่า 58,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (เชียงใหม่ไปกรุงเทพ 45 วินาที) หลังจากการทำ Gravity-assist ด้วยการ Flyby ผ่านดาวพฤหัสในเดือน กุมภาพันธ์ 2007 ขณะเดียวกันมันยังเป็นยานลำแรกที่บินสำรวจดาวพลูโตด้วย เมื่อ กรกฎาคม 2015 นอกจากนี้มันยังทำ Fly-by ที่ไกลจากโลกที่สุดกับ Arrokoth วัตถุใน Kuiper belt อีกด้วย
ยาน New Horizons จะเดินทางออกจากระบบสุริยะ Interstellar Space ในช่วงปี 2040 อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่นิวเคลียร์ของยานนั้นจะมีพลังงานพอสำหรับ New Horizons ได้ถึงช่วงปลายของทศวรรษ 2030 เท่านั้น จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า New Horizons จะมีแบตเตอรี่เหลือตอนที่มันออกจากระบบสุริยะหรือไม่
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง